หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ ระดับกลาง

สาขาวิชาชีพการกีฬา


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ SPT-ATLZ-119A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ ระดับกลาง

3. ทบทวนครั้งที่ /

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

ครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
เป็นผู้มีความรู้และใช้ทักษะมวยไทยเป็นอย่างดี  มีเทคนิคในการปฏิบัติ มีกระบวนการคิดและปฏิบัติที่หลากหลายในการออกแบบและวางแผนโปรแกรมการฝึกการฝึกความแข็งแรงและสร้างเสริมสมรรถภาพทางกายในมวยไทย การวิเคราะห์การใช้ทักษะมวยไทย ในการทำหน้าที่ครูมวยไทย และควบคุมการแข่งขันการสอนและการฝึกมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพอย่างเข้มงวด และถูกต้องตามหลักการ ลดความเสี่ยงการเกิดบาดเจ็บของนักมวยให้น้อยที่สุด มีไหวพริบในแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างฉับพลันให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นผู้ที่มีสมรรถนะในการระบุรายละเอียดด้านการเตรียมตัวก่อนระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทย ขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ประยุกต์ใช้หลักการสอนและวิเคราะห์การฝึกทักษะมวยไทยมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทยชำนาญการ สามารถสร้างแรงจูงใจที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามรูปแบบวิชาชีพ สามารถวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ในการปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทยชำนาญการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทีมงานและนักมวยผู้เข้ารับการฝึก ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพและปฏิบัติตนเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของวิชาชีพ นำขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่มาใช้ในการสอนทักษะมวยไทยและการฝึกเพื่อการแข่งขัน การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก  สารสนเทศที่ถูกต้องเหมาะสมในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน  โภชนาการกีฬา การบาดเจ็บทางกีฬา สร้างแรงจูงใจ และปฏิบัติตนเป็นอย่างที่ดีตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
อดีตนักมวยนักเรียนพลศึกษา  ผู้ที่ต้องการเป็นครูมวยไทย เทรนเนอร์ ฟิตเนส

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
พ.ร.บ. กีฬามวย  พ.ศ. 2542  ( ปรับปรุงแก้ไข  พ.ศ. 2564 )  รายละเอียดในภาคผนวก  B

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

1.      1. สอนและอธิบายถึงการตั้งท่าหรือการจดมวย ขั้นกลาง

X41.21.01 159323
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

1    2. สอนและอธิบายถึงลักษณะการเคลื่อนไหวการรุกเท้าขั้นกลาง 

X41.21.02 159324
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

1.      3. สอนและอธิบายถึงรูปแบบการชกและการป้องกันขั้นกลาง

X41.21.03 159325
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

4. สอนและอธิบายถึงทักษะการใช้เท้าเตะและการป้องกัน ขั้นกลาง

X41.21.04 159326
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

5. สอนและอธิบายถึงทักษะการใช้เท้าถีบและการป้องกัน ขั้นกลาง

X41.21.05 159327
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

6. สอนและอธิบายถึงทักษะการใช้เข่าและการป้องกันขั้นกลาง

X41.21.06 159328
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

7. สอนและอธิบายถึงทักษะการใช้ศอกและการป้องกัน ขั้นกลาง

X41.21.07 159329
X41.21

สอนทักษะมวยไทยและการป้องกัน

8. สอนและอธิบายการใช้แม่ไม้ ลูกไม้ มวยไทย

X41.21.08 159330
X41.22

วิเคราะห์กติกาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันมวยไทย

1.      1. สอนและอธิบายถึงกติกาการแข่งขันมวยไทย ขั้นกลาง

X41.22.01 159331
X41.22

วิเคราะห์กติกาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันมวยไทย

2. สอนและวิเคราะห์การฝึกทักษะกับกติกาการแข่งขันมวยไทยได้ ขั้นกลาง

X41.22.02 159332
X41.23

ควบคุม กำกับ การใช้พระราชบัญญัติกีฬามวย 2542

1.      1. แนะนำ และอธิบายถึงการวิเคราะห์พระราชบัญญัติ กีฬามวย 2542 ขั้นกลาง

X41.23.01 159333
X41.23

ควบคุม กำกับ การใช้พระราชบัญญัติกีฬามวย 2542

2. แนะนำ และอธิบายถึงการวิเคราะห์พระราชบัญญัติ กีฬามวย 2542 ที่นำไปใช้กับการฝึกและการแข่งขันขั้นกลาง

X41.23.02 159334

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

ความรู้เรื่องความเป็นมาของมวยไทย และกติกาการแข่งขัน และการฝึกซอมและการสอนมวยไทยเพื่อการแข่งขัน


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

 1. การตั้งท่าหรือการจดมวย



          การตั้งท่าในการต่อสู้เราเรียกว่า การตั้งท่าหรือการจด การยืนตั้งท่าแบบมวยไทยเป็นการยืนปักหลัก เพื่อจะเตรียมการใช้เท้าหน้าถีบหรือเตะ การจดมวยไทยนั้นเท้าหลังวางเกือบขวางกับแนวต้านทานหรือแนวที่คู่ชกจะทุ่มน้ำหนักเข้ามา และเยื้องเป็นมุมกับเท้าหน้า ซึ่งในมวยสากลเท้าหน้ากับเท้าหลังนั้น แนวชี้เกือบจะชี้ตรงไปด้านหน้า 



          1. การวางเท้า เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร คือ ประมาณหนึ่งช่วงไหล่ เท้าที่ไม่ถนัดวางไว้ด้านหน้าหันปลายเท้าชี้ตรงไปข้างหน้า ส่วนเท้าหลังให้วางเฉียงออกมาด้านข้าง เพราะจะต้องใช้เท้าหลังเป็นหลักและรับน้ำหนัก ส้นเท้าทั้งสองเปิดขึ้นเล็กน้อย เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนไหว ในการตั้งท่า   ของท่า สำหรับการใช้อาวุธหนักอาจจะตกอยู่ที่เท้าหน้า เท้าหลังหรือเท้าทั้งสองแล้วแต่โอกาส เช่น  ถ้าใช้เท้าหลังเป็นอาวุธ น้ำหนักตัวจะอยู่เท้าหน้า ถ้าใช้เท้าหน้าเป็นอาวุธน้ำหนักตัวจะอยู่เท้าหลัง



          2. การวางมือ มือที่อยู่ข้างเดียวกันกับเท้าที่ไม่ถนัด คือ ข้างเดียวกันกับเท้าหน้า ให้ยกขึ้นสูงระดับหางคิ้ว และให้ลดหมัดลงมาทางด้านที่หันไปเล็กน้อย หมัดอยู่ห่างจากคิ้วไม่ควรเกินหนึ่งคืบ ส่วนตรงบริเวณข้อศอกที่ห่างจากชายโครงมากเกินไปจะเป็นการเปิดช่องทางให้คู่ต่อสู้โจมตีได้ง่ายควรวางให้พอดี ส่วนไหล่ควรยกขึ้นเล็กน้อย เพื่อเก็บคางไว้ในซอกไหล่เป็นการป้องกันอันตราย การใช้สายตามองให้มองผ่านมือไปให้อยู่ระดับสะดือของคู่ต่อสู้ เพื่อจะได้เห็นส่วนต่าง ๆ ของคู่ต่อสู้ได้ถนัด มือที่อยู่ด้านหลังกำหมัดหันฝ่ามือเข้าหาใบหน้า และอยู่ตรงบริเวณโหนกแก้มห่างจากโหนกแก้มเล็กน้อย ข้อศอกแนบกับชายโครงอย่ากางออก เพราะจะเป็นการเปิดเป้าหมายให้คู่ต่อสู้



          3. ลำตัวเหยียดตรง เข่าทั้งสองไม่งอ ไม่ก้มลำตัว และลำตัวไม่เกร็ง ปล่อยตามสบาย พยายามทำลำตัวให้เป็นเป้าหมายเล็ก หรือแคบตามแนวเดียวกับเท้า โดยการหันไหล่หน้าและไหล่หลังเกือบเป็นแนวเดียวกัน ทำให้คู่ต่อสู้มองเห็นเป้าหมายเล็กลง



2. ลักษณะการเคลื่อนไหว



          ลักษณะการเคลื่อนไหวเท้าของมวยไทย การเคลื่อนไหวของเท้านั้นมีความสำคัญต่อการชกมาก ลักษณะการเคลื่อนไหวของเท้า เช่น การรุก การถอย การเคลื่อนไหวจะรุกหรือจะถอยนั้นให้สังเกตที่เท้าของนักมวยว่าจะเคลื่อนที่ได้แค่ไหน จึงจะเหมาะสมกับตัวนักมวย การจะรุกโดยการสืบเท้าสำหรับจะใช้หมัดหรือใช้เท้าแค่ไหนจึงจะเหมาะต่อการใช้อาวุธ ลักษณะการเคลื่อนไหวของมวยไทยมีหลายลักษณะ ดังนี้



          1. การรุกเท้าธรรมดา คือ การใช้เท้าหลังช่วยส่งเท้าหน้า วิธีการคือ การที่ก้าวเท้าหน้าเคลื่อนที่ไปก่อนแล้วก้าวเท้าหลังตามเท้าหน้าไป โดยใช้แรงส่งจากเท้าหลัง ในการก้าวเท้ารุกต้องรักษาระยะการเคลื่อนไหวให้คงที่เช่นเดียวกับการตั้งท่า การรุกไปข้างหน้านี้จะใช้วิธีการสืบเท้า การยกเท้าอาจจะใช้การยกเข่าขึ้นก่อนวางเท้าแล้วจึงลากเท้าตามไป



          2. การถอยเท้าธรรมดา คือ การชักเท้าที่เป็นเท้าหลังถอยไป อาศัยแรงส่งของเท้าหน้า วิธีการ ให้ก้าวเท้าหลังไปก่อนแล้วลากเท้าหน้าถอยตามไป



          3. การรุกเท้าสลับ จากการตั้งท่าเมื่อเท้าซ้ายอยู่ข้างหน้าพร้อมด้วยมือซ้ายอยู่ข้างหน้า   เท้าขวาอยู่ข้างหลัง พร้อมด้วยมือขวาอยู่ข้างหลังเช่นกัน ให้ก้าวเท้าขวาโดยการยกเท้าขึ้นแล้วก้าว  เท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปข้างหน้า สำหรับมือในลักษณะก้าวเท้าขวานั้นพร้อมให้แหวกมือขวาขึ้นไปอยู่ด้านหน้าข้างบน และให้ลดมือซ้ายลงมาระดับโหนกแก้มให้ไปอยู่ในลักษณะการตั้งท่าแบบเท้าขวาอยู่ด้านหน้า ถ้าหากจะรุกแบบเท้าสลับอีกก็ให้ก้าวเท้าซ้ายไปอยู่ลักษณะเดิมพร้อมกับตำแหน่งของมือเช่นเดียวกับการตั้งท่าในท่าเดิม



          4. การถอยเท้าสลับ จากการตั้งท่าเมื่อเท้าซ้ายอยู่ข้างหลัง วิธีการ ให้ดึงเท้าซ้ายมาอยู่เป็นเท้าหลัง และให้เท้าขวาอยู่ด้านหน้า มือม้วนกลับอย่างท่ารุก คือ มือซ้ายม้วนลงล่าง มือขวาแตะจมูก (เช็ดเหงื่อที่จมูก) ขึ้นไปในลักษณะเสยผม



 3. การชกด้วยหมัดตรง



                    1.หมัดตรง คือ การชกหมัดออกไปตรง ๆ จากการตั้งท่า ปล่อยหมัดออกไปโดยการคว่ำหมัดลงให้เป็นแนวขนานกับพื้น อาศัยแรงส่งจากไหล่ สะโพก และเท้า การชกหมัดตรงแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การชกหมัดตรงหน้า และการชกหมัดตรงหลัง การชกหมัดตรงหน้าหรือเรียกกันว่าหมัดนำ คือ การชกออกไปหมัดตรงที่เป็นหมัดหน้า ชกออกไปตรง ๆ ใช้แรงส่งจากไหล่ สะโพกและเท้า ขณะที่หมัดออกไปให้บิดแขนให้หมัดอยู่ในลักษณะคว่ำหมัด แขนตึงและตรง เมื่อหมัดถูกเป้าหมายให้เกร็งหมัด หลังจากชกไปแล้วนำหมัดกลับที่เดิมให้เหมือนกับลักษณะการออกของหมัด คือออกหมัดไปแนวใดให้กลับแนวเดิม อย่าลดหมัดและแขนลง การชกอาจจะยืนอยู่กับที่ ชกไปยังเป้าหมายหรือเคลื่อนที่โดยการสืบเท้าเข้าชก เป้าหมายของการชกส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหน้าของคู่ต่อสู้ หมัดตรงหลัง เป็นหมัดต่อเนื่องจากหมัดหน้าตรง ๆ ไปยังเป้าหมายอาจจะเป็นใบหน้าหรือลำตัว



                    2. การชกหมัดเสย



                    หมัดเสยหรือบางคนก็เรียกว่า หมัดสอยดาว วิธีการชก โดยอาศัยการบิดหมัดให้หงาย เอาทางด้านฝ่ามือเข้าหาตัวเองในลักษณะงอแขน หมัดที่ชกออกไปจะต้องอาศัยแรงส่งจากหัวไหล่ สะโพก และเท้า มีประโยชน์มากเมื่ออยู่ในระยะใกล้ หมัดที่ใช้ชกนั้นได้ทั้งสองหมัด จะเป็นหมัดนำหรือหมัดตามก็ได้ เป้าหมายของการชก คือ บริเวณปลายคาง เราจึงเรียกว่าหมัดสอยดาว ส่วนบริเวณอื่น เช่น บริเวณท้อง



                    3. การชกหมัดตวัด



                    หมัดตวัดหรือหมัดขว้างสั้นนี้จะใช้ได้ดีเมื่อคู่ต่อสู้ปิดป้องกำบังต่าง ๆ เช่น คู่ต่อสู้ยกมือป้องกันใบหน้าตรง ๆ ถ้าชกหมัดตรงก็จะถูกมือและแขนคู่ต่อสู้ที่ยกกันไว้ ดังนั้น ควรใช้หมัดตวัด (หมัดฮุค) เพราะหมัดนี้จะโค้งผ่านเลยแขนคู่ต่อสู้เข้าสู่ใบหน้าหรือปลายคางทางข้างซ้ายหรือข้างขวาได้ หมัดตวัดนี้บางครั้งอาจจะมีวิธีทางของหมัดไม่ขนานพื้น คืออาจจะเฉียงขึ้น หรือเฉียงลงสู่พื้นบ้างก็ได้ ตามแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์และอาจจะกระทบเป้าหมายโดยคว่ำสันหมัด



                    4. การชกหมัดเหวี่ยง



                    หมัดเหวี่ยง คือ การชกโดยการใช้แรงเหวี่ยงจากไหล่ ลำตัว และเท้า ลักษณะของแขนที่เหวี่ยงขึ้นอยู่กับระยะของคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้อยู่ใกล้ก็ต้องงอแขนให้มาก เมื่อคู่ต่อสู้อยู่ไกลก็งอแขนน้อย การเหวี่ยงในระยะใกล้จะต้องเหวี่ยง โดยการงอเขนและบิดสันหมัดเข้าถูกเป้าหมาย สำหรับการเหวี่ยงระยะไกลออกไปบางครั้งอาจจะเหวี่ยงสันหมัด หรือบางโอกาสจะใช้หลังหมัดก็ได้ การเหวี่ยงหมัดที่ดีควรเหวี่ยงให้ขนานกับพื้น ข้อควรคำนึงในการชกหมัดเหวี่ยง คือต้องใช้แรงส่งจากไหล่ ลำตัว สะโพกและเท้า เป้าหมายในการชก คือ ขากรรไกร กกหู ขมับ และท้ายทอย



                    5. หมัดโขก



                    หมัดโขกเป็นหมัดเหวี่ยงจากข้างบนลงมาข้างล่าง เป้าหมายบริเวณศีรษะ หรือบริเวณใบหน้า ถ้าคู่ต่อสู้แหงนหน้าขึ้น หมัดโขกเป็นหมัดที่รุนแรง นิยมใช้หมัดหลังหมัดตาม เพื่อให้วงการเหวี่ยง หรือรัศมีการเหวี่ยงยาวและกว้างขึ้น



                    หมัดโขก เป็นหมัดที่มีทิศทางจากบนลงล่าง แบ่งเป็นหมัดโขกวงกว้าง หรือโขกยาว และหมัดโขกวงแคบ หรือโขกสั้น ถ้าแบ่งตามทิศทางที่ลงสู่พื้นก็แบ่งเป็นโขกตรงลงสู่พื้น กับโขกเฉียงลงสู่พื้น หมัดนี้เป็นหมัดที่รุนแรงเพราะอาศัยแรงเหวี่ยงของไหล่และแขน บวกกับแรงดึงดูดของโลกผสมกับความแข็งแกร่งของสันหมัด เป้าหมายของหมัดโขก ศีรษะ ท้ายทอย หลัง ใบหน้า หู ขมับ ปลายคาง



                    6. หมัดเหวี่ยงกลับ



                    หมัดเหวี่ยงกลับหรือหมัดขว้างกลับ หรือครูมวยบางคนเรียกหมัดตวัดกลับ เป็นหมัดที่เหวี่ยงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้วหยุดแล้วเหวี่ยงกลับทิศทางเดิม อาจจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม เหวี่ยงครั้งแรกอาจจะไม่ถูกเป้าหมาย แต่พอเหวี่ยงกลับอาจจะถูกเป้าหมาย เพราะคู่ต่อสู้คิดว่าตนเองหลบหมัดเหวี่ยงครั้งแรกพ้นไปแล้ว ซึ่งหมัดนี้แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงกับสามารถทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บได้ แต่ก็มีผลทำให้เสียเหลี่ยมและเสียรูปมวยได้



          หมัดเหวี่ยงกลับมีทั้งหมัดเหวี่ยงกลับตัดสวนไปกับพื้นดิน หมัดเหวี่ยงกลับเฉียงลงและหมัดเหวี่ยงกลับเฉียงขึ้น รวมทั้งหมัดเหวี่ยงกลับโขกลง ซึ่งหมัดหมัดเหวี่ยงกลับนั้นอาจจะเหวี่ยงยาวหรือเหวี่ยงสั้นก็ได้



          ทักษะในการป้องกันหมัด



1. ถอยให้พ้นระยะ



          2. หลบผละออก



          3. ใช้มือปัด



          4. ชิงชกด้วยอวัยวะต่าง ๆ



          5. ฉากออกด้านข้าง



          6. ยกศอกสูงลักษณะทัดมาลา



          7. ใช้แขนงอให้แนบลำตัวปิด



          8. ใช้ฝ่ามือประสานกันหมัดปะทะ



          9. ถีบยันท้อง



          10. เตะตัด



          11. ยกข้อศอกกันคางและหน้า



          12. โยกตัวหลบ



ทักษะการใช้เท้า



          เท้านับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของการชกกีฬามวยไทย เพราะเป็นอวัยวะที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการต่อสู้ เท้าเป็นอวัยวะที่ใช้ได้ผลในระยะไกล การใช้เท้าของกีฬามวยไทย หมายถึง การใช้ตั้งแต่ส่วนใต้เข่าลงไปจนถึงปลายเท้า การใช้เท้านั้นแบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ 1) การถีบ และ 2) การเตะ



          1. การถีบ



                    1.1 ความหมายของการถีบ



                              การถีบ หมายถึง การใช้อวัยวะส่วนปลายเท้า ฝ่าเท้า หรือส้นเท้า โดยการยกเท้าขึ้นแล้วงอเข่าส่งแรงปะทะเพื่อให้เกิดน้ำหนัก การถีบให้มีน้ำหนักจะต้องถีบพร้อมกับการใช้จังหวะสืบเท้าไปข้างหน้า ถ้าต้องการถีบให้ได้ระดับสูงจะต้องแอ่นลำตัวไปข้างหลัง การถีบมีประโยชน์มากในการต่อสู้แบบมวยไทย เช่น ต้องการที่จะให้คู่ต่อสู้เสียหลักแล้วสามารถที่จะตามเข้าทำคู่ต่อสู้ด้วยอวัยวะอย่างอื่น จะทำให้เป็นการได้เปรียบคู่ต่อสู้ นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกัน หรือปะทะคู่ต่อสู้ไว้ก่อน การถีบแบบนี้ เราเรียกว่า ถีบสกัด การถีบสกัดคู่ต่อสู้นั้น ไม่เพียงแต่เป็นการป้องกัน ในบางครั้งเป็นการทำให้คู่ต่อสู้เสียเปรียบได้ด้วย เป้าหมายของการถีบ ได้แก่ หน้า แขน ต้นขา ท้อง อก หรือบริเวณหน้า

                    1.2 ชนิดของการถีบ



                              เราสามารถแบ่งชนิดของการถีบตามลักษณะของการถีบได้ 4 ชนิด คือ 1) ถีบตรง   2) ถีบข้าง 3) ถีบหลัง และ 4) ถีบตบ



                              1.2.1 ถีบตรง



                                        ถีบตรง คือ การยกเท้าขึ้นถีบตรง ๆ ไปข้างหน้า เป้าหมายของการถีบส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณท้อง อก หรือหน้า การถีบตรงนั้น ยังแบ่งออกเป็นการถีบด้วยฝ่าเท้าหรืออาจจะถีบด้วยส่วนหนึ่งส่วนใดของฝ่าเท้า เช่น ใช้บริเวณโหนกเท้าถีบ ใช้บริเวณร่องเท้าถีบ ใช้บริเวณส้นเท้าถีบ ถีบด้วยปลายเท้า คือการใช้เท้าที่เป็นปลายนิ้วเท้าถูกเป้าหมาย สำหรับปลายนิ้วเท้านั้นทำโดยการงุ้มปลายนิ้วเท้าทั้งห้านิ้วเรียงชิดติดกัน และเกร็งให้แข็ง ในลักษณะนี้เรียกกว่า การถีบเหน็บ หรือถีบจิก ถ้าการถีบเป็นการถีบจากแนวตรง เราเรียกว่า ถีบเหน็บ แต่ถ้าแรงส่งจากข้างบนลงไปส่วนล่างเราเรียกว่าจิก เป้าหมายของการถีบนั้น อยู่ที่บริเวณสะดือ ท้อง เมื่อถีบถูกเป้าหมาย อาจทำให้คู่ต่อสู้เกิดการเสียดหรือจุกขึ้นได้ ส่วนข้อเสียของการถีบแบบนี้ คือ มีแรงปะทะน้อย



                              1.2.2 ถีบข้างหรือหันข้างถีบ



                                        ถีบข้างหรือหันข้างถีบ คือ การถีบที่หันตัวด้านข้างให้คู่ต่อสู้ โดยการบิดเข่าจากที่ชี้ขึ้นข้างบนให้ลงมาอยู่แนวนอนทางปลายเท้าที่ยืนเป็นหลัก พร้อมส่งแรงถีบไปยังเป้าหมาย ส่วนที่จะถูกเป้าหมาย คือ บริเวณฝ่าเท้าในลักษณะเอียง เฉียง หรือแนวนอนกับพื้น แขนทั้งสองยกขึ้นสูง เพื่อเป็นการป้องกันเป้าหมายที่ถีบ คือ ลำตัว ต้นขา ชายโครง ด้านข้างบางโอกาสจะใช้เป็นการถีบในระดับสูงได้ ข้อสำคัญในการที่จะถีบให้สูงขึ้นนั้นจะต้องแอ่นตัวไปข้างหลัง การใช้เท้าถีบใช้ได้ทั้งสองเท้า จะเป็นเท้าหน้าหรือเท้าหลังก็ได้



                              1.2.3 ถีบหลัง



                                        ถีบหลังหรือกลับหลังถีบ คือ การถีบในลักษณะจากการตั้งท่า ใช้การถีบโดยหมุนตัวหันหลังให้คู่ต่อสู้แล้วถีบออกไปจากทางด้านหลังของตัวเรา ใช้การบิดเท้าและหันเข่าลงสู่พื้นพร้อมกับถีบ และหันหลังให้คู่ต่อสู้ แอ่นลำตัวให้หน้าคว่ำลงสู่พื้น ให้หันหน้าเป็นแนวเดียวกับลำตัว เป้าหมายของการถีบ คือ ลำตัว หน้า โอกาสของการถีบหลังมักไม่ค่อยได้ใช้ เพราะเป็นการหันหลังให้คู่ต่อสู้ จะทำให้เสียเปรียบในเรื่องของการต่อสู้ แต่บางครั้งก็ใช้ได้ เช่น คู่ต่อสู้เข้ามาขณะที่เราหันหลังให้เราก็ใช้เท้าถีบหลัง



                              1.2.4 ถีบตบ



                                        ถีบตบ คือ การถีบไปทางด้านหน้า โดยการยกเท้าเหยียดสูงแล้วใช้ฝ่าเท้าตบลงตรง หรือตบเฉียงไปทางด้านซ้ายหรือขวาก็ได้



การป้องกันการถีบ



                              1. ถอยพ้นระยะ โดยถอยเท้าตามและเท้าสลับ



                              2. ฉากออกไปด้านข้าง



                              3. จับทุ่ม เมื่อคู่ต่อสู้ถีบมาให้ใช้มือจับที่ส้นเท้า และมืออีกข้างหนึ่งจับที่ฝ่าเท้าพร้อมกับยกขึ้นผลักหรือดันให้คู่เสียหลัก



                              4. ปัดไปทางซ้ายหรือขวา



                              5. ยกเข่าเฉียง 45 องศา เพื่อบังการถีบ



                              6. แอ่นลำตัวไปด้านหลังให้มากที่สุด



2. การเตะ



                    2.1 ความหมายของการเตะ



                              การเตะ หมายถึง การใช้แรงเหวี่ยงของเท้าตั้งแต่เข่าไปจนถึงปลายเท้า เหวี่ยงขึ้นไปปะทะเป้าหมาย โดยใช้ส่วนของหลังเท้า หน้าแข้ง หรือส้นเท้า ถูกเป้าหมาย การเตะนับว่าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างหนึ่ง ลักษณะการเหวี่ยงอาจจะทำได้หลายลักษณะ คือ เหวี่ยงแนวตรง เรียกว่า เตะตรง เหวี่ยงแนวเฉียง เรียกว่า เตะเฉียง เหวี่ยงแนวขนานหรือแนวจากข้างบนลงมาข้างล่าง เรียกว่า เตะตัด สิ่งเหล่านี้เราเรียกตามลักษณะของการเตะ ส่วนระยะของการใช้เท้าเตะที่ได้ผลคือ ระยะไกล และระยะของการเตะสามารถเตะได้ 3 ระดับ คือ ระดับต่ำ ระดับกลาง ระดับสูง



                    2.2 ลักษณะของการเตะ



                              การเตะจะต้องได้รับการฝึกหัดที่ถูกวิธีจึงจะได้ผล ทั้งนี้เพราะในการต่อสู้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น จะต้องใช้การเตะมากเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นเช่นกัน เราแบ่งลักษณะของการเตะได้ดังนี้ 1) เตะตรง 2) เตะเฉียง 3) เตะตัด 4) กระโดดเตะ และ 5) เตะเหวี่ยงกลับหรือจระเข้ฟาดหาง



                              2.2.1 เตะตรง



                                        เตะตรง คือ การเตะโดยการเหวี่ยงเท้าขึ้นตรง ๆ เดิมเราเรียกว่า เตะผ่าหมาก การเตะตรง เราสามารถเตะได้ 2 ลักษณะ 1) เตะตรงโดยการยกเข่านำขึ้นมาก่อน แล้วจึงยกขาท่อนล่างขึ้นตาม ปลายเท้างุ้มเหวี่ยงในลักษณะสะบัดเท้าขึ้น 2) เตะตรงโดยการเหวี่ยงเท้าขึ้นตรง ๆ เป็นท่อนเดียวกัน ปลายเท้างุ้มและแอ่นลำตัวไปข้างหลัง



                              2.2.2 เตะเฉียง



                              เตะเฉียง คือ การใช้แรงเหวี่ยงขึ้นไปในแนวเฉียง ส่วนที่ถูกเป้าหมายอาจจะเป็นส่วนแข้ง ส่วนหลังเท้า เท้าที่เหวี่ยงขึ้นไปอาจจะเหยียดตรงหรืองอเข่าเล็กน้อย การเหวี่ยงให้บิดส่วนหลังเท้าหรือหน้าแข้งเข้าหาคู่ต่อสู้ เป้าหมายในการเตะเฉียงส่วนใหญ่มักจะเป็นบริเวณชายโครง จนถึงระดับคอ แรงเหวี่ยงนั้นจะต้องอาศัยแรงเหวี่ยงจากเท้าและแขนทั้งสองในขณะที่ใช้เท้าเตะจะต้องมีความสัมพันธ์กับแขนขณะเหวี่ยงเท้าขึ้นแขนจะต้องเหวี่ยงลงมาเพื่อเป็นแรงส่ง แต่ควรระวังคู่ต่อสู้ด้วยในขณะที่เราเหวี่ยงแขนลงมาเป็นแนวตัดกับเท้า การเตะเฉียงมักเตะในระดับกลางและระดับสูง



                              2.2.3 เตะตัด



                                        เตะตัด คือ การเตะที่ใช้แรงเหวี่ยงของเท้าขึ้นแนวเฉียงแล้วโค้งลงตัดหรือเหวี่ยงตัดขนานกับพื้น บางครั้งเป็นการเตะโดยการย่อตัวแล้วเตะตัดที่ขา ลักษณะของการเตะจะเตะในระดับสูง ระดับกลาง ระดับต่ำ อวัยวะที่ถูกเป้าหมายจะเป็นบริเวณแข้ง หลังเท้า



                              2.2.4 กระโดดเตะ



                                        กระโดดเตะ คือ การเตะที่อาศัยแรงที่พุ่งตัวไปข้างหน้า เท้าทั้งสองพ้นพื้น ด้วยการกระโดดลอยตัวขึ้นเตะจังหวะเดียว หรือสองจังหวะสลับเท้าก็ได้ เป้าหมายคือบริเวณใบหน้า ปลายคาง ขมับ คอ หน้าอก ท้อง และชายโครง



                              2.2.5 เตะเหวี่ยงกลับ หรือจระเข้ฟาดหาง



                                        เตะเหวี่ยงกลับหรือจระเข้ฟาดหาง คือ การเตะด้วยการหมุนตัวเตะ ให้ส้นเท้าหรือส่วนที่เหนือส้นเท้าไปเล็กน้อยถูกเป้าหมาย การเตะกระทำโดยการหมุนตัวยกเท้าขึ้นเตะ และก้มหรือโน้มตัวลงเพื่อที่จะยกเท้าได้สูง การเหวี่ยงเท้าจะมีความสัมพันธ์กับการหมุนตัว เท้าที่เหวี่ยงขึ้นไปไม่ควรงอ การเตะแบบนี้อาจทำได้อีกลักษณะหนึ่งคือ ใช้เท้าหนึ่งเท้าใดเตะขึ้นไปก่อนแล้วหมุนตัวเตะตาม การเตะกลับแบบนี้จะต้องเตะให้ครบรอบวงของการหมุนจึงจะถูกเป้าหมาย ส่วนเป้าหมายของการเตะคือ คอ ที่คอต่อ ท้ายทอย คาง



การป้องกันการเตะ



                              1. ถอยให้พ้นระยะ



                              2. ฉากออกด้านข้าง



                              3. ใช้มือทั้งสองและเข่ายกขึ้นกัน



                              4. ใช้เท้าป้องกัน



                              5. ชิงทำก่อน เช่น ถีบ ชก



                              6. ใช้การหลบ



ทักษะการใช้เข่า



1. เข่าตรงหรือเข่าโหน



                    เข่าตรงหรือเข่าโหน คือ การยกเข่าขึ้นตีหรือกระแทกยกขึ้นไปโดยการงอเข่าเป็นมุมแหลม ให้ส่วนที่เป็นหัวเข่าถูกเป้าหมาย และให้ปลายเท้าของเข่าที่ยกขึ้นตีชี้ไปทางข้างหลัง มักใช้ในระยะประชิด การตีเข่าตรงบางโอกาสใช้มือทั้งสองจับส่วนที่เรียกว่าท้ายทอย ดึงหรือโน้มคอลงมาพร้อมกับตีเข่าตรงขึ้นไป ในลักษณะของการดึงหรือโน้มคอลงมาพร้อมกับการตีเข่า จึงทำให้การเรียกเปลี่ยนไป จากเข่าตรงเป็นเข่าโหน (จรัสเดช  อุลิต.  2527: 66) เป้าหมายของการตีเข่าตรงหรือเข่าโหน คือ บริเวณท้อง อก คาง หน้า การใช้เข่าที่ดีให้ตีทั้งเข่าซ้ายและเข่าขวา ข้อสำคัญของการตีเข่าตรง มือทั้งสองต้องยกขึ้นสูงเพื่อเป็นการป้องกันการตีเข่าในลักษณะเข่าโหน มือทั้งสองที่จับโน้มคอลงมานั้นควรให้แขนและข้อศอกชิดกันเพื่อเป็นการป้องกันเช่นกัน



          2. เข่าเฉียงหรือเข่าตี



                    เข่าเฉียงหรือเข่าตี คือ ลักษณะตีเข่าที่ทำมุมกับตัวคู่ต่อสู้โดยใช้แรงเหวี่ยงของสะโพก เป้าหมาย คือ บริเวณชายโครง ถ้าหากจะตีเข่าเฉียงให้แรง จะต้องกอดรัดหรือจับคู่ต่อสู้ให้แน่นแล้วดึงคู่ต่อสู้มาทางข้างที่ตีเข่า ปลายเท้าชี้ลงสู่พื้นไปทางข้างหลัง ข้อสำคัญของการตีเข่า ต้องใช้แรงเหวี่ยงจากสะโพก เป้าหมาย บริเวณท้อง หน้าอก คาง หน้า



3. เข่าตัด



                    เข่าตัด คือ การตีเข่าให้ขนานกับพื้นเป็นแนวเดียวกันหรือตีตัดลงมาหาพื้น ปลายเท้าชี้ไปทางข้างหลังโดยใช้แรงเหวี่ยงจากสะโพกเหวี่ยงตัดเข้าหาลำตัว เป้าหมายคือ ต้นขาและชายโครง ในการตีเข่าตัดข้อสำคัญคือ แรงบิดจากเอวและแรงดึงเข้าหาแล้วตีจึงจะมีแรง การตีเข่าตัด ขาที่ตีเข่าขึ้นเป็นวงโค้งจากข้างบนลงมาข้างล่าง อาจเรียกว่า เข่าโค้ง



4. เข่ารา



                    เข่ารา เป็นลักษณะครึ่งเตะครึ่งเข่า คือ ถูกที่เข่าและแข้ง ระยะการใช้เข่าราอยู่ในระยะกลาง การตีเข่าชนิดนี้ไม่ต้องจับคอ แต่ตีแนวเฉียงลักษณะคล้ายกับการเตะเฉียง อาจพับเข่าเล็กน้อย ส่วนที่จะโดน คือ บริเวณเข่าและแข้ง เป้าหมาย คือ ท้องและชายโครง



5. เข่าน้อย



                    เข่าน้อย คือ ลักษณะของการใช้เข่าตีบริเวณต้นขาของคู่ต่อสู้เร็ว ๆ หลาย ๆ ครั้ง ในขณะที่ทำการกอดรัดกัน การกระทำเช่นนี้ทำให้คู่ต่อสู้ปวดขาหากถูกตีหลาย ๆ ครั้งก็อาจจะทำให้คู่ต่อสู้เสียเปรียบได้เหมือนกัน



6. เข่าลอย



                    เข่าลอย คือ การยกเข่าขึ้นทำเป็นมุมโดยการชี้ปลายเท้าไปข้างหลังแล้วพุ่งเข้าสู่เป้าหมายและใช้เท้าที่เป็นฐานพ้นจากพื้นพุ่งตัวไปข้างหน้า เป้าหมายอยู่ที่อก ลิ้นปี่ และหน้า จะใช้เท้านำหรือเท้าตามก็ได้ บางครั้งอาจจะใช้พุ่งเข่าหน้าไปก่อนแล้วตามสลับเข่าหลังเป็นเข่าหน้า และถูกเป้าหมาย โดยไม่ให้เท้าตกถึงพื้น



การป้องกันการตีเข่า



                              1. ใช้แขนหรือมือประสานกันป้องกัน



                              2. ใช้มือกันและชกท้อง



                              3. ใช้มือสอดผลักคางให้คู่ต่อสู้เสียหลัก



                              4. ใช้ศอกป้องกัน



                              5. ใช้มือเหวี่ยงให้เสียหลัก



                              6. เข้าประชิดตัว



                              7. ยกเข่ากัน



                              8. ถอยให้พ้นระยะ



ทักษะการใช้ศอก



1. ศอกตี



                    ศอกตี คือ ศอกที่ใช้ตีในลักษณะแนวดิ่งลงสู่พื้น โดยการใช้แรงหมุนจากหัวไหล่กดลงเฉียง ๆ ใช้มือที่ตีนั้นหันเข้าหาลำตัว พร้อมกับใช้แรงส่งจากเท้า เป้าหมาย คือ หน้า ศีรษะ



2. ศอกตัด



                    ศอกตัด คือ ศอกที่ใช้ตีในลักษณะที่ขนานกับพื้นโดยใช้การเหวี่ยงของแรงกระตุกจากหัวไหล่อย่างแรง ซึ่งใช้แรงส่งจากสะโพกบิดตัวให้มากที่สุดจึงจะถึงเป้าหมายและรุนแรง เป้าหมาย คือ บริเวณหน้า คาง คอ



3. ศอกงัด



                    ศอกงัด คือ ศอกที่ใช้ตีเสยขึ้น โดยการงัดขึ้นตรง ๆ หรือบางครั้งอาจเฉียงเล็กน้อย การงัดให้ย่อตัวลงเพื่อที่จะใช้แรงส่งจากเท้า การงัดอาจใช้ในลักษณะที่คู่ต่อสู้จะเข้ามาตีเข่า เป้าหมาย คือ บริเวณปลายคาง



4. ศอกพุ่ง



                    ศอกพุ่ง คือ ศอกที่ตั้งไว้ให้ตรงกับคู่ต่อสู้ หรือทางที่คู่ต่อสู้จะรุกเข้ามา พับข้อแขนให้ปลายศอกชี้ไปข้างหน้า ให้ศอกขนานไปกับพื้น ควรใช้ศอกที่อยู่ด้านหน้าเพราะอยู่ใกล้พุ่งออกไปตรง ๆ ใช้การสืบเท้า อาศัยแรงส่งจากเท้าหลังเข้าหาคู่ต่อสู้ เป้าหมาย คือ บริเวณหน้า



5. ศอกกระทุ้ง



                    ศอกกระทุ้ง จากการที่ตีศอกเกิดผิดพลาดพร้อมกับกระชากศอกกลับคืนมายังเป้าหมายเดิมในลักษณะกระทุ้งกลับเฉียงไปข้างลำตัว โอกาสที่จะใช้ศอกกระทุ้งคือ ใช้เมื่อตีศอกผิดพลาด หรือเมื่อคู่ต่อสู้เข้ามาประชิดด้านหลัง หรือชิดตัว หรือเมื่อคู่ต่อสู้เข้ากอดปล้ำ การตีศอกกระทุ้งถ้าจะให้มีแรงจะต้องใช้แรงส่งจากเท้า เป้าหมาย คือ บริเวณลำตัว



          6. ศอกกลับ



                    ศอกกลับ คือ การตีศอกโดยการหมุนตัวและตีศอกออกไปจากทางข้างหลัง ศอกกลับที่มักพบเห็นจะเป็นศอกกลับในแนวดิ่งและศอกกลับแนวขนาน ศอกกลับนี้จะมีความแรงขึ้นอยู่กับการหมุนตัว ถ้ามีความเร็วและมีความสัมพันธ์กับการตีศอก เป้าหมาย คือ หน้า ศีรษะ



การป้องกันการตีศอก



                              1. ถอยให้พ้นระยะ



                              2. หลบหลีกออกด้านข้าง



                              3. เข้าประชิดตัวกอดให้แน่น



                              4. ใช้มือทั้งสองข้างผลัก



                              5. ยกแขนให้สูงเพื่อปัดศอกให้พ้น



                              6. ตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธ เช่น ถีบสกัด เตะ ชกหมัดตรง



กลมวยเชิงรุก เชิงรับ การทุ่ม

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1. กติกาการแข่งขันมวยไทย (รายละเอียดในภาคผนวก  A )



2. พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 (รายละเอียดในภาคผนวก  B )


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมินและควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) และความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)



(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)



1. เอกสาร / หลักฐานการผ่านอบรมเชิงปฏิบัติการการเป็นครูผู้สอนในกีฬามวยไทย



2. แฟ้มสะสมผลงาน และ / หรือ เอกสารประกอบ



3. เอกสาร / หลักฐานที่เกี่ยวข้อง/ บันทึกการปฏิบัติงาน



(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)



1. ผลการทดสอบความรู้



2. ผลการทดสอบภาคปฏิบัติ



3. เอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้องการผ่านการฝึกอบรมผู้ฝึกสอนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยจากสถาบันการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานของรัฐให้การรับรอง 



(ค) คำแนะนำในการประเมิน



ผู้เข้ารับการประเมินต้องผ่านการประเมินที่ครอบคลุมในทุกสมรรถนะย่อยขอบเขตความรู้และทักษะที่กำหนดในกรณีที่ผู้รับการประเมินผ่านไม่ครบตามเกณฑ์กำหนด ผู้ประเมินต้องแจ้งหน่วยสมรรถนะและสมรรถนะย่อยที่ไม่ผ่านให้ผู้รับการประเมินไปทบทวนสมรรถนะที่ยังไม่ผ่านและสามารถกลับมาทดสอบสมรรถนะใหม่อีกครั้ง การเข้าสู่คุณวุฒินี้ ผู้การเข้าสู่คุณวุฒินี้ผู้ประเมินต้องดำเนินการดังนี้



ส่งแฟ้มผลงาน



สอบข้อเขียน



สอบปฏิบัติ  



สอบสัมภาษณ์  



ผู้เข้าประเมินต้องทดสอบผ่านเกณฑ์ อย่างน้อย  70  % ของการประเมินทั้ง 4 ส่วน 



ผู้ประเมินต้องเคยปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนอย่างน้อย 5 ปี ผู้เข้าประเมินทดสอบภาคปฏิบัติการสอนจริง 



 



 



(ง) วิธีการประเมิน



-         แฟ้มผลงาน        15 %



-         สอบสัมภาษณ์     20 %



-         สอบข้อเขียน      30 %



-         สอบปฏิบัติ        35 %


15. ขอบเขต (Range Statement)

ครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ เป็นผู้ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักกีฬาด้วยวิธีการต่าง ๆ การสอนทักษะมวยไทย กติกาการแข่งขัน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และการฝึกกีฬา ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยรวมถึงการให้ความรู้ในเทคนิควิธีการทักษะมวยไทยในการต่อสู้ การรักษาการบาดเจ็บ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ ความมีน้าใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ระหว่างนักมวยทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกีฬามวยไทย



คำแนะนำ    



           สำหรับผู้ประเมินมาตรฐานวิชาชีพ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการทำหน้าที่การสอนมีประสบการณ์ มาแล้วไม่น้อยกว่า  15  ปี  เคยทำหน้าที่วิทยากรให้การอบรมการสอนระดับสูง



          สำหรับผู้เข้ารับการประเมิน ต้องมีคุณสมบัติตามคุณวุฒิ  ตามคุณสมบัติที่กำหนด และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอย่างน้อย 70  % 



 (ข) คำอธิบายรายละเอียด



1. กฎกติกา หมายถึง ข้อความที่ได้ทำความตกลงกันแล้ว หมายถึง กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่



บุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป กำหนดขึ้นเป็นหลักปฏิบัติ เช่น กติกาชกมวย กติกาฟุตบอล



2. การสื่อสาร หมายถึง กระบวนการในการส่งสาร หรือ แลกเปลี่ยนข่าวสาร ความคิด



ความรู้สึกระหว่างบุคคล เน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่ง กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน



                    3. ครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ หมายถึง ผู้ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักกีฬาด้วยวิธีการต่าง ๆ การสอนทักษะมวยไทย กติกาการแข่งขัน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และการฝึกกีฬา ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยรวมถึงการให้ความรู้ในเทคนิควิธีการทักษะมวยไทยในการต่อสู้ การรักษาการบาดเจ็บ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ ความมีน้าใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ระหว่างนักมวยทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกีฬามวยไทย                   


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

  1. แฟ้มผลงาน

  2. การสอบข้อเขียน

  3. ทดสอบภาคปฏิบัติ

  4. การสัมภาษณ์



ยินดีต้อนรับ