หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-JJLH-906A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2566

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการปุ๋ยยางพารา

1 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)

       หน่วยสมรรถนะนี้เกี่ยวข้องกับการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ปุ๋ย ลดปัญหาการซื้อปุ๋ยปลอมปน และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากปุ๋ยผสมใช้เองมีต้นทุนต่ำกว่าปุ๋ยสูตรสำเร็จ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยสมรรถนะนี้จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการเลือกสูตรปุ๋ยเคมีและคำนวณอัตราส่วนที่จะผสมใช้เองให้สอดคล้องกับคำแนะนำหรือผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดินและการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามตารางผสมปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำขึ้น


7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)

กลุ่มอาชีพเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา


9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)

ISCO 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล


10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)

- พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2550


11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria)
A241

เลือกสูตรปุ๋ยเคมีที่จะผสมใช้เองให้สอดคล้องกับคำแนะนำหรือผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน

1. อธิบายบทบาทของธาตุอาหารหลักที่ยางต้องการและความเป็นกรดเป็นด่างของดิน

2. อธิบายความหมายของสูตรปุ๋ยเคมีต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

3. เลือกสูตรปุ๋ยเคมีที่จะผสมใช้เองให้สอดคล้องกับคำแนะนำของนักวิชาการ คำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง หรือผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน 

A242

ผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามตารางผสมปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำขึ้น

1. ระบุหลักการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในสวนยาง

2. อธิบายขั้นตอนการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในสวนยาง

3. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในสวนยาง

4. ผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในสวนยางตามหลักการและขั้นตอนอย่างถูกต้อง


12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

ธาตุอาหารในดินของสวนยางพารา


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1) มีทักษะในการเลือกสูตรปุ๋ยเคมีที่จะผสมใช้เองให้สอดคล้องกับคำแนะนำของนักวิชาการ คำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง หรือผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน
2) มีทักษะในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์และการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในสวนยางตามตารางผสมปุ๋ยของกรมวิชาการเกษตร

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1)  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของธาตุอาหารหลักที่ยางต้องการและค่าความเป็นกรดเป็นด่าง
2)  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของสูตรปุ๋ยเคมีต่างๆ
3)  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกสูตรปุ๋ยเคมีใช้เองได้อย่างเหมาะสม
4)  มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ทักษะและความรู้ที่ต้องการ 
       (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)
              1) หลักฐาน/หนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้
              2) แฟ้มสะสมงาน
       (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)
              1) หลักฐานคุณวุฒิการศึกษา
              2) หลักฐานการผ่านการอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ
              3) ผลการสอบข้อเขียน
              4) ผลการทดสอบสัมภาษณ์/ปฏิบัติ
       (ค) คำแนะนำในการประเมิน
              1) ผู้ประเมินจะดำเนินการตรวจประเมินความรู้เกี่ยวกับการเลือกสูตรปุ๋ยเคมีที่จะผสมใช้เองให้สอดคล้องกับคำแนะนำหรือผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน และการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามตารางผสมปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำขึ้น โดยพิจารณาจากหลักฐานด้านความรู้
              2) หลักฐานที่ต้องการเพื่อแสดงถึงหน่วยสมรรถนะนี้ ต้องมีความสัมพันธ์กับข้อกำหนดของหน่วยสมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงานในหน่วยสมรรถนะนี้ โดยหลักฐานในที่นี้ต้องแสดงถึง 
                     • ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง
                     • วิธีการปฏิบัติงานในแปลง กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
                     • ขอบเขตด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
       (ง) วิธีการประเมิน
              1) การสอบข้อเขียน
              2) การสอบสัมภาษณ์
              3) การสอบปฏิบัติ


15. ขอบเขต (Range Statement)

ขอบเขต (Range Statement) อธิบายถึงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยสมรรถนะนี้ระบุองค์ประกอบ ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทั่วไปให้มีความเหมาะสม โดยต้องดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน แผนการดำเนินงาน และนโยบายของเจ้าของสวนยางและผู้ประกอบการสวนยาง ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
       (ก) คำแนะนำ
              N/A
       (ข) คำอธิบายรายละเอียด
              1) บทบาทของธาตุอาหารหลักที่ยางต้องการและความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ทำให้พืชมีสีเขียวและแข็งแรง เป็นธาตุที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของต้นยางและผลผลิตยาง การขาดธาตุไนโตรเจนจะพบในสวนยางที่เป็นดินทรายและไม่ได้ปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว  ฟอสฟอรัส (P) มีความสำคัญต่อการแบ่งเซลล์และการสร้างเซลล์ในพืช ช่วยในการเจริญเติบโตของราก จำเป็นสำหรับการออกดอก ติดเมล็ด และการพัฒนาของเมล็ดหรือผล ฟอสฟอรัสในดินส่วนใหญ่จะได้จากแร่หินฟอสเฟต  โพแทสเซียม (K) ช่วยให้ทุกส่วนของต้นพืชและระบบรากแข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง ช่วยในการสังเคราะห์แสง ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลผลิต โดยทั่วไปโพแทสเซียมมักจะมีเพียงพอในดินที่มีปริมาณดินเหนียวสูง แต่จะพบการขาดธาตุโพแทสเซียมในดินทราย ส่วนความเป็นกรดเป็นด่างของดิน(pH) ถ้าดินปลูกยางมี pH ตํ่ากว่า 4.0 ควรปรับปรุงดินให้มี pH สูงขึ้นอยู่ระหว่าง 4.0-5.5 เพื่อเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชในดินและประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่ ลดความเป็นพิษของอะลูมินัม เหล็ก แมงกานีส และลดการตรึงฟอสฟอรัส ส่วนวิธีการปรับ pH ให้สูงขึ้น ควรใส่วัสดุปูน อาจใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินให้ดียิ่งขึ้น
              2) ความหมายของสูตรปุ๋ยเคมีต่างๆ เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 20-8-20 หมายถึง ปุ๋ยสูตรนี้มี ไนโตรเจน 20% ฟอสฟอรัส 8% และ โพแทสเซียม 20%
              3) คำแนะนำสถาบันวิจัยยาง หมายถึง ต้นยางก่อนเปิดกรีด (1) เขตปลูกยางเดิม ดินร่วนเหนียวหรือดินร่วนทราย ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-8-20 (2) เขตปลูกยางใหม่ ดินร่วนเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-12 ดินร่วนทรายใช้ปุ๋ยสูตร 20-10-17 ส่วนต้นยางหลังเปิดกรีด ดินทุกชนิด ใช้ปุ๋ยสูตร 29-5-18
              4) หลักการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง คือ การนำแม่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 สูตร 46-0-0 และ สูตร 0-0-60 มาผสมให้เข้ากันตามสัดส่วนในตารางผสมปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำขึ้นและสามารถผสมได้ทุกสูตรที่มีขายในท้องตลาด
              5) ขั้นตอนการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง (1) เลือกสูตรปุ๋ยและอัตราการใช้กับพืชจากคำแนะนำหรือผลการวิเคราะห์ดิน (2) คำนวณหาปริมาณและชั่งแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดจากตารางหนังสือคู่มือการผสมปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ ใช้เอง (3) นำแม่ปุ๋ยที่ชั่งได้เทลงบนพื้นเรียบและแห้งหรืออ่างผสมปูน (4) ใช้จอบหรือพลั่วผสมคลุกเคล้าปุ๋ยในกองให้เข้ากัน (5) นำบรรจุกระสอบเพื่อขนย้ายไปสวน 
              6) วัสดุอุปกรณ์ในการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง ได้แก่ เครื่องชั่งขนาด 25-50 กิโลกรัม พลั่วหรือจอบ ถังและขันพลาสติก อ่างผสมปูน แม่ปุ๋ย ตารางผสมปุ๋ยเคมี กระสอบ เชือก


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)

A20 ทัศนะคติที่ดีในการประกอบอาชีพ


17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)

N/A


18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

1) ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน
2) ประเมินโดยการสัมภาษณ์ตามแบบทดสอบที่กำหนดไว้
3) ประเมินโดยการสอบปฏิบัติ
4) ประเมินจากหลักฐานอื่นๆ เช่น หนังสือรับรอง เอกสารรับรองการผ่านการอบรม หนังสือรับรองการทำงาน/ผ่านงาน โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการสัมภาษณ์
 


ยินดีต้อนรับ