หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ใช้และซ่อมบำรุงรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-AKJB-850A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ใช้และซ่อมบำรุงรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน

3. ทบทวนครั้งที่ N/A

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาชีพผู้เตรียมดินเพาะปลูกข้าว


6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)

หน่วยนี้เกี่ยวข้องกับการใช้และซ่อมบำรุงรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกข้าว ประกอบด้วยการอ่านสัญลักษณ์ความปลอดภัย การปฏิบัติงานกับรถแทรกเตอร์ตามหลักความปลอดภัย การติดรถแทรกเตอร์เข้ากับเครื่องมือติดพ่วง การบริการรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน และการซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเบื้องต้น

ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้และซ่อมบำรุงรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูกข้าว ซึ่งใช้เป็นต้นกำลังของเครื่องมือที่มาติดพ่วง สามารถอ่านสัญลักษณ์ความปลอดภัย โดยอ่านและปฏิบัติตามสัญลักษณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อปฏิบัติงานกับเครื่องจักรกล และใช้สัญญาณมือในการติดต่อสื่อสารขณะปฏิบัติงาน สามารถปฏิบัติงานกับรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินตามหลักความปลอดภัย โดยอ่านสัญลักษณ์และมาตรวัดบนหน้าปัดรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน ขับรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินบนถนนอย่างปลอดภัย ใช้งานรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและใช้อย่างถูกวิธี สามารถติดรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเข้ากับเครื่องมือติดพ่วงได้ถูกต้องตามขั้นตอนอย่างปลอดภัย โดยเลือกขนาดรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเหมาะสมกับขนาดของเครื่องมือติดพ่วง ติดและปลดเครื่องมือติดพ่วงจากรถรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินกับเครื่องมือที่ใช้งาน สามารถให้บริการรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน โดยศึกษาวิธีการใช้และการตรวจเช็ครถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินจากคู่มือประจำเครื่อง ให้บริการตามคู่มือ และเลือกชนิดและค่าความหนืดของสารหล่อลื่นถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเบื้องต้น โดยวิเคราะห์ปัญหาความเสียหายเพื่อตัดสินใจซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน และซ่อมแซมในงานที่ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ มีทักษะทางเทคนิคในการทำงาน สามารถเลือกใช้หลักการและเครื่องมือในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และแก้ปัญหาทางเทคนิคหน้างานควบคู่กับการใช้คู่มือหรือภายใต้การแนะนำ มีจริยธรรมในการประกอบอาชีพ


7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)

ผู้ปฏิบัติงานเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ


9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)

รหัสอาชีพ 6111 : ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกพืชไร่และพืชผัก (ISCO, 2008)


10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)

ไม่มี  


11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria)
A111 อ่านสัญลักษณ์ความปลอดภัย

1.1   อ่านสัญลักษณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงานกับเครื่องจักรกล

1.2 ใช้สัญญาณมือในการติดต่อสื่อสารขณะปฏิบัติงาน

A112

ปฏิบัติงานกับรถแทรกเตอร์ตามหลักความปลอดภัย

2.1   อ่านสัญลักษณ์และมาตรวัดบนหน้าปัดรถแทรกเตอร์

2.2   ขับรถแทรกเตอร์ถนนอย่างปลอดภัย

2.3   ใช้งานรถแทรกเตอร์โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและถูกวิธี

A113

ติดรถแทรกเตอร์เข้ากับเครื่องมือติดพ่วง

3.1   เลือกขนาดรถแทรกเตอร์เหมาะสมกับขนาดของเครื่องมือติดพ่วง

3.2   ติดรถแทรกเตอร์กับเครื่องมือที่ใช้งาน

3.3 ปลดเครื่องมือติดพ่วงจากรถแทรกเตอร์

A114

บริการรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน

4.1     ศึกษาวิธีการใช้และการตรวจเช็ครถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินจากคู่มือประจำเครื่อง

4.2     บริการรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินตามคู่มือกำหนด

4.3     ใช้เครื่องมือถูกต้องและปลอดภัย

4.4 เลือกชนิดและค่าความหนืดของสารหล่อลื่นถูกต้องตามมาตรฐาน

A115

ซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเบื้องต้น

5.1   วิเคราะห์ปัญหาความเสียหายเพื่อตัดสินใจซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน

5.2 ซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินในงานที่ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ


12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

ศึกษาคู่มือการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเบื้องต้น


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

  1. การอ่านสัญลักษณ์ความปลอดภัยและสัญลักษณ์ที่ใช้ในกับวิชาชีพ
  2. การใช้คู่มือประจำเครื่อง
  3. การใช้รถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินอย่างปลอดภัย
  4. การใช้เครื่องมือช่างอย่างปลอดภัย
  5. การวิเคราะห์ปัญหา

(ข) ความต้องการด้านความรู้

  1. สัญลักษณ์ความปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
  2. สัญญาณมือ
  3. ขนาดจุดติดพ่วง (categories) ของรถแทรกเตอร์และเครื่องมือ
  4. จุดตรวจและวิธีบริการรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน
  5. จุดที่เกิดปัญหาบ่อย ๆ ของรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน
  6. ค่าความหนืดของสารหล่อลื่น

14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) และทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)
ผลประเมินจากการปฏิบัติงานจริง โดยสังเกตความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือหลักฐานที่แสดงประสบการณ์การปฏิบัติงานจากหนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองการฝึกอบรม ที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้

หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)
ผลการสอบจากแบบสอบข้อเขียน หรือหลักฐานจากใบรับรองผลการศึกษา ใบคุณวุฒิ ใบประกาศนียบัตร วุฒิบัตร หนังสือรับรองการอบรม ที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือหลักฐานจากการเป็นวิทยากร การจัดทำรายงานผลการทำงาน การจัดทำคู่มือ การเขียนบทความ ที่เชื่อถือได้

คำแนะนำในการประเมิน
เจ้าหน้าที่สอบตรวจประเมินหลักฐาน โดยพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานด้านปฏิบัติงาน และหลักฐานด้านความรู้

ใบรับรองผลการศึกษา ใบคุณวุฒิ ใบประกาศนียบัตร และหนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน ใช้เป็นหลักฐานการเข้าสู่คุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนหลักฐานอื่น ๆ ที่ตรงตามสมรรถนะที่สอบจะได้รับคะแนนเพิ่มในสมรรถนะนั้น 30%


15. ขอบเขต (Range Statement)

คำแนะนำ
ไม่มี

คำอธิบายรายละเอียด
การอ่านสัญลักษณ์ความปลอดภัย คือความเข้าใจสัญลักษณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยและปฏิบัติตามเมื่อปฏิบัติงานกับเครื่องจักรกล เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และการใช้สัญญาณมือในการติดต่อสื่อสารขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ เนื่องจากขณะปฏิบัติงานเครื่องจักรจะมีเสียงดังมาก การสื่อสารด้วยคำพูดอาจเกิดการเข้าใจผิด จึงปลอดภัยกว่าถ้าใช้สัญญาณมือ
การปฏิบัติงานกับรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินตามหลักความปลอดภัย คือการใช้รถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน โดยตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งการใช้รถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน และเครื่องมือที่นำมาติดพ่วง สามารถประเมินอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะใช้เครื่องจักรกล ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้เกี่ยวข้อง ผู้ปฏิบัติงานต้องอ่านสัญลักษณ์และมาตรวัดบนหน้าปัดรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน ขับรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินบนถนนและใช้งานรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และใช้งานอย่างถูกวิธี
การติดรถแทรกเตอร์เข้ากับเครื่องมือ คือการติดพ่วงรถแทรกเตอร์เข้ากับเครื่องเตรียมดิน เช่น ไถ พรวน คราด จอบหมุนหรือโรตารี่ ลูกกลิ้ง ทุ่นลาก หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกข้าว โดยปกติรถแทรกเตอร์ 4 ล้อ ขนาดมาตรฐานมักจะติดพ่วงเครื่องเตรียมดินแบบ 3 จุด มีวิธีปฏิบัติคือ คลายโซ่ข้างให้หลวม แล้วถอยแทรกเตอร์เข้าหาเครื่องมือให้ได้แนวตรง ติดแขนล่างซ้าย แล้วจึงติดแขนล่างขวาซึ่งสามารถปรับระยะได้ จากนั้นจึงติดแขนกลาง พร้อมใส่สลักล็อกทุกจุด ทั้งนี้จะต้องเลือกขนาดรถแทรกเตอร์เหมาะสมกับขนาดของเครื่องมือติดพ่วงด้วย หากติดพ่วงกับเครื่องมือที่ใช้เพลาอำนวยกำลัง (PTO) ต้องใส่เพลาอำนวยกำลังก่อนติดแขนกลาง เช่น ติดพ่วงรถแทรกเตอร์กับจอบหมุน ในการใช้เพลาอำนวยกำลังต้องระวังใส่ปลอกเพลาอำนวยกำลังไว้เสมอ เพื่อความปลอดภัยมิให้เกิดอันตรายจากเพลาหมุน และปิดฝาครอบเพลาไว้เมื่อไม่ใช้งาน ส่วนการปลดเครื่องมือติดพ่วงจากรถแทรกเตอร์ จะปฏิบัติย้อนกลับกับการติดรถแทรกเตอร์เข้ากับเครื่องมือ
การเตรียมการซ่อมบำรุงเครื่องเตรียมดินเพาะปลูกข้าว คือการศึกษาวิธีและระยะบริการเครื่องเตรียมดินเพาะปลูกข้าว รวมทั้งวิธีการตรวจเช็คและซ่อมแซมจากคู่มือประจำเครื่อง เพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อคงสภาพอายุใช้งานของเครื่องเตรียมดินเพาะปลูกข้าว
การบริการรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดิน
การบริการรถแทรกเตอร์ประจำวัน เป็นการบำรุงรักษารถแทรกเตอร์
ทุก ๆ 10 ชั่วโมงการใช้งานตามที่คู่มือกำหนด เช่น ก่อนใช้งานต้องตรวจวัดและเติมน้ำมันเครื่องให้ได้ระดับ ระบายน้ำและตะกอนออกจากถ้วยกรองน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจน้ำในหม้อน้ำและเติมให้ได้ระดับ ทำความสะอาดหม้อกรองดักฝุ่น และตรวจอัดจาระบีที่จุดหล่อลื่น หลังใช้งานต้องทำความสะอาดรถแทรกเตอร์ โดยเฉพาะครีบระบายความร้อน ตรวจตราจุดที่อาจเกิดชำรุดเสียหาย จุดที่ผิดปกติ เช่น ไฟส่องสว่าง ไฟเลี้ยว ไฟเบรก อุปกรณ์เครื่องวัด ตรวจฟังเสียงเครื่องยนต์ว่าปกติ เพื่อแก้ไขก่อนจะใช้งานต่อไป รวมทั้งเติมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับทำงานในวันต่อไป
การบริการเครื่องเตรียมดินเพาะปลูกข้าว คือการบำรุงรักษาเครื่องเตรียมดินตามชั่วโมงทำงานที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดในคู่มือประจำเครื่อง โดยศึกษาจุดที่ต้องบำรุงรักษา และวิธีปฏิบัติทุก 10, 50, 100 และ 500 ชั่วโมงทำงาน หรืออื่น ๆ ได้จากคู่มือประจำเครื่อง เพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง และการใช้เครื่องมือในการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัย
การซ่อมแซมรถแทรกเตอร์และเครื่องเตรียมดินเพาะปลูกข้าวเบื้องต้น คือการวิเคราะห์ปัญหาความเสียหายของเครื่องเตรียมดินเพื่อตัดสินใจซ่อมแซม เมื่อตรวจพบความเสียหายที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นงานซ่อมที่ไม่ซับซ้อนและไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ เช่น เปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนหลอดไฟ ปรับตั้งเครื่องยนต์ ปรับระยะฟรีคลัตช์ ปรับระยะฟรีห้ามล้อ ไล่ลมระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับความตึงสายพานหรือเปลี่ยนเมื่อหมดอายุ การเปลี่ยนใบมีดตัดของโรตารี่เมื่อบิ่น หักหรือสึกหรอ การใช้ตะไบแต่งขอบผาลไถที่เสียรูป การตรวจซ่อมชิ้นส่วนที่ชำรุด หลุดหรือหลวม ตรวจขันให้แน่น เพื่อให้เปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนหลอดไฟ ปรับตั้งเครื่องยนต์ ปรับระยะฟรีคลัตช์ ปรับระยะฟรีห้ามล้อ ไล่ลมระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับความตึงสายพานหรือเปลี่ยนเมื่อหมดอายุและเครื่องเตรียมดินอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยศึกษาวิธีการตรวจเช็คและซ่อมแซมเปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนหลอดไฟ ปรับตั้งเครื่องยนต์ ปรับระยะฟรีคลัตช์ ปรับระยะฟรีห้ามล้อ ไล่ลมระบบน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับความตึงสายพานหรือเปลี่ยนเมื่อหมดอายุและเครื่องเตรียมดินเพาะปลูกข้าวจากคู่มือประจำเครื่อง

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)

ไม่มี


17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)

ไม่มี


18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)
  1. ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน
  2. ประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานจริง
  3. หลักฐานจากใบรับรองผลการศึกษา ใบคุณวุฒิ ใบประกาศนียบัตร วุฒิบัตร และหนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน สามารถใช้เป็นหลักฐานการเข้าสู่คุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนหลักฐาน
    อื่น ๆ ที่ตรงตามสมรรถนะที่สอบ เช่น หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองการฝึกอบรม
    ที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือหลักฐานจากการเป็นวิทยากรบรรยาย การจัดทำรายงานผลการทำงาน การจัดทำคู่มือ การเขียนบทความ ที่เชื่อถือได้ สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน
  4. รายละเอียดเครื่องมือและเกณฑ์การประเมินอยู่ใน คู่มือการประเมินสมรรถนะ

ยินดีต้อนรับ