หน่วยสมรรถนะ
หน่วยสมรรถนะ
จัดการนิติกรรมสัญญา
สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว
รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ
1. รหัสหน่วยสมรรถนะ | ECM-ZZZ-4-003ZA |
2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ | จัดการนิติกรรมสัญญา |
3. ทบทวนครั้งที่ | - / - |
4. สร้างใหม่ |
![]() |
ปรับปรุง |
![]() |
5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification) | |
อาชีพเจ้าหน้าที่ประสานงานด้านกฎหมายการจัดการพื้นที่สีเขียว ชั้น 4 1 2619 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น |
6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency) | |
อาชีพเจ้าหน้าที่ประสานงานด้านกฎหมายการจัดการพื้นที่สีเขียว ชั้น 4ISCO-08 รหัสอาชีพ 2619 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฏหมาย ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น |
7. สำหรับระดับคุณวุฒิ |
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
8. กลุ่มอาชีพ (Sector) | |
2619 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฏหมาย ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น |
9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี) | |
ไม่ระบุ |
10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี) | |
ไม่ระบุ |
11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria) |
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) | เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) | รหัส PC (ตามเล่มมาตรฐาน) |
รหัส PC (จากระบบ) |
---|---|---|---|
01131 ร่างนิติกรรมสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 1.1 อธิบายความหมายของนิติกรรมสัญญา | 01131.01 | 79319 |
01131 ร่างนิติกรรมสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 1.2 ระบุองค์ประกอบของนิติกรรม | 01131.02 | 79320 |
01131 ร่างนิติกรรมสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 1.3 อธิบายขั้นตอนการร่างสัญญา | 01131.03 | 79321 |
01131 ร่างนิติกรรมสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 1.4 จำแนกรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนการร่างสัญญา | 01131.04 | 79322 |
01131 ร่างนิติกรรมสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 1.5 ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านนิติกรรมสัญญามาใช้ในงานนิติกรรมสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 01131.05 | 79323 |
01132 บริหารสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 2.1 อธิบายความหมายของสัญญา | 01132.01 | 79324 |
01132 บริหารสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 2.2 อธิบายความหมายของมัดจำเบี้ยปรับและสิทธิในการเลิกสัญญา | 01132.02 | 79325 |
01132 บริหารสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 2.3 ประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องสัญญามาใช้ในการบริหารสัญญาทางกฎหมายพื้นที่สีเขียว | 01132.03 | 79326 |
12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge) | |
ไม่ระบุ |
13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) | |
(ก) ความต้องการด้านทักษะ 1. ความสามารถในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย 2. ความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมาย (ข) ความต้องการด้านความรู้ 1. ความหมายของนิติกรรมสัญญา 2. องค์ประกอบของนิติกรรม 3. ประเภทของนิติกรรม 4. ความหมายของสัญญา 5. ขั้นตอนการร่างสัญญา 6. ประเภทของสัญญา 7. ความหมายของมัดจำและเบี้ยปรับ 8. การเลิกสัญญา |
14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide) | |
(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence) 1. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence) 1. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน โดยมีประสบการณการทำงานในด้านกฎหมายพื้นที่สีเขียว กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือสาขาที่เกี่ยวข้องมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี หรือ 2. หนังสือรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ค) คำแนะนำในการประเมิน 1. ผู้เข้ารับการประเมินมีความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ 2. ผู้เข้ารับการประเมินรู้วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (ง) วิธีการประเมิน 1. การประเมินผลความรู้โดยประเมินจากแบบประเมินความรู้ 2. การประเมินจากแฟ้มสะสมผลงาน
|
15. ขอบเขต (Range Statement) | |
(ก) คำแนะนำ ขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา (ข) คำอธิบายรายละเอียด 1. ความหมายของนิติกรรมสัญญา นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยสมัครใจ มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิสงวนสิทธิ สงวนสิทธิ และระงับซึ่งสิทธิ ได้แก่ สัญญาซื้อขาย สัญญากู้เงิน สัญญาจ้างแรงงานหรือ สัญญาให้และพินัยกรรม 2. องค์ประกอบของนิติกรรม 1) ต้องมีการแสดงเจตนา 2) ต้องกระทำด้วยความสมัครใจ 3) ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย 4) ต้องการก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย 5) ต้องก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของสิทธิ 5 ประการดังนี้ 5.1) ก่อสิทธิ 5.2) เปลี่ยนแปลงสิทธิ 5.3) โอนสิทธิ 5.4) สงวนสิทธิ 5.5) ระงับสิทธิ 3. ประเภทของนิติกรรม ประเภทของนิติกรรม จำแนกได้ 5ประเภท คือ 1) นิติกรรมฝ่ายเดียว และนิติกรรมหลายฝ่าย 2) นิติกรรมที่ต้องทำตามแบบ และนิติกรรมที่ไม่ต้องทำตามแบบ 3) นิติกรรมมีค่าตอบแทนและนิติกรรมไม่มีค่าตอบแทน 4) นิติกรรมที่มีเงื่อนไขเวลาและนิติกรรมที่ไม่มีเงื่อนไขเวลา 5) นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ และนิติกรรมที่มีผลเมือผู้ทำตายแล้ว 4. ความหมายของสัญญา สัญญาคือ นิติกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปหรือมากกว่านั้น ด้วยความสมัครใจของคู่กรณีที่เจตนาจะมาตกลงกันโดยแสดงเจตนาแจ้งความประสงค์ของตนด้วยคำเสนอ และเมื่อมีคำสนองตอบกลับมาถูกต้องตรงกันทุกประการก็ ก่อให้เกิดสัญญาขึ้น โดยสัญญาย่อมก่อให้เกิดหนี้ 5. ขั้นตอนการร่างสัญญา (Contract drafting) สัญญาเป็นเครื่องมือในการกำหนดสิทธิ (rights) และหน้าที่ (obligations) ของคู่สัญญาตามกฎหมาย นิติสัมพันธ์ดังกล่าวยังคงดำรงอยู่เป็นระยะเวลานานหลังจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการเจรจาทำสัญญาและผู้ร่างสัญญาไม่มีสภาพบุคคลแล้ว ดังนั้น สัญญาจึงต้องเขียนให้ชัดเจนเพื่อให้บุคคลที่สืบทอดมรดก เช่น ทายาท (heirs)หรือผู้สืบสิทธิและผู้รับโอนสิทธิ (successors and assigns) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุญาโตตุลาการหรือศาล (ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทที่ต้องระงับ) ได้อ่านเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามเจตนาของคู่สัญญา ในการร่างสัญญาจึงต้องใช้ทักษะ (skill) อย่างเดียวกันกับการร่างกฎหมาย กล่าวคือ ต้องวางโครงสร้างหรือจัดหมวดหมู่ให้สัมพันธ์กันและสามารถตรวจดูได้ง่าย นอกจากนั้นจะต้องใช้ภาษากฎหมายที่ถูกต้องและชัดเจน สัญญากับกฎหมายคล้ายกันในแง่ของการเป็นคู่มือให้คู่สัญญาหรือประชาชนปฏิบัติ (operating manual) เพราะฉะนั้นหากมีข้อความที่เคลือบคลุมซึ่งสามารถตีความไปได้หลายทางก็อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ การร่างสัญญาควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1) การทำความเข้าใจกับประเภทของสัญญา การร่างสัญญาจะต้องวินิจฉัยให้ได้เสียก่อนว่านิติสัมพันธ์ที่ลูกค้าประสงค์จะทำขึ้นกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นสัญญาประเภทใด แม้ว่าลูกค้าได้เล่าข้อเท็จจริงให้เราฟังและบอกว่าต้องการอะไรเท่านั้น ซึ่งในบางกรณีความเข้าใจของลูกค้ากับผู้ร่างสัญญาเกี่ยวกับธุรกรรมบางอย่างไม่ตรงกัน จึงต้องทำความเข้าใจระหว่างกันให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่แก้ไม่ได้ 2) แบบและเงื่อนไขของนิติกรรม สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงในการลงมือร่างสัญญา ได้แก่ แบบของนิติกรรมเพราะถ้าการร่างสัญญามิได้คำนึงถึงแบบสัญญาก็จะเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานหนึ่งคนเป็นอย่างน้อย และระบุเลขหมายของหุ้นที่โอนกันนั้น ก็จะเป็นโมฆะ หรือพินัยกรรมประเภทที่ไม่ได้เขียนด้วยลายมือตนเอง แต่ทำเป็นฉบับพิมพ์ขึ้นมา ต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน ดังนั้น หากร่างพินัยกรรมประเภทนี้แต่ลืมใส่พยานไปด้วยก็จะทำให้พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ สัญญาบางชนิดกฎหมาย ควบคุมข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาไว้โดยเฉพาะ เช่น สัญญาเช่าซื้อ สัญญาบัตรเครดิต สัญญากู้ยืมเงินบางชนิดและกรมธรรม์ประกันภัย ฯลฯ ดังนั้น หากเราไปร่างข้อสัญญาที่ผิดแผกไปจากที่กฎหมายกำหนด หรือขาดข้อความที่กฎหมายกำหนดให้มีกฎหมายก็ถือว่ามีข้อความที่กำหนดนั้นอยู่ในสัญญา ในทางตรงกลับกัน ถ้ากฎหมายห้ามมิให้มีเงื่อนไขประการใดในสัญญาแต่เรายังใส่ลงไป กฎหมายก็ถือว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่มีอยู่ในสัญญา ก่อนที่จะร่างสัญญาจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ ถี่ถ้วนเสียก่อน 3) วัตถุประสงค์ของสัญญา ปัจจุบันเสรีภาพในการทำสัญญาถูกจำกัดด้วยกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection Laws) กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม (unfair contract terms) และกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่มุ่งคุ้มครองสังคมโดยรวม หรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือปากท้องของประชาชน การร่างสัญญาโดยไม่รู้หรือไม่คำนึงถึงกฎหมายต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้สัญญาเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมายได้ ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติห้ามมิให้สถาบันการเงิน (หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์) ถือหรือมีหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเกินอัตราที่กำหนดไว้ ดังนั้น หากในการร่างสัญญาซื้อขายหุ้นผู้ร่างไม่คำนึงถึงกฎหมายดังกล่าวก็อาจจะทำให้สัญญาซื้อขายหุ้นนั้นเป็นโมฆะได้ ยังมีกฎหมายอื่นอีกจำนวนมากที่จำกัดเสรีภาพในการทำสัญญาที่ผู้ที่ทำงานด้านปรึกษาจะต้องทราบ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายควบคุมธุรกิจต่างด้าว และกฎหมายที่ดิน เป็นต้น 4) การจัดโครงสร้าง (structure) ของสัญญา คือ การจัดเนื้อหาของสัญญาให้เป็นหมวดหมู่ เรื่องเดียวกันก็ให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันเพื่อให้มีความต่อเนื่อง และหาง่าย ไม่ข้ามไปข้ามมาอย่างไม่มีระบบ การร่างสัญญาจึงต้องมีกระบวนการคิด (thought process) และการวางแผน (planning) ไม่ใช่ว่าคิดอะไรได้ก็ใส่ลงไปตามอำเภอใจ ตัวอย่างเช่น คำนิยามก็ควรจัดให้รวมกันอยู่ภายใต้บทนิยาม (Definitions) ไม่ปล่อยให้กระจายอยู่ในเนื้อหาอย่างไม่มีระเบียบ โครงสร้างของสัญญาประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วยประกอบด้วย 4.1) ข้อสัญญามาตรฐาน (Standard Clauses) ข้อสัญญามาตรฐาน หมายถึง ข้อสัญญาที่ควรมีในสัญญาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายสัญญาเช่า สัญญาจ้างทำของหรือสัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ หากขาดข้อสัญญาเหล่านี้ไปจะทำให้ต้องเสียเวลาตีความกันว่าคู่สัญญาพึงต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร ข้อสัญญามาตรฐานโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย (1) ชื่อของคู่สัญญา (parties) ชื่อของคู่สัญญาไม่ใช่เป็นเพียงข้อสัญญามาตรฐานเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดหายไปสัญญาก็จะไม่เป็นสัญญา เราอาจจะนึกว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะการระบุชื่อคู่สัญญาเป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว แต่บางครั้งสามัญสำนึกก็ไม่ใช่ของสามัญ (common sense is not common) มีบ่อยครั้งที่มีการระบุชื่อคู่สัญญาผิดจนมีการฟ้องผิดตัวทำให้ศาลยกฟ้อง ที่เห็นได้ชัดคือ ในกรณีที่บริษัทเป็นคู่สัญญา แต่เขียนสัญญาไม่ถูกต้องทำให้กรรมการเป็นคู่สัญญาแทน กล่าวคือ แทนที่จะเขียนว่า “บริษัท ก. โดยนายแดง กรรมการผู้มีอำนาจ” กลับเขียนว่าสัญญาทำโดย “นายแดง กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ก.” ในทำนองเดียวกัน หนังสือมอบอำนาจแทนที่จะเขียนว่า “บริษัท ก. โดยนายแดงกรรมการผู้มีอำนาจ” กลับเขียนว่า “ นายแดง กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ก.” ผลที่ตามมาก็คือ บริษัทไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ได้เป็นคู่สัญญาและกรรมการก็อาจจะหลุดไปด้วยเพราะไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จะเห็นได้ว่าสิ่งเล็กน้อยเพียงเท่านี้หากไม่ใช้ความรอบคอบแล้วก็จะก่อให้ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ ในกรณีที่มีคู่สัญญาหลายฝ่ายก็ควรเขียนสัญญาให้ชัดว่า คู่สัญญาแต่ละฝ่ายนั้นมีความรับผิดร่วมกันหรือแทนกัน (joint and several liability) อย่างใดหรือไม่ เมื่อระบุชื่อคู่สัญญาโดยถูกต้องแล้วก็ควรระบุตำบลที่อยู่ของคู่สัญญาด้วยเพื่อความสะดวกในการฟ้องร้องหรือส่งหมายหากจำเป็น ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ควรระบุหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วย (2) วันที่ที่ทำสัญญา (date of agreement) สัญญาจะไม่ระบุวันที่ที่ทำสัญญาได้หรือไม่ การไม่ระบุวันที่ที่ทำสัญญาไม่ทำให้สัญญาเสียเปล่าแต่อย่างใด แต่ปัญหาที่จะตามมามีมาก เช่น หากเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาจะถือว่าสัญญาเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด หรือในทำนองเดียวกันอาจมีประเด็นว่าอายุความเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใด (3) สถานที่ทำสัญญา (place of making agreement) การไม่ระบุสถานที่ทำสัญญาก็ไม่ทำให้สัญญาเสียไปเช่นกัน แต่ก็อาจมีปัญหาตามมาในทำนองเดียวกันกับการไม่ระบุวันที่ที่ทำสัญญา สถานที่ทำสัญญาอาจเป็นตัวกำหนดว่าในกรณีที่ต้องมีการฟ้องร้องกันตามสัญญา นอกจากภูมิลำเนาของจำเลยแล้วจะฟ้องได้ที่ศาลใดอีก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ “ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น” น่าจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่ทำสัญญา ในกรณีที่ทำสัญญาที่มีข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศอาจมีประเด็นว่าจะพึงใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับกับสัญญา หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยข้อหนึ่งได้แก่ถิ่นที่ทำสัญญา ดังนั้น การระบุสถานที่ทำสัญญาจะเป็นการช่วยได้มาก (4) การโอนสิทธิ (Assignment) สัญญาในสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาทางธุรกิจ มักจะมีข้อสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิตามสัญญา กล่าวคือ คู่สัญญาสามารถโอนสิทธิตามสัญญาให้ผู้อื่นได้หรือไม่เพียงใด สัญญาบางชนิด เช่น สัญญาเช่า มีบทบัญญัติห้ามมิให้ผู้เช่านำทรัพย์สินที่เช่าไปให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินที่เช่านั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า ดังนั้น หากผู้ให้เช่าประสงค์ที่จะให้ผู้เช่าให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนได้ก็ต้องเขียนไว้ให้แจ้งชัด แต่แม้ข้อสัญญาข้อนี้จะใช้ชื่อว่า “การโอนสิทธิ” แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. ม. 306 เสมอไป ในบางกรณีอาจเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. ม. 350 หากมีการโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญา จึงควรให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ทำสัญญากันโดยความเห็นชอบของลูกหนี้เดิมเพื่อป้องกันปัญหาในภายหลัง (5) การเลิกสัญญา (Termination) ข้อสัญญานี้เป็นข้อสัญญาที่สำคัญที่จะลืมเสียไม่ได้ สัญญาอาจสิ้นสุดลง (expire) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หรืออาจถูกบอกเลิก (terminate) การบอกเลิกอาจเป็นการบอกเลิกเพราะอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา (termination with cause ) หรือสัญญาอาจให้สิทธิคู่สัญญาที่จะบอกเลิกสัญญาแม้ไม่มีเหตุให้เลิก (termination without cause) ก็ได้ แต่ต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน ในกรณีสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาจะมีปัญหาว่า หากไม่มีข้อสัญญาให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกได้หรือไม่หากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ผิดสัญญา ป.พ.พ. ม.386 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” จะเห็นได้ว่าจะเลิกสัญญาได้ก็ด้วยเหตุสองประการเพียงเท่านั้น คือ มีข้อสัญญาให้เลิกได้ หรือเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หากไม่มีข้อสัญญาให้เลิกก็ต้องไปดูว่าเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นหมายถึงอะไร ป.พ.พ. ม. 387 บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้” เพราะฉะนั้น “เลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” จึงหมายถึงเลิกโดยอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญานั่นเอง ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ผิดสัญญาและไม่มีข้อสัญญาให้เลิกก็เลิกไม่ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาในการตีความคู่สัญญาควรทำความตกลงเสียให้แจ้งชัดว่าจะเลิกสัญญาได้ในกรณีใดบ้าง เมื่อเลิกสัญญาหรือเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงเองตามกำหนดเวลาแล้ว อาจมีกรณีที่คู่สัญญายังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันอยู่ เช่น จะต้องปลดป้ายชื่อลง ขายสินค้าที่ยังค้างอยู่ใน สต๊อกคืน เลิกใช้เครื่องหมายการค้า หรือส่งคืนทรัพย์สินหรือคู่มือการปฏิบัติงานให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จึงควรเขียนไว้ให้ละเอียดภายใต้สัญญาข้อนี้ (6) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา (Amendment) มีหลายกรณีด้วยกันที่คู่สัญญาถกเถียงกันว่า สัญญาที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นต่อมาคู่สัญญาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยวาจาแล้วในการประชุมร่วมกันหรือตามที่ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ หรือในพฤติการณ์อื่นใด ในกรณีที่สัญญาที่ทำขึ้นนั้นเป็นสัญญาประเภทที่กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ คู่สัญญาก็สามารถสืบพยานแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานั้นได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. ม. 94 ดังนั้น การมีข้อสัญญาว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้ก็จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดการถกเถียงกันดังกล่าว ข้อสัญญาว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญามักจะเขียนว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับนี้ไม่ถือว่ามีผลผูกพัน เว้นแต่จะได้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย” (7) การแยกข้อสัญญาส่วนที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะ (Severability) ข้อสัญญาข้อนี้เป็นลักษณะการร่างสัญญาของนักกฎหมายคอมมอนลอว์ กล่าวคือ เขียนสัญญาเผื่อเอาไว้ว่าหากมีสัญญาข้อหนึ่งข้อใดที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะหรือไม่มีผลบังคับตามกฎหมายก็ให้กันส่วนที่ใช้ไม่ได้นั้นออกไป ส่วนที่ใช้ได้ก็คงให้มีผลบังคับต่อไป เมื่อพิจารณาโดยผิวเผินแล้วอาจเห็นว่าผู้ร่างไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองในการร่างสัญญา แต่แท้จริงแล้วสัญญาข้อนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึง ป.พ.พ. ม. 173 ที่บัญญัติว่า “ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้” ดังนั้น การกำหนดข้อนี้ไว้ในสัญญาจึงทำให้ไม่ต้องมาสืบพฤติการณ์แห่งกรณีหรือเจตนาของคู่กรณีเมื่อเกิดข้อโต้แย้งขึ้น อนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันมีกฎหมายเป็นจำนวนมากที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงเจตนาที่ผู้ร่างสัญญาอาจไม่ทราบ การมีข้อสัญญาข้อนี้จึงเป็นมาตรการป้องกันที่ดี (8) กฎหมายที่ใช้บังคับแก่สัญญา (Governing Law) ตามปกติ หากคู่สัญญาทำสัญญาในประเทศไทยโดยจะต้องมีการปฏิบัติตามสัญญาในประเทศไทยก็จะไม่มีการกำหนดกฎหมายที่ใช้บังคับแก่สัญญาเพราะต้องใช้กฎหมายไทยอยู่แล้ว แต่มีหลายกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนหรือบริษัทต่างประเทศก็จะมีการตกลงกันให้ใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่สัญญา จึงเป็นที่มาของสัญญาข้อนี้ ซึ่งพ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 เปิดโอกาสให้ใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่สัญญาได้ แต่การใช้กฎหมายต่างประเทศดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ 1) กฎหมายต่างประเทศนั้นต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของไทย 2) คู่กรณีที่อ้างกฎหมายต่างประเทศจะต้องพิสูจน์กฎหมายต่างประเทศนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล มิฉะนั้น ศาลจะใช้กฎหมายไทยบังคับ อนึ่ง การใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่สัญญานั้นต้องเป็นเรื่องหนี้เหนือบุคคล (jus in personam) เท่านั้น หากเป็นเรื่องสิทธิที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ (jus in rem) เช่น จำนอง จำนำ ต้องใช้กฎหมายที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ถ้าทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับจะไปใช้กฎหมายต่างประเทศไม่ได้ (9) คำบอกกล่าว (Notice) ในการบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก็ดี การบอกกล่าวเลิกสัญญาก็ดี หรือการบอกกล่าวอื่นๆ ตามที่สัญญากำหนดไว้ก็ดี หากไม่กำหนดวิธีการบอกกล่าวไว้ให้แจ้งชัดก็อาจจะเกิดการโต้แย้งกันขึ้นได้ การบอกกล่าวควรจะต้องทำเป็นหนังสือจ่าหน้าและส่งถึงบุคคลตามตำบลที่อยู่ที่กำหนดไว้ในสัญญา วิธีการบอกกล่าวทำได้หลายวิธี วิธีที่ใช้กันมากที่สุดได้แก่ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเพราะสามารถพิสูจน์ได้ง่ายหรืออาจส่งด้วยมือโดยมอบให้แก่ผู้รับโดยตรง (personal delivery) หรือส่งโดยพนักงานส่งเอกสาร (by messenger) ทางโทรสาร (facsimile) หรือโดยทางอีเมล์ก็ได้ (10) ข้อตกลงที่สมบูรณ์ท้ายสุด (Entire and Final Agreement) ข้อสัญญาข้อนี้มีที่มาจากนักกฎหมายคอมมอนลอว์เช่นกันและได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยนานแล้ว ซึ่งแม้แต่สัญญาของทางราชการก็มีข้อสัญญาข้อนี้ คำว่า “Entire Agreement” หมายความว่า ข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ระหว่างคู่สัญญาและไม่มีข้อสัญญาอื่นใดอีกนอกเหนือจากนี้ ส่วนคำว่า “Final Agreement” นั้นหมายความว่า ข้อความในสัญญานี้เป็นข้อตกลงท้ายสุดที่คู่สัญญาทำขึ้นและเป็นการยกเลิกเพิกถอนข้อตกลงอื่นใดก่อนหน้านี้ในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะกระทำโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ข้อสัญญาข้อนี้เป็นการห้ามไม่ให้ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอ้างถึงข้อตกลงที่เคยทำกันมาก่อนในชั้นเจรจาทำสัญญา เช่น ที่ปรากฏในบันทีกรายงานการประชุมหรือหนังสือโต้ตอบระหว่างคู่กรณี เป็นต้น ข้อสัญญาข้อนี้ต่างกับข้อสัญญาว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ข้อตกลงที่สมบูรณ์ท้ายสุดนี้เป็นมาตรการป้องกันการแอบอ้างว่าก่อนทำสัญญาคู่กรณีเคยตกลงกันไว้อย่างหนึ่งซึ่งต้องถือว่ามีผลผูกพันด้วยแม้จะมิได้เขียนไว้ในสัญญา แต่ข้อสัญญาว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานั้นมุ่งที่จะป้องกันการแอบอ้างว่าคู่สัญญาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาหลังจากที่ได้ทำสัญญากันแล้ว 4.2) ข้อสัญญาส่วนที่เป็นเนื้อหา (Substantive Clauses) หมายถึงสาระสำคัญของสัญญาซึ่งได้แก่สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ตัวอย่างเช่น ในสัญญาซื้อขายผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาสินค้า ส่วนผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าตามที่ตกลงกันภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา รายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวกับราคาสินค้า การชำระเงิน การส่งมอบและตรวจรับ ตลอดจนค่าใช้จ่าย ภาษีอากร เบี้ยปรับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง บรรดาข้อตกลงทางธุรกิจ (commercial points) ทั้งปวง จะนำมาบัญญัติไว้ในส่วนนี้ ในกรณีที่สัญญามีความซับซ้อนหรือมีข้อเทคนิคมากก็อาจจะต้องมีบทนิยาม (Definitions) ไว้ด้วยในทำนองเดียวกับการร่างกฎหมาย บทนิยามนี้จะอยู่ในตอนต้นๆของสัญญา การมีบทนิยามจะทำให้สัญญามีความชัดเจนและการจัดเป็นหมวดหมู่เฉพาะจะทำให้สามารถตรวจสอบข้อความได้ง่าย 4.3) ข้อสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution Clauses) หมายถึง ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นตามสัญญา คู่สัญญาจะใช้วิธีการใดระงับข้อพิพาท หากไม่เขียนไว้เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้วและตกลงกันไม่ได้ก็ต้องไปศาลสถานเดียว ดังเป็นที่ทราบกัน ปัจจุบันมีทางเลือกอื่นในการระงับ ข้อพิพาทแทนการไปศาลที่เรียกว่า Alternative Dispute Resolution (ADR) วิธีที่เป็นที่รู้จักดีได้แก่การ ไกล่เกลี่ย (mediation) และอนุญาโตตุลาการ (arbitration) การไกล่เกลี่ย คือ การที่คู่กรณีตกลงที่จะเจรจากันฉันท์มิตรโดยมีบุคคลที่เป็นกลาง (neutral) ทำหน้าที่เป็นผู้ประนอมข้อพิพาทโดยชักจูงให้แต่ละฝ่ายยอมลดละให้แก่กันและพบกันครึ่งทาง นอกจากผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นผู้ที่คู่กรณีทุกฝ่ายยอมรับนับถือแล้ว ผู้ไกล่เกลี่ยยังจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมในศิลปะของการไกล่เกลี่ยอีกด้วย การไกล่เกลี่ยที่จะบรรลุผลได้นั้น ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องมีบทบาทในเชิงรุก (proactive) การวางเฉยและปล่อยให้คู่กรณีพูดกันเองโดยไม่ทิศทางนั้นไม่ใช่การ ไกล่เกลี่ย หากไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จ ผู้ไกล่เกลี่ยก็จะให้คู่กรณีทำสัญญาประนีประนอมกันเพื่อให้มีผลผูกพันตามกฎหมายต่อไป ส่วนกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นกรณีที่คู่กรณีเจรจากันไม่สำเร็จแล้วจึงให้คนกลางเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้น กระบวนการอนุญาโตตุลาการจึงเป็นกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท (judicial process) เช่นเดียวกับการพิจารณาพิพากษาของศาล เพียงแต่คู่กรณีสามารถเลือกผู้ตัดสินเองได้เท่านั้น การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนั้นทำได้สองรูปแบบ รูปแบบแรก คือ คู่กรณีทำกันเองโดยร่างข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ (arbitration rules) ขึ้นเองและดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ (arbitration proceedings) โดยไม่ต้องอาศัยสถาบันอนุญาโตตุลาการ (arbitration institution) แห่งหนึ่งแห่งใด รูปแบบที่สองซึ่งเป็นที่นิยมกว่ารูปแบบแรก คือ สัญญาหลัก (เช่น สัญญาซื้อขาย จ้างทำของ ประกันภัย ฯลฯ) กำหนดให้ใช้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลให้สถาบันอนุญาโตตุลาการนั้นเข้ามาช่วยจัดการและอำนวยความสะดวก (แต่ไม่ใช่เข้ามาแทรกแซงในการพิจารณาชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ) ให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม (Thai Arbitration Institute, Office of the Judiciary) และสถาบันอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Board of Trade of Thailand) ส่วนสถาบันอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่นิยมใช้กันได้แก่สถาบันอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce) ในการใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ สถาบันดังกล่าวจะมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ (arbitration clause) มาตรฐานที่คู่สัญญาสามารถนำไปเขียนไว้ในสัญญาหลักได้เลย ตัวอย่างเช่น หากจะให้สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้จัดการกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็มีข้อแนะนำให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้ “ข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากหรือเกี่ยวข้องสัญญานี้ รวมทั้งปัญหาการผิดสัญญา การเลิกสัญญา หรือความสมบูรณ์ของกับสัญญานี้ ให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยการอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการเสนอข้อพิพาทเพื่อการอนุญาโตตุลาการและให้อยู่ภายใต้การจัดการของสถาบันดังกล่าว” การที่จะกำหนดให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทหรือไม่นั้นต้องมีการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้เพราะอาจมีผลเสียมากกว่าผลดีแก่คู่สัญญาฝ่ายที่เราร่างสัญญาให้ก็ได้ ตัวอย่าง เช่น หากจะต้องไปทำการอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศซึ่งต้องจ้างทนายความต่างประเทศและใช้กฎหมายต่างประเทศ ก็ต้องให้แน่ใจเสียก่อนว่าลูกความของเรามีความพร้อมที่จะกระทำเช่นนั้นได้ กล่าวคือ ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ใช่ข้อสัญญามาตรฐานที่จะนำมาใส่ในสัญญาโดยไม่มีการศึกษาและไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันคู่กรณี หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้ 6. ประเภทของสัญญา 1) สัญญามีค่าตอบแทนและสัญญาไม่มีค่าตอบแทน 2) สัญญาต่างตอบแทนและสัญญาไม่ต่างตอบแทน 3) สัญญาประธานและสัญญาอุปกรณ์ 4) สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก 7. ความหมายของมัดจำและเบี้ยปรับ ในการทำสัญญาคู่สัญญาสามารถมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการวางมัดจำหรือเบี้ยปรับไว้ในสัญญาได้เพื่อเป็นเครื่องมือบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามสัญญา หรือให้ชำระหนี้ตามสัญญา และเพื่อให้คู่สัญญามีความมั่นใจว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันและไม่ประสงค์จะให้มีข้อพิพาทกันในชั้นศาล มัดจำหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมอบให้ไว้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งขณะเข้าทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาและเพื่อเป็นประกันว่าจะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น (ป.พ.พ. มาตรา 377) เบี้ยปรับ หมายถึงค่าสินไหมทดแทนซึ่งอาจเป็นเงินหรือสิ่งของหรือการกระทำ ก็ได้ซึ่ง คู่กรณีได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าในเวลาทำสัญญาว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามสัญญา ให้เบี้ยปรับนั้นตกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง 8. การเลิกสัญญา เมื่อคู่สัญญาได้ตกลงทำสัญญาแล้วคู่สัญญาย่อมผูกพันตนในอันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่กันและเมื่อต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้วสัญญาย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงหากไม่มีการทำสัญญาขึ้นใหม่นอกจากนี้สัญญาอาจสิ้นสุดลงได้ด้วยการบอกเลิกสัญญาโดยคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายระบุให้ทำได้ในกรณีนี้ฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจะต้องเป็นฝ่ายที่มีสิทธิตามกฎหมาย ในการที่จะบอกเลิกด้วย สิทธิบอกเลิกสัญญามีได้ 2 กรณีคือ 1. สิทธิบอกเลิกสัญญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (1) สิทธิเลิกสัญญาจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ (ม. 387) (2) สิทธิเลิกสัญญาจากการชำระหนี้เป็นพ้นวิสัย (ม. 388) 2. สิทธิเลิกสัญญาตามข้อกำหนดในสัญญา เป็นกรณีที่สัญญาที่ได้ทำกันขึ้นนั้นได้ระบุเหตุแห่งการเลิกสัญญาเอาไว้โดยชัดแจ้ง เมื่อมีเหตุดังที่ระบุไว้ได้เกิดขึ้นจริง คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวการเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้โดยทันที(ป.พ.พ ม.386 ว.1) แต่มีข้อพึงระวังว่าเมื่อบอกกล่าวการเลิกสัญญาออกไปแล้ว ย่อมไม่สามารถบอกถอนได้ในภายหลัง (ป.พ.พ ม.386 ว.2) |
16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี) | |
ไม่ระบุ |
17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี) | |
ไม่ระบุ |
18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure) | |
- การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบแบบอัตนัย - แฟ้มสะสมผลงาน - การสอบสัมภาษณ์ |