หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-TTNV-313A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)
N/A

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)

          หน่วยสมรรถนะนี้อธิบายถึง ความสามารถในการวางแผนการติดตามและประเมินผลโครงการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามหลักการ สามารถดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการได้ตามแผน และวัตถุประสงค์ที่กำหนด ตลอดจนสามารถสรุปและรายงานผล การติดตามและประเมินผลโครงการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง ภายใต้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เชื่อถือได้เป็นระบบ สามารถนำผลการติดตามและประเมินไปใช้ประโยชน์ได้จริง


7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)

          นักส่งเสริมการเกษตร


9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria)
B141 วางแผนการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด

1. ออกแบบการประเมินการติดตามและประเมินผลโครงการได้

2. เขียนโครงการติดตามและประเมินผลได้

B142 ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด

1. รวบรวมข้อมูลการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดได้

2. วิเคราะห์ แปลผล ตัดสินผลข้อมูลที่ได้จากการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดได้

B143 รายงานผลการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด

1. สรุปผลการดำเนินงานได้ครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง และถูกต้องตามข้อกำหนด

2. เขียนรายงานการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดได้


12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
  • ความรู้เบื้องต้นด้านการเกษตร
  • หลักการส่งเสริมการเกษตร

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

(ก1) การสื่อสาร

(ก2) การตั้งคำถาม

(ก3) การฟัง

(ก4) การจับประเด็น

(ก5) การบันทึก

(ก6) การสังเกต

(ก7) การคิดวิเคราะห์/สังเคราะห์

(ข) ความต้องการด้านความรู้

(ข1) ทฤษฎีการประเมินและติดตามผล

(ข2) การวิเคราะห์และแปลผลโครงการ


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

          (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

               (ก1) แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต

               (ก2) เอกสารรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

               (ก3) เอกสารสรุปรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูล

               (ก4) แผนงานโครงการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด

               (ก5) บันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน      

          (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

               (ข1) หลักการและวิธีการจัดทำแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต

               (ข2) หลักการและวิธีการสำรวจรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสรุปรายงาน

               (ข3) การใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้น วิเคราะห์ข้อมูลและสรุป จัดทำเอกสารรายงาน

               (ข4) การบันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน

               (ข5) การวางแผนการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด

               (ข6) การเขียนแผนงานโครงการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด

               (ข7) การเขียนบันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน

               (ข8) ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง   

          (ค) คำแนะนำในการประเมิน

               เจ้าหน้าที่สอบ ตรวจประเมินหลักฐานโดยพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้   

          (ง) วิธีการประเมิน

               - ข้อสอบข้อเขียน

               - การสัมภาษณ์

               - ผลงานหรือชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว


15. ขอบเขต (Range Statement)

          (ก) คำแนะนำ

               (ก1) สำหรับผู้เข้ารับการประเมินในหน่วยสมรรถนะนี้ จะต้องสามารถ

                      1) ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลได้ครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอด

                      2) ระบุเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามหลักการติดตามและประเมินผล

                      3) ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอด

                      4) สรุปและให้ข้อเสนอแนะได้ถูกต้องตามหลักการ กระบวนการ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

                      5) รายงานที่สะท้อนผลการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

               (ก2) สำหรับเจ้าหน้าที่สอบ จะต้องพิจารณาหลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้ให้ตรงตามหน่วยสมรรถนะ                            (ข) คำอธิบายรายละเอียด

               (ข1) การประเมินผล (Evaluation)

                      การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง กระบวนการตัดสินคุณค่าของแผนงานหรือโครงการด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ เพียงใด

                      จุดมุ่งหมายของการประเมินผล

                      1) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศประกอบการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ หรือ ผู้บริหารในการตัดสินคุณค่าของโครงการ

                      2) เพื่อให้การบริหารโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                      3) เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงโครงการที่คล้ายกัน

                      4) เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินโครงการว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่

                      5) เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้จากสาธารณชน

               (ข2) การติดตาม (Monitoring)

                      การติดตาม (Monitoring) หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผนปฏิบัติงานที่วางไว้หรือไม่ การติดตามผล เป็นการติดตามปัจจัยนำเข้า (Inputs) กิจกรรมที่ดำเนินการ (Activities) ผลผลิตที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรม (Outputs) และผลลัพธ์หรือผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการ (Outcome & Impact)

                      จุดมุ่งหมายของการติดตาม มีดังนี้

                      1) เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

                      2) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรได้เต็มที่ คุ้มค่า และประหยัด

                      3) เพื่อทราบถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน

                      4) เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไข ปรับปรุง ปัจจัยนำเข้า และกิจกรรมต่าง ๆ

                      5) เพื่อส่งเสริมสนันสนุนให้โครงการบรรลุผลความสำคัญของการติดตามและการประเมินผล

                      6) ช่วยในการตัดสินใจนำโครงการไปใช้

                      7) ช่วยให้ทราบว่าโครงการยังมีความจำเป็นต้องทำต่อไปหรือต้องขยายโครงการออกไปหรือไม่

                      8) นำผลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ ปรับปรุงโครงการ

                      9) วิเคราะห์ผลการดำเนินงานโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคต่อความสำเร็จอย่างไร

                      10) นำไปใช้วางแผนในโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันต่อไป

               (ข3) ความเหมือนและความแตกต่างของการติดตามและประเมินผล

                      จากความหมายและจุดมุ่งหมายของการติดตามและประเมินผลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นสามารถสรุปถึงความเหมือนและความแตกต่างของการติดตามและประเมินผลดังนี้

รายการ การติตตามโครงการ การประเมินโครงการ

1. ผู้รับผิดชอบ

ผู้รับผิดชอบโครงการ/หัวหน้างาน/เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ ผู้รับผิดชอบโครงการ/หัวหน้างาน/เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ หรือบุคคลภายนอก

2. ข้อมูล

เก็บข้อมูล หรือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า การดำเนินการ และผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการโครงการ ข้อมูลจากการติดตามที่ดำเนินการเก็บรวบรวมมาแล้ว นำมาเป็นข้อมูลในการประเมินเพื่อตัดสินคุณค่าของโครงการ

3. ช่วงเวลาดำเนินการ

กำหนดระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง มีแผนการติดตาม เช่น เป็นประจำทุกเดือน ไตรมาส ตามประเภทของการประเมินผลโครงการที่เลือกไว้ เช่น ระหว่างการดำเนินการ สิ้นสุดโครงการ

4. จุดเน้น/วิธีการ

เป็นการติดตามความก้าวหน้า ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินการ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เป็นการตัดสินคุณค่าของโครงการ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์/มาตรฐาน

5. ผู้ใช้ข้อมูลเป็นหลัก

ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้บริหาร

                      สรุปได้ว่า การติดตาม (Monitoring) โครงการ เป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า การดำเนินงาน และผลการดำเนินงาน เกี่ยวกับโครงการเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับ สำหรับการกำกับทบทวน และแก้ปัญหาขณะดำเนินโครงการ ส่วนการประเมิน (Evaluation) โครงการ คือกระบวนการตรวจสอบและตัดสินคุณค่าเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า การดำเนินงาน และผลการดำเนินโครงการ
เพื่อเป็นสารสนเทศ สำหรับการปรับปรุงการดำเนินโครงการ สรุปผลสำเร็จของโครงการและพัฒนาโครงการต่อไป การติดตามและประเมินผลจึงเป็นกลไก และเครื่องมือสำคัญในการบริหารและพัฒนาโครงการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

               (ข4) ตัวชี้วัด

                      ตัวชี้วัดมีลักษณะที่สำคัญ คือ ตัวชี้วัดจะต้องสามารถให้ค่าหรือบ่งบอกคุณลักษณะของสิ่งที่ทำการวัดว่ามีปริมาณหรือคุณลักษณะเช่นไร ส่วนจะมีความหมายอย่างไรจะต้องนำไปตีค่า หรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน จึงจะทราบได้ว่าสิ่งนั้นมีค่าสูงหรือต่ำได้มาตรฐานหรือไม่เพียงใด

                      ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจัดทำสารสนเทศ เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจวางนโยบายและบริหารงานพัฒนาในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่นเพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายการพัฒนาสังคมแต่ละด้านของแผนพัฒนาประเทศ เพื่อวิเคราะห์เป้าประสงค์ของแผนงานและจัดทำแผนปฏิบัติการของโครงการ เพื่อกำหนดโครงการที่มีทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อกำหนดทางเลือกการดำเนินกิจกรรมที่น่าพอใจที่สุดหรือเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน และการประเมินการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้

                      จึงอาจกล่าวได้ว่าตัวชี้วัด (Indicators) หมายถึงสิ่งที่แสดงเป็นตัวเลขที่ใช้วัดแง่มุมต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นตัวแทนของสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งให้นิยามเชิงปฏิบัติการในการวิเคราะห์และการติดตามผลเป็นเชิงปริมาณ มาตรวัดที่ใช้ในการคำนวณเป็นค่าประเมินที่ได้จากตัวแปรเฉพาะซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นตัวแปรสำคัญให้กับตัวชี้วัด โดยที่แต่ละตัวแปรอาจจะมีมาตรวัดที่ต่างกันในกรณีที่ตัวชี้วัดตัวหนึ่งมีตัวแปรมากกว่าหนึ่งตัวแปรจำเป็นจะต้อง มีการกำหนดค่าน้ำหนักของแต่ละตัวแปรเพื่อจัดทำดัชนีของตัวชี้วัดนั้น

                      สำหรับลักษณะของตัวชี้วัดบางอย่างค่อนข้างเป็นนามธรรม เช่น ความพึงพอใจการมีส่วนร่วมเป็นต้น ดังนั้นหน้าที่ของผู้จัดทำตัวชี้วัดคือ ต้องพยายามแปลงนามธรรมนั้นให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้เป็นรูปธรรมทั้งหมด ตัวชี้วัดในเชิงอุดมคติบางตัวอาจต้องใช้การบรรยายความและการใช้เหตุผลประกอบ แต่ปัญหาที่สำคัญคือข้อมูลมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอสามารถหาข้อมูลอื่น ๆ มาทดแทนได้หรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่

                      จากนิยามข้างต้นสรุปได้ว่าตัวชี้วัดคือ “ตัวแปรที่แสดง/ระบุ/บ่งบอกลักษณะเชิงปริมาณ/
เชิงคุณภาพของโครงการหรือแผนงานในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และมีความชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เปรียบเทียบหรือสามารถบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงได้”

               (ข5) จำแนกประเภทตัวชี้วัดตามระบบ ดังนี้

                      1) ตัวชี้วัดปัจจัยนำเข้า (Input Indicators) คือตัวชี้วัดที่ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่นำเข้าสู่
การดำเนินงานมีความเหมาะสมเพียงใดเช่นจำนวนคนจำนวนวัตถุดิบต่าง ๆ จำนวนเงินลงทุน เป็นต้น

                      2) ตัวชี้วัดกระบวนการ (Process Indicators) คือตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในช่วงต่าง ๆ
ว่าควรต้องปรับปรุง หรือแก้ไขในส่วนใดบ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือทำให้การดำเนินงานนั้นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

                      3) ตัวชี้วัดผลผลิตหรือผลการดำเนินงาน (Output Indicators) คือตัวชี้วัดที่สามารถบอกได้ว่าผลผลิตที่ได้ตรงตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์หรือไม่

                      4) ตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Outcome Indicators) คือตัวชี้วัดผลที่เกิดเนื่องมาจากผลผลิต หรือผลิตผลจากการดำเนินงานทั้งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม

                      5) ตัวชี้วัดผลกระทบ (Impact Indicators) คือตัวชี้วัดผลที่เกิดขึ้นทั้งในทางบวกและทางลบของการดำเนินงาน ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เห็นผลนั้น ๆ

               (ข6) ความหมายของเกณฑ์การประเมินผล

                      เกณฑ์การประเมินผล คือ ระดับที่กำหนดไว้หรือมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพื่อใช้ในการตัดสินโครงการหรือแผนงานโดยจะตัดสิน ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดคือตัวชี้วัดหรือตัวชี้วัดย่อยแต่ละประเด็นจนถึงการประเมินผลความสำเร็จของโครงการ ในภาพรวมเกณฑ์การประเมินผลที่มีความละเอียดน้อยที่สุดคือให้ผลออกมาเพียง 2 ระดับ เช่น สำเร็จหรือล้มเหลว ผ่านหรือไม่ผ่าน ได้หรือตก จนกระทั่งละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึง 11 ระดับ แต่ในทางปฏิบัติมักจะพบเกณฑ์การประเมินผล 5 ระดับมากที่สุด เกณฑ์การประเมินที่คุ้นเคยกันมากคือในระบบการศึกษาโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 5 ระดับ (A B C D และ F) แต่บางแห่งก็ละเอียดเป็น 11 ระดับคือแบ่งย่อยเพิ่มเป็น A- B+ B- C+ C- D+

                      ระดับของเกณฑ์การประเมินผลแบ่งเป็น 2 ระดับดังนี้

                      1) เกณฑ์การประเมินผล 2 ระดับ จะกำหนดระดับหรือตัวเลขขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการวัด โดยอาจจะกำหนดให้น้อยกว่าหรือมากกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จึงจะถือว่าผ่านหรือสำเร็จ เช่น ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมกลับก่อนเลิกไม่เกินร้อยละ 5 เกณฑ์เช่นนี้คือผลต้องน้อยกว่าที่กำหนดไว้ หรือต้องมีผู้สำเร็จตามหลักสูตรตามโครงการอบรมกฎจราจรร้อยละ 80 เกณฑ์เช่นนี้คือผลต้องเท่ากับหรือมากกว่าที่กำหนดไว้จึงจะผ่านเกณฑ์ หรือถ้าใช้เกณฑ์กำหนดเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือเชิงลบ เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนนักเรียนที่สอบตก จำนวนผู้เป็นโรค จำนวนนักเรียนที่ขาดเรียน จะต้องตั้งเกณฑ์ให้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือตั้งไว้ ส่วนถ้าใช้เกณฑ์กำหนดเป็นสิ่งที่ดีหรือเชิงบวก เช่น จำนวนนักเรียนที่สอบได้ จำนวนคนไข้ที่หายจากโรคจำนวนนักเรียนที่มาเรียน นิยมใช้เกณฑ์ที่ต้องได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะผ่าน

                      สำหรับข้อเสียของเกณฑ์ 2 ระดับคือทราบเพียงแต่ผลการประเมินว่าผ่านหรือไม่ผ่านตามที่กำหนดไว้ของแต่ละตัวชี้วัดเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีใช้ตัวชี้วัด 20 ตัวก็ทราบเพียงแต่ว่าผ่าน 12 ตัว
ไม่ผ่าน 8 ตัว โดยไม่ทราบว่าประเด็นการประเมินผลใดผ่านบ้าง หรือความสำเร็จของโครงการในภาพรวมสำเร็จหรือไม่ แต่ก็อาจจะแก้ไขโดยกำหนดเกณฑ์ของประเด็นการประเมินผลโครงการเพิ่มเติมว่า ในแต่ละประเด็นตัวชี้วัดต้องผ่าน

                      เกณฑ์ครึ่งหนึ่งหรือในแต่ละโครงการรวมทุกตัวชี้วัดแล้วต้องผ่านเกณฑ์ครึ่งหนึ่งก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังประสบปัญหาความสำคัญของแต่ละตัวชี้วัดไม่เท่ากัน เช่น ตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ ผลต่าง ๆ ของโครงการ (ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ) จะมีจำนวนตัวชี้วัดน้อย แต่ตัวชี้วัดของกระบวนการบริหารจะมีจำนวนตัวชี้วัดมากกว่า ถ้าใช้วิธีนับจำนวนโดยให้ความสำคัญเท่ากันแล้ว จะทำให้ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับตัวโครงการเพราะมีตัวชี้วัดมากกว่านั่นเอง

                      2) เกณฑ์การประเมินผลมากกว่า 2 ระดับคือตั้งแต่ 3 ระดับขึ้นไปเช่นปรับปรุง-พอใช้-ดีหรือน้อยที่สุด-น้อย-ปานกลาง-มาก-มากที่สุด โดยกำหนดคะแนนเป็นตัวเลขให้ตามลำดับตั้งแต่ 1 จนถึงจำนวนในระดับนั้น ๆ ถ้ามีเกณฑ์ 3 ระดับก็จะเป็น 1 2 และ 3 ถ้าเป็นเกณฑ์ 5 ระดับก็จะเป็น 1 23 4 และ 5 การกำหนดเกณฑ์ประเมินมากกว่า 2 ระดับ จะมีความยุ่งยากกว่าการกำหนดเกณฑ์ 2 ระดับทั้งการกำหนดในเชิงปริมาณและคุณภาพ การกำหนดเกณฑ์การประเมินผลในเชิงปริมาณ สมมติว่าจะกำหนด 3 ระดับในขั้นตอนแรก จะต้องหาจุดผ่านหรือจุดกึ่งกลางที่เป็นตัวเลขให้ได้ก่อน เช่น การกำหนดเกณฑ์ 3 ระดับก็กำหนดว่าต้องได้ระดับ 2 จึงจะผ่าน จากตัวอย่างการกำหนดเกณฑ์ 2 ระดับ คือ ต้องได้งบประมาณอย่างต่ำ 90% ซึ่งถือเป็นจุดผ่านในการกำหนดเกณฑ์ 3 ระดับก็จะใช้ตัวเลข 90% เป็นจุดกึ่งกลาง และพิจารณาไปในทางมากกว่าพบว่า ถ้าทำเพิ่มให้เต็มงบประมาณคือต้องเพิ่มอีก 10% จะเท่ากับ 100% ก็นำตัวเลข 10%
มาแบ่งเป็น 2 ช่วงจะได้ช่วงละ 5% ก็จะได้เกณฑ์ดังต่อไปนี้ 95% - 100% จะได้คะแนนเท่ากับ
3 ถ้า 90% -94% จะได้คะแนนเท่ากับ 2 และต่ำกว่า 90% จะได้คะแนนเท่ากับ 1

                      การกำหนดเกณฑ์การประเมินผลในเชิงคุณภาพ อาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับเชิงปริมาณ
ซึ่งถ้าเป็นการกำหนดเกณฑ์ 2 ระดับ ก็อาจไม่มีปัญหา แต่ถ้ามากกว่า 2 ระดับต้องกำหนดในลักษณะเชิงบันได คือ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบกันเสมอ เช่น การประเมินผลองค์การต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงาน จะกำหนดเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ 1 = มีแผนงาน ระดับ 2 = นำแผนงานไปใช้ ระดับ 3 = มีการติดตามแผนงาน ระดับ 4 = มีการประเมินผลตามแผนงาน และระดับ 5 = นำผลการประเมินผลมาปรับปรุง เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจพบปัญหาได้ เช่น บางหน่วยงานไม่มีแผนโดยตรงแต่ก็ดำเนินงานไปได้ และอาจมีการประเมินผลงานผู้ประเมินตามเกณฑ์ดังกล่าวอาจไม่ได้คะแนนคือให้เพียง 1 คะแนน เพราะถือว่าเกณฑ์เป็นลักษณะขั้นบันได ถ้าไม่มีขั้นแรกก็ไม่ควรเกิดขั้นอื่นได้ เป็นต้น

                      สำหรับการวัดการรับรู้หรือความรู้สึก บางครั้งอาจจำเป็นต้องทำ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก วัดด้วยเกณฑ์ 2 ระดับ ว่าแต่ละคนพอใจหรือไม่พอใจ แล้วนำมากำหนดเกณฑ์เป็นจำนวนร้อยละของผู้ตอบเป็น 5 ระดับ โดยกำหนดเกณฑ์ผ่านที่ 3 คะแนน โดยแบ่งเป็นช่วง ๆ เช่น กำหนดเกณฑ์ผ่านที่ร้อยละ 70 คือ พอใจน้อยกว่าร้อยละ 59 = 1 คะแนน ร้อยละ 60–69 = 2 คะแนน ร้อยละ 70–79 = 3 คะแนน ร้อยละ 80–89 = 4 คะแนน และร้อยละ 90–100 = 5 คะแนน หรือถ้าหากว่าการวัดเพียง 2 ระดับหยาบไป อาจวัดเป็น 5 ระดับก็ได้ แล้วนับคนที่พอใจมากที่สุดกับพอใจมากเป็นกลุ่มพอใจ พอใจน้อยกับน้อยที่สุดเป็นกลุ่มไม่พอใจ โดยตัดคนที่พอใจปานกลางทิ้งก็ได้ แล้วคำนวณจำนวนรวมเฉพาะกลุ่มสูงกับกลุ่มต่ำ หรือกลุ่มพอใจกับไม่พอใจ แล้วดำเนินการหาจำนวนร้อยละตามที่กำหนดระดับคะแนนไว้ก็ได้เช่นกัน

               (ข7) การออกแบบการประเมินโครงการ

                      ขั้นตอนการประเมินโครงการ

                      การประเมินมีขั้นตอนการประเมินแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ : 2551) ดังต่อไปนี้

                      ขั้นที่ 1 กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมิน ในขั้นตอนนี้ ผู้ประเมินจะดำเนินการดังนี้

                                 1.1 ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ หรือสิ่งที่มุ่งประเมินกับวัตถุประสงค์หลักการของโครงการ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครบ้างที่ต้องการใช้ผลประเมินนี้

                                 1.2 สัมภาษณ์ผู้บังคับบัญชาของผู้ประเมิน และกลุ่มผู้ใช้ผลประเมิน เกี่ยวกับความต้องการใช้ผลประเมิน ต้องการใช้เมื่อใด ต้องการสารสนเทศในประเด็นใดบ้าง

                                 1.3 จากข้อมูล 1.1 และ 1.2 กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมิน
เป็นที่น่าสังเกตว่าวัตถุประสงค์ของการประเมิน เป็นผลมาจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้ผลประเมิน และจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการ หรือสิ่งที่มุ่งประเมิน

                      ขั้นที่ 2 วางแผนการประเมิน เมื่อกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์การประเมินแล้ว
นำวัตถุประสงค์ของการประเมินในแต่ละข้อมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการประเมิน แล้วกรอกลงในแบบวางแผนประเมินดังนี้

                                 จากวัตถุประสงค์ของการประเมิน ผู้ประเมินนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นประเภทไหนของการประเมิน เช่น ประเมินสภาวะแวดล้อม ประเมินปัจจัยเบื้องต้น ประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต ฯลฯ ประเด็นคำถามเพื่อจะได้ช่วยให้เก็บข้อมูลอย่างครบถ้วน แหล่งที่มาของข้อมูลที่ต้องการอาจมาจากผู้เข้าร่วมโครงการ ผู้สังเกตการณ์ เอกสาร หรือผลการปฏิบัติต่าง ๆ ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล แบ่งเป็น 3 ช่วง ก่อนการดำเนินโครงการ ขณะโครงการดำเนินโครงการอยู่ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ แล้วนำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดหรือสิ่งที่มุ่งประเมิน

                      ขั้นที่ 3 ดำเนินการประเมินตามแผน เมื่อจัดทำแผนการประเมินเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงต่าง ๆ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ระบุไว้ในแผนการประเมิน

                      ขั้นที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูล แจงนับรวบรวมข้อมูล เพื่อทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินแต่ละข้อ แล้วสรุปว่าวัตถุประสงค์นั้น ๆ บรรลุหรือไม่ เพียงใด มีปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง

                      ขั้นที่ 5 รายงานผลการประเมิน โดยทั่วไปรายงานการประเมินผลมักจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของรายงาน ซึ่งอาจแบ่งเป็นรายงานรวมฉบับเดียว หรือการประเมินผลโครงการ และการติดตามผลหรือแยกเป็นรายงาน 2 ฉบับ คือ รายงานการประเมินผลโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินงาน โดยยังไม่ได้ดำเนินการติดตามผล และรายงานการติดตามผล หลังจากสิ้นสุดโครงการไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

กรณีตัวอย่างที่ 1 แนวทางการประเมินติดตามผลผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการเกษตรแบบยั่งยืน

     

วัตถุประสงค์ของการประเมิน

สิ่งที่มุ่งประเมิน/ตัวชี้วัด

แห ล่งข้อมูล 

เครื่องมือและแนวทางเก็บรวบรวมข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูล/ 

เกณฑ์การตัดสิน

1.ประเมินความคิดเห็นต่อหลักสูตรฝึกอบรม “การเกษตรแบบยั่งยืน”

  1. ความพึงพอใจต่อหลักสูตรโดยภาพรวม
  2. รายวิชาที่เป็นประโยชน์-ไม่เป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้

- ผู้ผ่านการอบรม

- แบบสอบถาม(ประเมินความพึงพอใจต่อหลักสูตร)

- แบบสัมภาษณ์

มีความพึงพอใจโดยเฉลี่ยในระดับมากขึ้นไป

2. ประเมินการเรียนรู้ของผู้ผ่านการอบรม

  1. ความรู้-ความเข้าใจในหลักการและแนวปฏิบัติ
  2. ความตระหนักในความจำเป็นของการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

- ผู้ผ่านการอบรม

- แบบทดสอบ

- การสัมภาษณ์ถึงความตระหนักในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

  1.  แต่ละคนได้คะแนนการทดสอบความรู้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม และมีผู้สอบผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของผู้ถูกประเมินทั้งหมด
  2. ผู้ให้สัมภาษณ์มีความตระหนักถึงความจำเป็นในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

3. ติดตามการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

  1. พฤติกรรมการทำเกษตรแบบยั่งยืน
  2. ลักษณะกิจกรรมการทำเกษตรแบบยั่งยืน
  3. พฤติกรรมการส่งเสริมสนับสนุนของนักส่งเสริมการเกษตร

- ผู้ผ่านการอบรม

- เอกสารหลักฐาน

- นักส่งเสริมการเกษตร

- แบบสอบถาม

- แบบสัมภาษณ์

  1. วิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรม ตัดสินด้วยเกณฑ์ในระดับมากขึ้นไป
  2. วิเคราะห์ความหลากหลายของกิจกรรม
  3. วิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรม การส่งเสริมสนับสนุน ตัดสินด้วยเกณฑ์ระดับ
    มากขึ้นไป

               (ข8) สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล

                      ข้อมูลที่เป็นค่าของตัวชี้วัดจะแสดงเป็นตัวเลข ในลักษณะของจำนวนร้อยละ อัตราส่วนสัดส่วนอัตรา และค่าเฉลี่ยดังนี้

                      1) จำนวน (Number) คือ ตัวเลขที่แสดงถึงจำนวนสิ่งของหนึ่ง ๆ เช่นจำนวนของสถานฝึกอบรมจำนวนเงินงบประมาณ จำนวนโครงการ เป็นต้น

                      2) ร้อยละ (Percentage) คือ จำนวนของเลขกลุ่มหนึ่งซึ่งนำมาเปรียบเทียบกับเลขอีกกลุ่มหนึ่งโดยปรับให้เลขกลุ่มหลังมีค่าเท่ากับ 100 เช่น เกษตรกรในจังหวัดนครพนมมี 150,000 คน และประชากรในจังหวัดนครพนมมี 200,000 คน ดังนั้นร้อยละของเกษตรกรต่อประชากรในจังหวัดนครพนมจะเท่ากับ 150,000 หารด้วย 200,000 แล้วคูณด้วย 100 เท่ากับร้อยละ 75 เป็นต้น

                      3) อัตราส่วน (Ratio) คือ ข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์เปรียบเทียบระหว่างจำนวนของเลขกลุ่มหนึ่งกับจำนวนของเลขอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน เช่น จำนวนเกษตรกรเท่ากับ 150,000 คน และจำนวนเกษตรกรที่เป็นเพศชายที่ร่วมโครงการเท่ากับ 100,000 คน ดังนั้นอัตราส่วนเกษตรกร ที่เป็นเพศชายที่เข้าร่วมโครงการต่อเกษตรกรทั้งหมดเท่ากับ 100,000 : 150,000 หรือเท่ากับ 1 : 1.5 เป็นต้น

                      4) สัดส่วน (Proportion) คือ ข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนของเลขกลุ่มหนึ่งกับจำนวนของเลขอีกกลุ่มหนึ่ง โดยที่จำนวนของเลขกลุ่มแรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งหรือรวมอยู่ในจำนวนของเลขกลุ่มหลังไว้ด้วย เช่น เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมี 100,000 คนและเกษตรกรทั่วประเทศมี 400,000 คนดังนั้นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีสัดส่วนเท่ากับ 100,000 หารด้วย 400,000 หรือเท่ากับ 0.25 หรือ 1 ใน 4 ของเกษตรกรทั้งประเทศเป็นต้น

                      5) อัตรา (Rate) คือ อัตราส่วนระหว่างเลขจำนวนหนึ่งกับเลขอีกจำนวนหนึ่งภายในระยะเวลาหนึ่ง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การนำจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น แล้วปรับฐานให้เท่ากับ 100/1,000/10,000 หรือ 100,000 เช่นอัตราการตายของลูกไก่เท่ากับ 45 ต่อการเกิดแล้วมีชีวิต 1,000 ตัว หมายถึง ในลูกไก่ที่เกิดใหม่ทุก ๆ 1,000 ตัว มีลูกไก่ตาย 45 ตัว เป็นต้น บางอัตราอาจต้องปรับฐานให้เท่ากับ 10,000 หรือ100,000 ในกรณีที่ตัวตั้งมีจำนวนน้อยและตัวหารเป็นจำนวนมาก เช่น อัตราป่วยของไก่ด้วยโรคไข้หวัดนกต่อประชากรไก่ทั่วประเทศ 100,000 ตัว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผลของการคำนวณออกมาเป็นจำนวนเต็ม และสะดวกในการอธิบายเปรียบเทียบและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

                      6) ค่าเฉลี่ย (Average or Mean) คือ ตัวเลขซึ่งเฉลี่ยจากกลุ่มตัวเลขจำนวนหนึ่งที่เป็นประเภทเดียวกัน กล่าวคือเป็นค่าตัวเลขหนึ่งที่ได้มาจากการรวมค่าของจำนวนตัวเลขของกลุ่มตัวอย่างหนึ่งแล้วหารด้วยจำนวนตัวอย่างนั้นทั้งหมดรวมกัน เช่น เกษตรกรซึ่งมีอายุแตกต่างกันจำนวน 200 คน ดังนั้นอายุเฉลี่ยของเกษตรกรจึงเท่ากับ ผลรวมของอายุของเกษตรกรทุกคนหารด้วยจำนวนเกษตรกรทั้งหมด

               (ข9) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

                      การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินนั้น ควรใช้เครื่องมือชนิดใด ขึ้นอยู่กับลักษณะของเรื่องที่ทำการประเมินว่าเป็นเรื่องแบบใด มีการศึกษาตัวแปรใด ต้องการข้อมูลชนิดใด เนื่องจากเครื่องมือมีหลายประเภท จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือแต่ละชนิด เพื่อสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับข้อมูลแต่ละลักษณะ

                      เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับการประเมินโครงการที่นิยมใช้มีดังนี้คือ แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังมีการเก็บรวบรวมด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่นำไปใช้เก็บข้อมูลมีความสอดคล้องตามลักษณะข้อมูล ดังนี้

เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจำแนกตามลักษณะของข้อมูล
เครื่องมือ ลักษณะของข้อมูล
แบบทดสอบ (Test) วัดความรู้ความสามารถของผู้เรียน ตามจุดประสงค์การเรียนรู้
แบบสังเกต (Observation) ใช้สังเกตเหตุการณ์บรรยายพฤติกรรม หรือการปฏิบัติงานที่ผู้สังเกตได้กำหนดไว้โดยผู้ถูกสังเกตรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้

แบบบันทึกเหตุการณ์หรือระเบียนพฤติการณ์

 (Anecdotal Record)
บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอน กิจกรรมใน ชั้นเรียน ปฏิกิริยาผู้เรียน การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน กระบวนการกลุ่ม การจัดกลุ่ม บรรยากาศ สภาพทางกายภาพ เป็นการบันทึกของครูถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการเรียนการสอน การบันทึกเหตุการณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูที่จะสะท้อนว่าการเรียน การสอนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นข้อคำถามที่เตรียมขึ้นไว้ให้ผู้ตอบเขียนตอบ ใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการ
แบบสัมภาษณ์ (Interview) ใช้เก็บข้อมูลด้วยการซักถามด้วยวาจา มีการเผชิญหน้า เป็นข้อมูลที่ต้องการความลึกซึ้ง ลงลึกในรายละเอียด

               (ข10) การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล

                      การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในการติดตามและประเมินผล เป็นการใช้ระเบียบวิธีทางสถิติแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ การเก็บและรวบรวมข้อมูล (Collection of data) การนำเสนอข้อมูล (Presentation of data) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) และการตีความหมายหรือหาข้อสรุปของข้อมูล (Interpretation of data) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                      1) การเก็บและรวบรวมข้อมูล (Collection of data) เป็นการรวบรวมข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่ต้องการจากประชากรที่มีคุณสมบัติที่สอดคล้องตามความต้องการ การเก็บและรวบรวมข้อมูลนี้จัดว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในระเบียบวิธีการทางสถิติ เพราะว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้น้อยก็จะทำให้ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ และตีความออกมานั้นมีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำ ดังนั้นขั้นตอนนี้จะต้องมีการวางแผนในการรวบรวมข้อมูล มีการควบคุมขั้นตอนการเก็บ และจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่า ข้อมูลมีความถูกต้องเชื่อถือได้ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้หรือไม่

                      2) การนำเสนอข้อมูล (data presentation) เป็นการนำเสนอข้อมูลสถิติที่ได้รวบรวมไว้นำออกเผยแพร่ให้คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจและเป็นการเตรียมพร้อมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ต่อไป วิธีการนำเสนอข้อมูลมีหลายแบบแล้วแต่ความเหมาะสมกับชนิดของข้อมูลและปริมาณของข้อมูล โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งเป็น
2 ลักษณะคือ

                           2.1) การนำเสนอข้อมูลแบบไม่มีแบบแผน การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบนี้จะไม่มี
กฎเกณฑ์ใด ๆ อาจนำเสนอในรูปของการบรรยายข้อความ หรือรายงานกึ่งตาราง

                           2.2) การนำเสนอข้อมูลแบบมีแบบแผน เป็นการนำเสนอข้อมูลที่มีระเบียบแบบแผนและกฎเกณฑ์ ในรูปของตารางหรือกราฟ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การนำเสนอนั้นง่ายและรัดกุมขึ้น ตลอดจนผู้อ่านก็สามารถเข้าใจได้ง่าย

                                  2.2.1) การนำเสนอข้อมูลด้วยตาราง (Tabular presentation) เป็นการจัดข้อมูลให้อยู่ในรูปของตารางซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้ คือ หมายเลขตาราง (Table number) ชื่อเรื่อง (Title) หมายเหตุคำนำ (Head note)

                                  2.2.2) การนำเสนอข้อมูลด้วยแผนภูมิ (Chart Presentation) เป็นการนำเสนอข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถเห็นลักษณะเด่นของข้อมูลอย่างรวดเร็ว และชัดเจนง่ายต่อการเข้าใจ ดึงดูดความสนใจได้มากกว่าตาราง ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้ง่าย แผนภูมิที่ใช้ทางสถิติ ได้แก่ กราฟเส้น กราฟแท่ง แผนภูมิภาพ

                      3) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) เป็นการนำเอาข้อมูลที่รวบรวมได้มาประมวลผลตามวัตถุประสงค์ สมมติฐาน และคำถามการวิจัยที่ตั้งไว้ เช่น เปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มโดยใช้ Z หรือ t เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากรที่มากกว่า 2 กลุ่ม โดยใช้การทดสอบความแปรปรวนสถิติทดสอบคือ F

                      4) การตีความหมายหรือหาข้อสรุปของข้อมูลเป็นการนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มาตีความสรุป เขียนเป็นรายงานผล เช่น t = 3.1 หมายความว่าอย่างไร มีความแตกต่างกันระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากรสองกลุ่มหรือไม่ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ทางสถิติที่จะต้องศึกษาต่อไป

               (ข11) การเขียนรายงานการประเมิน

                      การเขียนรายงานการประเมินต่างจากการเขียนรายงานการวิจัยทางวิชาการ เนื่องจากรายละเอียดบางอย่างของการวิจัยเชิงวิชาการ จะไม่เป็นสาระสำคัญของรายงานการประเมิน และวัตถุประสงค์ของการประเมินมุ่งที่จะนำผลของการประเมินมาใช้ประโยชน์ในการบริหารหรือจัดการ ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากการประเมิน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารที่ไม่มีเวลาที่จะสนใจในเรื่องอื่นใดนอกจากสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจ

                      การเขียนรายงานการประเมิน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการประเมินซึ่งผู้ประเมิน จะต้องเรียบเรียงเสนอผลงานที่ได้จากการประเมิน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการหรือผู้สนใจติดตามอ่านรายงานการประเมินได้เข้าใจความเป็นมาของการประเมิน ขอบเขตของการประเมิน วิธีการประเมิน และผลการประเมิน ผลการประเมินจะสามารถนำไปใช้ตัดสินใจในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการในด้านใดได้บ้าง รวมทั้งได้ทราบข้อเสนอแนะจากการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินโครงการ เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากผลการประเมิน ไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษาในเรื่องทำนองเดียวกัน

               (ข12) องค์ประกอบของรายงานการประเมิน

                      รายงานการประเมินทำขึ้น เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการบริหารหรือการจัดการ ซึ่งมีความแตกต่างจากรายงานการวิจัย ที่มุ่งจะแจกแจงรายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ของการวิจัยองค์ประกอบของรายงาน จึงมีรายละเอียดต่างไปจากรายงานการวิจัยทั่วไปกล่าวคือ รายงานการประเมินมีสาระที่สำคัญ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง ดังนี้

                      1) ส่วนนำ เป็นการนำเสนอให้ผู้อ่านได้รู้จักกับรายงานโดยมีรายละเอียดของส่วนประกอบ
ย่อย ๆ ดังนี้

                           1.1) ปกหน้าเป็นส่วนแรกที่ผู้อ่านได้เห็นจึงควรทำให้เรียบร้อยสวยงามและมีรายละเอียดที่สื่อให้รู้ว่าเป็นรายงานเกี่ยวกับเรื่องใดโดยมีรายละเอียดดังนี้

                                 - ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน

                                 - ชื่อรายงานการประเมิน

                                 - ชื่อผู้จัดทำ

                                 - ชื่อหน่วยงาน

                                 - ปีที่ทำ

                           1.2) บทสรุป เป็นการสรุปหรือคัดย่อรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์ ให้เป็นรายงานที่สั้นกะทัดรัดมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ และจำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร อีกทั้งเป็นการให้ความสะดวกกับผู้ที่สนใจศึกษารายงานการประเมินแต่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอ่านเนื้อหาฉบับสมบูรณ์ได้ทั้งเล่ม ซึ่งบทสรุปผู้บริหารดังกล่าวควรมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้

                                 - สิ่งที่ประเมินผลคืออะไร

                                 - ทำไมถึงต้องประเมินผล

                                 - วิธีการประเมิน

                                 - ข้อค้นพบข้อสรุป

                                 - ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ๆ

                           1.3) สารบัญเป็นส่วนที่แสดงบท หรือหัวข้อของรายงานการประเมินให้ผู้อ่านสามารถค้นหาเรื่องราวต่าง ๆ ในรายงานได้อย่างรวดเร็วโดยมีข้อมูลดังนี้

                                 - หัวข้อเรื่องแยกเป็นบท ๆ

                                 - เลขหน้ากำกับแต่ละหัวข้อ

                      2) ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของรายงานการประเมิน ซึ่งเป็นการบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบโดยมีรายละเอียดดังนี้

                           บทที่ 1 บทนำเป็นบทแรกของเนื้อหาที่จะนำเข้าสู่เรื่องที่ประเมินผล เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นความสำคัญของการประเมิน โดยมีรายละเอียดของส่วนประกอบย่อย ๆ ดังนี้

                                      1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของการประเมิน เพื่ออธิบายให้เห็นความสำคัญของการประเมิน โดยบรรยายถึงรายละเอียดของโครงการที่จะประเมินผลอย่างสรุปว่า ทำไมจึงทำโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร มีเป้าหมายมากน้อยเพียงใด อธิบายสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการประเมินโครงการนี้ ควรมีการยกข้อมูลแนวคิดหรือผลการประเมินที่เกี่ยวข้องมาอ้างอิง หรือสนับสนุนให้เห็นความสำคัญอธิบายผลดีของการประเมิน หรือผลเสียถ้าไม่มีการประเมิน และในตอนท้ายควรสรุปให้ได้ว่า “ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้เกิดการประเมินโครงการนี้”

                                      1.2 วัตถุประสงค์ของการประเมิน กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านทราบสิ่งที่ต้องการ
ทำ เพื่อหาคำตอบโดยเขียนเป็นข้อ ๆ ให้ครอบคลุมเรื่องที่จะทำการประเมินทั้งหมด

                                      1.3 ขอบเขตของการประเมิน เพื่อกำหนดกรอบของเรื่องที่จะประเมินผลว่าจะให้ครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง ประชากรและกลุ่มตัวอย่างหรือแหล่งข้อมูลมีมากน้อยเพียงใดทำในช่วงเวลาไหน

                                      1.4 นิยามศัพท์ เป็นข้อความที่ใช้อธิบายความหมายของคำบางคำที่มีความหมายเฉพาะในการประเมิน ซึ่งผู้อ่านอาจจะไม่ทราบมาก่อน หรือเป็นคำที่มีการใช้ยังไม่แพร่หลาย เพื่อสื่อข้อความให้ตรงกัน

                                      1.5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการชี้ให้เห็นว่าผลการประเมินก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้างต่อบุคคล โครงการ หน่วยงาน สังคม และประเทศชาติ โดยต้องบอกว่าเมื่อได้ผลการประเมินตามวัตถุประสงค์แล้ว จะนำผลไปใช้ในกิจการใดและใช้อย่างไร เช่น นำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แนวทางในการประเมินโครงการอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นต้น

                           บทที่ 2 แนวคิดและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน เป็นบทที่ประมวลความรู้ในเนื้อหาของโครงการที่จะประเมินผล เพื่อช่วยให้เกิดความรู้และมีแนวความคิดกว้างขวางและชัดเจนขึ้น โดยมีหัวข้อสำคัญ ประกอบด้วย

                                      2.1 สาระสำคัญของโครงการที่ประเมินผล เป็นการสรุปความเป็นมาของโครงการวัตถุประสงค์ของโครงการ เป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน งบประมาณ การประเมิน

                                      2.2 แนวคิดเกี่ยวกับการประเมิน เป็นการระบุความหมายของการประเมิน รูปแบบการประเมินที่เกี่ยวข้องรายงานการประเมินในโครงการที่เกี่ยวข้อง

                           บทที่ 3 วิธีการประเมิน เป็นการเขียนถึงรายละเอียดวิธีการประเมินว่ามีขั้นตอนและวิธีดำเนินการอย่างไร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประเมิน โดยมีรายละเอียดดังนี้

                                      3.1 แนวทางการประเมิน เป็นการเขียนเพื่ออธิบายให้ทราบว่ามีการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบใด และใช้ประเด็นตัวชี้วัดหรือตัวแปรใดบ้างในการวัดผล

                                      3.2 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็นการเขียนให้ทราบว่าประชากรที่ให้ข้อมูลเป็นใคร ศึกษาจากประชากรทั้งหมด หรือสุ่มตัวอย่างมาศึกษาเพียงบางส่วน และถ้าใช้กลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใด จำนวนตัวอย่างที่ใช้มากน้อยเพียงใด

                                      3.3 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นการเขียนให้ทราบว่าใช้เครื่องมือใดบ้าง มีวิธีการสร้างอย่างไร ข้อคำถามครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมืออย่างไร

                                      3.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการเขียนอธิบายให้เห็นว่ามีขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร ใช้วิธีใดบ้างในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น การสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ การอภิปรายกลุ่มย่อย การคัดลอก การทดสอบ หรือรวบรวมจากเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ เป็นต้น

                                      3.5 การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการเขียนถึงวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลว่าใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใดบ้าง เช่น ข้อมูลเชิงปริมาณใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือการทดสอบสมมติฐาน เป็นต้น ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ นำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ในการติดตามประเมินผลโครงการ

                                      3.6 เกณฑ์ในการประเมินโครงการ เป็นการเขียนอธิบายว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวัดผล และเกณฑ์ได้มาอย่างไร

                           บทที่ 4 ผลการประเมิน เป็นบทที่นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยคำนึงถึงผู้อ่านว่าทำอย่างไรจึงจะให้อ่านได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปมักแบ่งการนำเสนอเป็นตอน ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน มีการนำเสนอในลักษณะผสมผสานกัน กล่าวคือ มีการนำเสนอโดยวิธีการบรรยาย การบรรยายประกอบตารางรูปภาพ กราฟหรือแผนภาพ เป็นต้น

                           บทที่ 5 สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ เป็นบทสุดท้ายของเนื้อหาในรายงานการประเมิน ผล มีรายละเอียดดังนี้

                                      5.1 สรุป เป็นการเขียนสรุปผลการประเมิน มีรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน วิธีการประเมิน และสรุปผลตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน

                                      5.2 อภิปรายผล เป็นการขยายความผลการแปลผล โดยนำเอาแนวคิดทฤษฎีหรือผลการวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุน การอภิปรายผลการประเมิน ไม่จำเป็นต้องอภิปรายทุกรายการตามข้อสรุป ผลการประเมินอธิบายเฉพาะประเด็นที่โดดเด่นหรือเป็นที่น่าสังเกต หรือประเด็นที่ปรากฏข้อสรุปผลการประเมินที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

                                      5.3 ข้อเสนอแนะ การเขียนข้อเสนอแนะควรจะให้ข้อเสนอแนะที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยระบุให้ชัดเจนว่าเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาโครงการ หรือเสนอแนะเพื่อการประเมินในครั้งต่อไป ในการเสนอแนะเพื่อการนำผลการประเมินไปใช้ ควรเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเสนอแนะให้ชัดเจน และการเสนอแนะทุกกรณี ควรตั้งอยู่บนฐานข้อมูลหรือข้อค้นพบ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกให้หลากหลายในการนำผลการประเมิน ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการ

                      3) ส่วนอ้างอิง เป็นส่วนสุดท้ายของรายงานการประเมิน ที่จะช่วยให้รายงานมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นรายชื่อหนังสือเอกสารสิ่งพิมพ์ และวัสดุอ้างอิงทั้งหมดที่นำมาใช้ประกอบการเขียน ศึกษาค้นคว้า และอ้างอิงในรายงานการประเมิน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยรวบรวมไว้ตอนท้ายของรายงาน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจได้ติดตามศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสาร


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

          18.1 ข้อสอบข้อเขียนปรนัย 4 ตัวเลือก                                              

          18.2 แบบประเมินผลการสัมภาษณ์

          18.3 แบบประเมินผลงานหรือชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว


ยินดีต้อนรับ