หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

เตรียมพื้นที่สำหรับปลูกทุเรียน

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-YRZI-1073A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ เตรียมพื้นที่สำหรับปลูกทุเรียน

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2567

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

รหัสอาชีพ 6112 : ผู้ปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล (ISCO, 2008)


1 6112 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
ผู้ที่มีสมรรถนะของหน่วยสมรรถนะนี้จะต้องเตรียมพื้นที่ปลูกทุเรียน ประกอบด้วยการสร้างแปลงปลูกตามแผนที่กำหนด เตรียมดินตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จัดเตรียมแหล่งน้ำและวางระบบการให้น้ำและจัดการการให้ปุ๋ยดูแลและบำรุงรักษาต้นแม่พันธุ์ทุเรียน การให้น้ำ ปุ๋ย ป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการและช่วงเวลาที่เหมาะสม

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้ปฏิบัติงานเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ผู้ปลูกทุเรียน

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
รหัสอาชีพ 6112 : ผู้ปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผล (ISCO, 2008)

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ของกรมวิชาการเกษตร

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
A221

ทำแปลงปลูกทุเรียนตามแผนที่กำหนด

ยกร่อง/พูนดิน/ขุดหลุมตามผังแปลงปลูกได้

A221.01 216356
A221

ทำแปลงปลูกทุเรียนตามแผนที่กำหนด

เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ในการปลูกให้พร้อมใช้งาน

A221.02 216357
A222

เตรียมดินเพื่อการปลูกทุเรียนตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

ปรับปรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดินได้

A222.01 216358
A222

เตรียมดินเพื่อการปลูกทุเรียนตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

เตรียมหลุมปลูกตามระยะปลูกที่กำหนดไว้

A222.02 216359
A223

จัดเตรียมแหล่งน้ำและจัดทำระบบน้ำในแปลงทุเรียน

เตรียมแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ของแปลงทุเรียน

A223.01 216360
A223

จัดเตรียมแหล่งน้ำและจัดทำระบบน้ำในแปลงทุเรียน

ติดตั้งระบบน้ำและระบบการให้น้ำให้ทั่วถึง

A223.02 216361
A224

ระบบการให้ปุ๋ยในแปลงทุเรียน

ให้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชและช่วงเวลาที่เหมาะสม

A224.01 216362
A224

ระบบการให้ปุ๋ยในแปลงทุเรียน

ตรวจสอบ บำรุงรักษาระบบการให้ปุ๋ยให้พร้อมใช้งาน

A224.02 216363

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

1) มีทักษะเกี่ยวกับการอ่านค่าวิเคราะห์ดินและน้ำ



2) มีความรู้เรื่อง การให้ปุ๋ยพร้อมน้ำ


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ


  1. มีทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ

  2. มีทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการธาตุอาหารพืช

  3. ทักษะการจดบันทึก

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1)  มีความรู้ เรื่อง การบริหารจัดการน้ำ



2)  มีความรู้ เรื่อง การบริหารจัดการธาตุอาหารพืช


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) ทักษะและความรู้ที่ต้องการ



(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)



1)  หลักฐาน/หนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้



2)  แฟ้มสะสมงาน (Portfolio)



(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)



1)  หลักฐานคุณวุฒิการศึกษา



2)  หลักฐานการผ่านการอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ



3)  ผลการสอบข้อเขียน



4)  ผลการทดสอบสัมภาษณ์/ปฏิบัติ



(ค) คำแนะนำในการประเมิน



1)  ผู้ประเมินจะดำเนินการตรวจประเมินจากหลักฐาน เช่น แผนการปลูก ภาพถ่ายการวางระบบต่างๆ ภายในแปลงปลูก เป็นต้น พร้อมทั้งคำอธิบายหลักการหรือเหตุผลประกอบ



2) หลักฐานที่ต้องการเพื่อแสดงถึงหน่วยสมรรถนะนี้ ต้องมีความสัมพันธ์กับข้อกำหนดของหน่วยสมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงานในหน่วยสมรรถนะนี้ โดยหลักฐานในที่นี้ต้องแสดงถึง








      • ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง

      • วิธีการปฏิบัติงานในแปลง กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

      • ขอบเขตด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง







(ง) วิธีการประเมิน



      - การสอบข้อเขียน



      - การสอบสัมภาษณ์



      - แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)


15. ขอบเขต (Range Statement)

  1. แนวทางที่เหมาะสมในการจัดระยะปลูก



การปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่ดอน ได้ปรับเปลี่ยนระยะปลูกเพื่อลดขนาดทรงพุ่ม ทำให้สะดวกต่อการจัดการและการใช้เครื่องจักร ตัวอย่างระยะปลูกใหม่ เช่น 6 x 10 เมตร, 8 x 10 เมตร, 8 x 12 เมตร และ 4 x 12 เมตร



การจัดสวนทุเรียนในพื้นที่ลุ่ม



การเตรียมพื้นที่




  • พื้นที่ลุ่ม: ต้องขุดดินมาตั้งโคกหรือพูนดินและควบคุมระดับน้ำในท้องร่องให้เหมาะสมกับ

    การเจริญเติบโตของทุเรียน

  • พื้นที่ที่ดอน: ปรับพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอและมีการระบายน้ำดี อาจปรับให้มีความลาดเทประมาณ 10% และตั้งโคกเพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า



การทำสวนทุเรียนแบบยกร่องในพื้นที่ราบและลาดเท



ในพื้นที่ราบและลาดเท ชาวสวนจะตั้งโคกหรือพูนดิน เพื่อให้ดินร่วนซุยและการใช้เครื่องจักรกล

ได้อย่างสะดวก รวมถึงการทำสวนทุเรียนแบบขั้นบันไดในพื้นที่ลาดชัน เช่น ในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งต้องมีการจัดการเรื่องน้ำที่ยุ่งยากกว่า



การจัดระยะปลูกทุเรียนมีการปรับเปลี่ยนตามความสะดวกในการจัดการและการใช้เครื่องจักร

ในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่และความต้องการการควบคุมน้ำ โรคและแมลงศัตรูพืช




  1. แนวทางที่เหมาะสมในการวางระบบน้ำ



          หลังจากเตรียมพื้นที่สวนทุเรียนเสร็จแล้ว ควรติดตั้งระบบน้ำให้พร้อมก่อนการปลูก แม้ในช่วงฤดูฝน การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ต้นทุเรียนเติบโตดี ระบบน้ำที่แนะนำสำหรับสวนทุเรียนรุ่นใหม่ คือ ระบบสปริงเกอร์ ซึ่งมีข้อดีหลายประการ องค์ประกอบของระบบการให้น้ำแก่พืชที่ผู้ปลูกต้องทำความเข้าใจหลายประเด็น ดังนี้




  1. ความต้องการน้ำของพืช: ควรคำนวณความต้องการน้ำในแต่ละวันและช่วงการเติบโตของต้นทุเรียน เช่น ต้นทุเรียนอายุ 10 ปี ในระยะติดผลต้องการน้ำวันละประมาณ 300 ลิตร ทั้งนี้ ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับเนื้อดินและสภาพอากาศ

  2. ฤดูกาล: ฤดูแล้งต้นทุเรียนจะต้องการน้ำมากกว่าฤดูฝน

  3. สภาพแวดล้อม: ลมแรง อุณหภูมิสูง แดดจัด อากาศแห้ง ทำให้ต้นทุเรียนต้องการน้ำมากขึ้น

  4. สภาพทางกายภาพของดิน: ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี มีหน้าดินลึก



 



                           หลักในการวางระบบน้ำที่เหมาะสมสำหรับสวนทุเรียน




  1. การเตรียมแหล่งน้ำ


    • ใช้ความต้องการน้ำสูงสุดของต้นทุเรียนในการคำนวณ เช่น สวนทุเรียน 300 ต้นต้องการน้ำประมาณ 90,000 ลิตรต่อวัน หรือ 32,850 คิวบิกเมตรต่อปี ควรเตรียมแหล่งน้ำให้เกินความต้องการประมาณ 10% ดังนั้นควรมีแหล่งน้ำขนาดไม่น้อยกว่า 37,000 คิวบิกเมตร



  2. ใช้ค่าอัตราการระเหยน้ำ

    • คำนวณปริมาณน้ำที่ระเหยจากอ่างเก็บน้ำ สมมุติว่าอัตราการระเหยวันละ 3 มิลลิเมตร/ตารางเมตร/วัน จะมีการระเหยน้ำไป 1,095 มิลลิเมตร/ตารางเมตร/ปี หรือประมาณ 1.1 คิวบิกเมตร/ตารางเมตร/ปี หากอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ครึ่งไร่หรือ 800 ตารางเมตร จะต้องมีการระเหยน้ำไปประมาณ 880 คิวบิกเมตร/ปี



  3. การออกแบบระบบน้ำ

    • คำนวณและออกแบบขนาดของเครื่องสูบน้ำ ท่อส่งน้ำ ท่อกระจายน้ำ และหัวจ่ายน้ำให้สอดคล้องกัน คำนึงถึงอัตราการไหลของน้ำที่มาทดแทนหลังสูบไปใช้





 



               การวางระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพ



การติดตั้งระบบน้ำเป็นศาสตร์ที่สำคัญต่อความสำเร็จในการลงทุนในสวนทุเรียน ชาวสวนทุเรียน

ควรติดตั้งระบบน้ำอย่างมืออาชีพหรือใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญ โดยต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ ได้แก่:




  • ทุน

  • รายละเอียดผังสวน

  • ระยะปลูก

  • ที่ตั้งแหล่งน้ำ

  • ปริมาณและคุณภาพน้ำ

  • ลักษณะโครงสร้างดิน

  • ปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝนในรอบปี หรือข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี



        ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้การออกแบบระบบน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการให้น้ำหรือการให้น้ำพร้อมปุ๋ยในสวนทุเรียน



 




  1. แนวทางที่เหมาะสมในการเตรียมดินปลูกและการปลูกทุเรียน




  • ยกโคกหรือสันร่องกว้างประมาณ 6 เมตร ระยะห่างระหว่างสันร่อง 10 เมตร

  • วางระยะปลูกเป็น 7 x 10 เมตร หรือ 8 x 10 เมตร เพื่อให้การจัดการได้สะดวก



การเตรียมดิน:




  • ใช้รถแบคโฮขุดและผสมดินปลูก

  • ส่วนประกอบของดินผสมยังคงเหมือนเดิม: หน้าดินเดิม, ปุ๋ยอินทรีย์, ปุ๋ยเคมี (เช่น ปุ๋ยหินฟอสเฟต หรือสัดส่วน 0-3-0)



การปลูก:




  • ปลูกแบบ "นั่งแท่น": เอาต้นพันธุ์ออกจากถุงชำวางบนดินในหลุมปลูก แล้วใช้ดินรอบๆ มากลบโคลนพอมิดดินที่ชำต้นพันธุ์ รดน้ำให้ดินชุ่ม

  • ปักไม้มัดต้นพันธุ์กันล้ม

  • ในบางพื้นที่ การขุดหลุมปลูกให้เป็นแอ่งกระทะเพื่อรับน้ำไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากมีการใช้ระบบสปริงเกอร์



เทคนิคการนำต้นพันธุ์ออกจากถุงชำ:




  • ตรวจสอบลักษณะรากของต้นพันธุ์ ถ้ารากขดตัว ควรจัดรากใหม่ไม่ให้ขด โดยการดึงรากออกมาให้กระจายหรือการตัดรากแก้วที่ขดออกไป



     การใช้เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้การปลูกทุเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถรับมือกับข้อจำกัดด้านแรงงานและเทคโนโลยีในปัจจุบัน



 




  1. แนวทางที่เหมาะสมในการจัดการธาตุอาหารในสวนทุเรียน



      หลักการทั่วไป:




  • พืชต้องได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม

  • การขาดหรือเกินธาตุอาหารจะทำให้พืชเจริญเติบโตไม่ดี

  • ธาตุอาหารจำเป็นสำหรับพืชมี 16 ธาตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม:

    1. กลุ่มจากน้ำและอากาศ: คาร์บอน (C), ไฮโดรเจน (H), ออกซิเจน (O)

    2. กลุ่มจากดิน: ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K), แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg), กำมะถัน (S), เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), โบรอน (B), โมลิบดินัม (Mo), คลอรีน (Cl)





      การจัดการธาตุอาหาร:




  • พืชต้องได้รับธาตุทั้ง 16 อย่างเพียงพอ การขาดธาตุใดธาตุหนึ่งจะทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตตามปกติ และอาจแสดงอาการขาดธาตุออกมา

  • ธาตุอาหารที่มีอยู่น้อยที่สุดจะเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตหรือผลผลิตของพืช



ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ



 



     การตอบสนองต่อปุ๋ย:




  • การใส่ปุ๋ยจะช่วยเพิ่มผลผลิตจนถึงจุดหนึ่งที่เรียกว่า "ธาตุอาหารขาดแคลน" หลังจากจุดนี้ ผลผลิตจะไม่เพิ่มขึ้นถึงแม้ใส่ปุ๋ยเพิ่ม เรียกว่า "ธาตุอาหารเหมาะสม"

  • การใส่ปุ๋ยมากเกินไปจะทำให้เกิด "ธาตุอาหารเป็นพิษ"



   



      การจัดการดินในสวนไม้ผล:




  1. ความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH):


    • pH มีผลต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร

    • ฟอสฟอรัสมีประโยชน์สูงสุดเมื่อ pH อยู่ที่ 5.5 ถึง 6.5

    • การปรับ pH ของดินทำได้โดยการใส่ปูน เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล หรือปูนโดโลไมท์ ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน



  2. ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน:

    • อินทรียวัตถุช่วยปรับโครงสร้างดินและให้ธาตุอาหารแก่พืช

    • ดินที่เหมาะสมควรมีอินทรียวัตถุ 5% (ดินในอุดมคติ) แต่ดินที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่มีน้อยกว่า 2.5%

    • การเพิ่มอินทรียวัตถุต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป





การจัดการธาตุอาหารสำหรับไม้ผล:




  • ธาตุอาหารที่พืชมักขาดในภาคตะวันออกของไทย ได้แก่ ไนโตรเจน โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี โดยเฉพาะสังกะสีจะขาดมากที่สุด

  • ฟอสฟอรัสมักถูกใส่มากเกินความต้องการ



การจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในสวนทุเรียนต้องคำนึงถึงการจัดการดิน ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และปริมาณอินทรียวัตถุ รวมถึงการใส่ปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูงสุด



 



แนวทางที่เหมาะสมในการให้ปุ๋ยพร้อมน้ำ



การให้ปุ๋ยทางระบบน้ำแก่พืช (Fertigation) มีความหมายมาจากคำว่า Fertilizer ร่วมกับ Irrigation คือ การนำปุ๋ยผสมรวมกับการให้น้ำ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบน้ำได้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้ปุ๋ยแก่พืชได้ ปัจจุบันอาจมีการประยุกต์ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารควบคุมการเจริญเติบโตร่วมกับระบบน้ำด้วย



ข้อดีของการให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ



1. เป็นการให้ปุ๋ยที่มีความสม่ำเสมอพร้อมกับน้ำ ในความเข้มข้นที่พอเหมาะลงบริเวณรากพืชหนาแน่น ไม่ตื้นหรือลึกเกินไป เนื่องจากการให้น้ำแบบฉีดฝอยหรือแบบน้ำหยดรากพืชมีปริมาณหนาแน่นที่สุดบริเวณพื้นที่เปียก



2. สามารถปรับสูตรและความเข้มข้นของปุ๋ยได้ทันทีรวดเร็ว (ทุกวัน) ตามความต้องการของพืชและสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นระบบที่มีการให้ปุ๋ยครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง จึงไม่ค่อยสะสมในดิน ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนสูตรหรือสัดส่วนของปุ๋ย พืชก็จะตอบสนองได้รวดเร็วกว่าระบบที่ให้ครั้งละมากๆ ลงในดิน



3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช 10-50% จากรายงานการทดลองทั่วๆไปการให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ทางดินถึง 10-50% ของระบบการให้ทางดินขึ้นอยู่กับระบบการให้ปุ๋ยน้ำที่ใช้ และความถี่ในการให้ปุ๋ย เนื่องจากการให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะช่วยลดการชะล้าง โดยเฉพาะไนโตรเจน และเป็นการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอทั่วบริเวณรากพืช ไม่เหมือนกันให้ปุ๋ยทางดินทั่วๆไป ซึ่งเป็นการให้เป็นจุด นานๆครั้ง เช่น 3-6 เดือน บริเวณที่มีเม็ดปุ๋ยลงในดินช่วงแรก จะมีความเข้มสูง รากพืชบริเวณนั้นอาจได้รับอันตรายได้ ทำให้การดูดใช้ปุ๋ยไม่ดี



4. ลดค่าแรงและเวลาในการให้ปุ๋ย เนื่องจากปุ๋ยไปกับน้ำจึงไม่ต้องเสียแรงงานคนหว่านปุ๋ย และสามารถให้ปุ๋ยได้ถี่มากน้อยตามความต้องการ อาจให้ทุกครั้งที่ให้น้ำหรือครั้งเว้นครั้งตามความต้องการ



5. เพิ่มผลผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณ เนื่องจากพืชได้น้ำและปุ๋ยสม่ำเสมอ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนชนิดและสัดส่วนของปุ๋ยตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของพืช นอกจากนี้ ยังสามารถผสมธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมลงในระบบน้ำได้เลย โดยใส่ในรูปของเกลือที่ละลายน้ำง่าย เช่น ZnSo4, MnSO4, CuSO4 เป็นต้น ทำให้ประหยัดปุ๋ยทางใบที่มีราคาแพงลงได้มาก



6. สามารถผสมปุ๋ยให้ทางระบบน้ำใช้เองได้ ทำให้ต้นทุนถูกลงมาก บางส่วนสามารถผสมปุ๋ยให้ทางน้ำมีราคาเท่ากับการให้ปุ๋ยทางดิน แต่ประสิทธิภาพดีกว่า



ข้อจำกัดและข้อควรระวัง



1. ปุ๋ยที่ใช้ต้องละลายน้ำหมดและมีความบริสุทธิ์สูง จึงมีราคาแพงและถ้าจะผสมปุ๋ยใช้เอง ซึ่งมีราคาถูกกว่าปุ๋ยสำเร็จรูปมากต้องใช้แม่ปุ๋ย ซึ่งในปัจจุบันสามารถหาซื้อแม่ปุ๋ยได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีหลายบริษัทสั่งแม่ปุ๋ยเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น



2. ต้องมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน ปุ๋ย และน้ำที่ใช้ เนื่องจากปุ๋ยบางชนิดไม่สามารถผสมด้วยกันได้ที่ความเข้มข้นสูงๆ นอกจากนี้ผลของเกลือที่ละลายอยู่เดิมในน้ำและค่า pH ของน้ำก็จะมีผลต่อการละลายตัวของปุ๋ยบางชนิด และมีผลต่อการตกตะกอนของปุ๋ยด้วย ดังนั้นเกษตรกรที่จะใช้ปุ๋ยในระบบน้ำควรหาความรู้ในส่วนนี้ ซึ่งควรต้องมีการส่งตัวอย่างดินและน้ำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบถึงคุณสมบัติของดินและน้ำที่จะใช้ปลูกพืช ทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามในสภาพทั่วๆไปของประเทศไทยชนิดของปุ๋ยที่ให้ในระบบน้ำจะเป็นปุ๋ยทั่วไป เช่น ยูเรีย โพแทสเซียมคลอไรด์หรือซัลเฟต ปุ๋ยพวกนี้จะมีปัญหาในการให้ปุ๋ยในระบบน้ำน้อยมาก



3. ค่าติดตั้งระบบขั้นต้นมีราคาสูง ในที่นี้รวมถึงระบบการให้น้ำด้วย คือ อาจเป็นแบบน้ำหยดหรือแบบมินิสสปริงเกอร์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียอยู่แล้วในระบบการทำสวนสมัยใหม่ ส่วนอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้ปุ๋ยในระบบน้ำ เมื่อเทียบกับทั้งระบบถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นน้อยมาก ดังนั้นในส่วนที่มีการเดินระบบน้ำอยู่แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำเพิ่มเข้าไปด้วย


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

  1. ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน

  2. ประเมินโดยการสัมภาษณ์

  3. ประเมินจากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

  4. ประเมินจากหลักฐานอื่นๆ เช่น หนังสือรับรอง เอกสารรับรองการผ่านการอบรม หนังสือรับรองการทำงาน/ผ่านงาน โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการสัมภาษณ์



ยินดีต้อนรับ