หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

กำกับดูแลงานปฏิบัติการโครงสร้าง

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-ZZZ-3-031ZA

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ กำกับดูแลงานปฏิบัติการโครงสร้าง

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

    อาชีพนักจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
    ผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ มีความสามารถเข้าใจในรูปแบบและรายการ ลักษณะงานโครงสร้าง ฐานราก พื้น ผนังเสา งานก่อฉาบ มีความสามารถในการควบคุมกำกับดูแลงานปฏิบัติการโครงสร้าง ขั้นตอนในการทำงาน ตั้งแต่เริ่มต้น ถึงขั้นตอนตกแต่งความเรียบร้อย สมบูรณ์ของงาน

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
    6162 นักภูมิสถาปัตย์

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
02241 ควบคุมการปฏิบัติงานโครงสร้างหลัก 1.1 กำหนดขั้นตอนและวัสดุสำหรับงานฐานรากของโครงสร้าง 02241.01 79647
02241 ควบคุมการปฏิบัติงานโครงสร้างหลัก 1.2 กำหนดขั้นตอนและวัสดุสำหรับงานโครงสร้างพื้นผนัง 02241.02 79648
02241 ควบคุมการปฏิบัติงานโครงสร้างหลัก 1.3 จำแนกขั้นตอนและวิธีการฉาบปูนตามรูปแบบและรายการ 02241.03 79649
02242 ควบคุมการปฏิบัติงานตกแต่ง 2.1 ระบุขั้นตอนงานตกแต่งพื้น 02242.01 79650
02242 ควบคุมการปฏิบัติงานตกแต่ง 2.2 อธิบายวัตถุประสงค์และแนวคิดในการเลือกใช้สี 02242.02 79651
02242 ควบคุมการปฏิบัติงานตกแต่ง 2.3 ระบุลักษณะของงานโครงสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามรูปแบบและรายการ 02242.03 79652

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

    ไม่ระบุ


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

    สามารถเข้าใจถึงรูปแบบและรายการ ทำการปฏิบัติการกำกับดูแลงานโครงสร้าง, แก้ปัญหาหน้างานได้

(ข) ความต้องการด้านความรู้

    งานฐานราก เช่น งานฐานราก-เสาเข็มการเจาะ ขั้นตอนการทำฐานราก งานพื้น งานผนัง งานฉาบปูน งานปูพื้น งานทาสี เป็นต้น


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

    (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

        1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

        2. แบบบันทึกรายการผลจากการสังเกต

    (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

        1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

        2. เอกสารรับรองผลจากการเรียนหรือผลการอบรม หรือ

        3. ใบบันทึกผลการสอบข้อเขียนหรือแนวคำถามที่ใช้ประเมิน

    (ค) คำแนะนำในการประเมิน

        ผู้ประเมินตรวจประเมินเกี่ยวกับความเข้าใจในรูปแบบและรายการ ทักษะ และความเข้าใจในการปฏิบัติงานจริงและการแก้ปัญหาในการสร้างงานได้ โดยพิจารณาจากหลักฐานการปฏิบัติงาน หลักฐานจากแบบทดสอบข้อเขียน


15. ขอบเขต (Range Statement)

    การจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์ในสมรรถนะนี้ ครอบคลุมการกำกับดูแลงานโครงสร้าง และงานตกแต่งพื้นผิว

    (ก) คำแนะนำ 

        1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบและรายการ

        2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีทักษะความสามารถในการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

        3. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้และเข้าใจในปัญหาของงานและสามารถแก้ปัญหาได้

    (ข) คำอธิบายรายละเอียด

        ข1 งานฐานราก

        เมื่อกล่าวถึงงานฐานราก จะต้องกล่าวถึง 

            ข1.1 งานฐานราก-เสาเข็ม รูปแบบของงานเข็มในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อรับน้ำหนักอาคารบ้านเรือน แตกต่างกันไปตามประเภทของเข็มนั้นๆ ดังนั้น จึงควรมีการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน หรือรูปแบบของอาคาร

                ข1.1.1 เข็มเจาะ ปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น ในกรณีที่จะนำมาใช้กับบ้าน เนื่องจากเทคนิคและวิธีการไม่ยุ่งยากมาก และราคาก็ไม่แพง การใช้เข็มเจาะเป็นกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องตอกเข็มใกล้ๆ บ้านของบุคคลอื่น เช่น ห่างประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อป้องกันมิให้บ้านข้างเคียงมีปัญหาด้านแตกร้าวหรือทรุดตัว หรือ กรณีที่ทางเข้าพื้นที่ก่อสร้างมีขนาดแคบมากไม่สามารถจะขนส่งเสาเข็มต้นยาวๆ มาตอกได้

                หลักการทำงานของเข็มเจาะคือ ใช้การขุดดินผ่านท่อเหล็กกลมกลวง ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เซนติเมตรขึ้นไป แล้วแต่การรับน้ำหนักของอาคาร โดยที่ปลายทั้งสองข้างเป็นเกลียวหมุนต่อเนื่องลงไปในดิน แล้วตอกท่อเหล็กกลมลงไปทีละท่อน แล้วขุดดินขึ้นมา ตอกลงไปอีกจนได้ระดับความลึกที่ต้องการ แล้วจึงผูกเหล็ก หย่อนลงไปในท่อ เทคอนกรีตตามส่วน จากนั้นจึงค่อยๆ ดึงท่อเหล็กขึ้นมาช้าๆ ทีละท่อนจนหมด แล้วจึงปิดปากหลุม รอจนกว่าปูนแห้งถือว่าเสร็จงาน ความสะเทือนซึ่งเกิดขึ้นจากการตอกเข็มเจาะจึงมีน้อยกว่ามาก

                ข1.1.2 เข็มกด เป็นการตอกเข็มที่สามารถลดความสะเทือนในการตอกได้อีกวิธีหนึ่งและมีความยุ่งยากน้อย สามารถใช้กับงานโครงการขนาดไม่ใหญ่นัก หรือ งานโครงสร้างที่ไม่ต้องการรับน้ำหนักมากนัก หรือ ใช้กับงานเร่งด่วนที่ไม่ต้องตั้งปั้นจั่น การตอกเข็มกดเป็นวิธีที่ใช้รถแบ็คโฮ ดึงเสาเข็มคอนกรีตเสริมเสร็จมากดโดยใช้แขนเหล็กของรถแบ็คโฮกดลงไป ซึ่งจะไม่มีความสะเทือนกับพื้นที่รอบข้าง วิธีนี้สะดวกและรวดเร็ว มีข้อพึงระวังคือต้องตั้งแนวเสาเข็มให้ตรงแล้วจึงกด ไม่เช่นนั้น ขณะกดเสาอาจจะเบี้ยวหรือหักได้ หรือ อาจจะทำให้เสาเข็มรับน้ำหนักได้ไม่ดีเท่าที่ควร

                ข1.1.3 เข็มตอก เป็นเข็มที่มีราคาค่อนข้างประหยัด เมื่อเทียบกับเข็มเจาะ สามารถทำงานได้รวดเร็วจึงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง ข้อเสียคือ การตอกเข็มจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนมากกว่าเข็มทุกประเภท และจะเกิดแรงอัดของดินที่เข็มถูกตอกลงไปแทนที่หน้าตัดของเข็ม อาจจะเป็นรูปตัว I หรือสี่เหลี่ยมตัน โดยทั่วไปจะมีขนาดยาวประมาณ 8-9 เมตรต่อท่อน จึงต้องต่อ 2 ท่อน เพื่อให้ได้ระยะความลึก เสาเข็มชนิดนี้อาจจะทำให้อาคารบ้านเรือนที่ติดกันแตกร้าวเนื่องจากแรงสั่นสะเทือน นอกจากนั้น การตอกเข็มตอกต้องใช้พื้นที่มากกว่าการตอกด้วยวิธีอื่น เพื่อการติดตั้งปั้นจั่น รวมถึงการตอกด้วยวิธีนี้ ขนาดของเข็มจะมีความยาวมากจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย

        ข1.2 งานฐานราก 

        ฐานราก คือ ส่วนที่ติดกับหัวเสาเข็ม รับน้ำหนักจากเสาถ่ายสู่เสาเข็ม สามารถแบ่งฐานรากเป็น 3 ประเภท ดังนี้

            ข1.2.1 ฐานรากแผ่ เป็นฐานรากที่แผ่ไปกับพื้น ไม่มีเข็มมารองรับ เหมาะสำหรับดินที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว 

            ข1.2.2 ฐานรากแบบมีเข็ม ใช้ในบริเวณที่มี่สภาพดินอ่อน ฐานรากชนิดนี้ จะรับน้ำหนักจากเสาถ่ายลงเสาเข็มและดิน ตามลำดับ

            ข1.2.3 ฐานรากแท่งตอม่อ เป็นฐานคอนกรีตหล่อลึกลงไปในดินหรือน้ำ จนถึงระดับที่ต้องการ ฐานรากชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้กับบ้านพักอาศัย

            ในการทำฐานรากต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้ฐานรากตามสภาพของดิน การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างตามแบบวิศวกรรม ปูนที่ใช้ต้องเป็นปูนโครงสร้าง (Portland Cement) ซึ่งมีราคาแพงกว่าปูนฉาบ เพราะหากฐานรากเกิดการทรุดตัวจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายยากต่อการแก้ไข อัตราส่วนของ ปูน:ทราย:หิน ที่ใช้ในงานฐานรากและงานถนนคือ 1:2.5:4 และต้องมั่นใจว่าหินและทรายมีความสะอาดพอ

            ขั้นตอนการทำฐานรากคือ เทคอนกรีตหยาบทับหน้าดิน ก่อนเทควรมีการทำความสะอาดเสาเข็มและใช้ไฟเบอร์ตกแต่งเข็มให้ได้ระดับ แล้วเทคอนกรีตหยาบให้เสาเข็มโผล่พ้นคอนกรีตหยาบประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ฐานรากได้ถ่ายแรงลงบนเสาเข็ม การเทคอนกรีตหยาบนั้นก็เพื่อเป็นท้องแบบวางตะแกรงเหล็กฐานราก หลังจากนั้นใช้ลูกปูนหนุนตะแกรงเหล็ก ทั้งด้านล่างและด้านข้างประมาณ      5 เซนติเมตร เพื่อให้ปูนสามารถหุ้มเหล็กได้ทั้งหมด ก่อนการเทควร ทำให้พื้นที่ที่จะเทมีความชุ่มชื้น ป้องกันดิน ดูดน้ำจากคอนกรีต ซึ่งจะทำให้คอนกรีตลดความแข็งแรงลง รวมถึงต้องทำความสะอาด ตรวจเช็คให้แน่ใจก่อนการเทว่า ไม่มีคราบโคลนหรือคราบปูนทรายที่หลุดง่ายติดอยู่ในระหว่างการเทต้องมีการกระทุ้งคอนกรีตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโพรงหรือช่องว่างในเนื้อคอนกรีตของฐานราก

        ข2 งานพื้น

        งานก่อสร้างทั่วไปมีโครงสร้างพื้นที่นิยมใช้กันอยู่ 2 ประเภทคือ

        ข2.1 พื้นสำเร็จรูป แบ่งเป็น

            ข2.1.1 พื้นสำเร็จแบบท้องเรียบหรือแผ่นกระดาน (Plank) คือ แผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงชนิดท้องเรียบรูปหน้าตัดกว้าง 35 ซม. หนา 5 ซม. วางเรียงชิดติดกัน ด้านท้องของพื้นจะเรียบโดยไม่ต้องฉาบปูน เมื่อเทคอนเกรีตทับหน้า (Structural Topping) แล้วจะทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน (Composite) กับตัวพื้นสำเร็จรูป

            ข2.1.2 พื้นสำเร็จแบบกลวง (Hollow Core) คือ ระบบแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปแบบกลวงเสริมด้วยลวดอัดแรงผลิตจากคอนกรีตแห่งหรือ NO SLUMP CONCRETE มีความสามารถในการรับน้ำหนักในช่วงค่อนข้างยาวตั้งแต่ 4.0-15.0 เมตร มีคุณสมบัติที่ดีคือไม่ต้องมีค้ำยันระหว่างการเททับหน้าเนื่องจากแผ่นพื้นมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง ข้อควรระวัง คือการใช้อาจมีปัญหาในภายหลังหากต้องเจาะพื้นภายหลัง เพราะอาจตัดถูกลวดอัดแรงและแผ่นพื้นอาจมีปัญหาการรั่วซึมของน้ำระหว่างรอยต่อหากเทคอนกรีตทับหน้าไม่หนาพอ หรือ ปรับ SLOPE ไม่ดีจนมีน้ำขัง

            ข2.1.3 พื้นสำเร็จชนิดสามขา (Corrugated Plank) มีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักบรรทุกตามที่วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างต้องการจึงปลอดภัย พื้นสำเร็จชนิดนี้ไม่ต้องใช้ค้ำยันจึงทำให้ลดปัญหาเกี่ยวกับปลวกในกรณีใช้ติดตั้งที่พื้นชั้นล่าง

        ข2.2 พื้นหล่อในที่ จะมีข้อดีกว่า พื้นสำเร็จคือสามารถที่จะเจาะพื้นได้ ดังนั้นงานที่จำเป็นต้องเจาะรูที่พื้นเพื่อวางท่อหรืออื่นๆ จึงไม่ควรใช้พื้นสำเร็จรูป

        ข3 งานผนัง

        ผนังคือส่วนที่ปกป้องตัวบ้าน คือส่วนที่แบ่งส่วนใช้สอยต่างๆ ภายในบ้านให้เป็นสัดส่วนตามลักษณะการใช้สอย รวมถึงการทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหรือ ผนังรับน้ำหนัก ผนังที่ใช้กันอยู่ทั่วไป คือผนังก่ออิฐ ซึ่งแบ่งเป็น ผนังก่ออิฐโชว์แนว และผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยก่อนการก่ออิฐควรตรวจสอบว่า ได้มีการเตรียมเหล็กหนวดกุ้ง ยื่นออกมาจากเสาเพื่อยึดประสานระหว่างเสาและผนัง ป้องกันการแตกร้าวของผนัง

        ผนังก่ออิฐโชว์แนว คือ ผนังที่มีการก่ออิฐเรียงกัน และไม่มีการฉาบทับเพื่อต้องการโชว์แนวของอิฐผนัง จึงไม่มีปูนฉาบหน้ากันความชื้น เมื่อความชื้นกระทบผนังน้ำจะซึมเข้าด้านในโดยง่าย

        ผนังก่ออิฐฉาบปูน เป็นผนังที่ใช้อิฐก่อขึ้นและฉาบทับด้วยปูน การก่ออิฐในผนังชนิดนี้จะต้อง  ก่ออิฐให้ผิวคอนกรีตมีรอยบุ๋ม ลึกประมาณ 3-5 มิลลิเมตร เพื่อเวลาฉาบปูนจะได้ยึดเกาะผิวคอนกรีตได้   แน่นหนา ก่อนฉาบปูนควรทำความสะอาดผนังให้เศษหรือฝุ่นปูนหลุดออกให้หมด ทำการรดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้สักครึ่งนาทีให้อิฐดูดน้ำให้เต็มที่ ป้องกันไม่ให้อิฐดูดน้ำไปจากปูนซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าวของผนัง

        ข4 งานฉาบปูน

        งานฉาบปูน หมายถึง งานฉาบปูนผนังวัสดุก่อทั้งหมด ผนัง งานคอนกรีตเสริมเหล็ก และงานฉาบปูนโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ในส่วนที่มองเห็นด้วยตาทั้งหมด ยกเว้นฝ้าเพดานส่วนที่เป็นคอนกรีตสำเร็จรูป และท้องพื้นในส่วนที่มองเห็นได้

        ในขั้นตอนการฉาบปูนก่อนทำการฉาบปูนจะต้องตั้งเฟี้ยมทำระดับ จับเหลี่ยม เสาคาน ขอบคอนกรีตเสริมเหล็กต่างๆ ให้เรียบร้อยได้แนวดิ่งและแนวระดับ ผนังและฝ้าเพดานควรจะทำระดับไว้เป็นจุดๆ ให้ทั่ว เพื่อให้การฉาบปูนรวดเร็ว และเรียบร้อยขึ้น โดยใช้ปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ สำหรับงานจับเซี้ยมโดยเฉพาะหรือใช้ปูนฉาบรองพื้นผิวคอนกรีตภายหลัง ปูนที่จับเซี้ยมทำระดับเสร็จเรียบร้อย และแห้งดีแล้วให้ราดน้ำหรือฉีดน้ำ ให้บริเวณที่จะฉาบปูนเปียกโดยทั่วกัน แล้วจึงทำการฉาบปูน

        การฉาบปูนแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ หนึ่ง การฉาบปูนรองพื้น ภายหลังปูนที่ตั้งเฟี้ยมทำระดับแห้งดีแล้ว ให้รดน้ำให้เปียกโดยทั่วกันแล้วจึงทำการฉาบปูนรองพื้น โดยให้ได้ระดับใกล้เคียงกับที่ตั้งเฟี้ยมไว้ ก่อนที่ปูนฉาบรองพื้นจะเริ่มแข็ง ให้ขัดผิวหน้าให้เปียกอยู่เสมอเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และทิ้งไว้ให้แห้งก่อน 7 วัน จึงทำการฉาบปูนตกแต่งได้ ปูนฉาบรองพื้นจะมีความหนาประมาณ 13 มิลลิเมตร กรณีที่ต้องการความหนา   ที่ต้องการ สามารถฉาบปูนรองพื้นมากกว่า 1 ครั้ง การฉาบปูนรองพื้นบนผิวคอนกรีตและผิวอิฐอัดแรงให้สลัดปูนผิวคอนกรีตและอิฐอัดแรงก่อน ปูนสลัดให้ใช้ส่วนผสมของซีเมนต์ 1 ส่วนต่อทราย 1 ส่วน ก่อนสลัดปูนจะต้องรดน้ำผิวที่จะสลัดให้เปียกเสียก่อน การสลัดปูนให้สลัดด้วยไม้กวาดและจะต้องมีผิวปูนติดเสมอกันทั้งหมดรดน้ำปูนสลัดเสมอเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และทิ้งไว้ให้แห้งจึงทำการฉาบปูนรองพื้นได้

        ขั้นตอนที่สอง ได้แก่การฉาบปูนตกแต่ง ก่อนฉาบตกแต่งให้รดน้ำผนังที่จะฉาบปูนให้เปียกโดย  ทั่วกันเสียก่อน โดยใช้เกรียงไม้ฉาบกดอัดปูนให้เกาะติดแน่นกับชั้นปูนฉาบรองพื้น ปูนฉาบตกแต่งจะต้องมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร กรณีปูนฉาบขัดมันให้ฉาบปูนตกแต่งให้ได้ระดับก่อนจึงทำการขัดมันผิวหน้า    ปูนฉาบตกแต่งจะต้องได้รับการรดน้ำให้เปียกอยู่ตลอดเวลา 48 ชั่วโมงเพื่อกันการดูดน้ำปูนและการแตกร้าว  ในเวลาต่อมา

        ข5 งานปูพื้น วิธีปฏิบัติและแนวทางในการปูพื้น ได้แก่

            1) พื้นที่จะปูต้องแห้งสะอาด ไม่มีคราบฝุ่น น้ำมัน รอยสกปรกใดๆ และมีระนาบพื้นได้ระดับ หากยังไม่ได้ระดับให้ปรับตกแต่งให้ได้ระดับก่อน

            2) พื้นที่ต้องการจะปูพื้น ต้องไม่มีความชื้น

            3) กรณีปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิค ควรเว้นร้องประมาณ 1-3 ม.ม. เพื่อป้องกันปัญหาการโก่งหลังจากปูและใช้งาน

            4) เมื่อปูกระเบื้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อให้ซีเมนต์แห้ง แล้วจึงค่อยยาแนว โดยปาดตามแนวเฉียงกับร่องกระเบื้อง ก่อนยาแนวต้องทำความสะอาดร่องกระเบื้องให้สะอาดเรียบร้อยก่อน เมื่อยาแนวเรียบร้อยต้องทิ้งพื้นไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการใช้งาน

        ข6 งานทาสี

            ข6.1 การแบ่งประเภทของสีตามการใช้งานเริ่มจากล่างสุด ได้แก่

                1) สีรองพื้น (Primer) หมายถึง ชั้นแรกสุดที่เคลือบติดวัสดุนั้น

                2) สีชั้นกลาง (Undercoat) เป็นสีชั้นที่สองรองจากสีรองพื้น เป็นสีที่เป็นตัวประสานระหว่างสีรองพื้นกับสีทับหน้า เป็นตัวเพิ่มความหนาของฟิล์มสี และลดการใช้สีทับหน้า

                3) สีทับหน้า (Top Coat) เป็นสีชั้นสุดท้ายที่จะให้คุณสมบัติที่สวยงาม คงทน เงางาม

                4) สีทับหน้าประเภทใส (Clear T/C) เป็นสีที่ไม่มี Pigment จะไม่มีสีเป็นสีใสๆ หรือสีเหลืองอ่อน ใช้เคลือบบนวัสดุต่างๆ ให้เงางามมากขึ้น หรือด้าน หรือกึ่งเงากึ่งด้าน

            ข6.2 การจำแนกลักษณะการใช้งานของสีชนิดต่างๆ

                1) สีทาซีเมนต์/คอนกรีต

                2) สีทาไม้ – ทาเหล็ก

                3) สีทาถนน ถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง

                4) สีอบ

                5) สีอบ ประเภท UV Cure

                6) สีทนความร้อน

                7) สีที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ

                8) สีใช้งานเฉพาะ

            ข6.3 แนวคิดในการเลือกใช้สี

                1) ทาสีเพื่อปกป้องพื้นผิว 

                2) เพื่อสุขลักษณะและความสะอาด

                3) เพื่อปรับความเข้มของแสง

                4) สัญลักษณ์เครื่องหมาย

                5) ความสวยงาม


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

    18.1 ประเมินความรู้ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

    18.2 การสอบปฏิบัติ

    18.3 แฟ้มสะสมผลงาน



ยินดีต้อนรับ