หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี)

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-NLCI-922A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี)

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2566

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกสร้างสวนยางพารา

1 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)

       หน่วยสมรรถนะนี้เกี่ยวข้องกับการดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี) โดยผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ชนิดของวัชพืช วิธีการป้องกันกำจัดและการใช้สารกำจัดวัชพืช ประเภทและวิธีการกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดในสานยางพารา บทบาทและอาการขาดธาตุอาหารพืช สามารถกำหนด เลือก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชในสวนยางพารา ประเภท สูตรปุ๋ย หรือเกรดปุ๋ยที่เหมาะสมกับเขตพื้นที่ปลูก ลักษณะเนื้อดิน และอายุยางพารา วิธีการใส่ปุ๋ยและช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการใส่ปุ๋ยยางพารา ปริมาณในการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับลักษณะเนื้อดิน และอายุยางพาราได้ วิธีการคลุมโคนต้นยางพารา วิธีการตัดแต่งกิ่งยางพารา และข้อควรปฏิบัติในการตัดแต่งกิ่งยางพารา ชนิดพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพารา วิธีการปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพารา กำหนดวัสดุคลุมที่นำมาใช้ในการปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพารา หลักและวิธีการทำแนวกันไฟ หลักและวิธีการปลูกไม้กันลม และวิธีปลูกซ่อมต้นยางพาราในแปลง และมีทักษะได้แก่ สามารถเตรียม และเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกต้อง สามารถเตรียมและเลือกวัสดุอุปกรณ์ในการใส่ปุ๋ยยางพาราได้อย่างถูกวิธี เตรียมและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในการคลุมโคนต้นตอยางพาราได้อย่างถูกต้อง สามารถเตรียมและเลือกใช้อุปกรณ์ในการตัดแต่งกิ่งยางพาราเพื่อตัดแต่งกิ่งสร้างทรงพุ่มได้อย่างถูกต้อง สามารถเลือกใช้และเตรียมวัสดุเพื่อนำมาปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพาราด้วยวัสดุที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง สามารถเลือกอุปกรณ์ในการจัดทำแนวกันไฟ ในการปลูกไม้กันลม และการปลูกซ่อมต้นยางพาราได้อย่างถูกต้อง สามารถปฏิบัติงานในการกำจัดวัชพืชในสวนยางพารา คลุมโคนต้นยางพาราตัดแต่งกิ่งยางพาราเพื่อสร้างทรงพุ่ม และเพื่อป้องกันหรือแก้ไขเมื่อเกิดความเสียหาย ปลูกพืชคลุมและพืชแซม ทำแนวกันไฟในสวนยางพารา สามารถปลูกไม้กันลม และปลูกซ่อมยางพาราได้อย่างถูกวิธี


7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)

กลุ่มอาชีพเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา


9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)

ISCO 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล


10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)

- พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542
- คำแนะนำพันธุ์ยาง ปี 2560 พันธุ์ยางแนะนำในพื้นที่ปลูกยางเดิม พันธุ์ยางแนะนำในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร


11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria)
B151

กำจัดวัชพืชในสวนยางพารา

1. อธิบายชนิดของวัชพืชในสวนยางพาราได้

2. อธิบายวิธีการกำจัดและการใช้สารกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกวิธี

3. อธิบายประเภทและวิธีกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดในสวนยางพาราได้

4. เลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชในสวนยางพาราได้อย่างเหมาะสม

5. ดำเนินการกำจัดวัชพืชในสวนยางพาราได้อย่างถูกวิธี

B152

ใส่ปุ๋ยยางพารา

1. อธิบายลักษณะและอาการขาดธาตุอาหารพืชได้อย่างถูกต้อง

2. อธิบายประเภทของปุ๋ยที่ใช้ในสวนยางพาราได้ 

3. อธิบายสูตรปุ๋ยหรือเกรดปุ๋ยที่เหมาะสมกับเขตพื้นที่ปลูก ลักษณะเนื้อดิน และอายุยางพาราได้

4. อธิบายวิธีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ปลูกและอายุยางพาราได้

5. อธิบายช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการใส่ปุ๋ยยางพาราได้ 

6. อธิบายปริมาณในการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับลักษณะเนื้อดิน และอายุยางพาราได้ 

7. เลือกวัสดุอุปกรณ์ในการใส่ปุ๋ยยางพาราได้อย่างถูกต้อง

8. ดำเนินการใส่ปุ๋ยยางพาราอย่างถูกวิธี

B153

คลุมโคนต้นยางพารา

1. อธิบายวิธีการคลุมโคนต้นยางพาราได้

2. เลือกใช้และเตรียมวัสดุที่จะนำมาคลุมโคนได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการคลุมโคนต้นยางพาราด้วยวัสดุคลุมโคนได้อย่างถูกต้อง

B154

ตัดแต่งกิ่งยางพารา

1. อธิบายวิธีตัดแต่งกิ่งยางพาราได้

2. อธิบายข้อควรปฏิบัติในการตัดแต่งกิ่งยางพาราได้ 

3. เลือกอุปกรณ์ในการตัดแต่งกิ่งยางพาราได้อย่างถูกต้อง

4. ดำเนินการตัดแต่งกิ่งยางพาราเพื่อสร้างทรงพุ่มได้อย่างถูกวิธี

5. ดำเนินการตัดแต่งกิ่งยางพาราเพื่อป้องกันหรือแก้ไขเมื่อเกิดความเสียหายจากลมได้อย่างถูกวิธี

B155

ปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพารา

1. อธิบายชนิดพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพาราได้

2. อธิบายวิธีปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพาราได้

3. เลือกใช้และเตรียมวัสดุที่จะนำมาปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพาราได้อย่างถูกต้อง

4. ดำเนินการปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมในสวนยางพาราด้วยวัสดุที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง

B156

ทำแนวกันไฟ

1. อธิบายหลักและวิธีการทำแนวกันไฟในสวนยางพาราได้

2. เลือกอุปกรณ์ในการจัดทำแนวกันไฟในสวนยางพาราได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการทำแนวกันไฟในสวนยางพาราได้อย่างถูกวิธี

B157

ปลูกไม้กันลม

1. อธิบายหลักและวิธีการปลูกไม้กันลมได้

2. เลือกอุปกรณ์ในการปลูกไม้กันลมได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการปลูกไม้กันลมได้อย่างถูกวิธี

B158

ปลูกซ่อมต้นยางพารา

1. อธิบายวิธีปลูกซ่อมต้นยางพาราในแปลงได้

2. เลือกวัสดุปลูกที่เหมาะสมกับการปลูกซ่อมต้นยางพาราในแปลงได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการปลูกซ่อมต้นยางพาราได้อย่างถูกวิธี


12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

1) ความต้องการน้ำและปุ๋ยของต้นยางพารา
2) โรค แมลงศัตรูของต้นยางพารา


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1) มีทักษะในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ การทดสอบ และการสรุปผลเกี่ยวกับการดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี)
2) มีทักษะในการสังเกตเบื้องต้น แยกความแตกต่างกำหนด ตัดสินใจเลือก ดำเนินการ 
และประเมินแนวทางการปฏิบัติงานการดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี) ได้แก่ กำหนด เลือก และปฏิบัติปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ยบำรุง การคลุมโคนต้นยาง การตัดแต่งกิ่ง การปลูกพืชคลุม พืชแซม ทำแนวกันไฟ ปลูกไม้กันลม และปลูกซ่อมต้นยาง 
3) มีทักษะในการสื่อสาร อธิบาย และทำความเข้าใจร่วมกับผู้ร่วมงานหรือผู้รับปฏิบัติตามแผนงานหรือแผนปฏิบัติการให้เข้าใจและปฏิบัติงานการดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี) ได้อย่างถูกต้อง
4) มีทักษะในการติดต่อประสานงานกับผู้อื่นที่ทำงานหรือต้องรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1)  มีความรู้ในการกำจัดวัชพืชในสวนยางพาราช่วงอายุยาง 0-2 ปี)
2)  มีความรู้ในในการใส่ปุ๋ยยางพาราช่วงอายุยาง 0-2 ปี
3)  มีความรู้ในการคลุมโคนต้นยาง การตัดแต่งกิ่งยางพาราช่วงอายุยาง 0-2 ปี
4)  มีความรู้ในการปลูกพืชคลุม พืชแซมช่วงอายุยาง 0-2 ปี
5)  มีความรู้ในการทำแนวกันไฟและปลูกไม้กันลมช่วงอายุยาง0-2 ปี
6)  มีความรู้ในการปลูกซ่อมต้นยางช่วงอายุยาง 0-2 ปี


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ทักษะและความรู้ที่ต้องการ
       (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)
              1)  หลักฐาน/หนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้
              2)  ใบผ่านการฝึกอบรม หรือ ใบรับรองประสบการณ์การทำงาน (ถ้ามี)
       (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)
              1)  หลักฐานคุณวุฒิการศึกษา
              2)  หลักฐานการผ่านการอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ
              3)  ผลการสอบข้อเขียน
              4)  ผลการทดสอบสัมภาษณ์/ปฏิบัติ
       (ค) คำแนะนำในการประเมิน
              1)  การประเมินเป็นการใช้แบบสอบข้อเขียน และการสัมภาษณ์เชิงเทคนิค หรือประเมินจากการปฏิบัติงานจริงประกอบกัน โดยต้องผ่านในทุกวิธีการประเมิน
              2)  ผู้เข้ารับการประเมินแสดงความจำนงในการขอรับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาอาชีพ และระดับชั้นที่ประสงค์จะขอรับการประเมิน
              3)  ผู้รับการประเมินจะต้องกรอกแบบยื่นคำขอรับการทดสอบสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ระบุข้อมูลประวัติของผู้รับการประเมิน และยื่นเอกสารประกอบการยื่นขอรับการทดสอบสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพผ่านช่องทางที่กำหนด
       (ง) วิธีการประเมิน
              1)  การสอบข้อเขียน
              2)  การสอบสัมภาษณ์
              3)  การสอบปฏิบัติ


15. ขอบเขต (Range Statement)

ขอบเขต (Range Statement) อธิบายถึงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยสมรรถนะนี้ระบุองค์ประกอบ ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทั่วไปให้มีความเหมาะสม โดยต้องดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน แผนการดำเนินงาน และนโยบายของเจ้าของแปลงและผู้ประกอบการการดูแลและบำรุงรักษาสวนยางพารา (ช่วงอายุยาง 0-2 ปี) ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
       (ก)  คำแนะนำ
              N/A
       (ข) คำอธิบายรายละเอียด
              1) การปลูกซ่อม หลังจากปลูกแล้วอาจมีต้นยางพาราบางต้นตายไป เนื่องจากอากาศแห้งแล้ง ถูกโรคและแมลงทำลาย หรือต้นที่ปลูกไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องปลูกซ่อม เมื่อต้นยางที่ปลูกในครั้งแรกตายไป ควรปลูกซ่อมโดยเร็ว และควรปลูกในช่วงฤดูฝน ซึ่งวิธีการปลูกซ่อมก็ปลูกเช่นเดียวกับการปลูกครั้งแรก ซึ่งควรทำให้เสร็จภายในช่วง 1-2 ปีแรก ต้นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกซ่อม คือ ต้นยางชำถุง เพราะจะทำให้ต้นยางที่ปลูกในแปลงมีขนาดไล่เลี่ยกัน แปลงที่ต้นยางมีอายุเกิน 3 ปีแล้ว ไม่ควรปลูกซ่อม เพราะจะถูกบังร่มทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตทันต้นอื่นได้
              2) การคลุมโคน หมายถึง การคลุมบริเวณโคนต้นยางพาราเพื่อรักษาความชื้นในดินช่วงฤดูแล้ง โดยควรใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและมีปริมาณมาก เช่น ฟางข้าวหรือเศษซากพืชคลุมบริเวณโคนต้นยางพาราเป็นวงกลม ห่างจากโคนต้นยาง 5-10 เซนติเมตร โดยคลุมโคนต้นยางอายุ 1-3 ปี แล้วนำไปคลุมโคนก่อนเข้าฤดูแล้งประมาณ 1 เดือน ในขณะที่ดินมีความชื้นอยู่
              3) การป้องกันรอยไหม้จากแสงแดด ต้นยางที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักปรากฏรอยไหม้จากแสงแดด ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อส่วนนั้นรับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกันจนเนื้อเยื่อเสียหาย ดังนั้นก่อนเข้าฤดูแล้งควรใช้ปูนขาวหรือสีน้ำ (สีขาว) ทาบริเวณโคนต้นยางพาราส่วนที่เป็นสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลปนเขียว เพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด หากต้นยางเป็นรอยแผลแล้วเปลือกแห้งล่อนเห็นเนื้อไม้ อาจมีเชื้อราหรือแมลงเข้าทำลาย ควรแกะเศษไม้ที่แห้งออก ทำความสะอาดรอยแผล แล้วใช้สีน้ำมันทาเพื่อเคลือบรอยแผล
              4) การทำแนวกันไฟ บริเวณรอบ ๆ สวนยาง โดยไถเป็นแนวกว้างห่างจากแถวต้นยางด้านนอกสุดออกไปประมาณ 7 เมตร โดยสาเหตุที่สวนยางเกิดไฟไหม้ อาจเกิดจากก้นบุหรี่ที่มีผู้ทิ้งไว้ หรือเกิดจากสวนข้างเคียงเกิดไฟไหม้แล้วลุกลามเข้ามาในสวนยาง หรือจากไฟป่าธรรมชาติ ประกอบกับในช่วงหน้าแล้งมีเชื้อไฟจากวัชพืชที่แห้งตาย วัสดุคลุมโคนต้นยางและใบยางร่วง ทำให้ไฟไหม้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
              5) การป้องกันไฟไหม้ในสวนยาง 
                     5.1 ทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟที่ลุกลามมาจากบริเวณข้างเคียง โดยการขุด ถากวัชพืช และเก็บเศษซากพืช หรือไถบริเวณรอบสวนยาง ออกเป็นแนวกว้างแระมาณ 3-5 เมตร สำหรับสวนยางขนาดใหญ่ควรทำแนวกันไฟภายในสวนระหว่างแถวยางทุก ๆ 100 เมตร
                     5.2 การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร โดยใช้วิธีถากหรือตัดออก แล้วนำเศษมาคลุมโคนต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในหน้าแล้ง เพราะวัชพืชที่ยืนแห้งตายอาจเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี
              6) วิธีป้องกันกำจัดวัชพืช สามารถทำได้ ดังนี้ 1. ปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว ได้แก่ คาโลโปโกเนียม เซ็นโตรซีมา เพอราเรีย และซีรูเลียม ห่างจากแถวยางประมาณ 2 เมตร 2. ใช้วัสดุคลุมดิน โดยนำวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ซังข้าวโพด คลุมโคนต้นยางเฉพาะต้น หรือตลอดแถวเว้นระยะพอสมควร ไม่ชิดโคนต้นยาง 3. ใช้แรงงาน ขุด ถาก ดาย หรือตัดวัชพืชที่ขึ้นในแถวยาง ซึ่งควรทำก่อนวัชพืชออกดอก 4. ใช้สารเคมี โดยใช้ไกลโฟเสทในการกำจัดหญ้าคา และใช้พาราควอตและไกลโฟเสทในการกำจัดวัชพืชอื่น ๆ ในอัตราและปริมาณตามคำแนะนำ
              7) ประเภทของปุ๋ยที่ใช้ในสวนยาง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
                     7.1 ปุ๋ยรองก้นหลุม เป็นปุ๋ยที่เร่งให้รากงอกและแผ่ขยายเร็วขึ้น ทำให้ต้นยางพาราตั้งตัวได้ดีในระยะแรก มีอัตราการรอดตายสูง ปุ๋ยรองก้นหลุมที่ใช้กับยางพาราคือ ปุ๋ยหินฟอสเฟต ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมโดยขุดดินแยกเป็น 2 ส่วน คือ ดินชั้นบนและดินชั้นล่าง ใช้ดินบนกลบลงในหลุมก่อน ส่วนดินล่างใช้คลุกกับปุ๋ยหินฟอสเฟต 170-200 กรัมต่อต้น แล้วกลบดินล่างที่คลุกปุ๋ยลงไปให้เต็มหลุม และควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 3-5 กิโลกรัมต่อต้น รองก้นหลุมร่วมกับปุ๋ยหินฟอสเฟต
                     7.2 ปุ๋ยบำรุงต้นยาง เป็นการใส่ปุ๋ยให้กับต้นยางพาราตั้งแต่หลังปลูกจนถึงหลังเปิดกรีด มีสูตรปุ๋ยและอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมกับต้นยางแตกต่างกันตามเขตพื้นที่ปลูกและลักษณะเนื้อดิน และอายุของต้นยางพารา สูตรปุ๋ยที่แนะนำตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยางมีจำนวน 4 สูตร คือ 20-8-20 20-10-12 20-10-17 และ 30-5-18 หรือ 29-5-18 นอกจากนี้หากในดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 2-3 กิโลกรัมต่อต้นร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้คลุกกับดินก่อนใส่ปุ๋ยเคมี 15-20 วัน เพื่อปรับสภาพดินหรืออาจใส่พร้อมกับปุ๋ยเคมีในหลุมเดียวกัน
              8) ปุ๋ย เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชที่สำคัญ จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของยางพารา เป็นต้นทุนที่สำคัญของการปลูกสร้างสวนยาง โดยร้อยละ 60 ของต้นทุนการปลูกสร้างสวนยาง เป็นค่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งค่าแรงในการใส่ปุ๋ย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกชนิดของปุ๋ยและใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งปุ๋ยแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
                     8.1 ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่เป็นอินทรีย์สาร ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินร่วนซุย เพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นยาง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ คือการใส่สารอินทรีย์จากธรรมชาติลงไปในดิน เพื่อให้ธาตุอาหาร ปรับปรุงบำรุงโครงสร้างดินให้ดี เป็นแหล่งอาหารให้กับจุลินทรีย์ในดิน ปุ๋ยอินทรีย์ควรใส่ประมาณ 3-5 กิโลกรัม/ต้น/ปี ปุ๋ยอินทรีย์ยังแบ่งย่อยเป็นอีก 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ที่ขับถ่ายออกมาสะสมอยู่ตามพื้นคอก เช่น มูลไก่ มูลเป็ด หรือมูลสุกร เป็นต้น เมื่อนำมาใส่ในสวน จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ต้นยางสามารถนำไปใช้ได้ทันเวลา ไม่สูญเสียไปกับน้ำโดยไม่เกิดประโยชน์ ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยที่ได้จากการนำซากพืชซากสัตว์ ตลอดจนมูลสัตว์ มาหมักให้เกิดการสลายตัวผุพัง ด้วยกิจกรรมของจุลินทรีย์ มีลักษณะเป็นขุยสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ยุ่ยและร่วนซุย ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชในแปลง เมื่อเติบโตถึงระยะที่เหมาะสมก็ทำการไถกลบขณะที่ยังสดอยู่ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน พืชที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง ถั่วพร้า และโสน เป็นต้น
                     8.2 ปุ๋ยชีวภาพ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร หรือเพิ่มความเป็นประโยชน์ทางธาตุอาหารในดิน การใส่ปุ๋ยชีวภาพ คือ การใส่เชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและเป็นประโยชน์ลงไปในดิน เพื่อให้จุลินทรีย์เหล่านั้นเพิ่มปริมาณธาตุอาหารหรือเปลี่ยนรูปของธาตุอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ปุ๋ยชีวภาพ แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้จะตรึงธาตุไนโตรเจน (N) เป็นหลัก เช่น ไรโซเบียม ที่อาศัยอยู่ภายในปมรากถั่วของพืชตระกูลถั่ว ปุ๋ยชีวภาะส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชด้วยกลไกต่าง ๆ มีความสามารถผลิตสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า “ฮอร์โมนพืช” ช่วยละลายธาตุอาหารและช่วยเสริมประสิทธิภาพการหาอาหารให้รากพืชดูดธาตุอาหารได้ง่าย จุลินทรีย์กลุ่มนี้ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ เชื้อราไมคอร์ไรซ่า
                     8.3 ปุ๋ยเคมี หมายถึง สารประกอบที่เป็นสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์สังเคราะห์ที่ทำขึ้นมากรรมวิธีทางเคมี ให้อยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย การใส่ปุ๋ยเคมี คือการใส่ส่วนประกอบซึ่งมีธาตุอาหารพืชในรูปที่เป็นประโยชน์ โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน เช่น ใส่ทางดิน ให้ทางใบหรือทางระบบน้ำ การใช้ปุ๋ยเคมีที่ดี คือการให้ธาตุอาหารที่ตรงกับที่พืชขาดในปริมาณที่พอเหมาะ เพียงพอและสมดุล ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่สูง มีคุณภาพ และคงความอุดมสมบูรณ์ของดินให้อยู่ในระดับดีเอาไว้ได้ในระยะยาว
              9) สูตรปุ๋ยที่ใช้ในสวนยาง การใช้สูตรปุ๋ยในสวนยางพาราแบ่งตามอายุยาง เขตพื้นที่ปลูกยาง และลักษณะกลุ่มเนื้อดิน โดยยางพาราก่อนเปิดกรีดในเขตปลูกยางเดิมจะใช้ปุ๋ยสูตร 20-8-20 ทั้งในพื้นที่ดินร่วนเหนียวและดินร่วนทราย และในเขตปลูกยางใหม่จะใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-12 ในพื้นที่ดินร่วนเหนียว และใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-17 ในพื้นที่ดินร่วนทราย ส่วนยางพาราหลังเปิดกรีดในทุกเขตพื้นที่ปลูกและกลุ่มเนื้อดินจะใช้ปุ๋ยสูตร 30-5-18 หรือ 29-5-18
              10) วิธีการใส่ปุ๋ยยางพารา เนื่องจากวิธีการใส่ปุ๋ยมีผลต่อการสูญเสียของปุ๋ย ทั้งในรูปของการชะล้างและการระเหิด ดังนั้นวิธรการใส่ปุ๋ยยางที่ดี นอกจากจะต้องเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติแล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยลงไปแล้วต้นยางสามารถดูดไปใช้ได้มากที่สุด และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการใส่ปุ๋ยยางพารามีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป มีดังนี้ 
                     10.1 การใส่แบบหว่าน โดยทำการหว่านปุ๋ยให้ทั่วบริเวณที่จะใส่ปุ๋ย เป็นวิธีที่ทำให้ความเข้มข้นของปุ๋ยลดลง และปุ๋ยมีโอกาสทำปฏิกิริยากับดินได้มาก เหมาะสำหรับใช้กับพื้นที่ปลูกที่เป็นที่ราบ และมีการกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมี เพราะเศษซากพืชที่เหลือในแถวยางจะช่วยป้องกันการชะล้างปุ๋ยในช่วงที่มีฝนตก แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบที่กำจัดวัชพืชด้วยวิธีถากตลอดแนวแถวยาง ควรคราดให้ปุ๋ยเข้ากับดินเสียก่อน เพื่อเป็นการป้องกันปุ๋ยถูกชะล้างจากน้ำฝน
                     10.2 การใส่แบบเป็นแถบ ใส่ปุ๋ยโดยวิธีการโรยปุ๋ยเป็นแถบตามแนวแถวยาง โดยทำการเซาะให้เป็นร่องและใส่ปุ๋ยในร่องแล้วคราดกลบปุ๋ยไว้ เป็นวิธีที่ควรใช้กับพื้นที่ปลูกที่มีความลาดชันเล็กน้อย และควรใช้เมื่อต้นยางมีรากดูดอาหารแผ่ขยายออกห่างจากโคนต้นประมาณ 1 เมตร หรือเมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป
                     10.3 การใส่แบบหลุม โดยทำการขุดหลุมบริเวณรอบโคนต้นหรือสองข้างต้นยางจำนวน 2 หลุมต่อต้น แล้วใส่ปุ๋ยลงในหลุมและใช้ดินกลบปุ๋ย ซึ่งการใส่ปุ๋ยยางด้วยวิธีนี้จะสามารถลดการชะล้างปุ๋ยได้มาก จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ปลูกยางที่มีความลาดชันมาก และพื้นที่ที่มีฝนตกชุกติดต่อกันเป็นเวลานาน
              11) การตัดแต่งกิ่งยางพารา วิธีการตัดแต่งกิ่งเพื่อสร้างทรงพุ่มให้เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้ต้นยางมีทรงพุ่มแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ลดปัญหาความเสียหายที่เกิดจากลมและโรคยาง ตลอดจนเป็นการเตรียมพื้นที่บริเวณลำต้นให้เหมาะสมต่อการกรีดยาง ต้นยางมีความสมบูรณ์สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงอย่างต่อเนื่องยาวนานในช่วงหลังเปิดกรีด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการตัดแต่งกิ่งยาง คือ ช่วงปลายฤดูฝน ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ซึ่งมีสภาพอากาศและสภาพดินชื้นอยู่บ้าง ภายหลังตัดแต่งเลี้ยงกิ่งให้เจริญเติบโตเป็นทรงพุ่มที่ 1.90-2.30 เมตร ควรตัดแต่งกิ่งแขนงให้เหลือเพียง 2-3 กิ่ง เก็บไว้เป็นกิ่งหลักและให้กิ่งเหล่านี้เจริญต่อไปอีก 2-3 ฉัตร เท่านั้น
              12) วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง ได้แก่ กรรไกรตัดแต่งกิ่ง มีด/เลื่อยแต่งกิ่ง ปูนขาว หรือปูนแดง หรือสีน้ำมัน พร้อมแปรง
              13) วิธีการตัดแต่งกิ่งยาง แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การตัดแต่งกิ่งยางอ่อน 2. การตัดแต่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มให้มีพื้นที่ใบเหมาะสม 3. การตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันความเสียหายจากลม และ 4. การตัดแต่งกิ่งต้นยางที่เกิดความเสียหายจากลม ซึ่งการเลือกวิธีการตัดแต่งกิ่ง ขึ้นอยู่กับอายุยาง สภาพทรงพุ่ม และจุดมุ่งหมายของการตัดแต่งกิ่ง
              14) การตัดแต่งกิ่งยางอ่อน ควรหมั่นตัดแต่งกิ่งเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ หลังจากปลูก 2 เดือน เพื่อให้ลำต้นเรียบ โดยเลี้ยงกิ่งกระโดงให้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งการตัดแต่งกิ่งยางอ่อนจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่1 ต้นฤดูฝนปีที่ 1 โดยทำการตัดแต่งกิ่งแขนงที่แตกต่ำกว่า 30 เซนติเมตรจากพื้นดิน หมั่นตรวจรอยตัดอยู่สม่ำเสมอ ถ้ามีกิ่งแขนงแตกออกมาใหม่ให้ตัดออก กิ่งแขนงข้างที่สูงกว่า 30 เซนติเมตร เลือกเลี้ยงไว้ 2-3 กิ่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใบให้เหมาะสม ระยะที่ 2 ต้นฤดูฝนปีที่ 2 ตัดแต่งกิ่งแขนงข้างที่แตกต่ำกว่า 30 เซนติเมตรจากพื้นดิน การตัดจะต้องให้ชิดลำต้นมากที่สุด หมั่นตรวจรอยตัดอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีกิ่งแขนงแตกออกมาใหม่ ให้ตัดออก กิ่งที่สูงกว่า 1 เมตร จะตัดออกก็ต่อเมื่อมีกิ่งที่ระดับ 1.90-2.30 เมตร แตกออกมาแล้ว หรือ กิ่งแขนงที่เลี้ยงไว้เจริญเติบโตมากกว่า 3 ฉัตร เพื่อเลี้ยงทรงพุ่มในระยะที่ 3 ให้เร็วที่สุด ระยะที่ 3 ปลายฤดูฝนปีที่ 2 กิ่งแขนงข้างทุกกิ่ง ที่สูงกว่า 2 เมตร ไม่ต้องตัดแต่งกิ่ง
              15) การตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันความเสียหายจากลม ภายหลังตัดแต่งกิ่งยางอ่อนแล้ว ไม่ควรตัดแต่งอีก ยกเว้นกรณีที่ต้นยางนั้นมีทรงพุ่มแน่นทึบ แตกกิ่งก้านไม่สมดุล จึงทำการตัดแต่งใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีกระแสลมรุนแรงพัดประจำ ควรตัดกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มและกิ่งที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงหรือมีทิศทางไม่สมดุลออก เพื่อช่วยให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ป้องกันมิให้กิ่งก้านและทรงพุ่มฉีกขาดหรือโค่นล้ม
              16) การตัดแต่งกิ่งต้นยางที่เกิดความเสียหายจากลม เป็นการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกขาด หรือกิ่งที่แตกออกจากลำต้นให้หมด ตัดแต่งกิ่งที่มีทิศทางไม่สมดุลกับกิ่งที่เหลืออยู่ออกบางส่วน เพื่อมิให้ทรงพุ่มหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง แล้วใช้ไม้ค้ำช่วยพยุงลำต้นไว้ สำหรับต้นยางที่ได้รับความเสียหายจากลมควรรีบตัดแต่งกิ่งที่ฉีกขาด หรือแตกออกจากลำต้นให้หมดทันที เพื่อไม่ให้ความเสียหายลุกลามต่อไป จากนั้นต้องตัดแต่งกิ่งที่เหลืออยู่แต่มีทิศทางไม่สมดุลกับกิ่งบางส่วนออก เพื่อมิให้ทรงพุ่มหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง สำหรับต้นยางที่ได้ความเสียหายเพียงแค่ทรงพุ่มเอนไปข้างใดข้างหนึ่งมากหรือลำต้นโค้ง ให้ตัดแต่งกิ่งด้านที่หนักไม่สมดุลออก เพื่อป้องกันมิให้ต้นยางโค่นล้ม หรือถอนรากเนื่องจากกระแสลมอีกต่อไป
              17) ข้อควรปฏิบัติในการตัดแต่งกิ่ง ได้แก่
                     17.1 ควรตัดแต่งกิ่งในช่วงต้นและปลายฤดูฝนเท่านั้น
                     17.2 เครื่องมือและอุปกรณ์ตัดแต่งกิ่งต้องคมและสะอาด เพื่อป้องกันเปลือกฉีกขาด เป็นรอยแผลขนาดใหญ่ และเชื้อราเข้าทำลายทางบาดแผล
                     17.3 กรณีกิ่งแขนงแตกใหม่ยังอ่อนมาก ต้องตัดให้ชิดลำต้นมากที่สุด
                     17.4 กรณีกิ่งแขนงขนาดใหญ่ ควรแบ่งตัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้เลื่อยตัดให้ห่างจากบริเวณลำต้นพอสมควร โดยเลื่อยด้านล่างของกิ่งให้ลึกพอสมควรก่อน จึงกลับมาเลื่อยด้านบนจนขาด ทั้งนี้เพื่อป้องกันกิ่งฉีก จากนั้นจึงเลื่อยครั้งที่สองเป็นการตัดชิดลำต้น
                     17.5 สำหรับการตัดกิ่งแขนงที่อยู่สูง ห้ามโน้มต้นยางลงมาตัด เพราะจะทำให้ไส้ของต้นยางในเนื้อไม้แตก ต้นยางอาจตายได้
                     17.6 หลังตัดแต่งใช้ปูนขาว หรือปูนแดง หรือสีน้ำมันทาบริเวณแผลที่ตัด ป้องกันโรคเข้าทำลาย
              18) ลักษณะทรงพุ่มที่ดี ควรมีทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปตัววีหรือทรงกรวยหงาย ด้วยการเลี้ยงกิ่งกระโดงให้สมบูรณ์แข็งแรง เลือกแต่งกิ่งให้เหลือกิ่งแขนงที่ทำมุมกว้างกับลำต้น และมีกิ่งรองน้อยแผ่รอบทรงพุ่มอย่างสมดุล
              19) ประเภทของวัชพืช วัชพืชที่ขึ้นภายในสวนยางมีมากมายหลายชนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
                     19.1 วัชพืชฤดูเดียว หมายถึง วัชพืชที่มีวงจรชีวิตเพียงปีเดียวหรือฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่มีการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ลำต้นเตี้ย ตั้งตรง ไม่พันต้นยาง และมีระบบรากตื้น เมื่อถึงฤดูกาลหรือสภาพแวดล้อมเหมาะสม เมล็ดที่ร่วงลงดินก็จะงอกขึ้นมา เจริญเติบโต ออกดอก และผลิตเมล็ด แล้วก็ตายไป ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตเมล็ดได้จำนวนมาก และมักจะมีความคงทนอยู่ในดินได้นาน ดังนั้นการกำจัดวัชพืชประเภทนี้ให้หมดไปไม่สามารถทำได้ง่ายนัก แต่มีหลักการในการกำจัดวัชพืชประเภทนี้ให้ได้ผล คือ ให้ทำการกำจัดก่อนที่วัชพืชจะผลิตเมล็ด จึงจะได้ผลอย่างเต็มที่ ซึ่งวัชพืชฤดูเดียวที่พบในสวนยางพารามีทั้งชนิดใบแคบและใบกว้าง ได้แก่ 1) วัชพืชประเภทใบแคบ มีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ ใบจะเรียวยาวเส้นใบจะขนานกัน ระบบราก เป็นรากฝอยไม่มีรากแก้ว ได้แก่ หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนติด หญ้าใบไผ่ หญ้ามาเลเซีย หญ้าหวาย และ 2) วัชพืชประเภทใบกว้าง ลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือ เส้นใบแตกเป็นร่างแห ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย ได้แก่ หญ้าเขมร สาบแร้งสาบกา หญ้ายาง
                     19.2 วัชพืชข้ามปี หมายถึง วัชพืชที่มีอายุมากกว่า 1 ปี สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งโดยเมล็ดและส่วนที่อยู่ใต้ดิน เช่น ราก เหง้า หัว และไหล แต่วัชพืชประเภทนี้สามารถขยายพันธุ์ด้วยส่วนที่อยู่ใต้ดินได้ดีกว่าเมล็ด จึงนับเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ค่อนข้างยากกว่าวัชพืชฤดูเดียว ซึ่งวัชพืชข้ามปีจะเจริญงอกงามดีเมื่อถึงฤดูกาลที่เหมาะสม และชะงักการเจริญเติบโตหรือเหี่ยวเฉาไปเมื่อถึงฤดูแล้ง แต่จะมีส่วนขยายพันธุ์ที่อยู่ใต้ดินได้เก็บสะสมอาหารไว้ พอถึงฤดูกาลที่เหมาะสมหรือได้ความชื้นพอเหมาะก็จะแตกใบ ผลิดอก ออกผล และสร้างเมล็ดขึ้นมาใหม่ วัชพืชข้ามปีที่พบในสวนยางมีทั้งชนิดใบแคบและใบกว้าง ได้แก่ 1) วัชพืชประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้าคา หญ้าขจรจบดอกเหลือง หญ้าแพรกและ 2) วัชพืชประเภทใบกว้าง ได้แก่ สาบเสือ ขี้ไก่ย่าน
                     19.3 เฟิร์น เนื่องจากเฟิร์นเป็นพืชที่มีระบบรากตื้นจึงไม่มีการแข่งขันกับยางรุนแรงนัก เฟิร์นเป็นวัชพืชชั้นต่ำที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ไม่มีดอก ไม่มีเมล็ด ใบอ่อนจะม้วนงอ ลำต้นเป็นเหง้า วัชพืชประเภทเฟิร์นที่พบในสวนยางพารา ได้แก่ ลิเภา โชน ผักกูด และต้นสามร้อยยอด
              20) วิธีการกำจัดวัชพืช การกำจัดวัชพืชในสวนยางอ่อนมีความสำคัญมากกว่าในสวนยางใหญ่ ซึ่งการควบคุมหรือกำจัดวัชพืชในสวนยางสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การถากด้วยจอบ การฟันด้วยมีดพร้า การตัดด้วยเครื่องตัดหญ้า การใช้วัสดุคลุมดิน การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชแซม การใช้สารเคมี เป็นต้น
              21) การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีกล เป็นวิธีการกำจัดวัชพืชในสวนยางที่ทำกันโดยทั่วไปและทำกันมานานแล้ว เช่น การดายหญ้า การถาก การตัด การฟัน การขุด การไถพรวนระหว่างแถว การนาบต้นวัชพืช เป็นต้น โดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก เหมาะสำหรับสวนยางที่มีวัชพืชไม่มากนัก และเหมาะกับยางปลูกใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งยังไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แต่ต้องใช้แรงงานมากและต้องทำบ่อยครั้งจึงจะได้ผล โดยการดายหญ้า การถาก และการขุดโดยใช้แรงงานคน เหมาะสำหรับการกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยาง เพื่อไม่ให้วัชพืชพันต้นยาง โดยทำการกำจัดทุก 1-2 เดือน หรือทุกครั้งก่อนการใส่ปุ๋ย เป็นการทำลายส่วนของวัชพืชอยู่เหนือดินและใต้ดิน และการไถพรวน เป็นการกำจัดวัชพืชระหว่างแถวยาง ในช่วงที่ต้นยางมีอายุไม่เกิน 1 ปี อาจไถลึกถึง 30 เซนติเมตร และไถให้ห่างจากแถวยางประมาณ 1 เมตร แต่พอต้นยาง
              22) การกำจัดวัชพืชด้วยการใช้สารเคมี ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศรัตรูพืชอย่างเหมาะสม โดยอ่านฉลากแนะนำคุณสมบัติและการใช้ก่อนทุกครั้ง ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องพ่นอย่าให้มีรอยรั่ว เพราะจะทำให้สารพิษเปียกเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายของผู้ฉีดพ่นได้ ต้องสวมเสื้อผ้าและรองเท้าให้มิดชิด รวมทั้งหน้ากาก หรือผ้าปิดจมูกและศีรษะ เพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ ควรพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ใช้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถัง ทำลายภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว อย่าทิ้งตามร่องสวน แม่น้ำ ลำคลอง ภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรปิดให้สนิทเมื่อเสร็จงาน และเก็บไว้ในที่มิดชิด ห่างจากสถานที่ปรุงอาหาร แหล่งน้ำ และโรงเก็บต้องล็อคกุญแจตลอดเวลา ภายหลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
              23) ปลูกพืชคลุม/พืชแซมในสวนยางพารา ในระยะยางอ่อน ปัญหาสำคัญคือ วัชพืชสามารถเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง การปลูกพืชคลุมดินเป็นวิธีหนึ่งที่ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้ และลดการชะล้างและพังทลายของดิน ตลอดจนสามารถปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มธาตุอาหารในดินด้วย ประโยชน์ของพืชคลุมดินได้แก่ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เพิ่มธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนในดิน และหมุนเวียนธาตุอาหาร ควบคุมวัชพืช ช่วยลดระยะเวลายางอ่อน ผลตกค้างของพืชคลุมดินทำให้ผลผลิตยางเพิ่มขึ้น ข้อจำกัดของพืชคลุมดิน เป็นแหล่งอาศัยของโรคและแมลง เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ในสวนยางได้ง่าย เป็นการเพิ่มโรครากให้แก่ต้นยาง ขึ้นพันต้นยาง ทำให้เสียหาย ชนิดของพืชคลุมดินที่ปลูกในสวนยาง พืชคลุมดินโดยทั่วไปเป็นพืชคลุมดินตระกูลถั่ว ซึ่งโดยทั่วไป พืชคลุมดินตระกูลที่ใช้ปลูกในสวนยางที่สำคัญมี 4 ชนิด คือ
                     23.1 คาโลโปโกเนียม (Calopgonium mucunoides) เป็นพืชคลุมดินที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว สามารถคลุมพื้นที่ทั้งหมดภายหลังปลูกภายใน 2 – 3 เดือน แต่จะตายภายใน 18 – 24 เดือน มีเมล็ดเล็กแบน สีน้ำตาบอ่อนเกือบเหลือง มีเมล็ดประมาณ 65,000 เมล็ดต่อกิโลกรัม
                     23.2 เพอราเรีย (Pueraria phaseoloides) เป็นพืชคลุมดินที่เจริญเติบโตค่อนข้างเร็วสามารถคลุมพื้นที่ทั้งหมดหลังปลูกภายใน 5 – 6 เดือน คลุมดินได้ดีเมื่ออายุเกิน 2 ปี ควบคุมวัชพืชได้ดีกว่าพืชคลุมดินอื่นอยู่ภายใต้ร่มเงาได้ดี ใบใหญ่หนา เมล็ดเล็กค่อนข้างกลม ยาว สีน้ำตามแก่มีเมล็ดประมาณ 76,000 เมล็ดต่อกิโลกรัม
                     23.3 เซ็นโตรซีมา (Centrosema pubescens) เป็นพืชคลุมดินที่เจริญเติบโตช้า แต่หนาทึบ และอยู่ได้นานขึ้นได้ดีภายใต้ร่มเงา ใบเล็ก เมล็ดเล็กแบนมีลาย และมีเมล็ดประมาณ 40,000 เมล็ดต่อกิโลกรัม
                     23.4 ซีรูเลียม (Calopogonium caeruleum) เป็นพืชคลุมดินที่เจริญเติบโตในระยะแรกช้าสามารคลุมพื้นที่ได้หนาแน่นภายใน 4 – 6 เดือน ทนทานต่อร่มเงาได้ดี ไม่ตายในหน้าแล้ง ใบสีเขียวเข้มค่อนข้างหนาและเป็นมัน แผ่นใบมีขน เมล็ดมีสีเขียวอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันวาวมีเมล็ดประมาณ 26,200 เมล็ดต่อกิโลกรัม เนื่องจากลักษณะและการเจริญเติบโตของพืชคลุมดินแต่ละชนิดแตกต่างกัน การปลูกพืชคลุมดินให้คลุมตลอดอายุต้นยางอ่อน ควรปลูกหลายชนิดรวมกันตามสัดส่วน และเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดินควรมีความงอกมากกว่าร้อยละ 80 ปลูกโดยวิธีหว่าน
              24) ปลูกไม้กันลม วิธีปลูกเป็นแนวกันลม (Tree along borders) เป็นวิธีการที่นำเอาพืชยืนต้นที่อาจเป็นพืชเกษตรหรือพืชป่า ปลูกไว้รอบ ๆพื้นที่สวนยาง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นแนวกันลม ซึ่งพืชกันลมจะช่วยลดความเสียหายที่จะทำให้ต้นยางหักล้มได้ พืชที่นำมาปลูกเป็นแนวกันลม เช่น สะเดา เทียม มะพร้าว มะม่วง ตะเคียน เป็นต้น ซึ่งต้นไม้แนวกันลมสามารถทำให้พืชปลูกลดความเสียหายได้ในระยะ 25 เท่าของความสูง หมายความว่าหากต้นไม้แนวกันลมสูง 10 เมตร จะสามารถชะลอความเร็วกระแสลมได้ 250 เมตรตามทิศทางที่ลมพัดไป จะเลือกไม้กันลมชนิดใดนั้นขึ้นกับความต้องการของเกษตรกรเอง ซึ่งอาจเป็นการปลูกไม้ป่า เพราะจะได้เนื้อไม้มาใช้สอยเพื่อการทำที่อยู่อาศัยหรือเพื่อการอื่น ๆได้ หรือเป็นการปลูกไม้ผลเพราะช่วยกันลมได้ และยังให้ผลผลิตเพื่อการบริโภคหรือจำหน่ายได้ด้วย ดังนั้นอาจมีการแบ่งพื้นที่ปลูกเป็นแนวตาหมากรุกกระจายไปในพื้นที่สวนยางพารา


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)

N/A


17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)

N/A


18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

1) ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน
2) ประเมินโดยการสัมภาษณ์ตามแบบทดสอบที่กำหนดไว้
3) ประเมินโดยการสอบปฏิบัติ
4) ประเมินจากหลักฐานอื่น ๆ เช่น หนังสือรับรอง เอกสารรับรองการผ่านการอบรม หนังสือรับรองการทำงาน/ผ่านงาน โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการสัมภาษณ์
 


ยินดีต้อนรับ