หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-TTNV-313A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)
N/A

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
          หน่วยสมรรถนะนี้อธิบายถึง ความสามารถในการวางแผนการติดตามและประเมินผลโครงการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามหลักการ สามารถดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการได้ตามแผน และวัตถุประสงค์ที่กำหนด ตลอดจนสามารถสรุปและรายงานผล การติดตามและประเมินผลโครงการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง ภายใต้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เชื่อถือได้เป็นระบบ สามารถนำผลการติดตามและประเมินไปใช้ประโยชน์ได้จริง

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
          นักส่งเสริมการเกษตร

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
B141 วางแผนการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด 1. ออกแบบการประเมินการติดตามและประเมินผลโครงการได้ B141.01 93426
B141 วางแผนการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด 2. เขียนโครงการติดตามและประเมินผลได้ B141.02 93429
B142 ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด 1. รวบรวมข้อมูลการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดได้ B142.02 93427
B142 ติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด 2. วิเคราะห์ แปลผล ตัดสินผลข้อมูลที่ได้จากการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดได้ B142.01 93430
B143 รายงานผลการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด 1. สรุปผลการดำเนินงานได้ครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง และถูกต้องตามข้อกำหนด B143.01 93428
B143 รายงานผลการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด 2. เขียนรายงานการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอดได้ B143.02 93432

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

  • ความรู้เบื้องต้นด้านการเกษตร

  • หลักการส่งเสริมการเกษตร


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

(ก1) การสื่อสาร



(ก2) การตั้งคำถาม



(ก3) การฟัง



(ก4) การจับประเด็น



(ก5) การบันทึก



(ก6) การสังเกต



(ก7) การคิดวิเคราะห์/สังเคราะห์

(ข) ความต้องการด้านความรู้

(ข1) ทฤษฎีการประเมินและติดตามผล



(ข2) การวิเคราะห์และแปลผลโครงการ


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

          (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)



               (ก1) แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต



               (ก2) เอกสารรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล



               (ก3) เอกสารสรุปรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูล



               (ก4) แผนงานโครงการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด



               (ก5) บันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน      



          (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)



               (ข1) หลักการและวิธีการจัดทำแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต



               (ข2) หลักการและวิธีการสำรวจรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสรุปรายงาน



               (ข3) การใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้น วิเคราะห์ข้อมูลและสรุป จัดทำเอกสารรายงาน



               (ข4) การบันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน



               (ข5) การวางแผนการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด



               (ข6) การเขียนแผนงานโครงการติดตามและประเมินผลการถ่ายทอด



               (ข7) การเขียนบันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน



               (ข8) ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง   



          (ค) คำแนะนำในการประเมิน



               เจ้าหน้าที่สอบ ตรวจประเมินหลักฐานโดยพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้   



          (ง) วิธีการประเมิน



               - ข้อสอบข้อเขียน



               - การสัมภาษณ์



               - ผลงานหรือชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว


15. ขอบเขต (Range Statement)

          (ก) คำแนะนำ



               (ก1) สำหรับผู้เข้ารับการประเมินในหน่วยสมรรถนะนี้ จะต้องสามารถ



                      1) ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลได้ครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอด



                      2) ระบุเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องตามหลักการติดตามและประเมินผล



                      3) ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายทอด



                      4) สรุปและให้ข้อเสนอแนะได้ถูกต้องตามหลักการ กระบวนการ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง



                      5) รายงานที่สะท้อนผลการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง



               (ก2) สำหรับเจ้าหน้าที่สอบ จะต้องพิจารณาหลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้ให้ตรงตามหน่วยสมรรถนะ                            (ข) คำอธิบายรายละเอียด



               (ข1) การประเมินผล (Evaluation)



                      การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง กระบวนการตัดสินคุณค่าของแผนงานหรือโครงการด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ เพียงใด



                      จุดมุ่งหมายของการประเมินผล



                      1) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสารสนเทศประกอบการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ หรือ ผู้บริหารในการตัดสินคุณค่าของโครงการ



                      2) เพื่อให้การบริหารโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ



                      3) เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงโครงการที่คล้ายกัน



                      4) เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินโครงการว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่



                      5) เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้จากสาธารณชน



               (ข2) การติดตาม (Monitoring)



                      การติดตาม (Monitoring) หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผนปฏิบัติงานที่วางไว้หรือไม่ การติดตามผล เป็นการติดตามปัจจัยนำเข้า (Inputs) กิจกรรมที่ดำเนินการ (Activities) ผลผลิตที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรม (Outputs) และผลลัพธ์หรือผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการ (Outcome & Impact)



                      จุดมุ่งหมายของการติดตาม มีดังนี้



                      1) เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้



                      2) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรได้เต็มที่ คุ้มค่า และประหยัด



                      3) เพื่อทราบถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน



                      4) เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไข ปรับปรุง ปัจจัยนำเข้า และกิจกรรมต่าง ๆ



                      5) เพื่อส่งเสริมสนันสนุนให้โครงการบรรลุผลความสำคัญของการติดตามและการประเมินผล



                      6) ช่วยในการตัดสินใจนำโครงการไปใช้



                      7) ช่วยให้ทราบว่าโครงการยังมีความจำเป็นต้องทำต่อไปหรือต้องขยายโครงการออกไปหรือไม่



                      8) นำผลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ ปรับปรุงโครงการ



                      9) วิเคราะห์ผลการดำเนินงานโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคต่อความสำเร็จอย่างไร



                      10) นำไปใช้วางแผนในโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกันต่อไป



               (ข3) ความเหมือนและความแตกต่างของการติดตามและประเมินผล



                      จากความหมายและจุดมุ่งหมายของการติดตามและประเมินผลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นสามารถสรุปถึงความเหมือนและความแตกต่างของการติดตามและประเมินผลดังนี้




































รายการ การติตตามโครงการ การประเมินโครงการ

1. ผู้รับผิดชอบ


ผู้รับผิดชอบโครงการ/หัวหน้างาน/เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ ผู้รับผิดชอบโครงการ/หัวหน้างาน/เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น ๆ หรือบุคคลภายนอก

2. ข้อมูล


เก็บข้อมูล หรือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า การดำเนินการ และผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการโครงการ ข้อมูลจากการติดตามที่ดำเนินการเก็บรวบรวมมาแล้ว นำมาเป็นข้อมูลในการประเมินเพื่อตัดสินคุณค่าของโครงการ

3. ช่วงเวลาดำเนินการ


กำหนดระยะเวลาอย่างต่อเนื่อง มีแผนการติดตาม เช่น เป็นประจำทุกเดือน ไตรมาส ตามประเภทของการประเมินผลโครงการที่เลือกไว้ เช่น ระหว่างการดำเนินการ สิ้นสุดโครงการ

4. จุดเน้น/วิธีการ


เป็นการติดตามความก้าวหน้า ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินการ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เป็นการตัดสินคุณค่าของโครงการ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์/มาตรฐาน

5. ผู้ใช้ข้อมูลเป็นหลัก


ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้บริหาร


                      สรุปได้ว่า การติดตาม (Monitoring) โครงการ เป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า การดำเนินงาน และผลการดำเนินงาน เกี่ยวกับโครงการเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับ สำหรับการกำกับทบทวน และแก้ปัญหาขณะดำเนินโครงการ ส่วนการประเมิน (Evaluation) โครงการ คือกระบวนการตรวจสอบและตัดสินคุณค่าเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้า การดำเนินงาน และผลการดำเนินโครงการ

เพื่อเป็นสารสนเทศ สำหรับการปรับปรุงการดำเนินโครงการ สรุปผลสำเร็จของโครงการและพัฒนาโครงการต่อไป การติดตามและประเมินผลจึงเป็นกลไก และเครื่องมือสำคัญในการบริหารและพัฒนาโครงการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว



               (ข4) ตัวชี้วัด



                      ตัวชี้วัดมีลักษณะที่สำคัญ คือ ตัวชี้วัดจะต้องสามารถให้ค่าหรือบ่งบอกคุณลักษณะของสิ่งที่ทำการวัดว่ามีปริมาณหรือคุณลักษณะเช่นไร ส่วนจะมีความหมายอย่างไรจะต้องนำไปตีค่า หรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน จึงจะทราบได้ว่าสิ่งนั้นมีค่าสูงหรือต่ำได้มาตรฐานหรือไม่เพียงใด



                      ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจัดทำสารสนเทศ เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจวางนโยบายและบริหารงานพัฒนาในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่นเพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายการพัฒนาสังคมแต่ละด้านของแผนพัฒนาประเทศ เพื่อวิเคราะห์เป้าประสงค์ของแผนงานและจัดทำแผนปฏิบัติการของโครงการ เพื่อกำหนดโครงการที่มีทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อกำหนดทางเลือกการดำเนินกิจกรรมที่น่าพอใจที่สุดหรือเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน และการประเมินการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้



                      จึงอาจกล่าวได้ว่าตัวชี้วัด (Indicators) หมายถึงสิ่งที่แสดงเป็นตัวเลขที่ใช้วัดแง่มุมต่าง ๆ

ที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นตัวแทนของสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งให้นิยามเชิงปฏิบัติการในการวิเคราะห์และการติดตามผลเป็นเชิงปริมาณ มาตรวัดที่ใช้ในการคำนวณเป็นค่าประเมินที่ได้จากตัวแปรเฉพาะซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นตัวแปรสำคัญให้กับตัวชี้วัด โดยที่แต่ละตัวแปรอาจจะมีมาตรวัดที่ต่างกันในกรณีที่ตัวชี้วัดตัวหนึ่งมีตัวแปรมากกว่าหนึ่งตัวแปรจำเป็นจะต้อง มีการกำหนดค่าน้ำหนักของแต่ละตัวแปรเพื่อจัดทำดัชนีของตัวชี้วัดนั้น



                      สำหรับลักษณะของตัวชี้วัดบางอย่างค่อนข้างเป็นนามธรรม เช่น ความพึงพอใจการมีส่วนร่วมเป็นต้น ดังนั้นหน้าที่ของผู้จัดทำตัวชี้วัดคือ ต้องพยายามแปลงนามธรรมนั้นให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้เป็นรูปธรรมทั้งหมด ตัวชี้วัดในเชิงอุดมคติบางตัวอาจต้องใช้การบรรยายความและการใช้เหตุผลประกอบ แต่ปัญหาที่สำคัญคือข้อมูลมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอสามารถหาข้อมูลอื่น ๆ มาทดแทนได้หรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่



                      จากนิยามข้างต้นสรุปได้ว่าตัวชี้วัดคือ “ตัวแปรที่แสดง/ระบุ/บ่งบอกลักษณะเชิงปริมาณ/

เชิงคุณภาพของโครงการหรือแผนงานในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และมีความชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เปรียบเทียบหรือสามารถบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงได้”



               (ข5) จำแนกประเภทตัวชี้วัดตามระบบ ดังนี้



                      1) ตัวชี้วัดปัจจัยนำเข้า (Input Indicators) คือตัวชี้วัดที่ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่นำเข้าสู่

การดำเนินงานมีความเหมาะสมเพียงใดเช่นจำนวนคนจำนวนวัตถุดิบต่าง ๆ จำนวนเงินลงทุน เป็นต้น



                      2) ตัวชี้วัดกระบวนการ (Process Indicators) คือตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในช่วงต่าง ๆ

ว่าควรต้องปรับปรุง หรือแก้ไขในส่วนใดบ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือทำให้การดำเนินงานนั้นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้



                      3) ตัวชี้วัดผลผลิตหรือผลการดำเนินงาน (Output Indicators) คือตัวชี้วัดที่สามารถบอกได้ว่าผลผลิตที่ได้ตรงตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์หรือไม่



                      4) ตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Outcome Indicators) คือตัวชี้วัดผลที่เกิดเนื่องมาจากผลผลิต หรือผลิตผลจากการดำเนินงานทั้งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม



                      5) ตัวชี้วัดผลกระทบ (Impact Indicators) คือตัวชี้วัดผลที่เกิดขึ้นทั้งในทางบวกและทางลบของการดำเนินงาน ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เห็นผลนั้น ๆ



               (ข6) ความหมายของเกณฑ์การประเมินผล



                      เกณฑ์การประเมินผล คือ ระดับที่กำหนดไว้หรือมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพื่อใช้ในการตัดสินโครงการหรือแผนงานโดยจะตัดสิน ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดคือตัวชี้วัดหรือตัวชี้วัดย่อยแต่ละประเด็นจนถึงการประเมินผลความสำเร็จของโครงการ ในภาพรวมเกณฑ์การประเมินผลที่มีความละเอียดน้อยที่สุดคือให้ผลออกมาเพียง 2 ระดับ เช่น สำเร็จหรือล้มเหลว ผ่านหรือไม่ผ่าน ได้หรือตก จนกระทั่งละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึง 11 ระดับ แต่ในทางปฏิบัติมักจะพบเกณฑ์การประเมินผล 5 ระดับมากที่สุด เกณฑ์การประเมินที่คุ้นเคยกันมากคือในระบบการศึกษาโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 5 ระดับ (A B C D และ F) แต่บางแห่งก็ละเอียดเป็น 11 ระดับคือแบ่งย่อยเพิ่มเป็น A- B+ B- C+ C- D+



                      ระดับของเกณฑ์การประเมินผลแบ่งเป็น 2 ระดับดังนี้



                      1) เกณฑ์การประเมินผล 2 ระดับ จะกำหนดระดับหรือตัวเลขขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการวัด โดยอาจจะกำหนดให้น้อยกว่าหรือมากกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จึงจะถือว่าผ่านหรือสำเร็จ เช่น ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมกลับก่อนเลิกไม่เกินร้อยละ 5 เกณฑ์เช่นนี้คือผลต้องน้อยกว่าที่กำหนดไว้ หรือต้องมีผู้สำเร็จตามหลักสูตรตามโครงการอบรมกฎจราจรร้อยละ 80 เกณฑ์เช่นนี้คือผลต้องเท่ากับหรือมากกว่าที่กำหนดไว้จึงจะผ่านเกณฑ์ หรือถ้าใช้เกณฑ์กำหนดเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือเชิงลบ เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนนักเรียนที่สอบตก จำนวนผู้เป็นโรค จำนวนนักเรียนที่ขาดเรียน จะต้องตั้งเกณฑ์ให้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือตั้งไว้ ส่วนถ้าใช้เกณฑ์กำหนดเป็นสิ่งที่ดีหรือเชิงบวก เช่น จำนวนนักเรียนที่สอบได้ จำนวนคนไข้ที่หายจากโรคจำนวนนักเรียนที่มาเรียน นิยมใช้เกณฑ์ที่ต้องได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะผ่าน



                      สำหรับข้อเสียของเกณฑ์ 2 ระดับคือทราบเพียงแต่ผลการประเมินว่าผ่านหรือไม่ผ่านตามที่กำหนดไว้ของแต่ละตัวชี้วัดเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีใช้ตัวชี้วัด 20 ตัวก็ทราบเพียงแต่ว่าผ่าน 12 ตัว

ไม่ผ่าน 8 ตัว โดยไม่ทราบว่าประเด็นการประเมินผลใดผ่านบ้าง หรือความสำเร็จของโครงการในภาพรวมสำเร็จหรือไม่ แต่ก็อาจจะแก้ไขโดยกำหนดเกณฑ์ของประเด็นการประเมินผลโครงการเพิ่มเติมว่า ในแต่ละประเด็นตัวชี้วัดต้องผ่าน



                      เกณฑ์ครึ่งหนึ่งหรือในแต่ละโครงการรวมทุกตัวชี้วัดแล้วต้องผ่านเกณฑ์ครึ่งหนึ่งก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังประสบปัญหาความสำคัญของแต่ละตัวชี้วัดไม่เท่ากัน เช่น ตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ ผลต่าง ๆ ของโครงการ (ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ) จะมีจำนวนตัวชี้วัดน้อย แต่ตัวชี้วัดของกระบวนการบริหารจะมีจำนวนตัวชี้วัดมากกว่า ถ้าใช้วิธีนับจำนวนโดยให้ความสำคัญเท่ากันแล้ว จะทำให้ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับตัวโครงการเพราะมีตัวชี้วัดมากกว่านั่นเอง



                      2) เกณฑ์การประเมินผลมากกว่า 2 ระดับคือตั้งแต่ 3 ระดับขึ้นไปเช่นปรับปรุง-พอใช้-ดีหรือน้อยที่สุด-น้อย-ปานกลาง-มาก-มากที่สุด โดยกำหนดคะแนนเป็นตัวเลขให้ตามลำดับตั้งแต่ 1 จนถึงจำนวนในระดับนั้น ๆ ถ้ามีเกณฑ์ 3 ระดับก็จะเป็น 1 2 และ 3 ถ้าเป็นเกณฑ์ 5 ระดับก็จะเป็น 1 23 4 และ 5 การกำหนดเกณฑ์ประเมินมากกว่า 2 ระดับ จะมีความยุ่งยากกว่าการกำหนดเกณฑ์ 2 ระดับทั้งการกำหนดในเชิงปริมาณและคุณภาพ การกำหนดเกณฑ์การประเมินผลในเชิงปริมาณ สมมติว่าจะกำหนด 3 ระดับในขั้นตอนแรก จะต้องหาจุดผ่านหรือจุดกึ่งกลางที่เป็นตัวเลขให้ได้ก่อน เช่น การกำหนดเกณฑ์ 3 ระดับก็กำหนดว่าต้องได้ระดับ 2 จึงจะผ่าน จากตัวอย่างการกำหนดเกณฑ์ 2 ระดับ คือ ต้องได้งบประมาณอย่างต่ำ 90% ซึ่งถือเป็นจุดผ่านในการกำหนดเกณฑ์ 3 ระดับก็จะใช้ตัวเลข 90% เป็นจุดกึ่งกลาง และพิจารณาไปในทางมากกว่าพบว่า ถ้าทำเพิ่มให้เต็มงบประมาณคือต้องเพิ่มอีก 10% จะเท่ากับ 100% ก็นำตัวเลข 10%

มาแบ่งเป็น 2 ช่วงจะได้ช่วงละ 5% ก็จะได้เกณฑ์ดังต่อไปนี้ 95% - 100% จะได้คะแนนเท่ากับ

3 ถ้า 90% -94% จะได้คะแนนเท่ากับ 2 และต่ำกว่า 90% จะได้คะแนนเท่ากับ 1



                      การกำหนดเกณฑ์การประเมินผลในเชิงคุณภาพ อาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับเชิงปริมาณ

ซึ่งถ้าเป็นการกำหนดเกณฑ์ 2 ระดับ ก็อาจไม่มีปัญหา แต่ถ้ามากกว่า 2 ระดับต้องกำหนดในลักษณะเชิงบันได คือ ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบกันเสมอ เช่น การประเมินผลองค์การต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงาน จะกำหนดเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ 1 = มีแผนงาน ระดับ 2 = นำแผนงานไปใช้ ระดับ 3 = มีการติดตามแผนงาน ระดับ 4 = มีการประเมินผลตามแผนงาน และระดับ 5 = นำผลการประเมินผลมาปรับปรุง เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจพบปัญหาได้ เช่น บางหน่วยงานไม่มีแผนโดยตรงแต่ก็ดำเนินงานไปได้ และอาจมีการประเมินผลงานผู้ประเมินตามเกณฑ์ดังกล่าวอาจไม่ได้คะแนนคือให้เพียง 1 คะแนน เพราะถือว่าเกณฑ์เป็นลักษณะขั้นบันได ถ้าไม่มีขั้นแรกก็ไม่ควรเกิดขั้นอื่นได้ เป็นต้น



                      สำหรับการวัดการรับรู้หรือความรู้สึก บางครั้งอาจจำเป็นต้องทำ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก วัดด้วยเกณฑ์ 2 ระดับ ว่าแต่ละคนพอใจหรือไม่พอใจ แล้วนำมากำหนดเกณฑ์เป็นจำนวนร้อยละของผู้ตอบเป็น 5 ระดับ โดยกำหนดเกณฑ์ผ่านที่ 3 คะแนน โดยแบ่งเป็นช่วง ๆ เช่น กำหนดเกณฑ์ผ่านที่ร้อยละ 70 คือ พอใจน้อยกว่าร้อยละ 59 = 1 คะแนน ร้อยละ 60–69 = 2 คะแนน ร้อยละ 70–79 = 3 คะแนน ร้อยละ 80–89 = 4 คะแนน และร้อยละ 90–100 = 5 คะแนน หรือถ้าหากว่าการวัดเพียง 2 ระดับหยาบไป อาจวัดเป็น 5 ระดับก็ได้ แล้วนับคนที่พอใจมากที่สุดกับพอใจมากเป็นกลุ่มพอใจ พอใจน้อยกับน้อยที่สุดเป็นกลุ่มไม่พอใจ โดยตัดคนที่พอใจปานกลางทิ้งก็ได้ แล้วคำนวณจำนวนรวมเฉพาะกลุ่มสูงกับกลุ่มต่ำ หรือกลุ่มพอใจกับไม่พอใจ แล้วดำเนินการหาจำนวนร้อยละตามที่กำหนดระดับคะแนนไว้ก็ได้เช่นกัน



               (ข7) การออกแบบการประเมินโครงการ



                      ขั้นตอนการประเมินโครงการ



                      การประเมินมีขั้นตอนการประเมินแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ : 2551) ดังต่อไปนี้



                      ขั้นที่ 1 กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมิน ในขั้นตอนนี้ ผู้ประเมินจะดำเนินการดังนี้



                                 1.1 ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ หรือสิ่งที่มุ่งประเมินกับวัตถุประสงค์หลักการของโครงการ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครบ้างที่ต้องการใช้ผลประเมินนี้



                                 1.2 สัมภาษณ์ผู้บังคับบัญชาของผู้ประเมิน และกลุ่มผู้ใช้ผลประเมิน เกี่ยวกับความต้องการใช้ผลประเมิน ต้องการใช้เมื่อใด ต้องการสารสนเทศในประเด็นใดบ้าง



                                 1.3 จากข้อมูล 1.1 และ 1.2 กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมิน

เป็นที่น่าสังเกตว่าวัตถุประสงค์ของการประเมิน เป็นผลมาจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้ผลประเมิน และจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการ หรือสิ่งที่มุ่งประเมิน



                      ขั้นที่ 2 วางแผนการประเมิน เมื่อกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์การประเมินแล้ว

นำวัตถุประสงค์ของการประเมินในแต่ละข้อมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการประเมิน แล้วกรอกลงในแบบวางแผนประเมินดังนี้



                                 จากวัตถุประสงค์ของการประเมิน ผู้ประเมินนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นประเภทไหนของการประเมิน เช่น ประเมินสภาวะแวดล้อม ประเมินปัจจัยเบื้องต้น ประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต ฯลฯ ประเด็นคำถามเพื่อจะได้ช่วยให้เก็บข้อมูลอย่างครบถ้วน แหล่งที่มาของข้อมูลที่ต้องการอาจมาจากผู้เข้าร่วมโครงการ ผู้สังเกตการณ์ เอกสาร หรือผลการปฏิบัติต่าง ๆ ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล แบ่งเป็น 3 ช่วง ก่อนการดำเนินโครงการ ขณะโครงการดำเนินโครงการอยู่ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ แล้วนำมากำหนดเป็นตัวชี้วัดหรือสิ่งที่มุ่งประเมิน



                      ขั้นที่ 3 ดำเนินการประเมินตามแผน เมื่อจัดทำแผนการประเมินเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงต่าง ๆ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ระบุไว้ในแผนการประเมิน



                      ขั้นที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูล แจงนับรวบรวมข้อมูล เพื่อทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินแต่ละข้อ แล้วสรุปว่าวัตถุประสงค์นั้น ๆ บรรลุหรือไม่ เพียงใด มีปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง



                      ขั้นที่ 5 รายงานผลการประเมิน โดยทั่วไปรายงานการประเมินผลมักจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของรายงาน ซึ่งอาจแบ่งเป็นรายงานรวมฉบับเดียว หรือการประเมินผลโครงการ และการติดตามผลหรือแยกเป็นรายงาน 2 ฉบับ คือ รายงานการประเมินผลโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินงาน โดยยังไม่ได้ดำเนินการติดตามผล และรายงานการติดตามผล หลังจากสิ้นสุดโครงการไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน



กรณีตัวอย่างที่ 1 แนวทางการประเมินติดตามผลผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการเกษตรแบบยั่งยืน



     





































วัตถุประสงค์ของการประเมิน



สิ่งที่มุ่งประเมิน/ตัวชี้วัด



แห ล่งข้อมูล 



เครื่องมือและแนวทางเก็บรวบรวมข้อมูล



การวิเคราะห์ข้อมูล/ 



เกณฑ์การตัดสิน



1.ประเมินความคิดเห็นต่อหลักสูตรฝึกอบรม “การเกษตรแบบยั่งยืน”




  1. ความพึงพอใจต่อหลักสูตรโดยภาพรวม

  2. รายวิชาที่เป็นประโยชน์-ไม่เป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้



- ผู้ผ่านการอบรม



- แบบสอบถาม(ประเมินความพึงพอใจต่อหลักสูตร)



- แบบสัมภาษณ์



มีความพึงพอใจโดยเฉลี่ยในระดับมากขึ้นไป



2. ประเมินการเรียนรู้ของผู้ผ่านการอบรม




  1. ความรู้-ความเข้าใจในหลักการและแนวปฏิบัติ

  2. ความตระหนักในความจำเป็นของการทำการเกษตรแบบยั่งยืน



- ผู้ผ่านการอบรม



- แบบทดสอบ



- การสัมภาษณ์ถึงความตระหนักในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน




  1.  แต่ละคนได้คะแนนการทดสอบความรู้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม และมีผู้สอบผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของผู้ถูกประเมินทั้งหมด

  2. ผู้ให้สัมภาษณ์มีความตระหนักถึงความจำเป็นในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน



3. ติดตามการทำการเกษตรแบบยั่งยืน




  1. พฤติกรรมการทำเกษตรแบบยั่งยืน

  2. ลักษณะกิจกรรมการทำเกษตรแบบยั่งยืน

  3. พฤติกรรมการส่งเสริมสนับสนุนของนักส่งเสริมการเกษตร



- ผู้ผ่านการอบรม



- เอกสารหลักฐาน



- นักส่งเสริมการเกษตร



- แบบสอบถาม



- แบบสัมภาษณ์




  1. วิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรม ตัดสินด้วยเกณฑ์ในระดับมากขึ้นไป

  2. วิเคราะห์ความหลากหลายของกิจกรรม

  3. วิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรม การส่งเสริมสนับสนุน ตัดสินด้วยเกณฑ์ระดับ

    มากขึ้นไป




               (ข8) สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล



                      ข้อมูลที่เป็นค่าของตัวชี้วัดจะแสดงเป็นตัวเลข ในลักษณะของจำนวนร้อยละ อัตราส่วนสัดส่วนอัตรา และค่าเฉลี่ยดังนี้



                      1) จำนวน (Number) คือ ตัวเลขที่แสดงถึงจำนวนสิ่งของหนึ่ง ๆ เช่นจำนวนของสถานฝึกอบรมจำนวนเงินงบประมาณ จำนวนโครงการ เป็นต้น



                      2) ร้อยละ (Percentage) คือ จำนวนของเลขกลุ่มหนึ่งซึ่งนำมาเปรียบเทียบกับเลขอีกกลุ่มหนึ่งโดยปรับให้เลขกลุ่มหลังมีค่าเท่ากับ 100 เช่น เกษตรกรในจังหวัดนครพนมมี 150,000 คน และประชากรในจังหวัดนครพนมมี 200,000 คน ดังนั้นร้อยละของเกษตรกรต่อประชากรในจังหวัดนครพนมจะเท่ากับ 150,000 หารด้วย 200,000 แล้วคูณด้วย 100 เท่ากับร้อยละ 75 เป็นต้น



                      3) อัตราส่วน (Ratio) คือ ข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์เปรียบเทียบระหว่างจำนวนของเลขกลุ่มหนึ่งกับจำนวนของเลขอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน เช่น จำนวนเกษตรกรเท่ากับ 150,000 คน และจำนวนเกษตรกรที่เป็นเพศชายที่ร่วมโครงการเท่ากับ 100,000 คน ดังนั้นอัตราส่วนเกษตรกร ที่เป็นเพศชายที่เข้าร่วมโครงการต่อเกษตรกรทั้งหมดเท่ากับ 100,000 : 150,000 หรือเท่ากับ 1 : 1.5 เป็นต้น



                      4) สัดส่วน (Proportion) คือ ข้อมูลที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนของเลขกลุ่มหนึ่งกับจำนวนของเลขอีกกลุ่มหนึ่ง โดยที่จำนวนของเลขกลุ่มแรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งหรือรวมอยู่ในจำนวนของเลขกลุ่มหลังไว้ด้วย เช่น เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมี 100,000 คนและเกษตรกรทั่วประเทศมี 400,000 คนดังนั้นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีสัดส่วนเท่ากับ 100,000 หารด้วย 400,000 หรือเท่ากับ 0.25 หรือ 1 ใน 4 ของเกษตรกรทั้งประเทศเป็นต้น



                      5) อัตรา (Rate) คือ อัตราส่วนระหว่างเลขจำนวนหนึ่งกับเลขอีกจำนวนหนึ่งภายในระยะเวลาหนึ่ง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การนำจำนวนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น แล้วปรับฐานให้เท่ากับ 100/1,000/10,000 หรือ 100,000 เช่นอัตราการตายของลูกไก่เท่ากับ 45 ต่อการเกิดแล้วมีชีวิต 1,000 ตัว หมายถึง ในลูกไก่ที่เกิดใหม่ทุก ๆ 1,000 ตัว มีลูกไก่ตาย 45 ตัว เป็นต้น บางอัตราอาจต้องปรับฐานให้เท่ากับ 10,000 หรือ100,000 ในกรณีที่ตัวตั้งมีจำนวนน้อยและตัวหารเป็นจำนวนมาก เช่น อัตราป่วยของไก่ด้วยโรคไข้หวัดนกต่อประชากรไก่ทั่วประเทศ 100,000 ตัว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผลของการคำนวณออกมาเป็นจำนวนเต็ม และสะดวกในการอธิบายเปรียบเทียบและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น



                      6) ค่าเฉลี่ย (Average or Mean) คือ ตัวเลขซึ่งเฉลี่ยจากกลุ่มตัวเลขจำนวนหนึ่งที่เป็นประเภทเดียวกัน กล่าวคือเป็นค่าตัวเลขหนึ่งที่ได้มาจากการรวมค่าของจำนวนตัวเลขของกลุ่มตัวอย่างหนึ่งแล้วหารด้วยจำนวนตัวอย่างนั้นทั้งหมดรวมกัน เช่น เกษตรกรซึ่งมีอายุแตกต่างกันจำนวน 200 คน ดังนั้นอายุเฉลี่ยของเกษตรกรจึงเท่ากับ ผลรวมของอายุของเกษตรกรทุกคนหารด้วยจำนวนเกษตรกรทั้งหมด



               (ข9) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล



                      การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินนั้น ควรใช้เครื่องมือชนิดใด ขึ้นอยู่กับลักษณะของเรื่องที่ทำการประเมินว่าเป็นเรื่องแบบใด มีการศึกษาตัวแปรใด ต้องการข้อมูลชนิดใด เนื่องจากเครื่องมือมีหลายประเภท จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของเครื่องมือแต่ละชนิด เพื่อสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับข้อมูลแต่ละลักษณะ



                      เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับการประเมินโครงการที่นิยมใช้มีดังนี้คือ แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังมีการเก็บรวบรวมด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่นำไปใช้เก็บข้อมูลมีความสอดคล้องตามลักษณะข้อมูล ดังนี้































เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจำแนกตามลักษณะของข้อมูล
เครื่องมือ ลักษณะของข้อมูล
แบบทดสอบ (Test) วัดความรู้ความสามารถของผู้เรียน ตามจุดประสงค์การเรียนรู้
แบบสังเกต (Observation) ใช้สังเกตเหตุการณ์บรรยายพฤติกรรม หรือการปฏิบัติงานที่ผู้สังเกตได้กำหนดไว้โดยผู้ถูกสังเกตรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้

แบบบันทึกเหตุการณ์หรือระเบียนพฤติการณ์


 (Anecdotal Record)
บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอน กิจกรรมใน ชั้นเรียน ปฏิกิริยาผู้เรียน การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน กระบวนการกลุ่ม การจัดกลุ่ม บรรยากาศ สภาพทางกายภาพ เป็นการบันทึกของครูถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการเรียนการสอน การบันทึกเหตุการณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูที่จะสะท้อนว่าการเรียน การสอนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นข้อคำถามที่เตรียมขึ้นไว้ให้ผู้ตอบเขียนตอบ ใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการ
แบบสัมภาษณ์ (Interview) ใช้เก็บข้อมูลด้วยการซักถามด้วยวาจา มีการเผชิญหน้า เป็นข้อมูลที่ต้องการความลึกซึ้ง ลงลึกในรายละเอียด


               (ข10) การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล



                      การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลในการติดตามและประเมินผล เป็นการใช้ระเบียบวิธีทางสถิติแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ การเก็บและรวบรวมข้อมูล (Collection of data) การนำเสนอข้อมูล (Presentation of data) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) และการตีความหมายหรือหาข้อสรุปของข้อมูล (Interpretation of data) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้



                      1) การเก็บและรวบรวมข้อมูล (Collection of data) เป็นการรวบรวมข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่ต้องการจากประชากรที่มีคุณสมบัติที่สอดคล้องตามความต้องการ การเก็บและรวบรวมข้อมูลนี้จัดว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในระเบียบวิธีการทางสถิติ เพราะว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้น้อยก็จะทำให้ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ และตีความออกมานั้นมีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำ ดังนั้นขั้นตอนนี้จะต้องมีการวางแผนในการรวบรวมข้อมูล มีการควบคุมขั้นตอนการเก็บ และจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่า ข้อมูลมีความถูกต้องเชื่อถือได้ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้หรือไม่



                      2) การนำเสนอข้อมูล (data presentation) เป็นการนำเสนอข้อมูลสถิติที่ได้รวบรวมไว้นำออกเผยแพร่ให้คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจและเป็นการเตรียมพร้อมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ต่อไป วิธีการนำเสนอข้อมูลมีหลายแบบแล้วแต่ความเหมาะสมกับชนิดของข้อมูลและปริมาณของข้อมูล โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งเป็น

2 ลักษณะคือ



                           2.1) การนำเสนอข้อมูลแบบไม่มีแบบแผน การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบนี้จะไม่มี

กฎเกณฑ์ใด ๆ อาจนำเสนอในรูปของการบรรยายข้อความ หรือรายงานกึ่งตาราง



                           2.2) การนำเสนอข้อมูลแบบมีแบบแผน เป็นการนำเสนอข้อมูลที่มีระเบียบแบบแผนและกฎเกณฑ์ ในรูปของตารางหรือกราฟ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การนำเสนอนั้นง่ายและรัดกุมขึ้น ตลอดจนผู้อ่านก็สามารถเข้าใจได้ง่าย



                                  2.2.1) การนำเสนอข้อมูลด้วยตาราง (Tabular presentation) เป็นการจัดข้อมูลให้อยู่ในรูปของตารางซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้ คือ หมายเลขตาราง (Table number) ชื่อเรื่อง (Title) หมายเหตุคำนำ (Head note)



                                  2.2.2) การนำเสนอข้อมูลด้วยแผนภูมิ (Chart Presentation) เป็นการนำเสนอข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถเห็นลักษณะเด่นของข้อมูลอย่างรวดเร็ว และชัดเจนง่ายต่อการเข้าใจ ดึงดูดความสนใจได้มากกว่าตาราง ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้ง่าย แผนภูมิที่ใช้ทางสถิติ ได้แก่ กราฟเส้น กราฟแท่ง แผนภูมิภาพ



                      3) การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) เป็นการนำเอาข้อมูลที่รวบรวมได้มาประมวลผลตามวัตถุประสงค์ สมมติฐาน และคำถามการวิจัยที่ตั้งไว้ เช่น เปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มโดยใช้ Z หรือ t เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากรที่มากกว่า 2 กลุ่ม โดยใช้การทดสอบความแปรปรวนสถิติทดสอบคือ F



                      4) การตีความหมายหรือหาข้อสรุปของข้อมูลเป็นการนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มาตีความสรุป เขียนเป็นรายงานผล เช่น t = 3.1 หมายความว่าอย่างไร มีความแตกต่างกันระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากรสองกลุ่มหรือไม่ ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ทางสถิติที่จะต้องศึกษาต่อไป



               (ข11) การเขียนรายงานการประเมิน



                      การเขียนรายงานการประเมินต่างจากการเขียนรายงานการวิจัยทางวิชาการ เนื่องจากรายละเอียดบางอย่างของการวิจัยเชิงวิชาการ จะไม่เป็นสาระสำคัญของรายงานการประเมิน และวัตถุประสงค์ของการประเมินมุ่งที่จะนำผลของการประเมินมาใช้ประโยชน์ในการบริหารหรือจัดการ ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากการประเมิน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารที่ไม่มีเวลาที่จะสนใจในเรื่องอื่นใดนอกจากสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจ



                      การเขียนรายงานการประเมิน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการประเมินซึ่งผู้ประเมิน จะต้องเรียบเรียงเสนอผลงานที่ได้จากการประเมิน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการหรือผู้สนใจติดตามอ่านรายงานการประเมินได้เข้าใจความเป็นมาของการประเมิน ขอบเขตของการประเมิน วิธีการประเมิน และผลการประเมิน ผลการประเมินจะสามารถนำไปใช้ตัดสินใจในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการในด้านใดได้บ้าง รวมทั้งได้ทราบข้อเสนอแนะจากการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินโครงการ เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากผลการประเมิน ไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษาในเรื่องทำนองเดียวกัน



               (ข12) องค์ประกอบของรายงานการประเมิน



                      รายงานการประเมินทำขึ้น เพื่อนำผลที่ได้จากการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการบริหารหรือการจัดการ ซึ่งมีความแตกต่างจากรายงานการวิจัย ที่มุ่งจะแจกแจงรายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ของการวิจัยองค์ประกอบของรายงาน จึงมีรายละเอียดต่างไปจากรายงานการวิจัยทั่วไปกล่าวคือ รายงานการประเมินมีสาระที่สำคัญ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง ดังนี้



                      1) ส่วนนำ เป็นการนำเสนอให้ผู้อ่านได้รู้จักกับรายงานโดยมีรายละเอียดของส่วนประกอบ

ย่อย ๆ ดังนี้



                           1.1) ปกหน้าเป็นส่วนแรกที่ผู้อ่านได้เห็นจึงควรทำให้เรียบร้อยสวยงามและมีรายละเอียดที่สื่อให้รู้ว่าเป็นรายงานเกี่ยวกับเรื่องใดโดยมีรายละเอียดดังนี้



                                 - ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน



                                 - ชื่อรายงานการประเมิน



                                 - ชื่อผู้จัดทำ



                                 - ชื่อหน่วยงาน



                                 - ปีที่ทำ



                           1.2) บทสรุป เป็นการสรุปหรือคัดย่อรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์ ให้เป็นรายงานที่สั้นกะทัดรัดมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ และจำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร อีกทั้งเป็นการให้ความสะดวกกับผู้ที่สนใจศึกษารายงานการประเมินแต่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอ่านเนื้อหาฉบับสมบูรณ์ได้ทั้งเล่ม ซึ่งบทสรุปผู้บริหารดังกล่าวควรมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้



                                 - สิ่งที่ประเมินผลคืออะไร



                                 - ทำไมถึงต้องประเมินผล



                                 - วิธีการประเมิน



                                 - ข้อค้นพบข้อสรุป



                                 - ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ๆ



                           1.3) สารบัญเป็นส่วนที่แสดงบท หรือหัวข้อของรายงานการประเมินให้ผู้อ่านสามารถค้นหาเรื่องราวต่าง ๆ ในรายงานได้อย่างรวดเร็วโดยมีข้อมูลดังนี้



                                 - หัวข้อเรื่องแยกเป็นบท ๆ



                                 - เลขหน้ากำกับแต่ละหัวข้อ



                      2) ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของรายงานการประเมิน ซึ่งเป็นการบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบโดยมีรายละเอียดดังนี้



                           บทที่ 1 บทนำเป็นบทแรกของเนื้อหาที่จะนำเข้าสู่เรื่องที่ประเมินผล เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นความสำคัญของการประเมิน โดยมีรายละเอียดของส่วนประกอบย่อย ๆ ดังนี้



                                      1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของการประเมิน เพื่ออธิบายให้เห็นความสำคัญของการประเมิน โดยบรรยายถึงรายละเอียดของโครงการที่จะประเมินผลอย่างสรุปว่า ทำไมจึงทำโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร มีเป้าหมายมากน้อยเพียงใด อธิบายสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการประเมินโครงการนี้ ควรมีการยกข้อมูลแนวคิดหรือผลการประเมินที่เกี่ยวข้องมาอ้างอิง หรือสนับสนุนให้เห็นความสำคัญอธิบายผลดีของการประเมิน หรือผลเสียถ้าไม่มีการประเมิน และในตอนท้ายควรสรุปให้ได้ว่า “ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้เกิดการประเมินโครงการนี้”



                                      1.2 วัตถุประสงค์ของการประเมิน กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านทราบสิ่งที่ต้องการ

ทำ เพื่อหาคำตอบโดยเขียนเป็นข้อ ๆ ให้ครอบคลุมเรื่องที่จะทำการประเมินทั้งหมด



                                      1.3 ขอบเขตของการประเมิน เพื่อกำหนดกรอบของเรื่องที่จะประเมินผลว่าจะให้ครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง ประชากรและกลุ่มตัวอย่างหรือแหล่งข้อมูลมีมากน้อยเพียงใดทำในช่วงเวลาไหน



                                      1.4 นิยามศัพท์ เป็นข้อความที่ใช้อธิบายความหมายของคำบางคำที่มีความหมายเฉพาะในการประเมิน ซึ่งผู้อ่านอาจจะไม่ทราบมาก่อน หรือเป็นคำที่มีการใช้ยังไม่แพร่หลาย เพื่อสื่อข้อความให้ตรงกัน



                                      1.5 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการชี้ให้เห็นว่าผลการประเมินก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้างต่อบุคคล โครงการ หน่วยงาน สังคม และประเทศชาติ โดยต้องบอกว่าเมื่อได้ผลการประเมินตามวัตถุประสงค์แล้ว จะนำผลไปใช้ในกิจการใดและใช้อย่างไร เช่น นำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แนวทางในการประเมินโครงการอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นต้น



                           บทที่ 2 แนวคิดและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน เป็นบทที่ประมวลความรู้ในเนื้อหาของโครงการที่จะประเมินผล เพื่อช่วยให้เกิดความรู้และมีแนวความคิดกว้างขวางและชัดเจนขึ้น โดยมีหัวข้อสำคัญ ประกอบด้วย



                                      2.1 สาระสำคัญของโครงการที่ประเมินผล เป็นการสรุปความเป็นมาของโครงการวัตถุประสงค์ของโครงการ เป้าหมาย วิธีการดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน งบประมาณ การประเมิน



                                      2.2 แนวคิดเกี่ยวกับการประเมิน เป็นการระบุความหมายของการประเมิน รูปแบบการประเมินที่เกี่ยวข้องรายงานการประเมินในโครงการที่เกี่ยวข้อง



                           บทที่ 3 วิธีการประเมิน เป็นการเขียนถึงรายละเอียดวิธีการประเมินว่ามีขั้นตอนและวิธีดำเนินการอย่างไร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประเมิน โดยมีรายละเอียดดังนี้



                                      3.1 แนวทางการประเมิน เป็นการเขียนเพื่ออธิบายให้ทราบว่ามีการประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบใด และใช้ประเด็นตัวชี้วัดหรือตัวแปรใดบ้างในการวัดผล



                                      3.2 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็นการเขียนให้ทราบว่าประชากรที่ให้ข้อมูลเป็นใคร ศึกษาจากประชากรทั้งหมด หรือสุ่มตัวอย่างมาศึกษาเพียงบางส่วน และถ้าใช้กลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใด จำนวนตัวอย่างที่ใช้มากน้อยเพียงใด



                                      3.3 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นการเขียนให้ทราบว่าใช้เครื่องมือใดบ้าง มีวิธีการสร้างอย่างไร ข้อคำถามครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมืออย่างไร



                                      3.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการเขียนอธิบายให้เห็นว่ามีขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร ใช้วิธีใดบ้างในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น การสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ การอภิปรายกลุ่มย่อย การคัดลอก การทดสอบ หรือรวบรวมจากเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ เป็นต้น



                                      3.5 การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการเขียนถึงวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลว่าใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใดบ้าง เช่น ข้อมูลเชิงปริมาณใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือการทดสอบสมมติฐาน เป็นต้น ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ นำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ในการติดตามประเมินผลโครงการ



                                      3.6 เกณฑ์ในการประเมินโครงการ เป็นการเขียนอธิบายว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวัดผล และเกณฑ์ได้มาอย่างไร



                           บทที่ 4 ผลการประเมิน เป็นบทที่นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยคำนึงถึงผู้อ่านว่าทำอย่างไรจึงจะให้อ่านได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปมักแบ่งการนำเสนอเป็นตอน ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน มีการนำเสนอในลักษณะผสมผสานกัน กล่าวคือ มีการนำเสนอโดยวิธีการบรรยาย การบรรยายประกอบตารางรูปภาพ กราฟหรือแผนภาพ เป็นต้น



                           บทที่ 5 สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ เป็นบทสุดท้ายของเนื้อหาในรายงานการประเมิน ผล มีรายละเอียดดังนี้



                                      5.1 สรุป เป็นการเขียนสรุปผลการประเมิน มีรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน วิธีการประเมิน และสรุปผลตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน



                                      5.2 อภิปรายผล เป็นการขยายความผลการแปลผล โดยนำเอาแนวคิดทฤษฎีหรือผลการวิจัยต่าง ๆ มาสนับสนุน การอภิปรายผลการประเมิน ไม่จำเป็นต้องอภิปรายทุกรายการตามข้อสรุป ผลการประเมินอธิบายเฉพาะประเด็นที่โดดเด่นหรือเป็นที่น่าสังเกต หรือประเด็นที่ปรากฏข้อสรุปผลการประเมินที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย



                                      5.3 ข้อเสนอแนะ การเขียนข้อเสนอแนะควรจะให้ข้อเสนอแนะที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยระบุให้ชัดเจนว่าเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาโครงการ หรือเสนอแนะเพื่อการประเมินในครั้งต่อไป ในการเสนอแนะเพื่อการนำผลการประเมินไปใช้ ควรเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเสนอแนะให้ชัดเจน และการเสนอแนะทุกกรณี ควรตั้งอยู่บนฐานข้อมูลหรือข้อค้นพบ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกให้หลากหลายในการนำผลการประเมิน ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการ



                      3) ส่วนอ้างอิง เป็นส่วนสุดท้ายของรายงานการประเมิน ที่จะช่วยให้รายงานมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นรายชื่อหนังสือเอกสารสิ่งพิมพ์ และวัสดุอ้างอิงทั้งหมดที่นำมาใช้ประกอบการเขียน ศึกษาค้นคว้า และอ้างอิงในรายงานการประเมิน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยรวบรวมไว้ตอนท้ายของรายงาน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจได้ติดตามศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสาร


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

          18.1 ข้อสอบข้อเขียนปรนัย 4 ตัวเลือก                                              



          18.2 แบบประเมินผลการสัมภาษณ์



          18.3 แบบประเมินผลงานหรือชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว



ยินดีต้อนรับ