หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

วางแผนในการสร้างงานตามแผนงานที่กำหนด

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-ZZZ-4-029ZA

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ วางแผนในการสร้างงานตามแผนงานที่กำหนด

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

    อาชีพนักจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์ 



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
    ผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ มีความสามารถเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงาน ความเหมาะสมของจำนวนคนทำงานในแต่ละส่วน สามารถวิเคราะห์คุณสมบัติและกำหนดผู้รับผิดชอบงาน โครงสร้าง งานสาธารณูปโภค และงานพรรณไม้ได้ 

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
    6162 นักภูมิสถาปัตย์

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
02221 กำหนดผู้รับผิดชอบงานโครงสร้างงานระบบสาธารณูปโภคและ งานพรรณไม้ 1.1 ระบุคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบงานโครงสร้าง 02221.01 79634
02221 กำหนดผู้รับผิดชอบงานโครงสร้างงานระบบสาธารณูปโภคและ งานพรรณไม้ 1.2 ระบุคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบงานระบบสาธารณูปโภค 02221.02 79635
02221 กำหนดผู้รับผิดชอบงานโครงสร้างงานระบบสาธารณูปโภคและ งานพรรณไม้ 1.3 ระบุคุณสมบัติของผู้รับผิดชอบงานพรรณไม้ 02221.03 79636
02222 วางแผนงาน รายละเอียดของระยะเวลาการทำงาน 2.1 กำหนดระยะเวลาการทำงานโครงสร้าง 02222.01 79637
02222 วางแผนงาน รายละเอียดของระยะเวลาการทำงาน 2.2 กำหนดระยะเวลาการทำงานระบบสาธารณูปโภค 02222.02 79638
02222 วางแผนงาน รายละเอียดของระยะเวลาการทำงาน 2.3 กำหนดระยะเวลางานพรรณไม้ 02222.03 79639
02222 วางแผนงาน รายละเอียดของระยะเวลาการทำงาน 2.4 จัดทำแผนระยะเวลาการทำงาน 02222.04 79640

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

    ไม่ระบุ


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

    สามารถเข้าใจถึงรูปแบบและรายการ สามารถกำหนดผู้รับผิดชอบงาน สามารถแก้ปัญหาหน้างานได้

(ข) ความต้องการด้านความรู้

    1. งานโครงสร้าง

    2. งานระบบสาธารณูปโภค เช่น งานปรับระดับบริเวณระบบการวางผังเดินท่อระบบท่อระบายน้ำระบบปั๊มน้ำเป็นต้น

    3. งานพรรณไม้ เช่น การปลูกและบำรุงรักษาพรรณไม้การเตรียมพื้นที่ปลูกการปลูกการดูแลบำรุงรักษาการจำแนกลักษณะตามพรรณไม้การดูแลบำรุงรักษาสนามหญ้าการให้ปุ๋ยการป้องกันกำจัดศัตรูพืชการปรับปรุงสวน เป็นต้น

    4. องค์ประกอบอื่นๆ เช่น รั้ว ทางเท้า เก้าอี้สนาม ฯลฯ


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

    (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

        1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

        2. แบบบันทึกรายการผลจากการสังเกต

    (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

        1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

        2. เอกสารรับรองผลจากการเรียนหรือผลการอบรม หรือ

        3. ใบบันทึกผลการสอบข้อเขียนหรือแนวคำถามที่ใช้ประเมิน

    (ค) คำแนะนำในการประเมิน

        ผู้ประเมินตรวจประเมินเกี่ยวกับความเข้าใจในรูปแบบและรายการ ทักษะ และความเข้าใจในการปฏิบัติงานจริงและการแก้ปัญหาในการสร้างงานได้ โดยพิจารณาจากหลักฐานการปฏิบัติงาน หลักฐานจากแบบทดสอบข้อเขียน


15. ขอบเขต (Range Statement)

    การจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์ในสมรรถนะนี้ ครอบคลุมตรวจสอบผลงาน ในสายงานด้านพรรณไม้ ด้านโครงสร้างตกแต่ง และด้านระบบสาธารณูปโภค

    (ก) คำแนะนำ 

        1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบและรายการ

        2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีทักษะความสามารถในการกำหนดผู้รับผิดชอบ

        3. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้และเข้าใจในปัญหาของงานและสามารถแก้ปัญหาได้

    (ข) คำอธิบายรายละเอียด

        ข1 งานโครงสร้าง

        งานด้านโครงสร้างนี้จะเริ่มตั้งแต่ การทำโครงสร้างของฐานราก ประกอบด้วย การลงเสาเข็ม และการหล่อ ตอม่อ เพื่อรองรับโครงสร้างของเสา และคานที่จะต้องทำอย่างต่อเป็นขั้นตอน หลังจากนั้น ก็จะเป็นงานโครงสร้างของพื้นและบันได ซึ่งจะต้องเชื่อมต่อกับเสาและคานที่ทำไว้แล้ว ต่อจากนั้นคือการทำพื้นซึ่งต้องเริ่มจากชั้นล่างไปหาชั้นบนเพื่อความสะดวกในการทำงานและลำเลียงวัสดุ หลังจากนั้นก็จะเป็นโครงหลังคาซึ่งเป็นงานโครงสร้างส่วนสุดท้าย

        ข2 งานระบบสาธารณูปโภค

            ข2.1 งานปรับระดับบริเวณ

            บริเวณที่จะทำการก่อสร้าง จะต้องทำการถางป่า ตัดโคนพุ่มไม้ ขุดตอ รากไม้ ไม้เบญจพรรณ วัชพืช และวัสดุอื่นที่ไม่พึงประสงค์ 

            ข2.2 ระบบการวางผังเดินท่อ

            จำนวนโซนที่แบ่งได้จะเป็นแนวทางในการวางผังเดินท่อ ปกติท่อประธานจะถูกวางอยู่ระหว่างกลางของทุกโซน แล้วต่อท่อรองประธานออกไปพร้อมกับติดตั้งประตูน้ำคุมโซนไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดปิด ให้น้ำ ท่อประธานควรจะอยู่ในแนวตรงและสั้นที่สุด ส่วนท่อแขนงที่นำน้ำไปสู่พืชนั้นจะต้องถูกวางให้ตามแนวระดับของพื้นที่ ไม่ควรวางไปตามแนวลาดเอียงของพื้นที่ เพราะอาจจะทำให้ความดันของน้ำในท่อมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ต้นพืชได้รับน้ำไม่เท่ากัน 

        สำหรับท่อที่ใช้ในการให้น้ำนั้น ปัจจุบันนิยมใช้ท่อ พีวีซี และท่อพีอี ซึ่งแต่ละชนิดต่างก็มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้งานดังนี้

        ท่อพีวีซี มีราคาต่ำ หาซื้อง่าย น้ำหนักเบา เชื่อมต่อได้ง่ายโดยใช้กาวและข้อต่อเกลียว    โดยสามารถต่อเชื่อมกับท่อชนิดอื่นได้ด้วย นอกจากนี้ยังไม่เป็นสนิม และทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี แต่มีข้อเสียที่แตกหักง่าย ถ้ามีน้ำหนักมากๆ กดทับ ท่อพีวีซี ผลิตขึ้นมายาวท่อละ 4 เมตร และมี 3 ระดับชั้น  ความดัน (หรือสามารถทนความดันได้) คือ ชั้น 5 , 8.5 , และ 13.5 เมกาพาสคัล (1 เมกาพาสคัล มีค่าเท่ากับ 10 ม.) มีขนาด 1/2 นิ้ว – 16 นิ้ว (18 – 600 ม.ม.) โดยปกติชนิดสีฟ้าเท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับระบบให้น้ำ เพราะท่อสีอื่นมีความบางกว่า ทำให้ไม่สามารถทนความดันน้ำได้สูง

        ข้อต่อพีวีซี ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของท่อ เพราะท่อที่ผลิตจะมีความยาวที่เหมาะสมแก่การขนส่ง เช่น 4 ม. ดังนั้น เมื่อจะต่อท่อให้เป็นท่อยาวๆ จึงต้องอาศัยข้อต่อมายึดเข้าด้วยกัน ข้อต่อดังกล่าวทีหลายแบบ เช่น สามตา หรือสามทาง สี่ทาง ข้องอ ข้อลด ข้อเพิ่ม ฝาอุดปลายท่อ

        ท่อพีอี เป็นท่อสีดำที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตร โดยมีราคาถูกกว่าท่อ พีวีซี การตัดต่อทำได้ง่าย มีน้ำหนักเบา และสามารถขดเป็นม้วนได้ ทำให้สะดวกในการขนส่ง และเคลื่อนย้าย ตลอดจนการวางท่อ นอกจากนี้ยังผลิตให้มีความยาวถึง 50 หรือ 100 เมตร ทำให้จำนวนข้อต่อที่ใช้ลดลง และการรั่วที่เกิดจากข้อต่อก็จะลดลงตาม ข้อดีของท่อ พีอี คือมีความยืดหยุ่นตัวสูงกว่า สามารถรับน้ำหนัก กดทับได้ โดยไม่แตกหัก นอกจากนั้นผิวภายในท่อยังเรียบทำให้การเสียพลังงานเนื่องจากความฝืดมีค่าต่ำ ขนาดของท่อพีอีทีตั้งแต่ขนาด 16 ม.ม. ถึง 400 ม.ม. โดยมีชั้นความดัน 5 ชั้น ได้แก่ 2.5 , 4 , 6.3 , 10 และ 16 บาร์

        เนื่องจากมาตรฐานการผลิตท่อพีอีแตกต่างกัน ข้อต่อพีอี จึงมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้ท่อในระบบให้น้ำ จึงต้องพิจารณาเลือกใช้ท่อที่ทีข้อต่อที่สามารถต่อท่อทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันได้ด้วย ความแตกต่างของข้อต่อเพียง 0.5 หรือ 1 ม.ม. สามารถทำให้น้ำรั่วได้ เพราะในท่อมีความดัน ดังนั้นในการเลือกใช้ท่อจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อต่อพิเศษ ซึ่งราคาอาจจะสูง หรือหากจะเปลี่ยนท่อใหม่ก็จะหาข้อต่อ ได้ยาก

        การเลือกใช้ขนาดและชนิดของท่อนั้น บางครั้งก็อาจจะมีการติดตั้งใช้งานท่อทั้งสองชนิดร่วมกัน เช่น ท่อเมนซึ่งเป็นท่อที่มีความดันตลอดเวลาเป็นท่อพีวีซี ท่อแขนงเป็นท่อพีอีซึ่งมีความดันก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำ อย่างไรก็ตามก็ควรคำนึงความสะดวกในการหาซื้อท่อชนิดนั้นๆ และการซ่อมแซมในภายหลัง

        นอกจากข้อต่อแล้ว การเดินท่อยังต้องอาศัย อุปกรณ์ควบคุมต้นทาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่อจากท่อส่งของเครื่องสูบน้ำ ซึ่งช่วยให้การทำงานของระบบให้น้ำเป็นไปด้วยดี อุปกรณ์เหล่านี้ประกอบด้วย

        วาล์วกันกลับ เป็นวาล์วที่จะปล่อยให้น้ำไหลไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่มีการย้อนหลัง โดยทั่วไปมี 2 แบบคือ แบบสปริงและแบบบานเหวี่ยง ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำในท่อไหลย้อนกลับเมื่อหยุดเครื่องสูบน้ำ

        ประตูน้ำ ใช้เปิดและปิดในขณะเริ่มและหยุดใช้งานเครื่องสูบน้ำ เพื่อลดการเกิดกระแทกของน้ำ ซึ่งจะทำความเสียหายแก่ท่อและอุปกรณ์ต่างๆ

        กรอง ทำหน้าที่ดักสิ่งปลอมปนไม่ให้เข้าไปในระบบน้ำ จนเกิดอุดตันที่หัวฉีดฝอยหรือกีดขวางทางเดินของน้ำ

        มาตรวัดน้ำ นอกจากจะใช้ในการบอกปริมาณน้ำที่ให้แต่ละครั้งและยังเป็นตัวบ่งชี้ได้ในกรณีมีท่อรั่วหรือแตกในที่ลับตา

        มาตรวัดแรงดัน ใช้เป็นตัวชี้ว่าแรงดันที่ส่งน้ำออกไปสู่ระบบตรงกับที่คำนวณไว้หรือไม่ กรองอยู่ในสภาพปกติหรือจะต้องทำความสะอาด

        วาล์วไล่ลม เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ระบายอากาศที่อยู่ในท่อก่อนจะเดินเครื่องสูบน้ำให้ออกไปจากท่อเพื่อให้น้ำสามารถเข้ามาแทนที่ได้เต็ม ปราศจากฟองอากาศ ทำให้น้ำไหลสะดวก

        ลิ้นหัวกะโหลก หรือฟุตวาล์ว เป็นวาล์วกันกลับที่ได้รับการออกแบบมาใช้สำหรับทางด้านดูดของเครื่องสูบน้ำ เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับ และทำให้มีน้ำป้อนทางท่อดูดตลอดเวลา โดยจะติดตั้งอยู่กับส่วนตอนปลายของท่อทางด้านดูดที่จุ่มน้ำอยู่ในน้ำ และมีกรองติดอยู่ด้วย เพื่อป้องกันเศษหญ้าหรือวัตถุแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในระบบน้ำ

        ข2.3 ระบบท่อระบายน้ำ

            1) ระบบท่อระบายน้ำ หมายความถึง ระบบท่อและส่วนประกอบอื่นที่ใช้สำหรับรวบรวมน้ำเสีย จากแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทต่างๆ เช่น อาคารที่พักอาศัย โรงแรม โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เขตพาณิชยกรรม เพื่อนำน้ำเสียเหล่านั้น ไปบำบัดหรือ ระบายทิ้งยังแหล่งรองรับน้ำทิ้งที่ต้องการ โดยส่วนประกอบหลักๆ ของระบบท่อระบายน้ำ ได้แก่

                1.1) ท่อแรงโน้มถ่วง (Gravity Sewer) เป็นท่อรองรับน้ำเสียที่การไหลของน้ำจะเกิดขึ้นตามแรงโน้มถ่วงของโลกเท่านั้น โดยวางท่อ ให้ได้ความลาดเอียงที่เป็นไปตามทิศทางการไหลของน้ำเสียที่ต้องการ ดังนั้นขนาดของท่อชนิดนี้ จะแปรผันตาม ปริมาตรน้ำเสีย ในเส้นท่อและเป็นระบบ การระบายแบบเปิด (Open Drain)

                1.2) ท่อแรงดัน (Pressure Sewer) เป็นท่อที่ส่งน้ำเสียจากที่ต่ำไปยังที่สูงกว่า โดยท่อสามารถรับแรงดัน ของน้ำซึ่งเกิดจาก การสูบน้ำของเครื่องสูบน้ำสวนกับ แรงโน้มถ่วงของโลกได้ดังนั้นท่อแรงดันจึงเป็นระบบการระบายแบบปิด (Close Drain)

                1.3) ท่อดักน้ำเสีย (Interceptor) เป็นท่อที่วางเชื่อมต่อ ณ จุดสุดท้ายของท่อระบายน้ำฝนรวมกับน้ำเสียใน

                1.4) ระบบท่อรวม ทำหน้าที่ใน การดักน้ำเสียไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ธรรมชาติ โดยรวบรวมน้ำเสียเหล่านั้นเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป ซึ่งท่อดักน้ำเสียนี้ มีทั้งที่ใช้เป็นท่อแรงโน้มถ่วงและท่อแรงดัน ซึ่งจะขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศเป็นสำคัญ

        ข2.4 องค์ประกอบของระบบท่อระบาย

            ระบบระบายน้ำ โดยทั่วไปจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ใช้ระบายน้ำฝนและหรือน้ำเสียจากบ้านเรือน อาคารต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ก่อนที่จะระบายเข้าระบบรวบรวมน้ำเสียต่อไป ประกอบด้วย ท่อแรง โน้มถ่วงและบ่อตรวจระบาย

            ระบบรวบรวมน้ำเสีย ประกอบด้วย ท่อแรงโน้มถ่วง ท่อแรงดัน ท่อดักน้ำเสีย บ่อตรวจระบาย อาคารดักน้ำเสียพร้อมตะแกรงดักขยะ และสถานีสูบ/ยกน้ำเสียพร้อมตะแกรงดักขยะ

            1) ประเภทของท่อระบายน้ำ (Sewer)

                1.1) ท่อระบายน้ำ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ ระบบท่อแยก (Separate System) และระบบท่อรวม (Combined System) โดยแต่ละระบบมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

                    1.1.1) ระบบท่อแยก เป็นระบบระบายน้ำที่แยกระหว่างท่อระบายน้ำฝน (Storm Sewer) ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำฝนเพียงอย่างเดียวแล้วระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ในบริเวณใกล้เคียงที่สุดโดยตรง และท่อระบายน้ำเสีย (Sanitary Sewer) ซึ่งทำหน้าที่ในการรองรับน้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม เพื่อส่งต่อไปยัง ระบบบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า น้ำฝนและน้ำเสีย จะไม่มีการไหลปะปนกัน โดยระบบท่อแยกนี้มีข้อดีคือ

                        (1) การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียมีขนาดเล็กกว่าระบบท่อรวม เนื่องจากจะมีการรวบรวมเฉพาะน้ำเสียเข้าระบบบำบัดเท่านั้น 

                        (2) ค่าดำเนินการบำรุงรักษาระบบต่ำกว่าระบบท่อรวม เพราะปริมาณน้ำที่ต้องการสูบและปริมาณสารเคมีที่ต้องใช้มีปริมาณน้อยกว่า

                        (3) ไม่ส่งผลต่อสุขอนามัยของประชาชน ในกรณีที่ฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วม เพราะจะไม่มีส่วนของน้ำเสียปนมากับน้ำฝน และ 

                        (4) ลดปัญหาเรื่องกลิ่นและการกัดกร่อนภายในเส้นท่อในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีการออกแบบให้ความเร็วเฉพาะน้ำเสียให้มีค่าที่ทำให้เกิดการล้างท่อด้วยตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการหมักภายในเส้นท่ออันเป็นสาเหตุของปัญหา แต่การใช้ระบบท่อแยกต้องเสียค่าลงทุนสูงและมีการดำเนินการก่อสร้างที่ยุ่งยาก

                    1.1.2) ระบบท่อรวม น้ำฝนและน้ำเสียจะไหลรวมมาในท่อเดียวกัน จนกระทั่งถึงระบบบำบัดน้ำเสีย หรืออาคารดักน้ำเสีย ซึ่งจะมีท่อดักน้ำเสีย (Interceptor) เพื่อรวบรวมน้ำเสียไปยังระบบบำบัด น้ำเสีย ส่วนน้ำเสียรวมน้ำฝนที่เกิดการเจือจางและมีปริมาณมากเกินความต้องการจะปล่อยให้ไหลล้นฝายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนน้ำที่ไม่ล้นฝายก็จะเข้าสู่ท่อดักน้ำเสียไหลไปยังระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป ระบบท่อรวมมีข้อดี คือ ค่าลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าระบบท่อแยก แต่มีข้อเสียหลายประการด้วยกัน เช่น ต้องใช้ขนาดท่อใหญ่ขึ้น ระบบบำบัดน้ำเสียมีขนาดใหญ่ขึ้นและใช้ค่าลงทุนสูง เนื่องจากน้ำเสียที่เข้าระบบบำบัดมีปริมาณมาก ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษามาก อาจมีปัญหากลิ่นเหม็นในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากความเร็วน้ำ ในท่อจะต่ำมาก และอาจมีผลต่อสุขอนามัยของประชาชนได้กรณีเกิดปัญหาน้ำท่วม

        ข2.5 ระบบปั๊มน้ำ

            เครื่องปั๊มน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งผ่านพลังงานจากแหล่งต้นกำเนิดไปยังของเหลว เพื่อทำให้ของเหลวเคลื่อนที่จาก ตำแหน่งหนึ่งไป ยังอีก ตำแหน่งหนึ่งที่อยู่สูงกว่า หรือในระยะทางที่ไกลออกไป โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องปั๊มน้ำนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งในช่วงเริ่มแรกมีการใช้พลังงาน ที่ได้จากมนุษย์ สัตว์ ต่อมาจึงได้ใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานจากลม และน้ำเป็นแหล่งต้นกำเนิด ซึ่งในช่วงแรกเพียง เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเท่านั้น

            ในปัจจุบันเครื่องปั๊มน้ำจัดเป็นอุปกรณ์เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก เป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยจัดส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร คมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการบำบัดน้ำเสีย เพื่อรักษา สภาวะแวดล้อม ที่ดีให้กับมนุษย์ ซึ่งวิวัฒนาการของเครื่องปั๊มน้ำในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ใช้พลังงานจาก แหล่งธรรมชาติมาเป็น การใช้พลังงานจากไอน้ำ จากเครื่องยนต์ และที่นิยมกันมากคือ การใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน

        ประเภทของปั๊มน้ำ (Type of Pump)

        ปัจจุบันมีการจัดแบ่งประเภทของปั๊มน้ำหลายรูปแบบ และมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้นจึงมี การจัดหมวดหมู่ออกได้เป็น 2 แบบคือ

            1) แยกตามลักษณะการเพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลว หรือการไหลของของเหลว   ในปั๊ม ได้แก่

                1.1) ประเภทปั๊มแรงเหวี่ยง หรือปั๊มหอยโข่ง(Centrifugal) เพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลวโดยอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลาง ปั๊มแบบนี้บางครั้งเรียกว่าแบบ Rota – dynamic

                1.2) ประเภทโรตารี่ (Rotary) เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการหมุนของฟันเฟืองรอบแกนกลาง

                1.3) ประเภทลูกสูบชัก (Reciprocating) เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการอัดโดยตรงในกระบอกสูบ

                1.4) ประเภทพิเศษ (Special) เป็นปั๊มที่มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถจัดอยู่ในทั้งสามประเภทที่กล่าวมา

            2) แยกตามลักษณะการขับดันของเหลวในปั๊ม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

                2.1) ประเภททำงานโดยไม่อาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Dynamic) เป็นปั๊มประเภทอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลางและแบบพิเศษ

                2.2) ประเภททำงานโดยอาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Positive Displacement) คือการเคลื่อนที่ โดยอาศัยชิ้นส่วนของ เครื่องสูบ ปั๊มประเภทนี้จะรวมเอาแบบโรตารี่และแบบลูกสูบชักเข้าอยู่ในกลุ่มด้วย

                นอกจากการแบ่งเป็นสองแบบตามที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจแบ่งปั๊มตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละชนิดด้วยเช่น ปั๊มดับเพลิง ปั๊มลม ปั๊มสุญญากาศ หรือ ปั๊มบาดาล 

        ข2.6 การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำ

            การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำที่ใช้อยู่ตามบ้านและอาคารมีอยู่ 2 แบบ

            1. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่บนดิน

            2. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน

        ทั้ง 2 แบบควรกระทำดังนี้

            1) ควรตั้งระยะดูดไม่ให้เกิน 9 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ระยะท่อดูดน้ำจากปั๊มน้ำถึง ถังเก็บน้ำที่ อยู่บนพื้นดิน ไม่ควรเกิน 9 เมตร หรือสำหรับถังเก็บน้ำที่อยู่ใต้ดิน ควรให้ปลายท่อดูดน้ำจากก้นถังถึง ระดับกึ่งกลาง ของปั๊มน้ำไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน

            2) ควรติดตั้งปั๊มน้ำใกล้บ่อน้ำ ควรให้ระยะความลึกของท่อน้ำจากกึ่งกลางปั๊มน้ำถึงระดับใต้ผิวน้ำในบ่อไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการซ่อมแซมและการระบายน้ำ

            3) ควรยึดเครื่องกับแท่นหรือพื้นที่แข็งแรง เช่น คอนกรีต หรือทำกรอบไม้เพื่อยึดขาปั๊มเพื่อเข้ากับพื้นให้มั่นคงและได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะมีเสียงดังขณะปั๊มทำงาน

            4) การต่อท่อ การต่อท่อที่ดีจะต้องมีข้อต่อให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสูญเสียอัตราการไหลของน้ำ เนื่องจากความเสียดทาน ภายในท่อ ท่อทางด้านสูบควรมีความลาดเอียงไม่เกิน 2 เซนติเมตรทุกความยาวท่อ 1 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำของปั๊มน้ำ มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องระวังอย่าให้เกิดรอยรั่วตามข้อต่อไม่ว่าจะเป็นท่อทางด้านสูบหรือด้านส่ง เพราะจะมีผลต่อ ประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มน้ำ คือถ้าท่อทางด้านสูบก่อนเข้าปั๊มน้ำมีการรั่ว จะทำให้มีอากาศเกิดขึ้นในท่อ และทำให้ ไม่สามารถ สูบน้ำให้ไหลต่อเนื่องและเต็มท่อได้ ส่งผลให้น้ำทางด้านส่งหรือด้านที่ต่อออกจากปั๊มน้ำ ไปถึงก๊อกน้ำ มีอัตราการไหลน้อยกว่าปรกติ และหากยังคงมีอากาศเข้าในระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ปั๊มน้ำไหม้ได้ กรณีที่มีการรั่วท่อ ด้านส่ง หรือท่อที่ต่อไปก๊อกน้ำ จะมีผลให้ปั๊มน้ำทำงานบ่อยครั้ง การรั่วเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงหยดน้ำเล็ก ๆ ก็มีผลทำให้ ความดันในเส้นท่อลดลง และเมื่อลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ สวิตซ์ความดันจะสั่งงาน ให้ปั๊มน้ำทำงาน 

            ดังนั้นเมื่อต่อท่อของ ระบบเสร็จแล้ว ควรมีการทดสอบการรั่วของท่อ โดยอัดน้ำเข้าในเส้นท่อจากนั้น ปล่อยทิ้งไว้ช่วง ระยะเวลา หนึ่ง หากความดันในปั๊มน้ำไม่มีการลดลงก็แสดงว่าระบบท่อไม่มีการรั่ว

            สำหรับการสูบน้ำจากบ่อ การต่อท่อด้านสูบของปั๊มน้ำที่จะต้องจุ่มปลายท่อลงในบ่อน้ำควรใส่ฟุตวาล์ว (Foot Valve) และตัวกรองน้ำ ไว้ที่ปลายท่อสูบด้วย เพื่อกรองเศษใบไม้ เศษหิน เศษดิน ไม่ให้เข้าไปอุดตันในปั๊มน้ำ และฟุตวาล์ว ยังป้องกันน้ำ ในระบบท่อไหลย้อนกลับไปในบ่อน้ำ ขณะที่ปั๊มหยุดทำงาน และฟุตวาล์วควรสูงจากพื้นก้นบ่อ อย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผงหรือตะกอนถูกสูบขึ้นมา

            5) การติดตั้งถังเก็บน้ำ สำหรับบ้านพักอาศัยทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น   ควรติดตั้งถังเก็บน้ำไม่ว่าจะเป็นถังเก็บน้ำ บนดินหรือใต้ดิน ให้ต่อจากมิเตอร์วัดน้ำของการประปา เพื่อสำรองน้ำจาก ท่อประปาไว้ใน ถังเก็บน้ำ ให้มากพอ แล้วจึงต่อ ท่อน้ำส่งเข้าตัวปั๊มน้ำ เมื่อเราใช้น้ำตามจุดต่างๆ พร้อมกันหลายจุด แรงดันในท่อน้ำจะลดลง ปั๊มน้ำก็จะเริ่มทำงานเกิด แรงดัน ให้น้ำไหลได้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นอาคารสูงหลายๆ ชั้น การติดตั้งจะเหมือนแบบตาม บ้านอาศัย แต่จะเพิ่มถังเก็บน้ำอยู่บน ชั้นสูงสุด ของอาคาร แล้วปั๊มน้ำจากระดับพื้นดินสู่ถังเก็บน้ำชั้นบน เพื่อสำรองไว้ใช้ตามจุดใช้น้ำตามแต่ละชั้นของอาคาร

        การใช้งานปั๊มน้ำ

            6) เมื่อติดตั้งปั๊มน้ำและระบบท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนใช้ปั๊มน้ำควรปฏิบัติดังนี้

                6.1) ปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ ปิดอุปกรณ์ใช้น้ำและปิดก๊อกน้ำให้สนิท

                6.2) ถอดจุกเติมน้ำของตัวปั๊มน้ำ

                6.3) เติมน้ำให้เต็มจนมีน้ำล้น

                6.4) ปิดจุกให้แน่น

                6.5) ต่อระบบไฟฟ้า ให้ปั๊มทำงาน

            เมื่อปั๊มน้ำทำงานแล้ว ให้เปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ หรืออุปกรณ์ใช้น้ำทีละน้อย   แต่ถ้าปั๊มน้ำทำงานแล้ว มีน้ำออกน้อยหรือ น้ำไม่ไหล อาจเป็นเพราะว่าครั้งแรกเติมน้ำน้อยเกินไป ให้เติมน้ำใหม่อีกครั้ง

        ข3 งานพรรณไม้

            ข3.1 การปลูกและบำรุงรักษาพรรณไม้  

                1) กำหนดวัตถุประสงค์ที่จะปลูก

        ข้อคำนึงถึงเบื้องต้น

            ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการปลูกเป็นดินเหนียวจัด ควรเอาน้ำรดให้ชุ่มเสียก่อนเพื่อให้ขุดง่ายเบาแรงขึ้นดินที่ขุดขึ้นควรใช้ปูนขาว หรือ สารเคมีปรับปรุงดินบางชนิด เช่น โดโรไมค์ ผสมกับทรายและปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับเนื้อดินตากแดดทิ้งไว้นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ รดน้ำเป็นระยะพร้อมกับพรวนดินตามสมควร จะทำให้ดินร่วนและดีขึ้น สำหรับพื้นที่ที่ดินเป็นดินปนทรายมากการปรับปรุงดินจำเป็นต้องใส่ปูนขาวและปุ๋ยคอก เพื่อทำให้ดินจับเป็นก้อนแน่นอุ้มน้ำและมีอาหารพืชมากขึ้น

                2) สำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดเป็นที่ปลูก และคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่จะปลูก รวมทั้งจัดหากล้าไม้

                การกำหนดพื้นที่ปลูกเมื่อผู้ปลูกได้ตัดสินใจกำหนดวัตถุประสงค์ของการปลูกต้นไม้ไว้เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องกระทำต่อไปคือ การกำหนดพื้นที่เพื่อให้มีความเหมาะสมกับชนิดพันธุ์ไม้ที่เลือกปลูก หากเลือกพื้นที่ปลูกไม่สอดคล้องกับชนิดพันธุ์ไม้ที่ปลูกจะทำให้ได้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยทั่วไปแล้วมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องนำมาประกอบการพิจารณาดังนี้

                ปัจจัยแรกเกี่ยวกับลักษณะของดิน ผู้ปลูกควรพิจารณาสภาพของดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์หรือลักษณะดินเป็นดินประเภทใด มีสภาพความเป็นกรดหรือเป็นด่างอย่างไร เป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดีหรือไม่เพียงใด พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มหรือมีความลาดเอียง ใกล้ไกลแหล่งน้ำเหมาะสมกับพันธุ์ไม้ชนิดใด นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศประกอบอีกด้วย ประการต่อมาต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมพื้นที่ที่จะกำหนดปลูกว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ต้องให้มีความปลอดภัยกับต้นไม้ และปัจจัยสุดท้ายคือ การกำหนดระยะปลูก ผู้ปลูกจะต้องกำหนดระยะปลูกระหว่างต้นไม้ให้มีความเหมาะสมกับชนิดและขนาดของต้นไม้ที่จะปลูก การจัดหากล้าไม้ ประสานงานกับกรมป่าไม้ หรือหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ เพื่อขอรับกล้าไม้

                3) การเตรียมพื้นที่ปลูก

                การเตรียมดินเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของการปลูกต้นไม้ และจะให้ได้ผลดีจะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าพอสมควร ปรับระดับพื้นที่ให้ได้ตามต้องการเสียก่อน และเพื่อความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยผู้ปลูกควรได้กำหนดแผนผังการปลูกต้นไม้ไว้ก่อน ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องปกติไม่ว่าดินจะเป็นดินชนิดใดหรือมีทำเลเป็นอย่างไร 

                4) จัดหาอุปกรณ์และเตรียมวัสดุสำหรับใช้ปลูกต้นไม้

            4.1) อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการปลูกต้นไม้ ควรจัดหาและเตรียมให้พร้อมเพื่อความสะดวกใน การปลูกต้นไม้ มีจอบ เสียม พลั่วตักดิน บุ้งกี๋ ตลอดจนยานพาหนะลำเลียงขนส่งกล้าไม้ไปยังจุดที่เตรียมหลุมปลูก

            4.2) หน้าดินผสมสำหรับกลบหลุมปลูก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก สำหรับรองก้นหลุม ตลอดจนสารอุ้มน้ำ(ถ้ามี) และใช้ในกรณีปลูกก่อนหรือหลังฤดูฝน

            4.3) หลักค้ำยัน ยึดต้นไม้ กันลมพัดโยกและช่วยในการทรงตัวของต้นไม้ให้ตั้งตรง เชือกสำหรับผูกยึดต้นไม้กับหลัก

                5) การปลูก

                ต้นไม้ที่นำมาปลูกส่วนใหญ่มักจะบรรจุในถุงพลาสติกให้ใช้มีดกรีดถุงออก ควรระวังคือ อย่าให้รากของต้นไม้ได้รับความกระทบกระเทือนมากนัก เสร็จแล้ววางต้นไม้ลงในหลุมที่ขุดให้ระดับรอยต่อระหว่างลำต้นกับรากอยู่เสมอกับระดับขอบหลุม แล้วกลบหลุมด้วยดินผสมที่เตรียมไว้สำหรับปลูกหรือใช้ดินที่ขุดขึ้นจากหลุมที่เป็นดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีความร่วนซุยดี อย่าใช้ดินเหนียวที่แน่นหรือดินที่มีกรวดหินมาก ๆ กลบหลุม เพราะจะเป็นปัญหาทำให้รากต้นไม้เจริญเติบโตได้ไม่ดี เมื่อกลบหลุมเสร็จแล้วใช้เท้าเหยียบดินให้แน่นพอประมาณ นำเศษใบไม้หญ้าหรือฟางมาคลุมรอบโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันการกัดเซาะของน้ำในขณะรดน้ำต้นไม้ หาไม้หลักซึ่งมีความสูงมากกว่าต้นไม้พอประมาณมาปักข้าง ๆ ผูกเชือกยึดกับต้นไม้อย่างหลวม ๆ เพื่อช่วยในการทรงตัวของต้นไม้และป้องกันลมพัดโยก เมื่อปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่มและถ้าเป็นไปได้ควรรดน้ำวันละครั้ง จนต้นไม้ตั้งตัวได้ กรณีที่ปลูกเป็นพื้นที่มากๆ ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ขณะฝนตกหรือหลังฝนตกใหม่ ๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการรดน้ำต้นไม้ ภายหลังการปลูกต้นไม้โดยปกติควรรดน้ำติดต่อกันทุกวันในเวลาเย็นอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ตลอด 1 สัปดาห์ การรดน้ำ

ควรรดน้ำให้ชุ่ม ถ้าต้องการทราบว่าได้รดน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่ ให้ทดลองขุดดินดูว่าน้ำซึมลงไปถึงบริเวณรากต้นไม้หรือยัง ถ้ารดน้ำน้อยไปน้ำจะซึมลงไปไม่ถึงบริเวณรากต้นไม้ การพรวนดินใส่ปุ๋ยและการกำจัดวัชพืช วัชพืชเป็นตัวการที่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้า ควรมีการกำจัดวัชพืชโดยการถากถาง และพรวนดินรอบโคนต้นไม้ในรัศมี 1 เมตร ปีละ 2 ครั้ง ในขณะพรวนดินถ้ามีปุ๋ยวิทยาศาสตร์จะโรยรอบ ๆ โคนต้นประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ แล้วรดน้ำหรือใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มเติมก็ได้

                6) การดูแลบำรุงรักษา

                หลังจากได้ปลูกต้นไม้แล้วผู้ปลูกควรคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดกับต้นไม้ในระยะเริ่มแรกที่มีขนาดเล็กยังตั้งตัวไม่ได้ เช่น อันตรายจากสัตว์เลี้ยง ยานพาหนะต่าง ๆ หากปลูกจำนวนน้อยอาจทำคอกป้องกันหรืออาจทำรั้วกั้นเป็นแนวไว้ได้ สำหรับต้นไม้บางชนิดที่ต้องการความเอาใจใส่มากตั้งตัวได้ยากควรจะมีการบังแดดให้ในระยะที่ตั้งตัวไม่ได้ อย่างไรก็ตามการปลูกต้นไม้ให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลบำรุงรักษาที่ดีจากผู้ปลูกมากพอสมควร 

            ภายหลังการปลูกต้นไม้โดยปกติควรรดน้ำติดต่อกันทุกวันในเวลาเย็นอย่างน้อย  วันละ 1 ครั้ง ตลอด 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจให้ลดลงเป็นวันเว้นวัน หรือ 2 วัน ครั้งจนสังเกตเห็นต้นไม้ตั้งตัวได้

            การพรวนดินใส่ปุ๋ยและการกำจัดวัชพืช วัชพืชเป็นตัวการที่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้าควรมีการกำจัดวัชพืชโดยการ ถากถางและพรวนดินรอบโคนต้นไม้ในรัศมี 1 เมตร ปีละ 2 ครั้ง ในขณะพรวนดินถ้ามีปุ๋ยวิทยาศาสตร์จะโรยรอบๆ โคนต้นประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ แล้วรดน้ำหรือใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มเติมก็ได้

            การตรวจดูแลต้นไม้และฉีดยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง ตลอดจนระวังไฟ โดยปกติต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับมนุษย์ย่อมถูกแมลง โรค เห็ด รา รบกวนเป็นธรรมดา การเจริญเติบโตของต้นไม้โดยธรรมชาติมีความแข็งแรงอยู่ในตัวพอสามารถสู้ต้านทานกับโรค แมลงและเห็ดราต่างๆ ได้ดีพอสมควร หากผู้ปลูกช่วยบำรุงรักษาต้นไม้ให้ถูกวิธี ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วมีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะต่อต้านอันตรายจากสิ่งเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการหมั่นตรวจตราดูแลโรค แมลงที่เกิดกับต้นไม้ และใช้ยาฉีดกำจัดได้ทันเหตุการณ์ในกรณีที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ๆ จะต้องมีการระวังไฟ ควรมีการแผ้วถางวัชพืชปีละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย และทำแนวป้องกันไฟล้อมรอบ ถ้าหากปลูกเป็นแนวยาว เช่น ตามแนวถนนต้องกำจัดวัชพืชที่จะเป็นเชื้อเพลิงในช่วงปลายฤดูฝน หรือก่อนเข้าฤดูแล้งตลอดแนวทาง การดูแลบำรุงรักษาต้นไม้อย่างเอาใจใส่ และการปลูกต้นไม้จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่การป้องกันให้ต้นไม้พ้นจากอันตรายจากไฟและอันตรายจากสิ่งแวดล้อมทั้งปวง

                7) การจำแนกลักษณะตามพรรณไม้

            7.1) ไม้ใหญ่หรือไม้ยืนต้น (Tree)

            ไม้ใหญ่หรือไม้ยืนต้น ไม้ประเภทนี้มีลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีลำต้นหลัก ตั้งตรง ต้นเดียวแล้วจึงแตกกิ่งก้านบริเวณยอด โตเต็มที่สูงเกิน 5 เมตร มีอายุยืนยาวหลายปี เช่น สน เต็ง รัง แดง สัก ประดู่ นนทรี จามจุรี มะขาม

                1. ไม้พุ่ม (Shrub)

                    ไม้พุ่ม ลำต้นมีเนื้อไม้แข็งแต่ขนาดเล็กกว่าไม้ยืนต้น และมีลำต้นหลักหลายต้น มีกิ่งก้านสาขาแยกไปมากบริเวณใกล้โคนต้น ลักษณะเป็นพุ่มสูงไม่เกิน 5 เมตร มีอายุหลายปี เช่น ชบา แก้ว เข็ม พุดตาน กระถิน

                2. ไม้ล้มลุก (Herbaceous stem, Herb)

                    ไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่มีเนื้อไม้ หรือมีเนื้อไม้เล็กน้อยบริเวณโคนต้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

                    2.1) ไม้ล้มลุกปีเดียว (annual herb) เป็นพืชอายุไม่เกิน 1 ปี เมื่อออกดอกออกผลแล้วจะตาย เช่น ดาวเรือง บานชื่น หงอนไก่ ทานตะวัน

                    2.2) ไม้ล้มลุกข้ามปี (biennial herb) เป็นพืชที่มีอายุ 2 ปี โดยปีแรกจะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ แล้วออกดอกออกผลในปีที่ 2 จึงจะตาย เช่น กล้วยประดับ ผักกาดแดง

                    2.3) ไม้ล้มลุกหลายปี (perennial herb) เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุมากกว่า 2 ปี และออกดอกออกผลทุกปี เช่น บัว บานเช้า พลับพลึง พุทธรักษา

                3. ไม้เถา (Climber)

                    ไม้เถาหรือไม้เลื้อย เป็นพืชที่ลำต้นมีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ อายุ  ปีเดียวหรือหลายปี ลำต้นเลื้อยไปตามดินหรือพันสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง โดยอาจมีอวัยวะพิเศษช่วยในการเกี่ยวยึด เช่น ราก มือเกาะ ขอเกี่ยว ไม้เลื้อยได้แก่ พวงชมพู กระเทียมเถา สร้อยอินทนิล

                4. ไม้รอเลื้อย (Scandent)

                    ไม้รอเลื้อยหรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถา เมื่อขึ้นอยู่ตามลำพังจะทรงตัวอยู่ได้ โดยกิ่งก้านไม่เลื้อยทอดลงดิน ต่อเมื่ออยู่ใกล้ต้นไม้อื่นหรือสิ่งอื่น กิ่งก้านก็จะทอดเลื้อยพันสิ่งนั้นๆ เช่น การเวก นมแมว โนรา เฟื่องฟ้า

                การตัดแต่งพรรณไม้

                    การตัดแต่งพรรณไม้ เป็นการตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก วัตถุประสงค์ของการตัดแต่งก็เพื่อจะให้ไม้นั้นๆ มีรูปทรงตามที่ต้องการ การตัดแต่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไม้ต้น (tree) และไม้พุ่ม (shrub)

                    ไม้ต้นและไม้พุ่ม ที่นำมาจัดสวนจะมีการเจริญเติบโต จนรูปทรงเปลี่ยนแปลงไป การตัดแต่งจะช่วยให้ไม้นั้นๆ คงสภาพรูปทรงที่เราต้องการได้

                การตัดแต่งที่ถือปฏิบัติเริ่มแรกจะเป็นการตัดแต่ง

                    - กิ่งที่แห้งตาย

                    - กิ่งที่อ่อนแอ ฉีกขาด

                    - กิ่งที่เป็นโรค

                    - กิ่งที่เจริญผิดปกติ

                    - กิ่งที่แทงเข้าภายในพุ่มต้น

            การตัดแต่งต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงสว่าง ลม จะได้พัดผ่านเข้าไปในทรงพุ่มได้สะดวก

            ในกรณีของไม้ยืนต้น การตัดแต่งจะช่วยควบคุมการเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มผลผลิต ส่วนไม้พุ่มจะทำให้รูปทรงของพุ่มต้นสมดุล

            การตัดแต่งไม้พุ่ม จะเริ่มตั้งแต่การเด็ดยอด (pinching) เพื่อให้ไม้พุ่มแตกตาข้าง ทำให้การเจริญเติบโตทางด้านยอดลดลง หลังจากนั้นอาจจะมีการขลิบ (trimming) แต่ง ลิดใบและยอดที่เจริญแทงออกมาจากทรงพุ่ม ในกรณีที่ทรงพุ่มแน่นเกินไปก็จะตัดแต่งกิ่งแก่ออกบ้าง โดยตัดให้ชิดพื้นดิน ส่วนไม้พุ่มที่แทงหน่อออกมาจะต้องตัดออก โดยตัดให้ลึกลงไปใต้ระดับดิน ส่วนไม้พุ่มที่ต้องการให้มีการเจริญเติบโตใหม่ (rejuvenate) เนื่องจากมีอายุมากแล้วให้ตัดส่วนของไม้นั้น เหลือเพียงหนึ่งในสามของความสูงเดิม ดูแลรักษาให้เจริญเติบโตใหม่ การตัดแต่งไม้พุ่มให้เล็กลง จะช่วยให้มีการแตกกิ่งยอดใหม่ทำให้ไม้พุ่มนั้นมีดอกมากขึ้น

            การตัดแต่งพรรณไม้แต่ละครั้ง เครื่องมือที่ใช้จะต้องเหมาะสมกับงานนั้นๆ เครื่องมือจะต้องคมและใช้ให้ถูกต้อง นอกจากนี้หากรอยแผลที่ถูกตัดแต่งมีขนาดใหญ่จะต้องใช้ยาทาแผลเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรค

                เครื่องมือที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง

                    - กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ซึ่งมีทั้งชนิดที่ถือมือเดียวและชนิดที่ต้องใช้สองมือช่วย

                    - เลื่อยตัดแต่งกิ่ง

                8) การดูแลบำรุงรักษาสนามหญ้า

                    สนามหญ้า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดสวน ทำให้สวนสวยงาม ช่วยให้อาคารสถานที่ดูเด่นเป็นสง่า และให้ความเป็นระเบียบแก่สถานที่นั้น ๆ

                    การดูแลสนามหญ้าเริ่มตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งตั้งตัวและเจริญเติบโต มีวิธีการดังต่อไปนี้

                    การให้น้ำ การขาดน้ำในช่วงแรกจะทำให้หญ้าสนามไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นในระหว่างช่วงสัปดาห์แรกของการปลูกหญ้าจะต้องให้น้ำวันละหลายๆ ครั้ง โดยที่จะต้องคอยดูแลไม่ให้บริเวณนั้นแห้ง ในช่วงสัปดาห์ที่สองการให้น้ำจะลดลงเหลือเพียงวันละครั้ง แต่ทั้งนี้จะต้องคอยสังเกตว่าแต่ละวันนั้นจะต้องให้น้ำเพิ่มหรือไม่ ในสัปดาห์ต่อๆ ไป การให้น้ำแต่ละครั้งจะต้องให้ปริมาณน้ำซึมลึกลงไปในดินมากขึ้น เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของราก

                    สนามหญ้าที่มีการเจริญเติบโตของหญ้าสนามดีแล้ว ความถี่ของการให้น้ำจะลดน้อยลง แต่ปริมาณน้ำที่ให้ต่อครั้งจะมากขึ้น เพื่อให้รากหยั่งลึกลงไปในดินดีขึ้น ลดปัญหาการสะสมเกลือจาก  ใต้ดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต

                    การใส่ปุ๋ย นอกจากการให้น้ำแก่สนามหญ้าแล้ว การใส่ปุ๋ยให้แก่หญ้าสนามก็เป็นสิ่งจำเป็น สนามหญ้าที่เริ่มมีการเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง หากตรวจสอบแล้วไม่ใช้อาการที่เกิดจากสภาพของดินหรือโรครบกวน ก็แสดงว่าสนามหญ้าเริ่มขาดธาตุอาหาร จำเป็นจะต้องมีการใส่ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยที่ใส่ให้กับสนามหญ้า มีทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์จะเป็นปุ๋ยที่ใช้ครั้งแรกในขณะเตรียมดินก่อนปลูกหญ้า ส่วนปุ๋ย  อนินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จะใช้เมื่อต้องการให้หญ้าสนามมีการเจริญเติบโต

                    การใส่ปุ๋ยให้แก่สนามหญ้า หญ้าสนามเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งต้องการอาหารและสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่พอเหมาะ การเลือกใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องในปริมาณที่พอเหมาะและให้ในเวลาที่ต้องการ จะทำให้ผลที่ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด การใส่ปุ๋ยให้กับสนามหญ้าจะให้ปุ๋ยสูตรที่มี N-P-K เพราะไนโตรเจน (N) จะช่วยในการเจริญเติบโตของกิ่งก้านใบ ช่วยให้ใบมีสีเขียว ส่วนฟอสฟอรัส (P) จะช่วยในการเจริญเติบโตของราก ทำให้เกิดการแตกรากใหม่ของหญ้า (rhizome) ส่งผลให้เกิดต้นหญ้าใหม่ สำหรับ   โปแตสเซียม (K) ช่วยให้การเจริญเติบโตโดยทั่วๆ ไปดีขึ้น ช่วยให้หญ้าสนามมีความทนทาน แข็งแรง ทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งหรือทนทานต่อโรคได้

                    ปุ๋ยที่ให้กับสนามหญ้าจะให้ปุ๋ยสูตรใดนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการเจริญเติบโต โดย  ทั่วๆ ไป ปุ๋ยที่ใช้จะมีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าธาตุอื่นๆ เช่น อาจให้ปุ๋ยสูตร 30-10-20 เป็นต้น แต่ในช่วงฤดูร้อนปุ๋ยที่ให้ควรมีธาตุฟอสฟอรัสสูงขึ้น และในต่างประเทศช่วงฤดูหนาวปุ๋ยที่ให้แก่สนามหญ้าจะมีธาตุโปแตสเซียมสูงขึ้น การให้ปุ๋ยแก่สนามหญ้าจะให้เดือนละครั้ง ภายหลังการใส่ปุ๋ยจะต้องรดน้ำตามทันทีไม่ให้ปุ๋ยตกค้างอยู่บนใบหญ้า

                    การควบคุมโรคแมลงและวัชพืช หญ้าสนามก็เหมือนพืชอื่นๆ ย่อมมีศัตรูต่างๆรบกวน ศัตรูชนิดแรกคือวัชพืช พบมากในสนามหญ้าที่มีการเตรียมพื้นที่ไม่ถูกต้อง วัชพืชที่ขึ้นในสนามหญ้ามีทั้งชนิดใบแคบ เช่น หญ้าตีนตุ๊กแก หญ้าตีนกา แห้วหมู ฯลฯ และชนิดใบกว้าง เช่น ผักโขม บานไม่รู้โรยป่า ไมยราพ ฯลฯ จะต้องคอยเอาใจใส่ขุดออก ทันทีที่พบเห็น หากทิ้งไว้จะทำให้มีการเจริญเติบโตเบียดบังหญ้าสนาม ทำให้ความสวยงามของสนามหญ้าลดลง

                    สำหรับโรคและแมลง โดยทั่วๆ ไปจะเกิดน้อยมาก โรคที่พบในสนามหญ้า ได้แก่   โรคราสนิม โรคใบขีดโปร่งแสง ส่วนแมลงที่รบกวนหญ้าสนาม ได้แก่ หนอนด้วง หนอนต่างๆ รวมทั้งมดคันไฟ การใช้สารเคมีกำจัด โรคแมลงต่างๆ จะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง

                    การตัดหญ้า สนามหญ้าที่สวยงามต้องการการตัดแต่งเหมือนพืชอื่นๆ สนามหญ้าใหม่ จะทำการตัดหญ้าครั้งแรก เมื่อหญ้าสนามมีความสูงประมาณ 2 นิ้ว การตัดหญ้าครั้งแรกนี้จะต้องระมัดระวัง ไม่ตัดออกมากเกินไป เครื่องมือที่ใช้จะต้องไม่กระทบกระเทือนราก ขณะที่ตัดสนามหญ้าจะต้องแห้ง

                    สนามหญ้าที่มีการเจริญเติบโตสมบูรณ์แล้ว ควรตัดหญ้าประมาณ 15 วันต่อครั้ง   แต่ในช่วงฤดูที่มีการเจริญเติบโตมาก อาจมีการตัดหญ้าสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของหญ้าสนามนั้นๆ การปล่อยให้หญ้าสนามมีการเจริญเติบโตจนกระทั่งมีดอกแล้วจึงตัด จะทำให้การเจริญเติบโตของส่วนที่เหลือภายหลังการตัดค่อนข้างช้า สนามหญ้าจะมองดูเหลือง ซึ่งจะใช้เวลาบำรุงรักษาค่อนข้างนาน สนามหญ้าจึงจะเขียวสดดังเดิม

                    วิธีการตัดหญ้า การตัดหญ้าที่ต่ำเกินไป เป็นวิธีที่ผิด การตัดหญ้าแต่ละครั้งจะตัดออกไม่เกิน 1 ใน 3 ของความยาวก่อนตัด โดยทั่วๆ ไปจะตัดให้เหลือความสูงประมาณหนึ่งนิ้วครึ่งถึงสองนิ้วครึ่ง การเลือกใช้เครื่องมือในการตัดหญ้าจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน สนามหญ้าที่มีขนาดเล็กอาจจะเลือกใช้กรรไกรตัดหญ้าหรือเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายหลัง ส่วนพื้นที่ขนาดใหญ่อาจจะเลือกใช้เครื่องตัดหญ้าแบบเข็นที่ใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมัน สำหรับสนามหญ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องการความประณีตมากนักก็อาจจะเลือกใช้รถตัดหญ้าแบบเข็นมีใบพัด ทั้งนี้เครื่องมือทุกชนิดใบมีดจะต้องคม และไม่ทำการตัดหญ้า ในขณะที่สนามหญ้านั้นเปียกชื้น ภายหลังตัดหญ้าเรียบร้อยแล้ว จะต้องทำความสะอาดและตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องมือก่อนเก็บไว้ใช้งานคราวต่อไป

                9) การให้ปุ๋ย

                    พรรณไม้ต่างๆ เป็นสิ่งมีชีวิตต้องการปัจจัยในการเจริญเติบโตเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญที่ช่วยในการเจริญเติบโต คือ อาหารธาตุ การให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารตามที่พืชต้องการจะช่วยให้พืชนั้นๆ มีการเจริญเติบโตตามปกติ ธาตุอาหารที่พืชต้องการมีอยู่ 16 ธาตุ แบ่งออกเป็น

                    ธาตุอาหารหลัก (macro elements) ซึ่งได้แก่ C H O N P K

                    ธาตุอาหารรอง (micro elements) ได้แก่ Ca Mg S

                    ธาตุอาหารประกอบ (trace elements) ได้แก่ Fe Mn Cu Zn Mo B Cl

                    ธาตุอาหารต่าง ๆ เหล่านี้พืชจะต้องการในปริมาณที่ต่าง ๆ กัน ธาตุอาหารหลักพืชจะต้องการในปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนธาตุอาหารประกอบพืชจะต้องการในปริมาณที่น้อยมาก การให้ธาตุอาหารต่างๆ เหล่านี้ จะให้ในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) และปุ๋ยอนินทรีย์ (inorganic fertilizer)

                    ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากสิ่งมีชีวิต เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยเทศบาล ซากพืชซากสัตว์ เป็นต้น ปุ๋ยประเภทนี้จะสลายตัวค่อนข้างช้า ธาตุอาหารมีน้อย การใช้ปุ๋ยเหล่านี้มักจะเป็นการใช้เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดิน

                    ปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่สังเคราะห์ขึ้น เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่างๆ โดยจะเน้นที่ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K) เป็นหลัก    ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นี้มีขายทั่วไปในท้องตลาด มีสูตรอาหารต่างๆ กัน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่เลือกใช้ในการบำรุงรักษาพรรณไม้ ส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตร 30-10-20 เป็นต้น

                    การให้ปุ๋ยกับพรรณไม้ต่างๆ ควรจะเลือกใช้ให้ถูกต้องกับชนิดของไม้นั้น รวมทั้งให้เหมาะกับระยะของการเจริญเติบโต และใส่ให้ถูกเวลา ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ยควรจะเป็นเวลาเช้าในการดูแลรักษาสวนอาจจะมีการใส่ปุ๋ยทุกสัปดาห์โดยแต่ละ สัปดาห์จะให้ในปริมาณที่ไม่เข้มข้นมากนัก ในไม้กระถางอาจจะใช้ปุ๋ยที่สลายตัวช้า ให้ปุ๋ยนั้นค่อยๆ สลายตัวเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยบ่อยครั้งก็ได้

                10) การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

                    การบำรุงดูแลรักษาสวน นอกจากการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ดูแลสนามหญ้า รวมทั้งตัดแต่งพรรณไม้ให้อยู่ในสภาพที่ต้องการแล้ว การป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะการเจริญเติบโตของพืชในธรรมชาติจะมีศัตรูต่างๆ คอยรบกวน ศัตรูเหล่านั้นอาจจะเป็นโรคหรือแมลงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะเกิดได้ทั้งโรคและแมลงพร้อมๆ กัน

                    โรคที่พบอาจจะเกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย วิสา หรือไส้เดือนฝอย

                    แมลงอาจจะเป็นแมลงปากกัด เช่น ด้วง หนอนต่างๆ หรือแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน ไรแดง เป็นต้น

                    การฉีดพ่นสารเคมีเพื่อช่วยป้องกันโรคและแมลง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะสวนที่จัดไว้จะอยู่ในบริเวณที่ผู้คนจะต้องมาใช้ประโยชน์ ควรเลือกใช้ชนิดที่มีอันตรายค่อนข้างน้อยใช้ให้ถูกต้อง โดยจะต้องศึกษาวิธีการใช้ให้ละเอียดก่อนนำมาใช้ และใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายหลังการฉีดพ่นสารเคมีผู้ฉีดจะต้องล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้า ชำระร่างกายให้สะอาดก่อนที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ

                11) การปรับปรุงสวน

                    สถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดสวนอย่างสวยงามและใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการนั้น แม้ว่าจะมีการดูแลรักษาเอาใจใส่ดีเพียงใดก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านไปนานเข้า ความสวยงามต่างๆก็จะลดลง ตามกฎของธรรมชาติ เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการจัดสวน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น พรรณไม้ต่างๆ หรือสิ่งไม่มีชีวิต เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่งในสวน ทุกสิ่งจะต้องมีวันเสื่อมทรุดโทรม และตายไป ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้สภาพของสวนสวยงามดังเดิม

                    การดูแลบำรุงรักษาสวน ทั้งการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ป้องกันศัตรูพืชรวมทั้งการตัดแต่งจะช่วยให้พรรณพืชต่างๆ เจริญเติบโตสวยงาม แม้ว่าการตัดแต่งจะช่วยให้พรรณไม้เจริญเติบโตใหม่ได้ แต่นานวันเข้า รูปทรงของพรรณไม้นั้นๆ อาจจะเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถทำให้ได้รูปทรงที่ต้องการ หรือพรรณไม้บางชนิดถูกโรคแมลงรบกวนจนตายไป การปรับปรุงสวนจะเริ่มตั้งแต่

                    11.1) ไม้กระถาง หากพบว่าดินปลูกในกระถางเหลือน้อยลง จำเป็นจะต้องเติมดินลงในกระถางหรือไม้กระถางนั้นเจริญเติบโตเกินกว่าจะอยู่ในกระถางเดิมได้ ก็ควรจะเปลี่ยนกระถางหรือย้ายไม้นั้นลงปลูกในดินหรือทำการเปลี่ยนไม้กระถางใหม่

                    11.2) พรรณไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือไม้เถาเลื้อย เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีพรรณไม้ต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะเจริญเติบโตจนเบียดกัน จำเป็นจะต้องแยกออกบางต้นหรือตัดแต่งให้ได้ขนาดที่ต้องการ หากจุดใดพรรณไม้ตายไปก็ควรจะรีบหาพรรณไม้นั้นๆ มาปลูกทดแทน หรือจะเปลี่ยนแปลงเป็นไม้ชนิดอื่นก็อาจทำได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเหมาะสมของพรรณไม้นั้นๆ ด้วย

                    11.3) สนามหญ้า การจัดสวนครั้งแรกในขณะที่พรรณไม้ต่างๆ ยังมีขนาดเล็กอยู่ การใช้หญ้าสนามมักจะเลือกใช้หญ้านวลน้อยซึ่งทนแดดและเจริญเติบโตดี ทนต่อการเหยียบย่ำ ปูบริเวณสนามทั้งหมด แต่เมื่อไม้ต้นที่นำมาใช้จัดสวนเจริญเติบโตขึ้น ก็จะมีร่มเงาตามจุดนั้นๆ หญ้านวลน้อย  ก็จะค่อยๆ ตายไปในที่สุด ดังนั้นบริเวณร่มเงาไม้ใหญ่นี้ หากจะทำเป็นสนามหญ้าเหมือนเดิมก็จะต้องใช้หญ้ามาเลเซียซึ่งทนร่มได้มาปูทดแทน หรือจะรื้อหญ้าออกแล้วใช้อิฐปูเป็นบริเวณลานพักผ่อนก็อาจทำได้

                    11.4) องค์ประกอบอื่นๆ เช่น รั้ว ทางเท้า เก้าอี้สนาม ฯลฯ จะต้องตรวจสอบ หากพบว่าชำรุด เสียหาย ก็ควรจะทำการซ่อมแซม ปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หากเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ สมควรจะเปลี่ยนของใหม่มาใช้แทนตามจุดนั้นๆ


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

    18.1 การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

    18.2 การสอบสัมภาษณ์

    18.3 แฟ้มสะสมผลงาน



ยินดีต้อนรับ