หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-UOOC-312A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

9999



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
          หน่วยสมรรถนะนี้อธิบายถึง ความสามารถในการวางแผน โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องตามหลัก และกระบวนการของการวางแผน และเขียนโครงการถ่ายทอดความรู้ที่สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย สอดรับกับแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนสามารถดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เป็นไปตามขั้นตอน และวิธีการการถ่ายทอดที่กำหนดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผลที่ได้จากหน่วยสมรรถนะนี้คือ สามารถดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการเกษตรได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับแผนที่กำหนด และรายงานสรุปผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ครบถ้วนตามแผนที่กำหนด

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
          นักส่งเสริมการเกษตร

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
B131 วางแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร 1. ประมวลกลั่นกรองและระบุประเด็นการจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับปัญหา/ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย B131.02 93421
B131 วางแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร 2. เขียนโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ชัดเจน สามารถนำไปดำเนินการได้ มีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วน ถูกต้องตามข้อกำหนด B131.01 93423
B132 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร 1. เตรียมความพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ครบถ้วน ถูกต้อง สอดคล้องกับแผนงานที่กำหนด B132.01 93422
B132 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร 2. ถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สอดคล้องกับแผนงานที่กำหนด B132.02 93424
B132 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร 3. บันทึกและสรุปผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนตามแผนงานที่กำหนด B132.03 93425

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

  • หลักการส่งเสริมการเกษตร

  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเกษตร


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

(ก1) การบันทึก



(ก2) การสังเกต



(ก3) การติดต่อสื่อสาร



(ก4) การเขียนรายงานและสรุปผลการถ่ายทอด



(ก5) การจัดเวทีชุมชน



(ก6) การใช้เครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม



(ก7) การมีมนุษยสัมพันธ์



(ก8) การเขียนโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับ ปัญหา/ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย



(ก9) การวางแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้



(ก10) การเขียนแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้

(ข) ความต้องการด้านความรู้

(ข1) ทฤษฎีการติดต่อสื่อสาร



(ข2) การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล



(ข3) กระบวนการยอมรับ



(ข4) การจัดทำแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้



(ข5) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน



(ข6) การถอดบทเรียน



(ข7) การเขียนโครงการถ่ายทอดที่สอดคล้องกับปัญหา/ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย



(ข8) การบันทึกและตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูล



(ข9) การเขียนรายงานสรุปผลการดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

          (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)



               (ก1) รายงานผลการดำเนินการโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้



               (ก2) เอกสารสรุปผลการสำรวจข้อมูล



               (ก3) เอกสารการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล



               (ก4) แผนงานโครงการถ่ายทอดความองค์รู้ด้านการเกษตร                                        



               (ก5) หลักฐานการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ วีดิทัศน์ เครือข่ายทางสังคม เป็นต้น



          (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)



               (ข1) ใบรับรองการผ่านการฝึกอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดโครงการฝึกอบรม การเป็นวิทยากรกระบวนการ การจัดทำแผนการถ่ายทอดความรู้ เป็นต้น



               (ข2) หลักการและวิธีการสำรวจรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสรุปรายงาน



               (ข3) การใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้น วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปจัดทำเอกสารรายงาน



               (ข4) การบันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน



               (ข5) การวางแผนการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร



               (ข6) การเขียนแผนงานโครงการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร



               (ข7) การเขียนบันทึก/รายงานการปฏิบัติงาน



          (ค) คำแนะนำในการประเมิน



               เจ้าหน้าที่สอบตรวจประเมินหลักฐานโดยพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้



          (ง) วิธีการประเมิน



               - สอบข้อเขียน                                                                             



               - การสัมภาษณ์                                                         



               - ผลงานหรือชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว


15. ขอบเขต (Range Statement)

          (ก) คำแนะนำ



               (ก1) สำหรับผู้เข้ารับการประเมินในหน่วยสมรรถนะนี้ จะต้องสามารถ



                      1) ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลได้ครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยสามารถนำไปใช้ในการจัดทำโครงการถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับปัญหา/ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย



                      2) ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ตามที่ระบุในแผนและขั้นตอนการดำเนินงานภายใต้โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง



                      3) สรุปรายงานผลการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักการรายงานผล



               (ก2) สำหรับเจ้าหน้าที่สอบ จะต้องพิจารณาหลักฐานการปฏิบัติงานและหลักฐานความรู้ให้ตรงตามหน่วยสมรรถนะ 



          (ข) คำอธิบายรายละเอียด



               (ข1) หลักการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร



                      การถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น จัดได้ว่าเป็นลักษณะหนึ่งของการสื่อสาร หรืออาจกล่าวได้ว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือทำงาน ที่สำคัญองค์ประกอบหลักของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงเป็นองค์ประกอบ เช่นเดียวกับการสื่อสาร ได้แก่ ผู้ส่ง ผู้รับ เนื้อหา (สาร) และช่องทาง (วิธีการ) โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น จะดำเนินการภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลเป้าหมาย โดยใช้การถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ซึ่งบุคคลเป้าหมายได้รับการถ่ายทอดไปแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ หรือการดำรงชีวิตได้ อย่างแท้จริง กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้



                      1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อตอบสนอง ความต้องการและความจำเป็นเฉพาะของบุคคลเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกร และผู้สนใจ



                      2) องค์ประกอบการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งผู้ส่ง ผู้รับ เนื้อหาและช่องทาง



                      3) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทั้งด้านเนื้อหา องค์ความรู้ ข่าวสารที่จะถ่ายทอดความพร้อมของผู้ส่ง ผู้รับ ตลอดจนช่องทางวิธีการถ่ายทอด ทั้งหมดที่กล่าวมาต้องมีความสอดคล้อง และเหมาะสมต่อสถานการณ์เงื่อนไข ตลอดจน สภาพแวดล้อม และทรัพยากรที่มีอยู่



                      4) เกษตรกรเป้าหมายสามารถนำเทคโนโลยี หรือความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ได้จริงภายใต้เงื่อนไขของเกษตรกรเป้าหมายให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสูด การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเกษตร มิใช่เป็นเพียงการนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่บุคคลเป้าหมายเท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นในด้านการเรียนรู้ (Learning) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเป้าหมายด้านต่าง ๆ         



               (ข2) ทฤษฎีเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดองค์ความรู้



                      1) ทฤษฎีการเรียนรู้



                          การเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในลักษณะที่ค่อนข้างถาวรภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขที่เหมาะสม อันเป็นผลจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพัธ์กับสิ่งแวดล้อม

การเรียนรู้ของคนเราเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ตราบใดที่คนเรายังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งจากประสบการณ์ตรง และประสบการณ์อ้อม และจากการฝึกฝน โดยไม่รวมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากวุฒิภาวะหรือแนวโน้มการตอบสนองของเผ่าพันธุ์ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคลและแต่ละวัย การกำหนดช่วงวัยของมนุษย์เป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะใช้ “ช่วงวัย” เป็น “เกณฑ์” ในการอธิบายการเรียนรู้และพัฒนาการของมนุษย์



                      2) ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่



                          การศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับการปรับตัวของผู้ใหญ่ และทฤษฎีพฤติกรรมที่พัฒนาตามวัยทำให้ได้ข้อสรุปการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ลักษณะหนึ่งคือ การเรียนรู้โดยการนำตนเอง (Self-directed learning) เป็นการเรียนรู้ที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคล และการพัฒนาตนเองที่มีพื้นฐานจากการยึดผู้เรียน และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนเป็นผู้วางแผนการเรียนเอง ดังนั้นการจัดการเรียนรู้และการเรียนการสอนผู้ใหญ่ เน้นการจัดการที่พยายามให้ผู้เรียนเป็นผู้นำตนเอง เนื่องจากข้อสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการผู้ใหญ่ว่า เมื่อคนเรามีวุฒิภาวะมากขึ้น เราจะพัฒนาไปสู้ความเป็นผู้นำตนเองมากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนาขึ้นสูงสุดของมนุษย์ การเรียนรู้โดยการนำตัวเองนี้ มัลคัม โนลส์ กล่าวว่าเป็นกระบวนการที่บุคคลมีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง ในการวินิจฉัยความต้องการในการเรียน กำหนดจุดมุ่งหมายเลือกวิธีการเรียน จนถึงการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นต้องคำนึงผู้เรียน ได้แก่ เกษตรกรเป็นอันดับแรก เกษตรกรส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นช่วงวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการกำหนดรูปแบบวิธีการถ่ายทอด จึงควรใช้ลักษณะของการจัดการเรียนรู้ของผู้ใหญ่โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้



                      3) ทฤษฎีการยอมรับ



                          กระบวนการยอมรับ (Adoption Process) เป็น “ทฤษฎีหรือกระบวนการทางจิตใจของบุคคลซึ่งเริ่มด้วยการเริ่มรู้หรือได้ยินเกี่ยวกับวิทยาการแผนใหม่/นวัตกรรม หรือแนวความคิดใหม่ แล้วไปสิ้นสุดลงด้วยการตัดสินใจยอมรับไปปฏิบัติ” เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และการตัดสินใจ ซึ่งการที่บุคคลจะรับแนวความคิดใหม่ไปปฏิบัติจะผ่านขั้นตอน 5 ขั้นตอน ดังนี้



                          3.1) ขั้นริเริ่มหรือขั้นรับรู้ ขั้นนี้เป็นขั้นแรกที่บุคคลเริ่มรู้เกี่ยวกับเรื่องใหม่ หรือความคิดใหม่ แต่ขาดรายละเอียด คือรู้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว หรือทำได้แล้วแต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับตนเพราะไม่เคยได้ยิน หรือเคยเห็นมาก่อน ขั้นนี้อาจเป็นเกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้กระตุ้น



                          3.2) ขั้นสนใจ เป็นขั้นที่บุคคลจะรู้สึกสนใจในนวัตกรรมนั้นทันทีที่เขาเห็นว่าตรงกับปัญหาที่เขาประสบอยู่ หรือตรงกับความสนใจ และจะเริ่มหาข้อเท็จจริงและข่าวสารมากขึ้น โดยอาจสอบถามจากเพื่อนซึ่งได้เคยทดลองทำมาแล้ว หรือเสาะหาความรู้จากผู้เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมนั้น เพื่อสนองตอบความอยากรู้ของตนเอง ขั้นนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ด้วยการชี้แนะว่า แหล่งข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากหลาย ๆ แหล่งที่น่าเชื่อถือ



                          3.3) ขั้นไตร่ตรอง หรือเมินผล ในขั้นตอนนี้ เกษตรกรผู้รับการส่งเสริมประเมินผลว่าจะยอมรับวิชาเทคโนโลยีหรือไม่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมจำเป็นต้องให้ รายละเอียดในระยะนี้ คือ ข้อมูลที่ช่วยให้เกษตรกรเกิดความ เชื่อมั่นเมื่อยอมรับนวัตกรรมแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเขา อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต มีสินเชื่อและบริการอื่น ๆ จากเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

หรือไม่ อย่างไร



                          3.4) ขั้นลองทำหรือทดสอบ เกษตรกรนำนวัตกรรมไปทดลองใช้หรือทดลองปฏิบัติ ตามคำแนะนำ



                          3.5) ขั้นยอมรับหรือนำไปปฏิบัติ หลังจากที่เกษตรกรนำไปทดลองแล้วได้รับผลตอบแทน อย่างดี เป็นที่พอใจของเกษตรกร จึงนำไปใช้อย่างจริงจังในพื้นที่ของตนเอง โดยปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การยอมรับของเกษตรกรจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่ได้รับ



               (ข3) กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร



                      การเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร



                      นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ในฐานะผู้จัดการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรหรือผู้จัดการเรียนรู้ของเกษตรกร จะต้องมีความเข้าใจถึงกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และวิธีดำเนินการในแต่ละขั้นตอนอย่างเหมาะสม การถ่ายทอดจึงจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้ สำหรับการเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร มีรายละเอียดดังต่อไปนี้



                      1) วิเคราะห์และสรุปความจำเป็นในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นขั้นตอนของการสำรวจและวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชน และความต้องการของเกษตรกร โดยการสำรวจจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น การจัดเวทีชุมชน การออกเยี่ยมเกษตรกรของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร การใช้แผนพัฒนาตำบล หรือแผนพัฒนาการเกษตรประจำตำบล การใช้ข้อมูล กชช 2 ค จปฐ ข้อมูลการจัดทำคลินิกเกษตรและข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น



                          นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้จัดการถ่ายทอดวิเคราะห์และกำหนดความจำเป็นในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร โดยนำปัญหาต่าง ๆ และความต้องการของชุมชนมาตรวจสอบ เปรียบเทียบวิชาการกับกระบวนการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้ทราบว่าปัญหาเกิดขึ้นในขั้นตอนใด เป็นความจำเป็นของเกษตรกรและชุมชนในการเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความรู้ ประสบการณ์ หรือทักษะ และเพื่อจะได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ถูกต้อง



                      2) จัดทำหลักสูตรและวางแผนการถ่ายทอดเทคเทคโนโลยีการเกษตร



                          2.1) นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้จัดการถ่ายทอดร่วมประชุมกับผู้แทนกลุ่มปัญหา และเกษตรกรระดมความคิด เพื่อให้ได้สาระหรือประเด็นที่เป็นส่วนประกอบ หรือองค์ประกอบที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกันเกี่ยวกับหลักสูตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร



                          2.2) นำข้อมูลที่ได้จากการประชุมระดมความคิด มาวางแผนด้วยการจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำลองทุก ๆ อย่างที่ได้ดำเนินการมาให้อยู่ในรูปของสิ่งที่เรียกว่า แผนการเรียนรู้ของเกษตรกร นั่นเอง ซึ่งแผนการเรียนรู้ของเกษตรกรในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแต่ละเรื่อง ต้องมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง ความรู้ ทักษะ และทัศนคติในเรื่องนั้น ๆ โดยเน้นการถ่ายทอดแบบมีส่วนร่วมที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และควรคำนึงถึง



                                 2.2.1) การกำหนดวัตถุประสงค์ของเรื่องที่ถ่ายทอด



                                           - ระบุจุดประสงค์การเรียนรู้



                                           - เขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมการเกษตร



                                           - เขียนในรูปวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม



                                 2.2.2) องค์ประกอบที่ควรจะมีในวัตถุประสงค์หนึ่ง ๆ คือ



                                           - สิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนกระทำได้ ควรจะเขียนในรูปพฤติกรรมที่สามารถวัดผลได้และเป็นรูปธรรม



                                           - เงื่อนไขในการกระทำนั้น เป็นการบอกถึงขีดจำกัด หรือสิ่งที่อาจจะมีอิทธิพลต่อการกระทำที่ต้องการ เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ เวลา และองค์ประกอบอื่นในสภาพการณ์การทำงานจริง



                                           - เกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ บอกถึงเกณฑ์ที่กำหนดในการที่จะยอมรับพฤติกรรมที่ต้องการ



                                           - กำหนดระยะเวลา ระบุกำหนดระยะเวลาที่ต้องการให้กระทำได้



                          การเขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม



                          วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เป็นการกำหนด การเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนที่เข้ารับการถ่ายทอดในด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ การเขียนวัตถุประสงค์ เชิงพฤติกรรมที่ดี จึงควรจะมีความชัดเจน กระชับ และสามารถวัดได้ คำศัพท์ที่ใช้ในการเขียนวัตถุประสงค์ เชิงพฤติกรรม จึงควรจะเป็นคำบรรยายที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมที่ผู้เรียนควรจะมี หรือแสดงมาได้ภายหลังจากรับการถ่ายทอด โดยมีการระบุพฤติกรรมที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงให้ชัดเจนและเจาะจงมากที่สุด



                          การกำหนดเนื้อหาของเรื่องที่ถ่ายทอด



                          การพิจารณาและเลือกเนื้อหานั้นสามารถที่จะแยกพิจารณาความจำเป็นของเนื้อหาได้เป็น 3 ลักษณะ คือ เนื้อหาที่ต้องรู้ เนื้อหาที่ควรรู้ เนื้อหาที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ โดยเนื้อหาควรมีสถานะดังนี้



                                 - เนื้อหาจะต้องตอบสนองวัตถุประสงค์และความจำเป็นที่ได้กำหนดไว้แล้ว



                                 - เนื้อหาจะต้องสอดคล้องกับสภาพจริง



                                 - เนื้อหาจะต้องมีความถูกต้องและทันสมัย



                          การจัดลำดับเนื้อหาของเรื่องที่ถ่ายทอด



                                 - เริ่มต้นจากสิ่งที่รู้แล้ว และดำเนินไปยังสิ่งที่ไม่รู้ การปฏิบัติดังนี้ ผู้เรียนจะสามารถโยงสิ่งที่รู้มาแล้วกับความรู้ใหม่ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่รู้ใหม่ได้มากขึ้น



                                 - เริ่มจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม หรือสิ่งที่เป็นหลักการทั่วไป ไปสู่สิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์เฉพาะ



                                 - เริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยากในเรื่องที่เป็นแนวคิดและเทคนิคทั้งหลาย ควรจะใช้หลักเกณฑ์ ข้อนี้คือ เริ่มต้นจากสิ่งธรรมดา เรียบ และง่ายก่อน



                          การกำหนดบุคคลเป้าหมาย



                                 - ให้ชุมชนหรือผู้ประกอบอาชีพนั้นเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้



                                 - เกษตรกรที่จะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้จะต้องทำข้อตกลงร่วมในการเรียนรู้ร่วมกัน



                                 - กำหนดจำนวนเกษตรกรให้เหมาะสมในการถ่ายทอดแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 25–30 คน



                          การกำหนดแหล่งวิทยากร



                                 - วิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาระประเด็นเนื้อหาที่จะถ่ายทอด



                                 - นักวิชาการสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร



                                 - ปราชญ์ชาวบ้าน เอกชน



                                 - วิทยากรจากสถาบันการศึกษา



                                 - นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบ



                          หลักการเขียนโครงการฝึกอบรม



                          การเขียนโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร มักประกอบด้วยรายละเอียดตามหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้



                          1) ชื่อโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร



                              - ควรกำหนดชื่อโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรให้ชัดเจน สะดุดตา น่าสนใจ และให้ผู้อ่านเห็นว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับเนื้อหา



                          2) หลักการและเหตุผล หรือความจำเป็นในการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือความเป็นมาของโครงการ



                              - ระบุความเป็นมา ปัญหา และความจำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีมักเป็นเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบัน และอนาคต



                              - หาเหตุผล หลักการ และทฤษฎีมาสนับสนุนโครงการ ให้ผู้พิจารณาเห็นความจำเป็นและความสำคัญของโครงการ



                              - บางครั้งจำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลเก่า หรือข้อมูลเดิมที่มีอยู่ เพื่อความน่าเชื่อถือ



                          3) วัตถุประสงค์



                              - ระบุภาพรวมความมุ่งหวังของโครงการฝึกอบรมที่จะให้เกิดขึ้นอย่างกว้าง ๆ เป็นข้อ ๆ โดยมุ่งพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะและทัศนคติ



                              - ระบุพฤติกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนรู้ที่เข้ารับการถ่ายทอด



                              - มีความสอดคล้องและตรงกับความจำเป็นในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และมีความเป็นไปได้



                              - สามารถวัดได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ



                          4) บุคลคลเป้าหมาย



                              - ระบุให้ชัดเจนว่าผู้เข้ารับการถ่ายทอดคือใคร



                              - จำนวนเท่าไหร่



                              - มีคุณสมบัติอย่างไร



                              - มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเป็นอย่างไร



                          5) หลักสูตรการถ่ายทอด



                              - ระบุหัวข้อการถ่ายทอด พร้อมระยะเวลาที่ใช้เป็นรายวิชา



                              - บอกเทคนิคและวิธีการเรียนรู้ที่จะใช้ในการถ่ายทอดตลอดหลักสูตร



                              - กำหนดสื่อ โสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการถ่ายทอดตลอดหลักสูตร



                          6) ระยะเวลาการถ่ายทอด



                              - ระบุจำนวนวันที่ต้องใช้ในการถ่ายทอด



                              - กำหนดช่วงเวลา (วัน/เดือน/ปี) ที่จะดำเนินการถ่ายทอด



                          7) สถานที่ดำเนินการ



                              - ระบุสถานที่ใช้ในการถ่ายทอดให้ชัดเจน



                              - กำหนดสถานที่พักสำหรับผู้เข้ารับการถ่ายทอดและวิทยากร กรณีต้องพักค้างและอยู่ต่างสถานที่



                              - พิจารณาเลือกสถานที่ ควรจะต้องสอดคล้องกับวงเงินงบประมาณ และระเบียบการเบิกจ่าย



                          8) งบประมาณ



                              - กำหนดวงเงินงบประมาณรวมที่จำเป็นจะต้องใช้จ่ายในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบอกรายการค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอด แยกตามหมวดเงิน



                          9) วุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตร



                              - ระบุเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของการมอบวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรให้ชัดเจน



                              - จะต้องมีเวลาในการเรียนรู้ไม่น้อยกว่าร้อยละเท่าไรของเวลาทั้งหมด



                              - ได้รับคะแนนร้อยละเท่าไรจากการวัดผล



                          10) การประเมินผล



                              - ระบุวิธีการในการประเมินผลว่าใช้วิธีการใด เช่น การสังเกต การตรวจงาน การสอบ การสอบถามโดยใช้แบบสอบถาม เป็นต้น



                              - จะประเมินเมื่อไร ก่อนการถ่ายทอด ระหว่างการถ่ายทอด หรือหลังการถ่ายทอดเสร็จสิ้น



                              - มีการติดตามผลหรือไม่ ถ้ามีระบุช่วงเวลาที่จะทำ และวิธีการที่ใช้



                          11) ผลที่คาดว่าจะได้รับ



                              - ระบุว่าเมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง โดยทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการว่าตั้งวัตถุประสงค์ไว้อย่างไร จากนั้นเขียนผลที่คาดว่าจะได้รับให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้



                              - ให้ระบุทั้งผลทางตรง และทางอ้อม ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม



                              - จะต้องเป็นผลต่อเนื่องที่ต้องการตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ ซึ่งโยงใยไปถึงการประเมินผลโครงการด้วยว่า บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่



                          12) ผู้รับผิดชอบโครงการ



                              - ระบุรายชื่อพร้อมหน่วยงานสังกัดและสถานที่ติดต่อของผู้รับผิดชอบ



                              - ระบุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและให้ความร่วมมือ



                              - ระบุทีมงาน ที่ปรึกษา หรือผู้สนับสนุน



               (ข4) การดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร



                      การดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ



                          ขั้นตอนที่ 1 ขั้นก่อนดำเนินการถ่ายทอด มีกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ การเขียนโครงการถ่ายทอด การจัดทำกำหนดการ การเสนอโครงการขออนุมัติ และการประสานงานในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น สถานที่ วิทยากร โสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น



                          ขั้นตอนที่ 2 ขั้นระหว่างดำเนินการถ่ายทอด โดยเริ่มดำเนินการถ่ายทอดตามตารางที่กำหนด ทั้งนี้ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการตามแผนการเรียนรู้ตลอดช่วงเวลาการถ่ายทอด แม้จะมีการเชิญวิทยากรอื่นมาสอนให้ความรู้ก็ตาม



                          ขั้นตอนที่ 3 ขั้นหลังเสร็จสิ้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อสิ้นสุดการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ยังมีกิจกรรมที่จะต้องจัดทำอีก ดังนี้



                                1) การขอบคุณ ทำหนังสือขอบคุณบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้



                                     - วิทยากร



                                     - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



                                     - หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี



                                2) การรายงานเสนอฝ่ายบริหาร รายงานสรุปผลการถ่ายทอด โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้



                                     - บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพียงใด



                                     - จำนวนผู้เรียนที่เข้ารับการถ่ายทอดเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร



                                     - งบประมาณที่ใช้จ่ายจริงในการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยี



                                     - ผลของกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละหัวข้อวิชาในการถ่ายทอดเทคโนโลยี



                                     - ผลการประเมิน



                                     - ปัญหา อุปสรรค ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี



                                     - ข้อเสนอแนะ



                                3) การรวบรวมเอกสารจัดพิมพ์เป็นเล่ม หากการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นมีเอกสารมากและมีคุณค่า ควรรวบรวมจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มไว้ แล้วแจกไปยังผู้เกี่ยวข้อง



                                4) การจัดการเรื่องงบประมาณ นำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ มาดำเนินการตามระเบียบ พร้อมส่งหักใช้เงินยืม และคืนคลังในส่วนที่เหลือ



                      การติดตามประเมินผลการถ่ายทอด



                          การติดตามประเมินผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เป็นการตรวจสอบว่า เกษตรกรผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จหรือประสิทธิภาพของการถ่ายทอด



               (ข5) รูปแบบการถ่ายทอดความรู้



                      รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ โดยการยึดจากจำนวนผู้รับการถ่ายทอดความรู้หรือบุคคลเป้าหมายเป็นหลัก (Based on Cliente) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะเป็นรูปแบบหรือวิธีการที่เข้าถึงเกษตรกรหรือบุคคลเป้าหมายโดยตรง สามารถจำแนกรูปแบบโดยใช้จำนวนผู้รับการถ่ายทอดความรู้เป็นเกณฑ์ออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้



                      1) แบบรายบุคคล (Individual or Personal Approach)



                          วิธีการถ่ายทอดความรู้แบบรายบุคคล เป็นวิธีที่สามารถเข้าถึงตัวเกษตรกร หรือบุคคลเป้าหมายได้โดยตรง เนื่องจากการเรียนรู้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการถ่ายทอดได้มีโอกาสรับฟังความรู้ คำแนะนำและข่าวสารใหม่ ๆ จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริม หรือผู้ถ่ายทอดโดยตรง ทำให้บุคคลเป้าหมายเกิดความเข้าใจเป็นอย่างดี ทำให้มีความเชื่อมั่น และสนใจที่จะรับเอาความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ส่งเสริมก็มีโอกาสที่จะได้ทำความรู้จัก และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร พร้อมทั้งได้รับทราบสภาพความเป็นอยู่ของผู้รับการถ่ายทอดมากขึ้น การถ่ายทอดความรู้แบบรายบุคคล มีช่องทางในการถ่ายทอดได้หลายช่องทาง เช่น การไปเยี่ยมเยียนถึงไร่นา ถึงสวน ถึงบ้าน เกษตรกรมาติดต่อที่สำนักงาน การติดต่อทางโทรศัพท์ ทางจดหมาย และการติดต่อแบบไม่เป็นทางการ หรือโดยบังเอิญ เป็นต้น



                      2) แบบกลุ่ม (Group Approach)



                          วิธีการถ่ายทอดความรู้แบบกลุ่ม เป็นวิธีที่สามารถถ่ายทอดและติดต่อกับบุคคลเป้าหมายหรือผู้รับการถ่ายทอดได้ครั้งละมาก ๆ และให้ผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของบุคคลเป้าหมาย จากขั้นสนใจ (Interest) ไปสู่ขั้นทดลองทำดู (Trial) และหากการเรียนรู้เป็นที่พอใจของกลุ่มแล้ว บุคคลเป้าหมายส่วนใหญ่ในกลุ่มก็มีโอกาสที่จะก้าวไปสู่ขั้นตอนการยอมรับ (Adoption) แต่ทั้งนี้การถ่ายทอดความรู้แบบกลุ่ม จะต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างดีดำเนินการอย่างเป็นระบบ และดำเนินการไปตามแผนฯ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งการถ่ายทอดความรู้แบบกลุ่ม สามารถดำเนินการได้หลายวิธี คือ การประชุมกลุ่ม การฝึกอบรม การสาธิต การศึกษาดูงานนอกสถานที่ การอภิปราย การบรรยาย การประกวด และการพบปะในกลุ่ม เป็นต้น



                      3) แบบมวลชน (Mass Approach)



                          การถ่ายทอดความรู้แบบมวลชน เป็นวิธีการถ่ายทอดที่เข้าถึงเกษตรกร หรือบุคคลเป้าหมายได้เป็นจำนวนมาก ๆ โดยการใช้สื่อมวลชน (Mass Media) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การถ่ายทอดความรู้ และการเผยแพร่วิทยาการใหม่ ๆ หรือข่าวสารความรู้ใหม่ ๆ (Innovation) ไปสู่กลุ่มบุคคลเป้าหมายหรือมวลชน ได้รับทราบกันอย่างกว้างขวาง และมีโอกาสที่จะศึกษาหารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปได้ แต่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมหรือผู้ถ่ายทอด จะไม่สามารถทราบจำนวนผู้รับการถ่ายทอด และผลของการถ่ายทอดได้ ซึ่งในกระบวนการยอมรับ (Adoption) ของบุคคลเป้าหมายหรือผู้รับการถ่ายทอด ยังมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านการถ่ายทอดความรู้ หรือการติดต่อสื่อสาร แบบรายบุคคล (Personal Contact) โดยตรงอย่างใกล้ชิดจึงจะทำให้การยอมรับเกิดขึ้นได้ การถ่ายทอดความรู้แบบมวลชนสามารถดำเนินการได้ในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น โปสเตอร์เอกสารเผยแพร่ หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สไลด์ และการจัดนิทรรศการ เป็นต้น


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

          18.1 ข้อสอบข้อเขียนปรนัย 4 ตัวเลือก                                                       



          18.2 แบบประเมินผลการสัมภาษณ์



          18.3แบบประเมินผลงานหรือชิ้นงานที่ทำสำเร็จแล้ว



ยินดีต้อนรับ