หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอย่างเชี่ยวชาญ

สาขาวิชาชีพบริการการศึกษา วิจัย และภาษา


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ILS-FWWS-311B

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารอย่างเชี่ยวชาญ

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2566

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

ผู้สอนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
ผู้สอบได้หน่วยสมรรถนะนี้ต้องมีความสามารถด้านการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่เหมาะสม มีการเสริมต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง ใช้สื่อการเรียนการสอนและแหล่งการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา นำความรู้เนื้อหาวิชาด้านภาษาและวัฒนธรรมพื้นฐานมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน มีการคิดไตร่ตรอง (Reflective thinking) เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่หลากหลาย สามารถจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการส่งเสริมการใช้ภาษาที่สภาพจริง และการเรียนรู้แบบเชิงรุก สร้างเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ได้ มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้อย่างเหมาะสม บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ โดยอ้างอิงจากแนวคิด ทฤษฎี และ/หรือเอกสารทางวิชาการ  

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้สอนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
ISCO 2353 Other language teachers

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
ไม่มี

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
00131 จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.1 จัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ โดยการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

00131.01 203954
00131 จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.2 จัดการเรียนรู้ภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และลงมือฝึกปฏิบัติทักษะภาษาที่เน้นการใช้ภาษาสภาพจริง ตามหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล

00131.02 203955
00131 จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.3 เสริมต่อการเรียนรู้ (scaffold) และส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ทักษะการคิดขั้นสูง ในการเรียนรู้ 

00131.03 203956
00131 จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.4 ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบเชิงรุก (active learning) 

00131.04 203957
00132 สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้

2.1 เสริมแรงทางบวก แก่ผู้เรียน

00132.01 203958
00132 สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้

2.2 ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้สอน-ผู้เรียน และ ผู้เรียน-ผู้เรียน 

00132.02 203959
00132 สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้

2.3 สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้ ผ่อนคลาย สนุกสนาน เอื้อต่อการเรียนรู้ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม(cultural diversity) ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

00132.03 203960
00133 ใช้สื่อการเรียนการสอน และแหล่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา

3.1 ใช้สื่อการเรียนการสอน และแหล่งการเรียนรู้ ช่วยผู้เรียนให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนหรือเรียนรู้ได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น

00133.01 203961
00133 ใช้สื่อการเรียนการสอน และแหล่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา

3.2 ใช้สื่อการเรียนการสอน ที่มีขนาด สี ภาพ และเนื้อหาถูกต้อง เหมาะสม ทันสมัย และ เร้าความสนใจของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

00133.02 203962
00133 ใช้สื่อการเรียนการสอน และแหล่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา

3.3 ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้แหล่งการเรียนรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่างๆ ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเองได้อย่างมีวิจารณญาณ

00133.03 203963
00134 นำความรู้เนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรม มาใช้ในการจัดการเรียนรู้

4.1 ประยุกต์ใช้ความความรู้เนื้อหาด้านภาษา ทฤษฎีทางภาษา หรือทฤษฎีการเรียนรู้ภาษา ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาด้านภาษา และสอดแทรกวัฒนธรรมทางภาษา ให้ผู้เรียนเข้าใจ กระจ่าง  ถูกต้อง และเหมาะสมกับผู้เรียนและความต้องการจำเป็นของผู้เรียน (learner’s needs)

00134.01 203964
00134 นำความรู้เนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรม มาใช้ในการจัดการเรียนรู้

4.2 จัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม(cultural diversity) ของผู้เรียน และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้และเข้าใจถึงวัฒนธรรมของตนเองและผู้อื่น และมีความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม (cultural awareness)

00134.02 203965
00134 นำความรู้เนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรม มาใช้ในการจัดการเรียนรู้

4.3 ระบุ อธิบาย และชี้แนะปัญหา และข้อผิดพลาด ทางภาษาของผู้เรียนโดยใช้วิธีการและเทคนิคต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับเวลาและโอกาส และให้คำแนะนำป้อนกลับที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมต่อผู้เรียน 

00134.03 203966
00135 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

5.1 สร้างเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ได้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบท และมีความตรงด้านเนื้อหา

00135.01 203967
00135 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

5.2 ใช้เครื่องมือเครื่องมือวัดผลที่สร้างขึ้นได้

00135.02 203968
00135 วัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

5.3 อธิบายผลการประเมินให้แก่ผู้เรียนได้อย่างชัดเจน

00135.03 203969
00136 คิดไตร่ตรอง (reflective thinking)  เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้

6.1 บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ แต่ละบทเรียนอย่างถี่ถ้วนและเป็นระบบ 

00136.01 203970
00136 คิดไตร่ตรอง (reflective thinking)  เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้

6.2 คิดไตร่ตรอง ถึงจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงในการจัดการเรียนรู้ของตน และสรุปแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยอ้างอิงจากแนวคิด ทฤษฎี และ/หรือเอกสารทางวิชาการ

00136.02 203971

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

ไม่มี


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1.    ทักษะการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ การอธิบายความ และการสื่อความ

2.    ทักษะการตั้งคำถาม และตอบคำถาม

3.    ทักษะการใช้หรือผลิตสื่อการเรียนการสอน แหล่งการเรียนรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่กำหนดในแผนการจัดการเรียนรู้

4.    ทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy) และการรู้สารสนเทศดิจิทัล (digital literacy)

5.    ทักษะการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของผู้เรียน

6.    ทักษะการคิดไตร่ตรอง (reflective thinking) และการสังเคราะห์ผลจากการคิดไตร่ตรอง

 

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1.    หลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

2.    หลักการเรียนรู้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

3.    หลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล (differentiated instruction)

4.    การเสริมต่อการเรียนรู้ (scaffolding)

5.    การเรียนรู้ด้วยตนเองแบบเชิงรุก (active learning)

6.    หลักการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง 

7.    จิตวิทยาการเรียนรู้ เช่น การเสริมแรง การกระตุ้นความสนใจ

8.    เนื้อหาวิชาด้านภาษา หลักทางภาษาศาสตร์ และวัฒนธรรมของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ และวัฒนธรรมในบริบทของผู้เรียน

9.    การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม (intercultural communicative competence)

10.    เนื้อหาด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) ของผู้เรียน และการพัฒนาความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม (cultural awareness)

11.    หลักการ วิธี และเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ภาษา และการแปรผลการวัด และการประเมินผลการเรียนรู้ภาษา

12.    หลักสถิติต่าง ๆ ที่ใช้ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

 


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก)    หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

        1.    เอกสารที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่

              1.1    สื่อการเรียนการสอน แหล่งการเรียนรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้

              1.2    เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สร้างขึ้น

              1.3    บันทึกการคิดไตร่ตรอง (reflective journal) ด้านการจัดการเรียนรู้

         2.    เอกสารประกอบการประเมิน ได้แก่ 

               2.1    แผนการจัดการเรียนรู้รายคาบ

               2.2    เอกสารประกอบที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ เช่น สำเนาเอกสาร หนังสือ แบบเรียน เฉพาะส่วนที่ผู้สมัครใช้ในการจัดการเรียนรู้คาบนั้น ๆ แบบฝึกหัด เอกสารประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นต้น

               2.3    เอกสารจากผู้เรียน เช่น ตัวอย่างผลงานต่าง ๆ แบบฝึกหัด

 (ข)    หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

          ไม่มี 

(ค)    คำแนะนำในการประเมิน

         ผู้เข้ารับการประเมินต้องผ่านการประเมิน ที่ครอบคลุมในทุกสมรรถนะย่อยที่กำหนด ในกรณีที่ผู้รับการประเมินผ่านไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ประเมินจะต้องแจ้งหน่วยสมรรถนะที่ไม่ผ่าน และให้ผู้รับการประเมินไปทบทวนสมรรถนะที่ยังไม่ผ่านและสามารถกลับมาทดสอบหน่วยสมรรถนะใหม่อีกครั้ง

(ง)    วิธีการประเมิน

        ผู้ประเมินทำการประเมินหน่วยสมรรถนะโดย

         1.    การสังเกตการจัดการเรียนรู้ อาจอยู่ในรูปแบบของการสังเกตการจัดการเรียนรู้ ในห้องเรียนขณะผู้เข้ารับการประเมินจัดการเรียนรู้ หรือการบันทึกวีดีโอการจัดการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการประเมิน โดยประเมินด้วยแบบประเมินการสังเกตการจัดการเรียนรู้ 

         2.    การประเมินแฟ้มพัฒนางาน ได้แก่ สื่อการเรียนการสอน และแหล่งการเรียนรู้ที่ใช้ เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ใช้ และบันทึกการคิดไตร่ตรอง (reflective journal) ด้านการจัดการเรียนรู้ โดยประเมินด้วย แบบประเมินคุณภาพสื่อการเรียนการสอน แบบประเมินคุณภาพเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และแบบประเมินบันทึกการคิดไตร่ตรอง (reflective journal) ด้านการจัดการเรียนรู้

         3.    การสัมภาษณ์

 


15. ขอบเขต (Range Statement)

(ก)    คำแนะนำ 

        ไม่มี

(ข)    คำอธิบายรายละเอียด

         คำอธิบายรายละเอียดของหน่วยสมรรถนะ มีดังนี้

         1.    จัดการเรียนรู้โดยมีขั้นตอนสำคัญครบถ้วนตามหลักการการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่น การนำเข้าสู่บทเรียนหรือกระตุ้นความสนใจก่อนเริ่มบทเรียน ขั้นดำเนินการจัดการเรียนรู้ ขั้นสรุปบทเรียน เป็นต้น

         2.    จัดการเรียนรู้โดยโดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เช่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเสมอภาค

         3.    การคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ครอบคลุมถึง ความสนใจ ความถนัด พื้นฐานความรู้ ความต้องการ ลีลาการเรียนรู้ (learning ) วัฒนธรรม ฯลฯ

         4.    สื่อการเรียนการสอนต้องเหมาะสมกับบทเรียน มีคุณภาพตามเกณฑ์ และใช้ได้จริง อาจเป็นสื่อการเรียนการสอนสำเร็จรูปที่ได้คัดเลือกอย่างมีหลักการ อาจมีการปรับปรุง ดัดแปลงหรือไม่ก็ได้ หรือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นเองโดยอิงหลักการผลิตสื่อการเรียนการสอน 

         5.    สื่อการเรียนการสอนอาจเป็นสื่อการเรียนการสอนประเภทสิ่งพิมพ์ สื่อวัสดุ สื่อบุคคล สื่อเทคโนโลยี ฯลฯ 

         6.    แหล่งการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศต้องมีความถูกต้องทางด้านเนื้อหา เหมาะสมกับบทเรียน และผู้เรียน เช่น มีการอ้างอิงข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักสากล ไม่มีการคัดลอกผลงาน (plagiarism)  ไม่มีข้อมูลที่ผิดต่อคุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น

         7.    วัฒนธรรมทางภาษา และการใช้ภาษาอันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม เช่น ระดับภาษา การใช้ภาษาสุภาพ อวัจนภาษา สำนวนต่าง ๆ คำเรียกขาน ความแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษแบบต่าง ๆ 

         8.    การคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) ของผู้เรียน เช่น วัฒนธรรมถิ่น ศาสนา ความเชื่อ เป็นต้น

         9.    เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นอาจมีได้หลากหลายรูปแบบ อาจเป็นแบบทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้  เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบท (practicality) และมีความตรงด้านเนื้อหา (content validity)

       10.    การวัดผลการเรียนรู้อาจเป็นการวัดผลการปฏิบัติงาน การวัดผลความรู้ การวัดผลทักษะ ฯลฯ

       11.    การบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ ในบันทึกการคิดไตร่ตรอง (reflective journal) ด้านการจัดการเรียนรู้ มีการเรียบเรียงอย่างมีขั้นตอน เข้าใจง่าย มีความละเอียด ครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญครบถ้วน ได้แก่

               11.1    ข้อมูลทั่วไป เช่น จำนวนผู้เรียน เวลา หัวข้อ วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ ฯลฯ

               11.2    สภาพการจัดการเรียนรู้คาบดังกล่าวทั่วไป โดยย่อ

               11.3    จุดแข็ง (strengths) ของตนเองในการจัดการเรียนรู้ในคาบดังกล่าว

               11.4    จุดอ่อน (weaknesses) ของตนเองในการจัดการเรียนรู้ในคาบดังกล่าว (ปัจจัยภายใน)

               11.5    โอกาส (opportunities) จากสภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้อประโยชน์ให้การจัดการเรียนรู้ในคาบดังกล่าว

               11.6    อุปสรรค (threats) จากภายนอก (ปัจจัยภายนอก) ในการจัดการเรียนรู้ในคาบดังกล่าว

               11.7    แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งจากปัจจัยภายใน ภายนอก 

(ค)    คำอธิบายศัพท์เฉพาะ

         การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (student-oriented instruction) หมายถึง การจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด โดยกระบวนการจัดการเรียนรู้จะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของตนเอง สอดคล้องกับความสนใจ และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ ได้คิด ได้รวบรวมความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ใช้หลากหลายวิธีการสอนและการจัดการเรียนรู้ หลากหลายแหล่งความรู้ สามารถพัฒนาปัญญาอย่างหลากหลาย รวมทั้งเน้นการวัดผลอย่างหลากหลายวิธีเพื่อตอบสนองผู้เรียนเป็นรายบุคคลให้ได้มากที่สุด

        การเรียนรู้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (communicative language learning) หมายถึง แนวคิดการเรียนภาษาที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ในชีวิตจริง โดยเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกปฎิบัติทักษะแบบบูรณาการ  ฝึกผู้เรียนให้ใช้ภาษาอย่างมีความหมายในสถานการณ์จริง

        ภาษาสภาพจริง (authentic language) หมายถึง ลักษณะภาษาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวัน การใช้ภาษาสื่อสารที่เป็นธรรมชาติในห้องเรียน ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ผู้เรียนภาษาสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสิ่งที่จะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ส่งผลให้การเรียนภาษาประสบความสำเร็จมากขึ้น

        การจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล (differentiated instruction) หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองตามความต้องการและความสามารถของผู้เรียนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มย่อย ผู้สอนสามารถวางแผนและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน

        เสริมต่อการเรียนรู้ (scaffold) หมายถึง การที่ผู้สอนให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียน โดยพิจารณาจากระดับความสามารถของผู้เรียน และช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงขึ้นไปทีละขั้นตามศักยภาพ

        ทักษะการคิดขั้นสูง (higher order thinking skills) หมายถึง ความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ ในการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ การนำไปใช้ การคิดวิเคราะห์ การประเมินค่า และการคิดสร้างสรรค์ 

        การเรียนรู้แบบเชิงรุก (active learning) เป็นการเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติและสร้างความรู้จากสิ่งที่ปฏิบัติในระหว่างการเรียนการสอนโดยเน้นการพัฒนาทักษะ ความสามารถที่สอดคล้องกับความรู้เดิมของผู้เรียน ได้แก่ การอภิปรายกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ การสัมมนา การใช้การแก้ปัญหา กรณีศึกษา เป็นต้น

       การเสริมแรงทางบวก (positive reinforcement) หมายถึง การเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียน โดยเลือกใช้ตัวเสริมแรงประเภทต่างๆ เช่น การให้รางวัล หรือ การให้คำชมเชย รอยยิ้ม การสบตาและพยักหน้า

       ปฏิสัมพันธ์ (interaction) หมายถึง กระบวนการสื่อสารแบบสองทางในกระบวนการเรียนรู้ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และ ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

       ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) หมายถึง ความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันของผู้เรียน ทั้งทางด้านภูมิหลัง พื้นเพ ความเชื่อทางศาสนา เพศ ประเพณี  อาหาร ดนตรี หรือ แม้แต่ภาษาที่ใช้  เป็นต้น  โดยเน้นการยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน และมองความแตกต่างเป็นสิ่งที่ดี

       สื่อการเรียนการสอน (instructional materials) หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เป็นบุคคล วัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคนิควิธีการ ซึ่งเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะ ประสบการณ์ จากแหล่งความรู้ไปสู่ผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และเรียนรู้ได้อย่างง่ายและรวดเร็ว

        แหล่งการเรียนรู้ (learning resources) หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ บุคคล สิ่งประดิษฐ์ วัตถุ อาคาร สถานที่ ตลอดจนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

        เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information and Communications Technology: ICT) หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข่าวสาร ข้อมูลและการสื่อสาร เช่น การใช้อีเมลเพื่อติดต่อสื่อสาร การสืบค้นความรู้ต่างๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

        ทฤษฎีทางภาษา หมายถึง แนวคิด หรือ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและภาษาศาสตร์ เช่น ระบบเสียง การออกเสียง ระบบคำ ความหมาย โครงสร้าง การที่ผู้สอนภาษามีความรู้เกี่ยวกับภาษาศาสตร์จะทำให้สามารถกำหนดเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและข้อผิดพลาดของผู้เรียนได้ดีขึ้น

        ทฤษฎีการเรียนรู้ภาษา หมายถึง แนวคิด/หลักการที่เป็นความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์การเรียนรู้ภาษา เพื่ออธิบายว่า มนุษย์เรียนรู้วิธีการฟัง พูด อ่าน เขียน ได้อย่างไร ผู้เรียนในระดับที่สอนมีพัฒนาการทางการเรียนภาษาอย่างไร โดยเฉพาะการเรียนภาษาที่สอง/ภาษาต่างประเทศ

         ความต้องการจำเป็นของผู้เรียน (learner’s needs) หมายถึง ปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นของผู้เรียนในการเรียนรู้ ซึ่งอาจครอบคลุมในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ประสบการณ์ ความสนใจ ทักษะ ความถนัด และพื้นความรู้เดิม

         ความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม (cultural awareness) หมายถึง ความระแวดระวัง และเข้าใจผู้อื่นความรู้และเข้าใจผู้อื่นที่มีภูมิหลังแตกต่างจากตนเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ เพศ ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

         ปัญหา (problem) หมายถึง ข้อผิดพลาดในผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งใช้กฎเกณฑ์ไวยากรณ์ที่แตกต่างไปจากเจ้าของภาษา โดยที่เป็นการสะท้อนถึงพัฒนาการทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ยังไม่สมบูรณ์

         ข้อผิดพลาด (mistake) หมายถึง ข้อบกพร่องทางภาษาที่เกิดจากการที่ผู้เรียนภาษาซึ่งรู้กฎเกณฑ์นั้น ๆ แล้ว แต่ยังแสดงออกอย่างไม่ถูกต้องทั้งในการพูดและการเขียน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ธรรมดาของการเรียนรู้

         เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบท (practicality) หมายถึง คุณลักษณะของเครื่องมือวัดผลที่มีความง่าย สะดวก และเป็นไปได้ในการนำไปใช้ ผู้สอนต้องพิจารณาว่าเครื่องมือนั้น ๆ เหมาะกับผู้เรียน เวลา สถานที่ที่จะใช้หรือไม่

         ความตรงด้านเนื้อหา (content validity) หมายถึง การตรวจสอบอย่างเป็นระบบว่า  เนื้อหาที่กำหนดในเครื่องมือวัดผลว่าครอบคลุมสิ่งที่ต้องการจะวัดหรือไม่ เครื่องมือที่มีความตรงด้านเนื้อหาจะต้องครอบคลุมความรู้และทักษะที่สำคัญที่จัดการเรียนรู้ เพื่อสามารถบอกได้ว่า ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจและทักษะตามที่กำหนดไว้ได้

         บันทึกผลหลังจากการเรียนรู้ หมายถึง บทบันทึกที่แสดงผลการนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปใช้  ว่าสามารถจัดกิจกรรมได้บรรลุผลการเรียนรู้หรือไม่อย่างไร  มีปัญหาและอุปสรรคใดบ้างที่ต้องแก้ไข มีพฤติกรรมของผู้เรียนใดบ้างที่ต้องพัฒนาต่อไป เป็นต้น

        คิดไตร่ตรอง (reflective thinking) หมายถึง กระบวนการคิดไตร่ตรองทบทวน  ที่ผู้สอนตั้งคำถามกับตนเองเพื่อคิดย้อนกลับ และพิจารณาเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อของตนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
ไม่มี

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
ไม่มี

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

กระบวนการประเมินและวิธีการประเมินให้ดูรายละเอียดจากคู่มือการประเมิน



ยินดีต้อนรับ