ขอบเขต (Range Statement) อธิบายถึงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยสมรรถนะนี้ระบุองค์ประกอบ ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทั่วไปให้มีความเหมาะสม โดยต้องดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน แผนการดำเนินงาน และนโยบายของเจ้าของสวนยางและผู้ประกอบการกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการจัดการสวนยางพารา ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
1.ข้อบังคับ เกี่ยวกับเกษตรปลอดภัย (GAP) มกอช.
1) เกษตรปลอดภัย
คุณสมบัติของผู้ขอใบรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ GAP พืช มี 3 แบบ ดังต่อไปนี้
1.1 เกษตรกร ต้องมีคุณสมบัติคือ
- ต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือสิทธิ์ครอบครองพื้นที่การผลิต หรือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของ หรือผู้ถือครองสิทธิ์ให้ดำเนินการผลิตพืช
- เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- เป็นผู้สมัครใจขอการรับรอง และยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิตพืช ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
- ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนการรับรอง จากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยรับรองใด ๆ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นเสียแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนการรับรองแล้ว
1.2 นิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติคือ
- ต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือสิทธิ์ครอบครองพื้นที่การผลิตหรือเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือผู้ครองสิทธิ์ให้ดำเนินการผลิตพืช
- ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายไทย
- เป็นนิติบุคคลที่สมัครใจขอการรับรอง และยินดีจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
- ไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกเพิกถอนการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยรับรองใด ๆที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นเสียแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนการรับรอง
1.3 กลุ่มเกษตรกร ต้องมีคุณสมบัติคือ
- สมาชิกของกลุ่มต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือสิทธิ์ครอบครองพื้นที่การผลิต หรือเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าของ หรือผู้ถือครองสิทธิ์ให้ดำเนินการผลิตพืช
- เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือหากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐต้องมีสมาชิกในกลุ่มที่ขอรับรอง ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป
- กลุ่มอาจจะดำเนินการโดยสมาชิกที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำการเพาะปลูก หรือดำเนินการโดยนิติบุคคล หรือองค์กรอิสระซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบกลุ่มเกษตรกร/เกษตรกร โดยเป็นผู้รับซื้อ จัดจำหน่าย หรือส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ของกลุ่มเกษตรกร / เกษตรกรที่ทำการผลิตให้
- เป็นกลุ่มที่สมัครใจขอการรับรอง และยินดีจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
- ไม่เป็นกลุ่มที่ถูกเพิกถอนการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยรับรองใด ๆ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนการรับรอง
ผู้ยื่นคำขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืชที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น จะต้องไปยื่นใบสมัครคำขอรับรองที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่การเกษตรในพื้นที่จะมีการเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ก็จะส่งผู้ที่ผ่านการเตรียมความพร้อมจะเป็นแปลงเกษตรที่ดีและเหมาะสมทางระบบออนไลน์ไปที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้ตรวจรับรอง
เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้รับรายชื่อที่อยู่ของแปลงแล้วก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปประเมินแปลงของเกษตรกรในพื้นที่โดยมีการตรวจประเมินในสิ่งต่าง ๆดังต่อไปนี้คือ
1) แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ต้องได้จากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค หรือไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และโลหะหนักที่เป็นอันตราย
2) พื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีความเสี่ยงจากวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์ ที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผล
3) การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ต้องใช้เฉพาะที่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้อง และไม่ใช้วัตถุอันตรายที่ประกาศห้ามใช้ มีการใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดและมีการเก็บดูแลวัตถุอันตรายต่าง ๆที่ถูกต้องและปลอดภัย
4) สถานที่เก็บรักษาผลผลิต อุปกรณ์ต่าง ๆ ยานพาหะนะในการขนย้ายผลผลิตต้องมีคุณสมบัติป้องกันการปนเปื้อนของ วัตถุอันตราย ศัตรูพืช และพาหะของโรค รวมทั้งต้องมีการขนย้ายผลผลิตด้วยความระมัดระวัง
5) การบันทึกสิ่งที่ปฏิบัติต่างในแปลง ต้องมีบันทึกการใช้สารเคมี วัตถุอันตรายทางการเกษตร มีบันทึกการตรวจโรคแมลงศัตรูพืชในแต่ละระยะของการเจริญเติบโตของพืช มีการบันทึกวิธีการดำเนินงานการจัดการต่าง ๆในแปลง
6) ผลผลิตต้องปลอดจากศัตรูพืช มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามคำแนะนำและผลผลิตที่คัดแยกต้องไม่มีโรคและแมลง
7) การจัดการผลผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพนั้นต้องมีการวางแผนการจัดการคุณภาพผลผลิตพืชและมีการบันทึกข้อมูลการดำเนินการต่าง ๆ ถ้ามีผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพต้องมีการคัดแยกออก
8) การเก็บเกี่ยวและวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวต้องมีการควบคุมไม่ให้ก่อความเสียหายแก่ผลผลิตเช่นการเก็บจากแปลง การขนย้าย การคัดแยก การบรรจุ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
เมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรได้ประเมินแปลงแล้วก็จะส่งหลักฐานการประเมินต่าง ๆ
ให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรมวิชาการเกษตรพิจารณา ให้ใบรับรอง Q ระยะเวลาดำเนินการขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและการเตรียมความพร้อมของเกษตรผลที่ได้จากการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
ผลที่ได้จากการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
1.ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
2.เกษตรกรผู้ผลิตมีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย
3.ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทย
4.รักษาสภาพแวดล้อม และเกิดระบบการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน
5.ลดต้นทุนการผลิตจากการเลิกใช้สารเคมี
6.ทำการเกษตรได้ต่อเนื่องด้วยระบบนิเวศที่สมบูรณ์
2.กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท.
2.1 หลักการทั่วไป
มาตรฐาน
2.1.1 ห้ามใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ว่า จะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมนสังเคราะห์ 2.1.2 ไม่อนุญาตการผลิตพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิค
2.1.3 ห้ามใช้วัสดุนาโนทุกชนิดในการผลติและแปรรูปผลผลติเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ที่สัมผัสกับอาหาร
2.1.4 ในกรณีที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตทุกแปลงให้เป็นเกษตรอินทรีย์ แปลงที่ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี/ทั่วไปที่ไม่ขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ต้องสามารถแบ่งแยกกันได้อย่างชัดเจน และพื้นที่การผลิตทุกแปลงที่อยู่ในครอบครองของผู้ผลิตต้องได้รับการตรวจสอบจาก มกท.
2.1.5 พื้นที่การผลิตที่ได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว จะต้องไม่ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีกลับไปกลับมา ทั้งนี้ มกท. อาจไม่พิจารณารับรองพื้นที่การผลิตแปลงใหม่ให้ ถ้าพื้นที่การผลิตแปลงเดิมเลิกทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
2.1.6 พื้นที่การผลิตที่ใช้ทำเกษตรอินทรีย์ต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มาจากการเปิดป่าชั้นต้น และระบบนิเวศดั้งเดิม (primary ecosystem)
2.1.7 มกท. อาจพิจารณาไม่รับรองผู้ผลิตที่ทำการเปิดพื้นที่ป่าสาธารณะมาทำการเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ มกท. ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาเป็นกรณีไป
2.1.8 ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการผลิตภายในฟาร์ม เช่น การลดหรือขยายพื้นที่การผลิต การเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก การเพิ่มชนิดพืชที่ขอรับรอง ฯลฯ ผู้ผลิตจะต้องแจ้งให้ มกท. ทราบโดยทันที
2.1.9 ผู้ผลิตต้องดูแลและชี้แจงให้ลูกจ้าง หรือผู้รับผิดชอบการผลิต หรือ ผู้รับช่วงการผลิติซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอินทรีย์ได้ เข้าใจรายละเอียดการปฏิบัติตามมาตรฐานและเงื่อนไขในการรับรองมาตรฐาน
2.1.10 ผู้ผลิติต้องจัดทำบันทึกให้ชัดเจน ให้ทาง มกท. สามารถตรวจสอบได้
1) บันทึกการผลิต ครอบคลุม การปลูกการดูแลรักษา รายละเอียดการใช้ปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยว และการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยว
2) บันทึกและ/หรือเอกสารการซื้อปัจจัยการผลิต ที่แสดงให้เห็นแหล่งที่มา ชนิด และปริมาณ
3) บันทึกการขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องระบุ “อินทรีย์” หรือ “มกท.” กำกับไว้ในเอกสารขาย
4) ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะต้องทำบันทึกข้อร้องเรียนที่ได้รับ และการแก้ไขข้อร้องเรียนให้ มกท. สามารถตรวจสอบได้
2.2 ระบบนิเวศภายในฟาร์ม
มาตรฐาน
2.2.1 ผู้ผลิตต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในฟาร์ม โดยพยายามรักษาและฟื้นฟูบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของพืชและสัตว์หลากหลายชนิดเอาไว้อย่างน้อย 5% ของพื้นที่การผลิต บริเวณดังกล่าว ได้แก่ ป่าใช้สอยในไร่นา ป่าบุ่ง ป่าทาม พุ่มไม้หรือต้นไม้ใหญ่ในนา แนวพุ่มไม้บริเวณเขตแดนพื้นที่ สวนไม้ผลผสมผสาน ร่องน้ำในฟาร์ม บ่อปลาธรรมชาติ และพื้นที่ว่างเปล่าที่ปล่อยให้พืชขึ้นตามธรรมชาติ
2.3 สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์
มาตรฐาน
2.3.1 ห้ามใช้สิ่งมีชีวิตดีดแปรพันธุ์ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์ในกระบวนการผลิตและแปรรูปเกษตรอินทรีย์
2.3.2 ปัจจัยการผลิต สารปรุงแต่ง สารช่วยแปรรูปและส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อินทรีย์ทุกชนิด ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปอีก 1 ขั้นตอนของการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไม่ได้มาจากพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่มาจากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม
2.3.3 ในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ที่มีความเสี่ยงในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุวิศวกรรม ผู้ประกอบการจะต้องมีมาตรการในการยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ดังกล่าวไม่ได้ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม โดยผู้ประกอบการอาจขอหนังสือยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได ้ผลิตมาจากกระบวนการ หรือโดยใช้สิ่งมีชีวิติดัดแปลงพันธุกรรม
2.3.4 ในกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่าผลิตผลอินทรีย์ได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์ โดยที่ผู้ผลิตไม่ได้ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ มกท. อาจพิจารณาไม่รับรองผลิตผลดังกล่าว รวมทั้งฟาร์มที่ทำการผลิต
2.3.5 ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเป็นเกษตรอินทรีย์ การผลิตในแปลงเกษตรเคมี/ทั่วไปที่ไม่ขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต้องไม่ใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์
2.4 ระยะการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์
มาตรฐาน
2.4.1 พื้นที่การผลิตที่ต้องการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต้องผ่าน ระยะปรับเปลี่ยนโดยช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ มกท. และได้รับการตรวจและรับรองจาก มกท. แต่ผลิตผลที่ได้จากพืชที่ปลูกในช่วงระยะปรับเปลี่ยนนี้จะยังไม่สามารถจำหน่ายเป็นผลิตผลอินทรีย์ได้
วันที่สมัครขอให้มีการรับรองมาตรฐานฯให้นับเป็นวันที่ 1 ของการเริ่มต้นของการเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเป็นวันเริ่มต้นของระยะการปรับเปลี่ยน โดยเกษตรกรต้องเริ่มปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ มกท. นับตั้งแต่วันดังกล่าว
2.4.2 ในกรณีที่เป็นการผลิตพืชล้มลุก (ผัก และพืชไร่ ) ช่วงระยะการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลา12 เดือน โดยผลิตผลของพืชที่ปลูกในวันที่พ้นระยะการปรับเปลี่ยนแล้ว จะสามารถจำหน่ายเป็น "ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์"
และสามารถใช้ตรา มกท. ได้
ยกเว้น พืชผักหลายฤดูเช่น ผักพื้นบ้าน กล้วย มะละกอ ฯลฯ อนุญาตให้สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลและจำหน่ายเป็น "ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์" ได้หลังจากพ้นระยะการปรับเปลี่ยน 12 เดือนแล้ว
2.4.3 ในกรณีที่เป็นการผลิตไม้ยืนต้น ช่วงระยะการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลา 18 เดือน โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในวันที่พ้นระยะการปรับเปลี่ยนแล้ว จะสามารถจำหน่ายเป็น "ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์" และสามารถใช้ตรา มกท. ได้
2.4.4 ในกรณีที่เป็นการผลิตพืชเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป กำหนดระยะปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานการผลิตพืชของสหภาพยุโรป ดังนี้ พืชล้มลุกมีระยะปรับเปลี่ยน 24 เดือนและ พืชยืนต้นมีระยะปรับเปลี่ยน 36 เดือน
2.4.5 ในกรณีทีมีการใช้ปัจจัยการผลติต้องห้ามในพื้นที่ฟาร์มมาก่อนสมัครขอรับรองกับ มกท. ผลผลิตที่จะสามารถขายเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ จะต้องเป็นผลิตผลที่เก็บเกี่ยวหลังจาก 36 เดือนนับแต่มีการใช้ปัจจัยการผลิตต้องห้ามเป็นครั้งสุดท้าย
2.4.6 มกท. อาจจะกำหนดระยะการปรับเปลี่ยนให้เพิ่มขึ้นได้ โดยพิจารณาจากประวัติการใช้สารเคมีในฟาร์ม ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในพื้นที่นั้น และมาตรการในการจัดการสารเคมีทางการเกษตรหรือมลพิษที่ปนเปื้อนในฟาร์ม
2.4.7 มกท. อาจยกเว้นระยะการปรับเปลี่ยนได้หากพื้นที่การผลิตนั้นได้ทำการเกษตรตามหลักการในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่นำมายืนยันกับ มกท. เช่น บันทึกการใช้ปัจจัยการผลิตในฟาร์ม บันทึกการผลิตพืชในพื้นที่ดังกล่าว บันทึกจากองค์กรที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตที่แสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการใช้สารเคมีมาเป็นเวลานานและได้รับการฟื้นฟูสภาพดินโดยธรรมชาติ บทความในสิ่งตีพิมพ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต ฯลฯ ทั้งนี้ มกท. จะตรวจสอบหลักฐานดังกล่าวและทำการประเมินขณะไปตรวจฟาร์ม และขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาเป็นกรณีไป
2.5 ชนิดและพันธุ์ของพืชปลูก
แนวทางปฏิบัติ
ควรเลือกใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดลอ้มในท้องถิ่น และมีความต้านทานต่อโรคและแมลง
มาตรฐาน
2.5.1 เมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์พืชที่นำมาปลูกต้องผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์
2.5.2 ในกรณีที่ไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ อนุญาตให้ใช้
(ก) เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยน
(ข) เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่น ๆรวมทั้งในระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม
2.5.3 ในกรณีที่ไม่สามารถหาเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชเกษตรอินทรีย์ตามข้างต้นได้ มกท. อาจอนุญาตให้ใช้เล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ได้โดยเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ใช้นั้นต้องไม่คลุกสารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการผลิตเกษตรอินทรีย์
2.5.4 เฉพาะการขอรับรองมาตรฐานโปรแกรม IFOAM มกท. อาจยกเว้นให้ผู้ประกอบการที่ใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ที่มีการคลุกสารเคมี ถ้าเป็นข้อกำหนดตามระเบียบด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยพืช แต่จะต้องมีมาตรการจัดการล้างทำความสะอาดก่อนการปลูก
2.5.5 มกท. อาจอนุญาตให้ใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ตามข้อ2.5.3 หรือ 2.5.4 ได้ ในกรณีที่
(ก) ไม่มีผู้ขาย (ผู้ที่ทำตลาดขายเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้ประกอบการอื่น) ที่สามารถจัดส่งเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้ประกอบการก่อนช่วงฤดูปลูก โดยผู้ประกอบการได้มีการสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว
(ข) ผู้ประกอบการสามารถพิสูจน์ได้ว่าสายพันธุ์ที่ต้องการเพาะปลูกนั้น ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะนั้น แตกต่างไปจากสายพันธุ์ที่มีในระบบเกษตรอินทรีย์ และมีความจำเป็นอย่างมากในการผลิตของผู้ประกอบการ
2.5.6 ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องขอและได้รับอนุญาตในการใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ก่อนการเพาะปลูก และจะต้องขออนุญาตเป็นแต่ละฤดูปลูกไป และระบุปริมาณเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ขออนุญาตใช้ด้วย
2.5.7 มกท. อาจอนุญาตให้กับผู้ประกอบการโดยรวมทั้งหมด โดยผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาตเป็นกรณีๆ ไปตามข้อ 2.5.6 สามารถใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ได้
(ก) ชนิดของพืชหนึ่งๆ ตามเงื่อนไขของข้อ 2.5.5 (ก)
(ข) สายพันธุ์พืชหนึ่งๆ ตามเงื่อนไขของข้อ 2.5.6 (ข)
(ค) สำหรับปลูกเป็นพืชหมุนเวียนหรือปุ๋ยพืชสดที่ไม่ได้ปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวจะต้องไม่ใช่เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ และต้องไปคลุกสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์
2.5.8 ในกรณีที่ผู้ผลิตใช้กล้าพันธุ์พืชล้มลุกอินทรีย์แล้วประสบกับเหตุสุดวิสัย (เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง) จนทำให้กล้าพันธุ์เสียหาย มกท. อาจอนุโลมให้ผู้ผลิตใช้กล้าพันธุ์จากแหล่งทั่วไปได้
2.5.9 อนุญาตให้ทำการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีเพาะเมล็ด หรือใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ตอนกิ่ง, แยกหน่อ, เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น และต้องจัดการด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ยกเว้นให้เฉพาะวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในโปรแกรมสหภาพยุโรป การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องดำเนินการในระบบเกษตรอินทรีย์
2.5.10 วัสดุที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืชรวมถึงวัสดุเพาะต้องอยู่ในรายการที่อนุญาต
2.5.11 ในกรณีไม้ยืนต้น ถ้ากิ่งพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์พืชที่นำมาปลูกในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ผลิตผลที่ได้จากการปลูกในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ในช่วง 12 เดือนแรกจะยังไม่สามารถจำหน่ายภายใต้ตรา มกท.ได้
2.5.12 ห้ามใช้พันธุ์พืช และละอองเกสร (pollen) ที่มาจากการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการทำพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) รวมถึงพืชที่ถูกปลูกถ่ายยีน (transgene plants)
2.6 ความหลากหลายของพืชภายในฟาร์ม
มาตรฐาน
2.6.1 ในการปลูกพืชล้มลุก ผู้ผลิตต้องสร้างความหลากหลายของพืชภายในฟาร์ม โดยอย่างน้อยต้องปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อช่วยลดการระบาดของโรค แมลง และวัชพืช รวมทั้งการปลูกพืชบำรุงดิน เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ยกเว้น ในกรณีที่ผู้ผลิตได้สร้างความหลากหลายของพืชภายในฟาร์มได้ด้วยวิธีอื่น
2.6.2 ในสวนไม้ยืนต้น ผู้ผลิตต้องสร้างความหลากหลายของพืชภายในฟาร์ม โดยอย่างน้อยต้องปลูกพืชคลุมดิน และ/หรือปลูกพืชอื่น ๆหลากหลายชนิด
2.7 การผลิตพืชคู่ขนาน
มาตรฐาน
2.7.1 พืชที่ปลูกในแปลงเกษตรทั่วไปที่ไม่ได้ขอรับรองและแปลงที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน ไม่ควรเป็นพืชชนิดเดียวกันกับที่ปลูกในแปลงเกษตรอินทรีย์และที่ต้องการจะจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจาก มกท. ยกเว้น เป็นพืชคนละพันธุ์ (varieties) ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างได้โดยง่าย เช่น มีลักษณะรูปร่าง
สี ฯลฯ แตกต่างกัน หรือมีวันเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน
2.7.2 มกท. อาจอนุญาตให้ผู้ผลิตทำการผลิตพืชคู่ขนานได้ในกรณีของการปลูกพืชยืนต้นและในกรณีที่ผู้ผลิตขยายพื้นที่การผลิตใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการผลิตแบบคู่ขนานอินทรีย์-อินทรีย์ปรับเปลี่ยน โดยผู้ผลิตต้อง
2.7.2.1 แจ้งแผนการผลิตและมาตรการป้องกันผลผลิตปะปนกันให้ มกท. ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะทำการผลิต
2.7.2.2 มีระบบการบันทึกการเก็บเกี่ยว การจัดการผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว และการขายที่แยกผลผลิตออกจากกันอย่างชัดเจน
2.7.2.3 ต้องปรับเปลี่ยนแปลงที่มีการผลิตแบบคู่ขนานให้เป็นเกษตรอินทรีย์ภายในระยะเวลา 5 ปีทั้งนี้ มกท. อาจกำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมให้ผู้ผลิตปฏิบัติ และอาจมีการไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดย มกท. ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณารับรองเป็นกรณีไป
2.7.3 ในกรณีที่ผู้ผลิตได้รับค่าตอบแทนจากการให้ผู้อื่นเช่าพื้นที่ เป็นผลิตผลพืชชนิดเดียวกับพืชที่ได้รับการรับรองจาก มกท. ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรฐาน ข้อ 2.7.2.1 และ 2.7.2.2 เช่นเดียวกัน และผู้ผลิตต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ มกท. อาจกำหนดขึ้นเพิ่มเติม
2.8 การจัดการดิน น้ำ และปุ๋ย
แนวทางปฏิบัติ
-
ควรมีการตรวจวิเคราะห์ดินอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อวางแผนปรับปรุงดิน และวางแผนการจัดการธาตุอาหารให้เหมาะสม รวมทั้งเป็นแนวทางในการเลือกชนิดพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
-
ควรรักษาระดับความเป็นกรด-ด่างของดินที่เหมาะสมต่อพืชปลูก ในกรณีที่จำเป็นอาจใช้ปูนขาว โดโลไมท์ ปูนมาร์ล หรือขี้เถ้าไม้ เป็นต้น
-
ไม่ควรปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่า ควรปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เช่น ถั่วแปบ ถั่วลาย ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วพร้า ไมยราบไร้หนาม โสน ปอเทือง เป็นต้น
-
ควรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชบำรุงดินอื่น ๆ เป็นปุ๋ยพืชสด โดยอาจปลูกก่อนหรือหลังพืชหลัก หรือปลูกเป็นพืชหมุนเวียน
-
หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น รถแทรกเตอร์เนื่องจากทำให้เนื้อดินแน่นแข็ง ดินไม่ร่วนซุย การระบายน้ำไม่ดี
-
ควรมีมาตรการอนุรักษ์น้ำที่ใช้ในการทำฟาร์ม
-
ควรมีมาตรการในการป้องกันดินเค็ม เช่น การปลูกพืชคลุมดิน หรือการจัดการน้ำอย่างเหมาะสม
|