หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

เตรียมหลุมปลูกและปลูกยางพารา

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-SNCB-921A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ เตรียมหลุมปลูกและปลูกยางพารา

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2566

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกสร้างสวนยางพารา

1 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)

       หน่วยสมรรถนะนี้เกี่ยวข้องกับการเตรียมหลุมปลูกกล้ายางและการปลูกยางพารา โดยผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจใน วิธีการขุดคูและทำแนวรั้วรอบแปลง ขั้นตอนการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดชันได้ วิธีการขุดหลุมปลูก ขั้นตอนการรองก้นหลุม อธิบายวิธีการปลูกด้วยต้นตอตายาง ต้นยางชำถุง และปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตายางพาราในแปลง และมีทักษะได้แก่ สามารถเตรียมและเลือกเครื่องจักรและเลือกอุปกรณ์ในการขุดคูรอบแปลงได้อย่างถูกต้อง เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ที่ใช้ในการทำแนวรั้งได้อย่างถูกต้อง ขุดคูและทำแนวกั้นรั้วได้ถูกต้อง เลือกอุปกรณ์ในการวางแนวปลูก และกำหนดระยะปลูกยางพาราทั้งในพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดชันได้อย่างถูกต้อง กำหนดและจัดทำแนวหลักในพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดชันได้อย่างเหมาะสม ขุดและกลบหลุมปลูกยางพาราได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถเตรียมและเลือกใช้วัสดุที่ใช้รองก้นหลุมและรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางพาราได้อย่างถูกต้อง สามารถเตรียมและเลือกใช้ต้นตอยางพารา ต้นยางชำถุง เมล็ดยางพารา กิ่งตาพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ เลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกเพื่อรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางพาราได้อย่างถูกต้อง สามารถรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นตอตายางและต้นยางชำถุงได้ และสามารถปลูกเมล็ดยางพาราในแปลงอย่างถูกต้อง สามารถปลูกต้นตายางพารา ต้นยางชำถุง และสามารถติดตาในแปลงได้อย่างถูกวิธี


7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)

กลุ่มอาชีพเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา


9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)

ISCO 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล


10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)

- พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542
- คำแนะนำพันธุ์ยาง ปี 2560 พันธุ์ยางแนะนำในพื้นที่ปลูกยางเดิม พันธุ์ยางแนะนำในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร


11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria)
B141

ขุดคูและทำแนวรั้วรอบแปลง

1. อธิบายวิธีการขุดคูและทำแนวรั้วรอบแปลงได้

2. เลือกอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในการขุดคูรอบแปลงได้อย่างถูกต้อง

3. เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำแนวรั้วรอบแปลงได้อย่างถูกต้อง

4. ดำเนินการขุดคูและทำแนวรั้วรอบแปลงได้อย่างถูกต้อง

B142

วางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ราบ

1. อธิบายขั้นตอนการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ราบได้

2. เลือกอุปกรณ์ในการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ราบได้อย่างถูกต้อง

3. กำหนดและจัดทำแนวแถวหลักในพื้นที่ราบได้อย่างถูกต้อง

B143

วางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ลาดชัน

1. อธิบายขั้นตอนการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ลาดชันได้

2. เลือกอุปกรณ์ในการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ลาดชันได้อย่างถูกต้อง

3. กำหนดและจัดทำแนวแถวหลักในพื้นที่ลาดชันได้อย่างถูกต้อง

B144

ขุดหลุมปลูกยางพารา

1. อธิบายวิธีขุดหลุมปลูกยางพาราได้

2. เลือกอุปกรณ์หรือเครื่องจักรในการขุดหลุมปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกยางพาราได้อย่างถูกต้อง

3. เตรียมอุปกรณ์และเครื่องจักรกลในการขุดหลุมปลูกยางพาราได้อย่างถูกต้อง

4. ดำเนินการขุดและกลบหลุมปลูกยางพาราได้อย่างถูกต้อง

B145

รองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางพารา

1. อธิบายขั้นตอนการรองก้นหลุมได้อย่างถูกวิธี

2. เตรียมวัสดุที่ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางพาราได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางพาราได้

B146

ปลูกยางพาราด้วยต้นตอตายาง

1. อธิบายวิธีการปลูกด้วยต้นตอตายางพาราได้อย่างถูกวิธี

2. ดำเนินการเตรียมต้นตอตายางพาราและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นตอตายางพาราได้อย่างถูกวิธี

4. ดำเนินการปลูกต้นตอตายางพาราในแปลงได้อย่างถูกวิธี

B147

ปลูกยางพาราด้วยต้นยางชำถุง

1. อธิบายวิธีปลูกด้วยต้นยางชำถุงได้

2. เตรียมต้นยางชำถุงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการรองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางชำถุงได้อย่างถูกวิธี

4. ดำเนินการปลูกต้นยางชำถุงในแปลงได้อย่างถูกวิธี

B148

ปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตายางในแปลง

1. อธิบายวิธีปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตายางในแปลงได้

2. เตรียมเมล็ดยางพารา กิ่งตายางพันธุ์ดี และอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตายางในแปลงได้อย่างถูกต้อง

3. ดำเนินการปลูกเมล็ดยางในแปลงได้อย่างถูกวิธี

4. ดำเนินการติดตายางในแปลงได้อย่างถูกวิธี


12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

B13 เลือกและเตรียมพื้นที่ปลูกสร้างสวนยางพารา


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1)  มีทักษะในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ การอธิบาย และการสรุปผลเกี่ยวกับการเตรียมหลุมปลูกกล้ายางพารา และการปลูกยางพารา
2)  มีทักษะในการสังเกตเบื้องต้น กำหนด ตัดสินใจเลือก แยกความแตกต่าง และการดำเนินการในการปฏิบัติงานการเตรียมหลุมปลูกกล้ายางพาราได้แก่เลือก และเตรียมอุปกรณ์สำหรับการขุดคู ทำแนวรั้ว วางแนวปลูก และกำหนดระยะปลูกในพื้นที่ราบ และพื้นที่ลาดชัน และขุดหลุมปลูก ตลอดจนแยกความแตกต่าง การเตรียม การดำเนินการ เพื่อประเมินแนวทางการปฏิบัติงานการปลูกยางพารา ได้แก่ การเตรียมวัสดุปลูกยางพารา เช่น 
ต้นตอตา ยางชำถุง และเมล็ดยางพารา ดำเนินการปลูก และติดตายางในแปลงได้ 
3)  มีทักษะในการสื่อสาร อธิบาย และทำความเข้าใจร่วมกับผู้ร่วมงานหรือผู้รับปฏิบัติตามแผนงานหรือแผนปฏิบัติการให้เข้าใจและปฏิบัติงานการเตรียมหลุมปลูกและการปลูกยางพาราให้ถูกต้อง
4)  มีทักษะในการติดต่อประสานงานกับผู้อื่นที่ทำงานหรือต้องรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1)  มีความรู้ในการขุดคูรอบแปลงและทำแนวรั้วกั้นรอบแปลง
2)  มีความรู้ในการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ราบ
3)  มีความรู้ในการวางแนวปลูกและกำหนดระยะปลูกยางพาราในพื้นที่ลาดชัน
4)  มีความรู้ในการเตรียมหลุมปลูกยางพารา
5)  มีความรู้ในการรองก้นหลุมก่อนปลูกยางพารา
6)  มีความรู้ในการปลูกต้นตอตายาง
7)  มีความรู้ในการปลูกต้นยางชำถุง
8)  มีความรู้ในการปลูกด้วยเมล็ดแล้วติดตายางในแปลง


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ทักษะและความรู้ที่ต้องการ
       (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)
              1) หลักฐาน/หนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้
              2) ใบผ่านการฝึกอบรม หรือ ใบรับรองประสบการณ์การทำงาน (ถ้ามี)
     (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)
              1) หลักฐานคุณวุฒิการศึกษา
              2) หลักฐานการผ่านการอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ
              3) ผลการสอบข้อเขียน
              4) ผลการทดสอบสัมภาษณ์/ปฏิบัติ
       (ค) คำแนะนำในการประเมิน
              1) การประเมินเป็นการใช้แบบสอบข้อเขียน และการสัมภาษณ์เชิงเทคนิค หรือประเมินจากการปฏิบัติงานจริงประกอบกัน โดยต้องผ่านในทุกวิธีการประเมิน
              2) ผู้เข้ารับการประเมินแสดงความจำนงในการขอรับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาอาชีพ และระดับชั้นที่ประสงค์จะขอรับการประเมิน
              3) ผู้รับการประเมินจะต้องกรอกแบบยื่นคำขอรับการทดสอบสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ระบุข้อมูลประวัติของผู้รับการประเมิน และยื่นเอกสารประกอบการยื่นขอรับการทดสอบสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพผ่านช่องทางที่กำหนด
       (ง) วิธีการประเมิน
              1) การสอบข้อเขียน
              2) การสอบสัมภาษณ์
              3) การสอบปฏิบัติ


15. ขอบเขต (Range Statement)

ขอบเขต (Range Statement) อธิบายถึงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยสมรรถนะนี้ระบุองค์ประกอบ ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทั่วไปให้มีความเหมาะสม โดยต้องดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน แผนการดำเนินงาน และนโยบายของเจ้าของแปลงและผู้ประกอบการการเตรียมหลุมปลูกกล้ายางพารา ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
       (ก)  คำแนะนำ
              N/A
       (ข)  คำอธิบายรายละเอียด
              1) การกำหนดระยะปลูก เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการปลูกสร้างสวนยาง เพราะการกำหนดระยะปลูกมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา สามารถใช้พื้นที่ปลูกยางได้อย่างคุ้มค่า ประหยัดในเรื่องของการกำจัดวัชพืช ต้นยางเปิดกรีดได้เร็ว สวนยางมีลักษณะสวยงาม เป็นระเบียบ สะดวกต่อการปฏิบัติงาน โดยต้นยางพาราจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดต้องมีพื้นที่ต่อต้นไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร
              2) การกำหนดแถวหลัก ควรวางแถวหลักตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก และให้ขวางทางการไหลของน้ำ เพื่อลดการชะล้างและการพังทลายของดิน ควรกำหนดแถวหลักให้ห่างจากแนวเขตสวนยางเก่าไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร 
              3) การขุดคูรอบแปลง เป็นการขุดคูตามแนวเขตสวนยาง เพื่อป้องกันโรครากและการแก่งแย่งธาตุอาหาร โดยขุดระหว่างแนวเขตสวนยางเก่ากับแถวหลักแรกของต้นยางพารา 
              4) การขุดหลุม เมื่อปักไม้ชะมบตามระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว ทำการขุดหลุมโดยขุดดินด้านใดด้านหนึ่งของไม้ชะมบโดยตลอด ไม่ต้องถอนไม้ออก หลุมที่ขุดมีขนาด กว้างxยาวxลึก 50x50x50 เซนติเมตร ดินที่ขุดแบ่งเป็น 2 ชั้น ดินบนกองไว้ด้านหนึ่ง ดินล่างกองไว้อีกด้านหนึ่ง ผึ่งแดดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อดินแห้งแล้ว ย่อยดินบนให้ละเอียดพอควรใส่ลงก้นหลุม แล้วตามด้วยดินล่างที่ผสมด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟต อัตรา 170 กรัมและปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อหลุมใส่ไว้ด้านบน
              5) การวางแนวปลูก เป็นการกำหนดว่าจะปลูกยางไปทิศทางใด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับต้นยาง ป้องกันการชะล้างผิวหน้าดิน สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา การกรีดและการเก็บน้ำยาง โดยการวางแนวปลูกมีวิธีปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1. การกำหนดระยะปลูก 2. การกำหนดแถวหลัก 3. การขุดหลุม
              6) อุปกรณ์ในการเล็กแนวระยะปลูก ได้แก่ สวยวัด ไม้ชะมบ ลวด และไม้เล็งแนว
              7) ประโยชน์ของการทำแนวระดับและขั้นบันได เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ป้องกันการชะล้างปุ๋ยที่ใส่ให้กับต้นยางพารา ทำให้รากต้นยางพารายึดแน่นกับดิน ไม่ถูกน้ำเซาะล้มได้ง่าย ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ง่ายและสะดวกแก่การปฏิบัติงานในสวนยาง
              8) การวางแนวปลูกในพื้นที่ราบ เริ่มจากการวางแถวหลักห่างจากแนวเขตสวนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ไม่ขวางทิศทางลม
              ​​​​​​​9) การวางแนวปลูกในพื้นที่ลาดเท ในพื้นที่ลาดเทหรือพื้นที่ที่อยู่บนควนเขา การวางแนวปลูกไม่สามารถใช้วิธีแบบเดียวกับพื้นที่ราบได้ เนื่องจากที่ลาดเทหรือที่ควนเขามีการไหลบ่าของน้ำในขณะที่มีฝนตก เป็นผลให้เกิดการชะล้างและพังทลายหน้าดิน ดังนั้นเพื่อป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน จึงจำเป็นต้องวางแนวปลูกตามแนวระดับ หากพื้นที่มีความลาดเทมากกว่า 15 องศา ต้องทำขั้นบันได
              10) รองก้นหลุมก่อนปลูกต้นยางพารา
              วิธีการรองก้นหลุมก่อนการปลูกยางพาราอย่างถูกวิธี ดังนี้
                     1. เตรียมปุ๋ยสำหรับใช้รองก้นหลุม ได้แก่ ปุ๋ยฟอสเฟตบดละเอียด ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ แต่ต้องเป็นปุ๋ยที่หมักสมบูรณ์แล้ว เพราะหากยังหมักไม่สมบูรณ์ จุลินทรีย์กำลังย่อยสลายกองปุ๋ย จะมีความร้อนสูง ความร้อนและสารพิษบางชนิดอาจทำอันตรายต่อรากพืชได้
                     2. ขุดหลุม (ขนาดตามแต่ชนิดพันธุ์ที่ปลูก) โดยแยกดินเป็น 2 กอง คือ ดินชั้นบน และดินชั้นล่าง
                     3. ขนาดของหลุมปลูก พิจารณาตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด
                     4. นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมกับกองดินชั้นบน เคล้าให้เข้ากันดี แล้วใส่ลงในหลุมประมาณ 1/3 ของความลึกหลุม
                     5. นำต้นพืชลงปลูกโดยใช้ดินชั้นล่างกลบ และดินชั้นบนที่เหลือกลบตามด้านบนปากหลุม/ รดน้ำก็เป็นอันเสร็จ
              11) การปลูกยางพาราด้วยต้นตอตายาง เป็นวิธีที่ง่ายต่อการปฏิบัติ ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกและต่อเนื่อง ควรปลูกต้นฤดูฝน วิธีการปลูกใช้เหล็กหรือไม้ปลายแหลมขนาดเล็กกว่าต้นตอตาที่ปลูกเล็กน้อย แทงบนหลุมปลูก ลึกขนาดเกือบเท่าความยาวของรากแก้วต้นตอตา เสียบต้นตอตาตามร่องที่แทงไว้ ให้รอยต่อระหว่างรากแก้วและลำต้นอยู่พอดีกับผิวดิน ให้แผ่นตาหันไปทิศทางเดียวกันทั้งแปลง จากนั้นใช้เหล็กหรือไม้อัดต้นตอตาให้แน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าให้มีโพรงอากาศบริเวณราก เพราะจะทำให้รากเน่า การกลบดินพยายามให้แนวระดับดินอยู่ตามส่วนรอยต่อของรากกับลำต้น หลังการปลูกควรพรวนดินบริเวณโคนต้นตอตาให้สูงเพื่อมิให้โคนต้นตอตาเน่า เนื่องจากมีน้ำขัง หลังจากปลูกควรใช้เศษฟางข้าวหรือวัสดุหาง่าย คลุมโคนต้นตอตายาง หากไม่มีฝนตกหลังจากปลูกควรให้น้ำต้นยาง
              12) การปลูกยางพาราด้วยต้นยางชำถุง เป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ต้นยางเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ช่วยลดช่วงระยะเวลาดูแลรักษาต้นยางอ่อนให้สั้นลง สามารถกรีดยางได้เร็วกว่าการปลูกด้วยต้นตอตาและการติดตาในแปลง นอกจากนี้ต้นยางชำถุงยังเหมาะสมใช้เป็นต้นปลูกซ่อมได้ดีที่สุดอีกด้วย การปลูกยางด้วยต้นยางชำถุง จะต้องระมัดระวังเรื่องการขนย้าย เพราะหากดินในถุงชำแตกจะทำให้ต้นยางตายได้ ควรเลือกใช้ต้นยางชำถุงที่มีจำนวนฉัตร 1-2 ฉัตร และฉัตรจะต้องแก่เต็มที่ หลังจากเลือกต้นได้แล้ว ทำการตัดแต่งรากที่ทะลุถุงชำออก เก็บต้นยางชำถุงไว้ในโรงเรือนที่มีร่มเงารำไรประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นยางปรับตัว และรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอจึงย้ายปลูก การปลูกทำโดยใช้มีดเฉือนก้นถุงออก แล้วกรีดด้านข้างของถุงให้ขาดออกจากกันแต่ยังไม่ต้องดึงถุงออก นำวางลงในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ นำดินกลบจนเกือบเต็มหลุมแล้วจึงดึงถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินในถุงแตก กลบดินต่อจนเสมอปากหลุม อัดดินให้แน่น และพูนโคนต้นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้น้ำขังในหลุมปลูก
              13) การปลูกยางพาราด้วยเมล็ดและติดตาในแปลง ต้นยางที่ปลูกจะมีระบบรากแข็งแรง มีความเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ไม่ต้องขุดถอนย้ายปลูก ต้นยางเปิดกรีดได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับต้นที่ปลูกด้วยต้นตอตา การปลูกสร้างสวนยางโดยการติดตาในแปลงจะประสบผลสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นกล้ายาง ความสมบูรณ์ของกิ่งตายาง และความสามารถของคนติดตายาง ซึ่งต้องปลูกเมล็ดยางก่อน โดยนำเมล็ดสดโดยนำเมล็ดสดปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละ 3 เมล็ด ระยะห่างระหว่างเมล็ด 25 เซนติเมตร ก่อนวางเมล็ดบนหลุม ควรใช้ไม้ปลายแหลมสักดินให้เป็นหลุมลึกประมาณ 3 เซนติเมตร วางเมล็ดลงในหลุมที่เจาะไว้ ให้ด้านแบนของเมล็ดคว่ำลง หรือถ้าปลูกด้วยเมล็ดงอกให้วางด้านรากงอกของเมล็ดคว่ำลง แล้วกลบดินให้มิดเมล็ด เมื่อต้นกล้ายางอายุ 6-8 เดือน หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นไม่ต่ำกว่า 1 เซนติเมตรที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 10 เซนติเมตร จะทำการติดตายาง หลังจากติดตาแล้ว 21 วัน หากติดตาสำเร็จมากกว่า 2 ต้นต่อหลุม ก็พิจารณาตัดยอดต้นที่สมบูรณ์ที่สุดในระดับความสูง 10-15 เซนติเมตรเอียงเป็นมุม 45 องศาลงไปทางด้านตรงข้ามกับแผ่นตา หลังจากนั้น 1 เดือน หากตาของต้นที่ตัดยอดยังไม่แตกก็พิจารณาตัดยอดต้นอื่นต่อไปทีละต้น แต่ถ้าตาของต้นที่ตัดแตกออกมาแล้ว ให้ถอนต้นตอตาทั้งหมดออก คงเหลือต้นที่ตาแตกเจริญเติบโตต่อไป


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)

N/A


17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

1)  ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน
2)  ประเมินโดยการสัมภาษณ์ตามแบบทดสอบที่กำหนดไว้
3)  ประเมินโดยการสอบปฏิบัติ
4)  ประเมินจากหลักฐานอื่น ๆ เช่น หนังสือรับรอง เอกสารรับรองการผ่านการอบรม หนังสือรับรองการทำงาน/ผ่านงาน โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการสัมภาษณ์


ยินดีต้อนรับ