หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-AGE-4-122ZA

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด

3. ทบทวนครั้งที่ N/A / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)


          อาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านระบบการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
          หน่วยสมรรถนะนี้เกี่ยวข้องกับการดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด โดยผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ถึงข้อดีข้อเสียของการปลูกพืชแซม พืชคลุมและพืชร่วม ประเภทของปุ๋ยยางพาราก่อนเปิดกรีดยางพารา ชนิดวัชพืช และประเภทและวิธีการป้องกันกำจัดวัชพืช ลักษณะอาการ สาเหตุโรคและวิธีการป้องกันกำจัดโรคยางพารา และวิธีตัดแต่งกิ่งยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด  และมีทักษะได้แก่  สามารถระบุ เลือกชนิดของพืชแซมยางพารา พืชคลุม และพืชร่วมยางพาราก่อนเปิดกรีดรวมถึงสามารถเลือกอุปกรณ์ในการปลูกพืชแซม พืชคลุม และพืชร่วมยางพาราได้อย่างถูกต้อง สามารถระบุสูตรปุ๋ย วิธีการใสปุ๋ย คำนวณปริมาณในการใส่ปุ๋ย กำหนดและเลือกอุปกรณ์ในการใส่ปุ๋ยตลอดจนสามารถปฏิบัติใส่ปุ๋ยยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกต้อง สามารถกำหนด เลือกและเตรียมอุปกรณ์ทีใช้ในการกำจัดวัชพืช การป้องกันกำจัดโรค และการตัดแต่งกิ่งได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง สามารถปฏิบัติงานการกำจัดวัชพืช การป้องกันกำจัดโรค และตัดแต่งกิ่งยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกต้อง

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
          เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกยางพารา

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
          ISCO 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
B221 ปลูกพืชแซมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 1) อธิบายข้อดี/ข้อเสียของพืชแซมยางพาราแต่ละชนิดได้ B221.04 86562
B221 ปลูกพืชแซมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 2) เลือกชนิดของพืชแซมยางพาราได้อย่างเหมาะสม B221.01 86569
B221 ปลูกพืชแซมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 3) เลือกอุปกรณ์ในการปลูกพืชแซมยางพาราได้อย่างเหมาะสม B221.02 86570
B221 ปลูกพืชแซมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 4) ดำเนินการปลูกพืชแซมยางพาราได้อย่างถูกวิธี B221.03 86571
B222 ปลูกพืชคลุมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 1) บอกข้อดี/ข้อเสียของพืชคลุมแต่ละชนิดได้ B222.01 86563
B222 ปลูกพืชคลุมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 2) เลือกชนิดของพืชคลุมได้อย่างถูกต้อง B222.02 86572
B222 ปลูกพืชคลุมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 3) เลือกอุปกรณ์ในการปลูกพืชคลุมได้อย่างเหมาะสม B222.03 86573
B222 ปลูกพืชคลุมในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 4) ดำเนินการปลูกพืชคลุมได้อย่างถูกวิธี B222.04 86574
B223 ปลูกพืชร่วมยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 1) บอกข้อดี/ข้อเสียของพืชคลุมแต่ละชนิดได้ B223.04 86564
B223 ปลูกพืชร่วมยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 2) เลือกชนิดของพืชร่วมได้อย่างถูกต้อง B223.01 86575
B223 ปลูกพืชร่วมยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 3) เลือกอุปกรณ์ในการปลูกพืชร่วมได้อย่างเหมาะสม B223.02 86576
B223 ปลูกพืชร่วมยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 4) ดำเนินการปลูกพืชร่วมได้อย่างถูกวิธี B223.03 86577
B224 ใส่ปุ๋ยยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด 1) อธิบายประเภทของปุ๋ยที่ใช้ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B224.01 86565
B224 ใส่ปุ๋ยยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด 2) ระบุสูตรปุ๋ยหรือเกรดปุ๋ยที่ใช้ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B224.02 86578
B224 ใส่ปุ๋ยยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด 3) ระบุวิธีการใส่ปุ๋ยที่ใช้ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B224.03 86579
B224 ใส่ปุ๋ยยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด 4) คำนวณปริมาณในการใส่ปุ๋ยที่ใช้ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B224.04 86580
B224 ใส่ปุ๋ยยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด 5) เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการใส่ปุ๋ยยางพาราได้อย่างถูกต้อง B224.05 86581
B224 ใส่ปุ๋ยยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด 6) ดำเนินการใส่ปุ๋ยยางพาราได้อย่างถูกวิธี B224.06 86582
B225 กำจัดวัชพืชในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 1) อธิบายชนิดของวัชพืชในสวนยางพาราได้ B225.05 86566
B225 กำจัดวัชพืชในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 2) อธิบายวิธีการป้องกันกำจัดวัชพืชได้ B225.01 86583
B225 กำจัดวัชพืชในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 3) อธิบายประเภทและวิธีกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดในสวนยางพาราก่อนเปิดกรีดได้ B225.02 86584
B225 กำจัดวัชพืชในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 4) เลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชในสวนยางพาราก่อนเปิดกรีดได้ B225.03 86585
B225 กำจัดวัชพืชในสวนยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 5) ดำเนินการกำจัดวัชพืชในสวนยางพาราก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกวิธี B225.04 86586
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 1) อธิบายโรคยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B226.01 86567
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 2) อธิบายเชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแต่ละโรคในยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B226.02 86587
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 3) อธิบายอาการของโรคแต่ละโรคที่เกิดในยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B226.03 86588
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 4) อธิบายการแพร่ระบาดของโรคแต่ละโรคที่เกิดในยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B226.04 86589
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 5) อธิบายวิธีป้องกันกำจัดโรคแต่ละโรคที่เกิดในยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B226.05 86590
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 6) เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแต่ละโรคที่เกิดในยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกต้อง B226.06 86591
B226 ป้องกันและกำจัดโรคของยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 7) ดำเนินการป้องกันโรคแต่ละโรคที่เกิดในยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกวิธี B226.07 86592
B227 ตัดแต่งกิ่งต้นยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 1) อธิบายวิธีตัดแต่งกิ่งยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ B227.04 86568
B227 ตัดแต่งกิ่งต้นยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 2) ระบุข้อควรปฏิบัติในการตัดแต่งกิ่งยางพาราก่อนเปิดกรีดได้ B227.01 86593
B227 ตัดแต่งกิ่งต้นยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 3) เลือกอุปกรณ์ในการตัดแต่งกิ่งยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกต้อง B227.02 86594
B227 ตัดแต่งกิ่งต้นยางพาราช่วงก่อนเปิดกรีด 4) ดำเนินการตัดแต่งกิ่งยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกวิธี B227.03 86595

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
N/A

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ


          1) มีทักษะในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ การทดสอบ และการสรุปผลดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด




          2) มีทักษะในการสังเกตเบื้องต้น แยกความแตกต่าง กำหนด เตรียมดำเนินการ ประเมินแนวทางการปฏิบัติงาน ดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้แก่ปลูกพืชแซม พืชคลุม พืชร่วม ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช กำจัดศัตรูยางพารา และตัดแต่งกิ่งยางพารา




          3) มีทักษะในการสื่อสาร อธิบาย และทำความเข้าใจร่วมกับผู้ร่วมงานหรือผู้รับปฏิบัติตามแผนงานหรือแผนปฏิบัติการให้เข้าใจและปฏิบัติงานดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีดได้อย่างถูกต้อง




          4) มีทักษะในการติดต่อประสานงานกับผู้อื่นที่ทำงานหรือต้องรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน

(ข) ความต้องการด้านความรู้


          1) มีความรู้ในการปลูกพืชคลุมดิน พืชแซมและพืชร่วมในสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด




          2) มีความรู้ในการใส่ปุ๋ยยางพารา การกำจัดวัชพืช และการตัดแต่งกิ่งยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด




          3) มีความในการป้องกันและกำจัดศัตรูยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)


          หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ทักษะและความรู้ที่ต้องการ




(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)




          1) หลักฐาน/หนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้




          2) ใบผ่านการฝึกอบรม หรือ ใบรับรองประสบการณ์การทำงาน (ถ้ามี)




(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)




          1) หลักฐานคุณวุฒิการศึกษา




          2) หลักฐานการผ่านการอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ




          3) ผลการสอบข้อเขียน




          4) ผลการทดสอบสัมภาษณ์/ปฏิบัติ




(ค) คำแนะนำในการประเมิน




          1) การประเมินเป็นการใช้แบบสอบข้อเขียน และการสัมภาษณ์เชิงเทคนิคหรือประเมินจากการปฏิบัติงานจริงประกอบกัน โดยต้องผ่านในทุกวิธีการประเมิน




          2) ผู้เข้ารับการประเมินแสดงความจำนงในการขอรับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาอาชีพ และระดับชั้น ที่ประสงค์จะขอรับการประเมิน




          3) ผู้รับการประเมินจะต้องกรอกแบบยื่นคำขอรับการทดสอบสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ระบุข้อมูลประวัติของผู้รับการประเมิน และยื่นเอกสารประกอบการยื่นขอรับการทดสอบสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพผ่านช่องทางที่กำหนด




(ง) วิธีการประเมิน




          1) การสอบข้อเขียน




          2) การสอบสัมภาษณ์




          3) การสอบปฏิบัติ


15. ขอบเขต (Range Statement)


          ขอบเขต (Range Statement) อธิบายถึงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยสมรรถนะนี้ระบุองค์ประกอบ ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทั่วไปให้มีความเหมาะสม โดยต้องดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน แผนการดำเนินงาน และนโยบายของเจ้าของสวนยางและผู้ประกอบการการดูแลสวนยางพาราในช่วงก่อนเปิดกรีด ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง




          1) การปลูกพืชคลุมดินในสวนยางพารา เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินซึ่งได้จากการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และจากการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุมเป็นอินทรีย์วัตถุ เป็นผลทำให้การทำสวนยางสามารถได้รับผลผลิตเร็วขึ้นกว่าปกติ เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง เพราะพืชคลุมดินตระกูลถั่วมีประโยชน์มากมายหลายด้าน คือ ช่วยป้องกันการชะล้างและการพังทะลายของดิน ควบคุมวัชพืช และจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้เป็นอย่างมาก




          2) ชนิดของพืชคลุมดินตระกูลถั่วที่ใช้ปลูกในสวนยางที่สำคัญมี 4 ชนิดคือ




          - คาโลโปโกเนียม (Calopogonium mucunoides) เป็นพืชคลุมที่เจริญเติบโตได้รวดเร็ว สามารถคลุมพื้นที่ทั้งหมดภายหลังปลูกภายใน 2-3 เดือน แต่จะตายภายใน 18-24 เดือน มีเมล็ดเล็ก แบน สีน้ำตาลอ่อนเกือบเหลือง มีเมล็ดประมาณ 65,000 เมล็ด/กิโลกรัม




          - เพอราเรีย (Pueraria phaseoloides) เป็นพืชคลุมที่เจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว สามารถคลุมพื้นที่ทั้งหมดหลังปลูกภายใน 5-6 เดือน คลุมดินได้ดีเมื่ออายุเกิน 2 ปี ควบคุมวัชพืชได้ดีกว่าพืชคลุมอื่น อยู่ภายใต้ร่มเงาได้ดี ใบใหญ่หนา เมล็ดเล็กค่อนข้างกลม ยาว สีน้ำตาลแก่ มีเมล็ดประมาณ 76,000 เมล็ด/กิโลกรัม




          - เซนโตรซีมา (Centrosema pubescens) เป็นพืชคลุมที่เจริญเติบโตช้าแต่หนาทึบ และอยู่ได้นาน ขึ้นได้ดีภายใต้ร่มเงา ใบเล็ก เมล็ดเล็ก แบน มีลาย และมีเมล็ดประมาณ 40,000 เมล็ด/กิโลกรัม




          - ซีรูเลียม (Calopogonium caeruleum) เป็นพืชคลุมดินที่เจริญเติบโตในระยะแรกช้า สามารถคลุมพื้นที่ได้หนาแน่นภายใน 4-6 เดือน ทนทานต่อร่มเงาได้ดี ไม่ตายในหน้าแล้ง ใบสีเขียวเข้มค่อนข้างหนาและเป็นมัน แผ่นใบมีขน เมล็ดมีสีเขียวอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันวาว มีเมล็ดประมาณ 26,200 เมล็ด/กิโลกรัม




          เนื่องจากพืชคลุมแต่ละชนิดมีการเจริญเติบโตและสมบัติที่ดีแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อให้การปลูกพืชคลุมดินมีประสิทธิภาพ คลุมพื้นที่ดินได้รวดเร็ว ทนต่อสภาพร่มเงา และความแห้งแล้ง และมีปริมาณเศษซากที่จะสลายตัวให้ธาตุอาหารในดินได้มาก จึงควรผสมเมล็ดพืชคลุมหลายชนิดเข้าด้วยกัน




          3) การเตรียมเมล็ดพืชคลุมเพื่อนำไปปลูก เมล็ดพืชคลุมที่ใช้ปลูกควรมีความงอกร้อยละ 80 ขึ้นไป เนื่องจากเมล็ดพืชคลุมมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง ทำให้น้ำซึมผ่านเข้าไปในเมล็ดยาก เมื่อนำไปปลูกเมล็ดจะงอกน้อย จึงควรกระตุ้นให้เมล็ดงอกดีขึ้นโดยปฏิบัติ ดังนี้




          - แช่ในน้ำอุ่น ใช้ปฏิบัติกับเมล็ดพืชคลุมคาโลโปโกเนียม เซนโตรซีมา และเพราเรีย นำไปแช่ในน้ำอุ่น (น้ำเดือด : น้ำเย็น อัตรา 2:1) นาน 2 ชั่วโมง นำเมล็ดไปผึ่งให้แห้งหมาดๆ แล้วนำไปคลุกกับหินฟอสเฟต เพื่อนำไปปลูกต่อไป เมล็ดพืชคลุมที่เตรียมไว้แล้วควรปลูกให้หมดในแต่ละครั้ง การเก็บไว้นานเกินไปจะทำให้ความงอกลดลง




          - แช่ในน้ำกรด ใช้ปฏิบัติกับเมล็ดซีรูเลียม โดยแช่ในกรดกำมะถัน (กรดซัลฟิวริกเข้มข้น) นาน 10 นาที นำไปล้างน้ำแล้วผึ่งให้แห้ง




          4) การดูแลรักษาพืชคลุมดิน การได้ปฏิบัติดูแลรักษาพืชคลุมดินอย่างเหมาะสม พืชคลุมดินก็จะเจริญเติบโตได้หนาแน่นคลุมพื้นที่และควบคุมวัชพืชได้เร็วขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการทำสวนยางได้อย่างมีประสิทธิภาพยาวนานและคุ้มค่า เพราะฉะนั้นจะต้องดูแลรักษาพืชคลุมดินอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ดังนี้




          4.1 การควบคุมและกำจัดวัชพืช วัชพืชนับเป็นปัญหาสำคัญของการปฏิบัติดูแลรักษาพืชคลุมดิน เพราะการกำจัดวัชพืชหลังจากพืชคลุมดินงอกแล้วเป็นวิธีที่ปฏิบัติค่อนข้างลำบาก ซึ่งสามารถทำได้โดยการขุด ถอน ถาก หรือใช้รถแทรกเตอร์ลากขอนไม้หรือลูกกลิ้งทับลงไปบนพืชคลุมดินเพื่อให้หญ้าคาล้มลง ซึ่งจะต้องใช้แรงงานและเวลามาก ดังนั้นวิธีการควบคุมหรือกำจัดวัชพืชของพืชคลุมดินที่ดีที่สุดคือ ควรกระทำก่อนปลูกพืชคลุมดินลงไป โดยทำการไถพรวนดิน




          4.2 การใส่ปุ๋ยพืชคลุมดิน การใส่ปุ๋ยให้กับพืชคลุมดินนับเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ เพราะจะช่วยให้พืชคลุมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แข็งแรง เพิ่มปริมาณเศษซากพืชคลุม และยังช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนกลับคืนสู่ดินในปริมาณที่คุ้มค่าต่อการลงทุนอีกด้วย




ปุ๋ยหินฟอสเฟต (0-3-0, 25% โดยปริมาณ) นับเป็นอาหารหลักที่สำคัญของพืชคลุมดิน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยให้กับพืชคลุมดินปฏิบัติดังนี้

















 อายุพืชคลุมดิน



อัตราปุ๋ย (กก./ไร่)



วิธีการใส่ปุ๋ย



ก่อนปลูก 2 เดือน 5 เดือน ต่อไปปีละครั้ง



1.5 เท่าของน้ำหนักเมล็ด 15 30 30



คลุกกับเมล็ดพืชคลุม หว่านในแถวพืชคลุม หว่านในแถวพืชคลุม หว่านในบริเวณพืชคลุม




           4.3 การป้องกันกำจัดโรคและแมลง โรคที่ระบาดกับเพอราเรียและคาโลโปโกเนียมอย่างรุนแรง คือ โรคที่เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani ซึ่งระบาดมากในช่วงที่อากาศมีความชื้นมาก ๆ ขณะที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน โดยเชื้อราจะเข้าทำลายใบและลำต้น ทำให้ใบและลำต้นแห้งตายเป็นหย่อมๆ แต่เมื่อสภาพอากาศไม่อำนวยเชื้อราก็จะหยุดทำลายไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัด




          ส่วนแมลงศัตรูที่สำคัญของพืชคลุมดินในสวนยางพารามีหลายชนิด ศัตรูประเภททำลายใบ ฝัก และลำต้น ได้แก่ หนอนผีเสื้อ ด้วงปีกแข็ง ทาก และหอยทาก ส่วนศัตรูประเภททำลายกัดกินราก ได้แก่ ไส้เดือนฝอย หนอนทราย เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้พืชคลุมดินชะงักการเจริญเติบโตได้




          4.4 การควบคุมพืชคลุมดิน เนื่องจากพืชคลุมดินมีการเจริญเติบโตแบบเลื้อยพัน ดังนั้นจึงต้องคอยหมั่นดูแลมิให้พืชคลุมเลื้อยไปพันต้นยางในขณะที่ยังเล็กอยู่ โดยต้องคอยควบคุมการเลื้อยพันของพืชคลุมดินไม่ให้ไปถึงต้นยางได้




          4.5 การป้องกันไฟไหม้สวน เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งใบของพืชคลุมดินบางส่วนร่วงหล่นแห้งตาย ซึ่งส่วนของพืชคลุมดินที่แห้งตายนี้จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี อาจทำให้เกิดไฟไหม้สวนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อถึงฤดูแล้งควรหาทางป้องกันไฟไหม้โดยการทำแนวกันไฟกว้าง 8 เมตรโดยรอบสวนเพื่อตัดไฟที่อาจลุกลามมาจากภายนอกสวน ส่วนภายในสวนควรทำการไถเปิดร่องตรงกลางระหว่างแถวยางหรือขุดหลุมเป็นระยะ ๆ แล้วกวาดเศษซากพืชลงในร่องหรือหลุมนั้น




          5) ประโยชน์ของการปลูกพืชคลุมดิน




          5.1 ช่วยควบคุมหรือขัดขวางการเจริญเติบโตของวัชพืช ทำให้ลดเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชภายในสวนยางลงได้




          5.2 ป้องกันการชะล้างหน้าดินและลดการพังทลายของหน้าดิน




          5.3 ช่วยลดอุณหภูมิในดินและช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดิน




          5.4 ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ลำต้นและใบของพืชคลุมดินจะเปลี่ยนเป็นอินทรียวัตถุ ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น




          5.5 ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน จากความสามารถในการตรึงไนโตรเจนของบักเตรีไรโซเบียมในปมรากและเศษซากพืชคลุม




          5.6 ลดการเกิดโรครากของต้นยาง และมีผลช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของต้นยาง ทำให้ลดระยะเวลายางอ่อนและสามารถเปิดกรีดได้เร็วขึ้น




          6) การปลูกพืชแซมยาง คือพืชที่ปลูกเพื่อให้ผลผลิตพร้อม ๆกับยาง ซึ่งจะเป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงา มีดังนี้ 6.1 พืชร่วมยางที่สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของยาง เมื่อต้นยางมีอายุ 3 ปีขึ้นไป เช่น ขิง ข่า ขมิ้น ผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรบางชนิด โดยปลูกระหว่างแถว ห่างแถวยาง 1.5 เมตร




          6.2 พืชร่วมยางที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยาง เมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งมีแสงรำไรเพียงพอและมีฝนตกชุก จะเหมาะสมต่อการปลูกไม้ดอกสกุลหน้าวัว ไม้ดอกวงศ์ขิง เช่น ขิงแดง ดาหลา หงส์เหิน กระเจียวพังงา กระเจียวส้ม และบัว ไม้ดอกสกุลเฮลิโกเนีย และไม้ประดับบางชนิด โดยปลูกระหว่างแถวยาง ห่างแถวยาง 1.5-1.7 เมตร




          6.3 พืชร่วมยางที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้แก่ พืชสกุลระกำ เช่น ระกำหวาน สละเนินวง สละหม้อ หวายตะค้าทอง กระวาน โดยปลูกกึ่งกลางแถวยาง สำหรับหวายตะค้าทองอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสวนยาง แนะนำให้ปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ก่อนการโค่นยาง




          6.4 การปลูกไม้ป่าในสวนยาง มีไม้ป่าบางชนิดที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางขนาดใหญ่ โดยปลูกผสมผสานกึ่งกลางระหว่างแถวยางและทดแทนการปลูกซ่อมต้นยาง เช่น ในสวนยางทางภาคใต้ ได้แก่ กระถินเทพา กระถินณรงค์ สะเดาเทียม ทัง พะยอม มะฮอกกานี เคี่ยม ตะเคียนทอง ยางนา ยมหินและตำเสา ในสวนยางทางภาคตะวันออก ได้แก่ กระถินเทพา กระถินณรงค์ สะเดาไทย ยมหอม ตะเคียนทอง ยมหิน ยางนำแดง และประดู่ป่า และในสวนยางทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กระถินเทพา กระถินณรงค์ สะเดาไทย ยางนา ตะเคียนทอง ยมหิน พะยูง สาธร และประดู่ป่า




          7) การปลูกพืชแซมยางที่น่าสนใจ




          7.1 สับปะรดบริโภคผลสด




          ข้อพิจารณา เป็นพืชอายุข้ามปีให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 13-16 เดือน ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศแห้งแล้ง มีศัตรูพืชน้อย แต่พันธุ์ปัตตาเวียจะอ่อนแอต่อโรคเหี่ยว เป็นพืชไม่ชอบสภาพน้ำขัง สามารถให้ผลผลิต 2-3 รุ่น สับปะรดเพื่อบริโภคผลสดมีตลาดค่อนข้างดี ผลผลิตสามารถแปรรูปได้




          วิธีการปลูก การปลูกสับปะรดแซมยาง นิยมปลูกแบบแถวเดี่ยว โดยปลูกห่างจากแถวยาง 1 เมตร ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 60-80 เซนติเมตร ระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร จำนวนต้น 4,300-7,600 ต้นต่อไร่ การดูแล ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อต้น 2 ครั้ง ในกาบใบล่าง เมื่ออายุ 1 - 3 เดือน และ ครั้งต่อไปห่างจากครั้งแรก 2 - 3 เดือน พ่นสารกำจัดวัชพืชประมาณ 2 ครั้ง ช่วงอายุ 1 - 3 เดือน และ 4 -6 เดือน บังคับดอกเมื่ออายุ 12 เดือน ด้วยสารเอทธิฟอน ผสมปุ๋ยยูเรีย และ น้ำ 20 ลิตร หยอดยอดสับปะรด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 - 7 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อต้น ในกาบใบหลังบังคับดอก 3 เดือน และแกะจุกผลเมื่อผลอายุ 3 เดือน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตรวม 6.6- 11.8 ตันต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 16,200 บาทต่อไร่ รายได้ 65,500- 77,300 บาทต่อไร่




          7.2 ถั่วลิสง




          ข้อพิจารณา เป็นพืชไร่อายุสั้นประมาณ 3 เดือน ขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วน ต้องการน้ำฝน ในช่วงออกดอกและแทงเข็ม ผลผลิตใช้บริโภคฝักสด และแปรรูป และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ได้เนื่องจากปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร




          วิธีการปลูก พันธุ์ถั่วลิสงที่นิยมปลูก เช่น สข.38 กาฬสินธุ์ 2 ไทนาน 9 ขอนแก่น 5 ขอนแก่น 60-2 ขอนแก่น 84-8 การปลูกใช้เมล็ดทั้งเปลือกประมาณ 18-20 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างต้น 20 เซนติเมตรการให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่หรือสูตร 16-16-8 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบหลังถั่วลิสงงอก 10-15 วัน หว่านปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือโรยยิปซัมบนต้นถั่วลิสงในช่วงออกดอกอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยให้การติดฝักดีขึ้น




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตฝักสดประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อทำเป็นฝักแห้งจะได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ต้นทุนประมาณ 5,200 บาทต่อไร่ รายได้ 10,000-12,500 บาทต่อไร่




          7.3 ถั่วหรั่ง




          ข้อพิจารณา เป็นพืชไร่อายุ4-6 เดือน ดูแลรักษาง่าย ขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนและร่วนปนทราย ผลผลิตนิยมต้มรับประทาน ปัจจุบันผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ เนื่องจากปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร




          วิธีการปลูก พันธุ์ถั่วหรั่งที่นิยมปลูก คือ พันธุ์สงขลา 1 ปรับปรุงพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน สั้นกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่มีอายุ150-180 วัน การปลูกใช้อัตราเมล็ดพันธุ์แห้งทั้งเปลือกประมาณ 7 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกต้นฤดูฝน ใช้ระยะปลูกระหว่างหลุม 60 เซนติเมตร จำนวน 2 ต้นต่อหลุม หลังจากงอก 21 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านระหว่างแถวแล้วพูนโคนกลบ ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ย 160-200 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ รายได้ 8,000-12,000 บาทต่อไร




          7.4 มันขี้หนู




          ข้อพิจารณา เป็นพืชไร่อายุประมาณ 5 เดือน มีลักษณะหัวมันขนาดนิ้วมือ ยาว 2–3เซนติเมตร เรียวหัวท้าย เปลือกบาง ผิวเปลือกสีหม่นหรือดำ ขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วน มีศัตรูพืชน้อย ผลผลิตนิยมใช้ทำแกง และเป็นมันต้ม ปัจจุบันยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นหัวพันธุ์ได้เนื่องจากปัจจุบันหัวพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร




          วิธีการปลูก การปลูกมันขี้หนูทำได้ง่าย โดยพรวนดินให้ร่วมซุย แล้วใช้จอบขุดหลุมตื้นๆ ระยะระหว่างหลุม 60 เซนติเมตร ปลูก 3 – 4 หัวต่อหลุม กลบดินให้แน่น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 400 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ130–150 วัน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิต 800-1,300 กิโลกรัมต่อไร่ต้นทุนประมาณ 15,000 บาทต่อไร่รายได้ 24,000-39,000 บาทต่อไร




          7.5 กล้วยหอมทอง




          ข้อพิจารณา เป็นพืชที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการมาก โดยเฉพาะกล้วยหอมที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เป็นพืชที่มีศัตรูพืชน้อย ดูแลรักษาง่าย ให้ผลผลิตต่อเนื่อง เหมาะกับดินหลายชนิด หากต้องการผลิตเพื่อการส่งออกต้องประสานงานกับตัวแทนผู้ส่งออกก่อนทำการผลิตตามเงื่อนไขที่กำหนด




          วิธีการปลูก การคัดเลือกหน่อพันธุ์ปลูก ควรเป็นหน่อใบแคบหรือหน่อดาบเป็นหน่ออ่อนที่มีใบอยู่ประมาณ 3-4 ใบ ระยะปลูก ใช้ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวเท่ากัน คือ 2 หรือ 3 เมตร หลังปลูกถ้าเป็นหน่อใบแคบหลังจากปลูกแล้วไม่จ าเป็นต้องตัดใบทิ้ง แต่ถ้าเป็นหน่อที่เคยปาดเฉียงมาก่อนควรจะมีการปาดเฉียงลำต้นใหม่เพื่อที่กล้วยจะได้แตกใบใหม่ที่แข็งแรงขึ้น ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ตัดใบกล้วยให้เหลือใบไว้กับต้น 10-20 ใบต่อต้น ประมาณ 10 เดือนหลังปลูกกล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา เก็บเกี่ยวได้หลังจากตัดปลีประมาณ 90-110 วัน การตัดหน่อกล้วยสำหรับเลี้ยงไว้ในปีต่อไป ควรเป็นหน่อใต้ดิน ลำต้นอวบอยู่ห่างจากโคนต้นแม่ประมาณ 10 นิ้ว เหลือไว้ประมาณ 1-2 หน่อ ที่อยู่ตรงข้ามกัน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิต 2,000-3,600 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุน 10,000-15,000 บาทต่อไร่ รายได้ 20,000-36,000 บาทต่อไร่




          7.6 มะละกอ




          ข้อพิจารณา เป็นพืชที่จำหน่ายได้ทั้งผลดิบและผลสุก เก็บผลผลิตขายได้หลายรุ่น มีตลาดค่อนข้างดีเป็นพืชที่ผู้บริโภคนิยมบริโภคเนื่องจากมีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เหมาะกับการปลูกในสภาพสวนยางที่ไม่มีน้ำขัง




          วิธีการปลูก พันธุ์ที่น่าสนใจ ได้แก่ พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ พันธุ์แขกดำท่าพระ พันธุ์ฮาวาย พันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นต้น การปลูก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร การดูแล ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในหลุมปลูก เมื่อมะละกออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อต้นโรยรอบ ๆ โคน




          ในระยะออกดอกใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-8 อัตรา 2-3 ขีดต่อต้น ในระยะผลเริ่มแก่ก่อนสุกประมาณ 2-3 อาทิตย์และปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 3 ขีดต่อต้น เก็บเกี่ยวผลดิบได้เมื่อมะละกออายุได้ 4-5 เดือน และผลสุกเมื่ออายุ 7-10 เดือน




ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตประมาณ 6-8 ตันต่อไร่ ขึ้นกับสายพันธุ์ ต้นทุน 15,000-20,000 บาทต่อไร่ รายได้60,000-80,000 บาทต่อไร่ต่อปี




          7.7 กระชาย




          ข้อพิจารณา เป็นพืชสมุนไพรที่มีอายุเก็บเกี่ยว 7-12 เดือน ขึ้นได้ดีในที่ดินร่วนหรือร่วนทราย เหมาะกับสภาพสวนยางที่มีร่มเล็กน้อย หากสามารถให้น้ำได้จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ข้อดีของกระชายคือสามารถยืดอายุการเก็บเกี่ยวได้




          วิธีการปลูก พันธุ์กระชายมีอยู่ 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายเหลือง(กระชายแกง) และกระชายแดง การเตรียมดินปลูก ไถดินตากประมาณ 7 วัน พรวนดิน และไถยกร่อง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1-2 ตันต่อไร่ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 10-15 เซนติเมตรและระหว่างแถว 20 เซนติเมตร ใช้หัวเหง้ากระชายลงปลูกในหลุม 1 เหง้าต่อหลุมกลบดิน คลุมด้วยฟางข้าวให้ทั่วทั้งแปลงและรดน้ำ การใส่ปุ๋ย แบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือ เมื่อกระชายอายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อรากเริ่มสะสมอาหารอายุประมาณ 3-4 เดือนควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ กระชายต้องการน้ำในระยะก่อนแตกหน่อและระยะรากสะสมอาหารควรพิจารณาให้น้ำอยู่เสมอ เก็บเกี่ยวเมื่อกระชายอายุได้7-12 เดือน สังเกตที่ใบจะมีสีเหลือง ลำต้นจะมีสีเหลืองและแห้งยุบลงมา




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตประมาณ 3-4 ตันต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ รายได้ประมาณ 45,000-60,000 บาท




          7.8 ขิง




          ข้อพิจารณา เป็นพืชสมุนไพรชอบอากาศชื้น มีร่มเงาเล็กน้อย มีอายุประมาณ 4-12 เดือน ดินควรเป็นดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสูงพอสมควร การระบายน้ำดี สามารถยืดอายุเก็บเกี่ยวได้เป็นขิงอ่อนและขิงแก่ แต่มีความเสี่ยงด้านโรคพืช




          วิธีการปลูก พันธุ์ขิงไทย แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ ขิงเล็ก ขิงเผ็ด หรือขิงดำ และอีกพวกคือขิงใหญ่ ขิงหยวก หรือขิงขาว การเตรียมดินปลูกขิงควรยกร่องสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร เป็นรูปสามเหลี่ยม ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 50-70 เซนติเมตร ก่อนปลูกควรใส่ปูนขาวประมาณ 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกใช้ระยะ 20-25 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ยเมื่ออายุขิงได้2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีโดยใช้สูตร 15-15-15 และ เมื่ออายุ 4 เดือนใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ การเก็บเกี่ยว เป็นขิงอ่อน เมื่ออายุประมาณ 4-6 เดือน ขิงแก่มีอายุประมาณ 8-12 เดือน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิต 2-4 ตันต่อไร่ ต้นทุน 9,000-15,000 บาทต่อไร่ รายได้20,000-40,000 บาทต่อไร่




          7.9 ข่า




          ข้อพิจารณา เป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย สามารถยืดอายุเก็บเกี่ยวได้ มีอายุประมาณ 6-12 เดือน




          วิธีการปลูก พันธุ์เป็นพันธุ์พื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น เช่น พันธุ์ข่าเหลือง พันธุ์ข่าหยวก ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้าหรือแยกกอปลูก การเตรียมดิน ไถดินตากประมาณ 7-10 วันพรวนดินหรือย่อยดินแล้วขุดหลุม กว้าง x ยาว x ลึกประมาณ 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหลุมละ 1 กิโลกรัมคลุกเคล้าให้เข้ากับดินใช้ระยะปลูกคือระหว่างต้น 100 เซนติเมตรระหว่างแถว 100 เซนติเมตร การปลูกใช้แง่งข่าที่ชำไว้งอกดีแล้ว 2-3 แง่งหรือหน่อแยกมาจากกอแม่ 2-3 หน่อลงปลูกในหลุมลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ใช้ดินกลบฟางข้าวคลุมรดน้ำให้ชุ่มเช้า-เย็นจนกว่าข่าจะเจริญเติบโตดีใส่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่และควรใส่ปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัมต่อกอ ปีละ 2 ครั้ง เก็บเกี่ยวได้เมื่อข่าอายุได้6-12 เดือน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตประมาณ 2 ตันต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 20,000 บาทต่อไร่ รายได้ 50,000 บาทต่อไร่




          7.10 อ้อยคั้นน้ำ




          ข้อพิจารณา เป็นพืชอายุข้ามปี ปลูกครั้งเดียวตัดได้หลายรุ่น ดูแลรักษาง่าย ทนแล้ง ศัตรูพืชมีน้อย สามารถขายเป็นลำได้ ขายเป็นท่อนพันธุ์ และหีบเป็นน้ำอ้อยได้ ราคาดี โดยเฉพาะช่วงในฤดูร้อนและช่วงถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม




          วิธีการปลูก พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่พันธุ์สุพรรณบุรี 50 ลำมีขนาดใหญ่สีเขียวอมเหลือง แตกกอ 5-6 ลำต่อกอ ไว้ตอได้ 3-4 ครั้ง ทนทานต่อโรคลำต้นเน่าแดง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อย 4,600-5,200 ลิตรต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกทั้งในสภาพที่ดอนและที่ลุ่ม พันธุ์สิงคโปร์ ลำมีสีเหลืองเข้ม แตกกอ 3-4 ลำต่อกอ ไว้ตอได้น้อยกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 อ่อนแอต่อโรคลำต้นเน่าแดง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อย 2,100-2,800 ลิตรต่อไร่ การปลูกใช้ระยะระหว่างหลุม 1 เมตร ให้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 หรือ 15-15-15 หรือ 13-13-21 ครั้งแรกเมื่ออายุ 1 เดือน อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บเกี่ยวอ้อยที่อายุประมาณ 8 เดือน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตประมาณ 10-12 ตันต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 6,000 บาทต่อไร่ รายได้ประมาณ 30,000-48,000 บาทต่อไร่ต่อรุ่น




          7.11 การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในสวนยาง




          ข้อพิจารณา หญ้าเป็นพืชที่ดูแลง่าย ขึ้นได้ดีในพื้นที่ทุกประเภท เหมาะกับชาวสวนที่มีแรงงานน้อย ปัจจุบันตลาดหญ้ามีการขยายตัวดีในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม โคชน และเขตใกล้สวนสัตว์




          วิธีการปลูก หญ้าอาหารสัตว์ในสวนยาง จะปลูกในช่วงอายุยาง 1-4 ปี โดยเริ่มปลูกภายหลังจากต้นยางมีอายุตั้งแต่ 3-4 เดือนขึ้นไป(หรือต้นยางตั้งต้นได้) แต่ไม่เกิน 4-5 ปี หญ้ากินนีสีม่วงเป็นหญ้าที่มีโภชนาการด้านอาหารสัตว์สูง โตเร็ว มีความน่ากิน สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพร่มเงา และเป็นที่ต้องการของตลาด การปลูกโดยวิธีการหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ อัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าปลูกด้วยต้นกล้า จะต้องเพาะต้นกล้าอายุประมาณ 30-45วัน ปลูกโดยใช้ระยะระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร ปลูก 3-5 ต้นต่อหลุม ซึ่งจะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยวิธีการหว่านเมล็ด การตัดหญ้าครั้งแรกหลังจากปลูก 60-90 วัน และครั้งต่อไปทุก ๆ 20 วันในฤดูฝน และ 25-30 วันช่วงในฤดู แล้ง โดยตัดให้สูงจากระดับพื้นดิน 5-10 เซนติเมตร การดูแลใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากตัดหญ้าแล้ว 1 สัปดาห์ โดยแบ่งใส่ 3-4 ครั้งต่อปี




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 2-4 ตันต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ รายได้ 5,000-10,000 บาทต่อไร่




          7.12 เผือก




          ข้อพิจารณา เผือกเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยว อายุ 5-6 เดือน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือร่วนทราย ทนต่อสภาพดินชื้น ผลผลิตสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน แต่จะมีศัตรูพืชระบาดพอสมควร




          วิธีการปลูก พันธุ์เผือกจะจำแนกตามกลิ่นของหัวมีสองประเภท คือ เผือกหอมและไม่หอม  การจำแนกตามสีของเนื้อเผือก คือเผือกเนื้อสีขาวหรือสีครีม และเผือกเนื้อสีขาวปนม่วง พันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น พันธุ์พิจิตรจะมีอยู่หลายเบอร์ พันธุ์เชียงใหม่ พันธุ์ศรีปาลาวีเป็นต้น การเตรียมดินปลูกเผือก ควรหว่านปูนขาว อัตรา 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก การปลูกใช้หน่อเผือกที่แตกใบ 1-2 ใบ ระยะระหว่างต้น 60 เซนติเมตร ระหว่างแถว 30-40 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 1 รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1-3 ก ามือต่อต้น และปุ๋ย 18-6-6 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ครั้งที่ 2 อายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ย 18-6-6 หรือ 15-15-15 หรือ 46-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ครั้งที่ 3 อายุ 4 เดือน ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บเกี่ยวเมื่อเผือกมีอายุได้อายุ 5-6 เดือน โดยสังเกตเห็นใบเผือกจะเล็กลง ใบล่างๆจะมีสีเหลือง เหลือใบยอด 2-3 ใบ จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตเฉลี่ย 4-6 ตันต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 35,000 บาท รายได้ประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อไร่




          7.13 มันเทศ




          ข้อพิจารณา เป็นพืชขึ้นได้ดีในสภาพใช้น้ำฝน ดินเป็นดินร่วน หรือร่วนทราย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน ศัตรูพืชมีน้อย ใช้แรงงานน้อย นอกจากให้ผลผลิตหัวแล้ว ใบและเถาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้




          วิธีการปลูก พันธุ์มันเทศแบ่งตามสีของหัวมีทั้งชนิดเนื้อสีขาว สีส้ม และเนื้อสีม่วง มันเทศที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์พิจิตรจะมีอยู่หลายเบอร์ และพันธุ์พื้นเมือง การเตรียมดินต้องยกแปลงปลูกมันเทศให้สูงขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง 45-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 100 เซนติเมตร การปลูกมันเทศบนสันร่อง 1 ต้นต่อหลุม ใช้ระยะปลูก ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร การดูแล ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่ออายุได้ 1 เดือน การตลบเถามันเทศจะช่วยให้มีการลงหัวดีขึ้น การเก็บเกี่ยวมันเทศเมื่ออายุได้ 90-150 วัน ขึ้นกับสายพันธุ์ หลังจากการปลูก




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตประมาณ 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 5,000 บาทต่อไร่ รายได้15,000 บาทต่อไร




          8) คำแนะนำการปลูกพืชร่วมยางบางชนิดที่น่าสนใจ




          8.1 ผักเหลียง




          ข้อพิจารณา ขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกสภาพ ปลูกครั้งเดียวสามรถเก็บยอดอ่อนได้หลายปี ดูแลรักษาง่าย ศัตรูพืชมีน้อย เป็นพืชที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการ และปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง




          วิธีการปลูก การปลูกผักเหลียงในแถวยาง ควรปลูกหลังจากที่ต้นยางอายุ 4 ปี ไปแล้ว โดยปลูกห่างจากต้นยางอย่างน้อย 2.5 เมตร ปลูกได้ 2 แถว ระยะระหว่างต้น 2.5–3 เมตร ระยะระหว่างแถว 2–2.5 เมตร ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต 1 ขีดต่อหลุม การดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย 2 ครั้งในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ยปุ๋ยคอก 2 กิโลกรัมต่อต้นต่อครั้ง และปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ในอัตรา 2 ขีดต่อต้นต่อครั้ง การเก็บเกี่ยว เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อต้นผักเหลียงมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เก็บเกี่ยว 15-30 วันต่อครั้ง เก็บยอดอ่อนถึงยอดเพสลาด ควรเด็ดให้ชิดข้อ ไม่เด็ดกลางข้อหรือตัด เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนในครั้งต่อไปจะช้า




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิต 500-1,100 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 9,000 บาทต่อไร่รายได้ 25,000-54,000 บาทต่อไร่ต่อปี




          8.2 หน้าวัว




          ข้อพิจารณา เป็นพืชที่เหมาะกับการปลูกในสภาพสวนยางอายุประมาณ 10 ปี มีแสงน้อยและมีความชื้นสูง มีอายุการเก็บเกี่ยวได้หลายปี ดอกหน้าวัวเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถจำหน่ายทั้งเป็นไม้ตัดดอก และจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์




          วิธีการปลูก พันธุ์ที่แนะนำการปลูกหน้าวัวในสวนยาง เช่น เปลวเทียนภูเก็ต (สีชมพู) เปลวเทียนลำปาง (สีขาว) หน้าวัวผกามาศ (สีส้ม) และหน้าวัวดวงสมร (สีแดง) วิธีการปลูกใช้ต้นพันธุ์ที่มีใบ 3-4 ใบ และมีราก 2-3 ราก ปลูกในแปลงโดยใช้กาบมะพร้าวสับเป็นวัสดุปลูกหลัก และใช้เศษอิฐหักผสมเพื่อกันต้นล้ม ปลูกแบบแถวคู่ ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ปลูกประมาณ 2,750-3,200 ต้นต่อไร่ โดยปลูกห่างแถวยาง 1.75-2 เมตร การใส่ปุ๋ย ในปีแรกใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 21-21-21 อัตรา 1 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร สลับกับปุ๋ยน้ำ สูตร 11-8-6 อัตรา 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง ในปีต่อ ๆ ไป ยังคงใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 21-21-21 อัตราเท่าเดิม ฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้งและสลับด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-52-17 อัตรา 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเดือนละครั้งเพื่อเร่งดอก ผลผลิตเริ่มออกดอกหลังจากปลูกประมาณ 5-7 เดือน




          ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิตดอก 16,000- 22,000 ดอกต่อไร่ต่อปีต้นทุน 44,400-51,700 บาทต่อไร่ รายได้68,750- 80,000 บาทต่อไร่




          8.3 ดาหลา




          ข้อพิจารณา เป็นพืชที่ขึ้นได้ในสภาพร่มเงา ชอบอากาศชื้น เหมาะที่จะปลูกในระหว่างแถวยางหลังจากปลูกยางไปแล้ว 5 ปีปลูกได้ในดินหลายชนิด มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ อายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน ดอกสามารถจำหน่ายได้ทั้งเป็นไม้ประดับ เป็นอาหาร และลำต้นสามารถนำมาสกัดเป็นเส้นใยได้




          วิธีการปลูก ส่วนขยายพันธุ์ที่ใช้ปลูกดาหลาทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแยกหน่อ และวิธีเพาะเมล็ดการปลูกดาหลา ในระหว่างแถวยางได้ 3 แถว ระยะระหว่างต้นห่างกัน 4 เมตร และให้ห่างจากแถวยาง 2 เมตร ในพื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่ จะปลูกดาหลาได้ 150 ต้น การปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟตจำนวน 1 ขีดต่อหลุม การดูแลรักษาใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 2 ขีดต่อกอ โดยใส่ปีละ 2 ครั้ง และควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ การออกดอกและการให้ผลผลิต ถ้าปลูกด้วยวิธีแยกหน่อหลังจากปลูกได้ประมาณ 1 ปี ดาหลาจะออกดอกและจะออกดอกให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุ 4 ปี ผลผลิตและผลตอบแทน ผลผลิต 40-50 ดอกต่อกอ ต้นทุนประมาณ 3,500 บาทต่อไร่ รายได้ประมาณ 60,000 บาทต่อไร่




          8.4 สละ




          ข้อพิจารณา เป็นไม้ผลที่ขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงา ปลูกได้ในดินหลายประเภท แต่ควรระบายน้ำดีศัตรูพืชน้อย เป็นพืชที่ยังมีเกษตรกรปลูกน้อยเนื่องจากต้องใช้เวลาในการช่วยผสมเกสร ให้ผลผลิตได้ตลอดปีทั้งในรูปผลสด สละลอยแก้ว หรือขายต้น พันธุ์ราคาผลผลิตดี และราคาค่อนข้างคงที่ตลอดปี




          วิธีการปลูก ปลูกระหว่างแถวยางแบบแถวเดียว ระยะระหว่างต้น 5-6 เมตร ปลูก 2-3 ต้นต่อกอ ปฏิทินการดูแลรักษา คือ เดือน ม.ค. ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 15 กิโลกรัมต่อกอ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 3 ขีดต่อกอ ก.พ. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 2 กิโลกรัมต่อกอ และใส่ยิบซั่ม 2 กิโลกรัมต่อกอ มี.ค. ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 5 ขีดต่อกอ เม.ย. ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 5 ขีดต่อกอ พ.ค. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 2 กิโลกรัมต่อกอ มิ.ย. ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 5 ขีดต่อกอ ก.ค. ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 15 กิโลกรัมต่อกอ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 3 ขีดต่อกอ ส.ค. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 2 กิโลกรัมต่อกอ และ ใส่ยิบซั่ม 2 กิโลกรัมต่อกอ ก.ย. ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 5 ขีดต่อกอ ต.ค. ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 5 ขีดต่อกอ พ.ย. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 2 กิโลกรัมต่อกอ ธ.ค. ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 5 ขีดต่อกอ และ 3-4 เดือน ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ฉีดพ่นผลด้วยแคลเซียมโบรอน และติดป้ายวันผสมเกสรเพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวที่ได้ผลผลิตมีคุณภาพ


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)


          1) ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน




          2) ประเมินโดยการสัมภาษณ์ตามแบบทดสอบที่กำหนดไว้




          3) ประเมินโดยการสอบปฏิบัติ




          4) ประเมินจากหลักฐานอื่น ๆ เช่น หนังสือรับรอง เอกสารรับรองการผ่านการอบรม หนังสือรับรองการทำงาน/ผ่านงาน โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการสัมภาษณ์



ยินดีต้อนรับ