หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทยเพื่อสุขภาพ ระดับต้น

สาขาวิชาชีพการกีฬา


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ SPT-PLNE-106A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ปฏิบัติหน้าที่ครูมวยไทยเพื่อสุขภาพ ระดับต้น

3. ทบทวนครั้งที่ /

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

ครูมวยไทยเพื่อสุขภาพ



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
เป็นผู้มีความรู้และความสามารถใช้ทักษะมวยไทยเบื้องต้น หลักการและบทบาทของการสอนครูมวยไทยเพื่อสุขภาพ การสอนความรู้ด้านประวัติกีฬามวยไทยสมัยต่าง ๆ การสอนทักษะการเคลื่อนไหวมวยไทยเพื่อสุขภาพเบื้องต้น การสอนทักษะมวยไทยพื้นฐานเพื่อสุขภาพ การนำทักษะมวยไทยพื้นฐานไปใช้ในการป้องกัน และสามารถกำหนดวางแผนการสอนมวยไทยเพื่อสุขภาพเบื้องต้น การสริมสร้างสมรรถภาพทางกายเบื้องต้น การป้องกันการบาดเจ็บทางการกีฬา และการปฐมพยาบาลขั้นต้น

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ครูมวยไทยเพื่อการแข่งขัน ครูมวยไทยเพื่อออกกำลังกาย ครูสอนมวยไทย และบุคคลที่สนใจ

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
พ.ร.บ. กีฬามวย  พ.ศ. 2542  ( ปรับปรุงแก้ไข  พ.ศ. 2564 )  รายละเอียดในภาคผนวก  B

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
X31.11

สอนความรู้ด้านประวัติกีฬามวยไทยสมัยต่าง ๆ

1. สอนความรู้ความหมายและความสำคัญของมวยไทย 

X31.11.01 159162
X31.11

สอนความรู้ด้านประวัติกีฬามวยไทยสมัยต่าง ๆ

2. สอนประวัติความเป็นมาของมวยไทย สมัยต่าง ๆ

X31.11.02 159163
X31.12

สอนความรู้ทักษะการเคลื่อนไหวมวยไทยเบื้องต้น เพื่อสุขภาพ 

1. สอนความรู้การใช้ทักษะมวยไทยกับการเคลื่อนไหว

X31.12.01 159167
X31.12

สอนความรู้ทักษะการเคลื่อนไหวมวยไทยเบื้องต้น เพื่อสุขภาพ 

2. สอนความรู้ทักษะมวยไทยกับการเคลื่อนที่ หน้า หลัง ซ้าย ขวา

X31.12.02 159168
X31.13

สอนความรู้ทักษะมวยไทยเบื้องต้นเพื่อสุขภาพ

1. สอนความรู้ทักษะมวยไทยเบื้องต้น การพันมือ การกำหมัด การจดมวย เหลี่ยมซ้าย ขวา 

X31.13.01 159171
X31.13

สอนความรู้ทักษะมวยไทยเบื้องต้นเพื่อสุขภาพ

2. สอนความรู้ทักษะมวยไทยพื้นฐาน หมัด เท้า เข่า ศอก พร้อมกับการเคลื่อนที่ หน้า หลัง ซ้าย ขวา

X31.13.02 159172
X31.14

สอนความรู้ทักษะการป้องกันเบื้องต้นเพื่อสุขภาพ

1. สอนความรู้ทักษะมวยไทยกับการป้องกันเบื้องต้น

X31.14.01 159173
X31.14

สอนความรู้ทักษะการป้องกันเบื้องต้นเพื่อสุขภาพ

2. สอนความรู้ทักษะการป้องกันพร้อมการเคลื่อนที่

X31.14.02 159174

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

ความรู้เรื่องประวัติความเป็นมาของมวยไทย การสอนมวยไทยเบื้องต้น


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

ความหมายของมวยไทย ได้มีผู้รวบรวมความหมายของมวยไทยไว้ ดังนี้



พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน (2525: 632) ได้ให้ความหมายไว้ว่า มวยไทย หมายถึง กีฬาชกมวยบนเวทีที่มีกติกายอมให้คู่ชกใช้เท้า ศอก และเข่าได้



จรวย แก่นวงษ์คำ (2530: 5) กล่าวว่า มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้มีมาแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทย ได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝนวิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธช่วยในสมัยโบราณ เช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าต่อสู้ประชิดตัวจะได้ใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วย เช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้น แต่เดิมศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันแต่บรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือเฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดาอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดขุนพล หรือยอดนักรบมาแล้ว วิทยาการจึงได้แพร่หลายและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้



โพธิ์สวัสดิ์ แสงสว่าง (2525: 25) ได้ให้ความหมายไว้ว่า กีฬามวยไทย หมายถึง กิจกรรมการเคลื่อนไหวชนิดหนึ่งที่ใช้อวัยวะเกือบทุกส่วน เช่น ศอก เข่า เท้า หมัด เป็นศิลปะในการต่อสู้ แข่งขัน ฝึกซ้อม ออกกำลังกาย เพื่อที่จะช่วยพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจและสติปัญญา



ประวัติและความเป็นมาของมวยไทย



มวยไทยเกิดขึ้นในสมัยใดไม่แน่ชัด เท่าที่มีหลักฐานพบว่ามวยไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว อาจจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับชาติไทย เพราะถือกันว่ามวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติของไทยยากที่ชาติอื่นจะเลียนแบบได้ (จรัสเดช อุลิต.  2527: 11)



ฝ่ายวิชาการ บริษัท สกายบุ๊กส์ จำกัด (2548: 3-24) ได้กล่าวถึงประวัติมวยไทย สรุปพอสังเขปได้ ดังนี้



มนุษย์รู้จักคำว่า “ต่อสู้” ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเกิดลืมตามาดูโลก ต้องต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบ ๆ ตัวเอง และแม้แต่กับตัวเองก็มิได้ละเว้นจะต้องสู้ ต้องต่อสู้กับธรรมชาติและภัยของธรรมชาติ สิงสาราสัตว์ที่มุ่งร้ายหมายชีวิต หรือที่มนุษย์มุ่งจะเอาชีวิตเพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับยังชีวิต บางครั้งมนุษย์ก็ต่อสู้กันเอง เพื่อสิทธิในการครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อเสรีภาพ เพื่อป้องกันตนเองหรืออื่น ๆ การต่อสู้ดังกล่าวอาจจะต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มนุษย์จะต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการต่อสู้คือ ความอยู่รอดของชีวิตจากการต่อสู้ มนุษย์ก็ได้พยายามคิดค้นวิธีการต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น อาจจะโดยการประดิษฐ์อาวุธต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น มีด หอก ขวาน สำหรับเป็นอาวุธคู่มือ ภาษาวัยรุ่น เขาเรียกว่า “เครื่องทุ่นแรง” ที่สามารถใช้ทำอันตรายคู่ต่อสู้ที่ปราศจากอาวุธให้ถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเมื่อทั้งสองฝ่ายมีอาวุธ คู่มือการทำร้ายกันก็ทำได้ลำบาก เพราะต่างต้องเกรงซึ่งกันและกัน มนุษย์ก็พยายามใช้ความคิดที่จะหาหนทางเอาชนะ เอาชีวิตของคู่ต่อสู้ให้ง่ายและรวดเร็ว ป้องกันชีวิตตนเองให้ปลอดภัยมากขึ้น พยายาม คิดค้นศึกษา ทดลอง ดัดแปลงแก้ไขเพื่อหาแนวทางที่จะต่อสู้และป้องกันตัวทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ ทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวขึ้นมา



มนุษย์ในแต่ละซีกโลกหนึ่ง หรือแต่ละภาคของโลก ต่างก็มีวิธีการต่อสู้และป้องกันตัวเป็นของตนเอง และแตกต่างกับการต่อสู้ของมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวแตกต่างกัน เช่น มนุษย์ในแถบขั้วโลกมีหิมะน้ำแข็งจับตัวอยู่ตลอดปีหรือมีอากาศหนาวจัด การแต่งกายจะต้องสวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อป้องกันความหนาวที่จะมาทำอันตรายต่อผิวหนัง ความคล่องตัวในการเตะต่อยไม่ค่อยมี การต่อสู้มักจะใช้ประโยชน์จากเครื่องแต่งกายที่หนา โดยการจับรั้ง เพื่อทำการทุ่ม หรือใช้ขอบเสื้อส่วนที่เป็นปกและคอ



เสื้อรัดคอหรือใช้เกี่ยวกันไม่ให้คู่ต่อสู้เคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจับทุ่ม ได้แก่ ยูโด มวยปล้ำ ไอคิโด สำหรับมนุษย์ที่เกิดในบริเวณอากาศอบอุ่นและค่อนข้างร้อน การแต่งกายจะแต่งด้วยเสื้อผ้าที่บาง ไม่รุ่มร่าม มีความคล่องตัวในการเตะต่อย การต่อสู้จึงมักจะอาศัยการเตะต่อย ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการต่อสู้ป้องกันตัวแบบเตะต่อย เช่น มวยไทย มวยสากล เสี้ยวลิ้มของจีน คาราเต้ของญี่ปุ่น หรือเทควันโดของเกาหลี เราจะสังเกตเห็นว่า ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวบางประเภทจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน เช่น แขนงวิชาการเตะต่อย อาจจะกล่าวว่าศิลปะประเภทนั้นเลียนแบบศิลปะประเภทนี้ก็อาจจะกล่าวได้ยาก เพราะการคิดค้นทดลอง ฝึกฝน มักจะเลียนแบบธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ความคล้ายคลึงกันจึงย่อมจะเป็นไปได้



มนุษย์ได้พยายามคิดค้นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากสิ่งรอบข้าง โดยใช้อวัยวะของร่างกายเป็นอาวุธเข้าต่อสู้ เช่น มือและเท้า กำหนดระเบียบแบบแผนมีหลักเกณฑ์ในการต่อสู้ต่าง ๆ รวมกันเรียกว่า “มวย”



บรรพบุรุษมีความเฉลียวฉลาดในการคิดค้น ดัดแปลงและพลิกแพลงในการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น มือ เท้า เข่า ศอก และศีรษะเข้าต่อสู้ป้องกัน ปิดป้องส่วนที่อ่อนแอของร่างกายได้เป็นอย่างดี วิธีการต่อสู้และป้องกันตนเองของไทย ซึ่งจะหาการต่อสู้ของชาติอื่นมาเทียบไม่ได้ การต่อสู้มือเปล่าของไทยเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ประจำชาติ เรียกว่า “มวยไทย”



มวยไทยเป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวได้จริง สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการต่อสู้และในการกีฬา ศิลปะประเภทนี้บรรพบุรุษของชาติไทยใช้อบรมสั่งสอนสืบทอดกันมาให้ดำรงอยู่ตลอดไป บรรดาชายฉกรรจ์จะได้รับการสั่งสอนฝึกฝนศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น การใช้อาวุธรบสมัยโบราณ เช่น กระบี่ กระบอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ นักรบไทยจะนำไปประกอบการต่อสู้ที่มีชั้นเชิงสูง เดิมมักจะฝึกสอนกันเฉพาะบรรดาเจ้านายชั้นสูงนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงแพร่หลายไปถึงสามัญชน ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากครูอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดทหารขุนพล ยอดนักรบของชาติมาแล้ว ได้ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต พยายามถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ศิษยานุศิษย์ และสืบเนื่องมาจากไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ครูอาจารย์ที่สอนอยู่ในเพศบรรพชิตจึงทำให้มวยไทยกับศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์กันจนแยกไม่ออก ซึ่งจะสังเกตได้จากก่อนการชกนักมวยจะมีการไหว้ครู ร่ายมนต์คาถา ตามร่างกายก็มีเครื่องรางของขลัง เช่น ผ้าประเจียดรัดแขน หรือมงคลสวมศีรษะ เป็นต้น



มวยไทยในสมัยก่อนเท่าที่ทราบจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเราได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อย ๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กัน มีแต่ดาบทั้งสองมือและมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัว คนไทยเห็นว่าการรบด้วยดาบนั้นเป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้งคู่ต่อสู้อาจจะเข้ามาฟันเราได้ง่ายขึ้น ทำให้แพ้คู่ต่อสู้ได้



ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้รับการฝึกถีบ และเตะแล้ว ได้มีผู้คิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้การถีบและเตะนั้นมาเป็นศิลปะ สำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงได้มีผู้ที่คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่าง ๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบและเตะอย่างแพร่หลายและบ่อยเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจึงตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมาย แต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดี   มาก่อน จะมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้น มวยไทยสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อมีความหมาย 2 อย่าง คือ



1. เพื่อไว้สำหรับสู้รบข้าศึก



2. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกัน



โดยมีรายละเอียดในแต่ละสมัย ดังนี้



สมัยอาณาจักรน่านเจ้า



พ.ศ. 1291 พระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้รวบรวมอาณาจักรไทยขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้า และมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งปกครองอยู่นาน ไทยต้องทำสงครามกับจีนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นมิตร บางครั้งก็เป็นศัตรูกัน ในสมัยนั้นมีการฝึกใช้อาวุธบนหลังม้า รู้จักใช้หอก ใช้ง้าว ในสมัยล้านนาไทยได้มีวิชา การต่อสู้ป้องกันตัว และวิชาเจิ้ง การรบเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จะสังเกตเห็นว่าการต่อสู้ในสมัยนี้ส่วนมากจะใช้อาวุธ เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ระยะประชิดตัว และนิยมการเลียนแบบจากจีน



สมัยกรุงสุโขทัย



พ.ศ. 1781 – 1921 ในสมัยสุโขทัยนี้การต่อสู้ด้วยมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยก็มีใช้อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึก ส่วนใหญ่ก็ยังใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ สถานที่ที่เป็นสำนักประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยแบ่งออกเป็น



1. วัด จากครูอาจารย์ที่บวชเป็นพระภิกษุและมีฝีมือในการต่อสู้



2. บ้าน จากผู้มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้กุลบุตร และกุลธิดาที่สนใจ



3. สำนักราชบัณฑิต ให้เรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว มีการใช้อาวุธบนหลังม้า ช้าง วัว ควาย



นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น ระบำ รำ เต้น กีฬาว่าว จากพงศาวดารโยนกพูดถึงเรื่องการล่าสัตว์ว่า พระเจ้าเม็งรายกับพระเจ้ารามคำแหงได้ทรงช้างออกไปล่าสัตว์กับพวกพรานและข้าราชบริวาร ซึ่งเป็นสัตว์ประเภทกวาง หมู ไก่ อีเก้ง นก ฯลฯ เป็นต้น



ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ปี พ.ศ. 1800 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองราชย์สมบัติเมื่อเสด็จสวรรคต ราชโอรสมีพระนามว่าขุนบางเมืองได้สืบราชสมบัติต่อมา และได้เสด็จสวรรคตเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1820 ราชสมบัติจึงตกทอดมาสู่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ประยุทธ สิทธิพันธ์.  2520: 7) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระบิดาของเจ้าชายพระร่วงได้ส่งเจ้าชายพระร่วง โอรสองค์ที่ 3 ไปเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ที่สำนักเขาสมอคอน แขวงเมืองละโว้  เมื่อมีพระชนมายุ  13 พรรษา โดยมีพระโอรสผู้ครองนครเงินยาง และเจ้าผู้ครองนครพะเยา ทรงไปศึกษาด้วยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเจ้าชายพระร่วง ได้ศึกษาเล่าเรียน ในเรื่อง การอ่าน การเขียน การปกครอง โหราศาสตร์ และศิปะการต่อสู้การใช้ดาบ ง้าว หอก พลอง และการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวย กับสุกะทันตะฤาษี เจ้าสำนักเขาสมอคอน ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนศิลปศาสตร์ โหราศาสตร์และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวย พระร่วงได้เรียนวิชามวยจนแกร่งกล้าเป็นเวลา 3 ปี จึงกลับกรุงสุโขทัย พระร่วงทรงช้างออกรบกับพระบิดาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ที่เมืองตาก เมื่อตอนขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ยกทัพเข้าตีเมืองตาก ในขณะทำการรบช้างของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียท่าขุนสามชน พระร่วงทรงนำช้างเข้าขว้างและทำยุทธหัตถีกับขุนสามชนจนได้รับชัยชนะพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงทรงพระราชทานนามให้พระร่วงว่า “รามคำแหง” แปลว่าผู้กล้า (ภราดร  สังกรแก้ว.  2556: 7)



สมัยกรุงศรีอยุธยา



พ.ศ. 1893 - 2310 สมัยนี้ยังมีการถ่ายทอดวิชาการต่าง ๆ มาจากสมัยสุโขทัยกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การล่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำ และการละเล่นต่าง ๆ และวัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและฝึกความชำนาญในเชิงดาบ กระบี่กระบอง กริช มวยไทย ธนู เป็นต้น



พ.ศ. 1901 - 2173 ประชาชนในกรุงศรีอยุธยานิยมเล่นกีฬากลางแจ้งกันมาก โดยเฉพาะการเล่นว่าว จนต้องออกกฎมณเฑียรบาล ห้ามประชาชนเล่นว่าวเหนือพระราชฐาน



พ.ศ. 2174 - 2233 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับว่าเจริญที่สุด เพราะมีกีฬาหลายอย่าง เช่น การแข่งเรือ การชกมวย



สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ พระองค์ชอบกีฬาชกมวย ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลราดรวด พระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านออกไปเที่ยวงานมหรสพ แล้วพระองค์ก็สมัครชกมวย โดยไม่เกี่ยงว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใคร พอทางสนามรู้ว่าพระองค์เป็นนักมวยมาจากอยุธยา จึงได้จัดนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษไชยชาญเท่าที่มีอยู่ ซึ่งได้แก่ นายกลางหมัดมวย นายใหญ่หมัดเหล็ก และนายเล็กหมัดหนัก ชกกับพระเจ้าเสือ พระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด



พระองค์ได้ฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสให้มีความสามารถในกระบี่กระบองและมวยปล้ำ



ในสมัยนั้นใครมีเพลงดาบดีและเก่งทางรบพุ่งนั้นจะต้องเก่งทางมวยไทยด้วย เพราะเวลา รบพุ่งนั้นต้องอาศัยมวยไทยเข้าช่วยด้วย ดังนั้น วิชามวยไทยในสมัยนั้นจึงมุ่งหมายเพื่อที่จะฝึกฝนเพลงดาบและวิชามวยไทย เพื่อที่จะให้ตัวเองเข้าไปรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร



แต่เมื่อพ้นจากหน้าที่สงครามแล้ว มีการชกมวยกันเพื่อความสนุกสนาน และมีการพนันกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่งกับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาชกกัน ในหน้าที่มีงานเทศกาล หรือเกิดการท้าทายกันขึ้นและมีการพนันขันต่อกัน มวยในสมัยนั้นชกกันด้วยหมัดเปล่า ๆ ยังไม่มีการคาดเชือก



พ.ศ. 2310 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก คนไทยถูกจับไปเป็นเชลยมากและเมื่อไปถึงพม่าก็จัดมหาเจดีย์ใหญ่เพื่อฉลองชัยชนะ สุกี้พระนายกองก็ได้คัดเลือกนายขนมต้มส่งไปชกมวยที่พม่าด้วย นายขนมต้มซึ่งได้ใช้วิชามวยไทยต่อสู้กับพม่าถึง 10 คน และพม่าได้แพ้นายขนมต้มทุกคน จนพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า 2 ข้าง ก็ยังมีพิษรอบตัว พระเจ้ากรุงอังวะได้มอบเงินและภรรยาให้ 2 คน เป็นรางวัลแก่นายขนมต้ม นายขนมต้มจึงเปรียบเสมือนบิดาผู้สอนมวยไทย เพราะทำให้ไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับวิชามวยไทยเป็นอันมากในสมัยนั้น และชื่อเสียงได้เลื่องลือมาจนถึงสมัยปัจจุบัน อนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มวยไทยชกกันด้วยการ “คาดเชือก” เรียกว่า มวยคาดเชือก ซึ่งใช้เชือกหรือผ้าพันมือ บางครั้งการชกอาจถึงตายเพราะเชือกที่คาดมือนั้นบางครั้งใช้น้ำมันชุบเศษแก้วละเอียดชกตรงไหนเป็นแตกได้เลือด จะเห็นว่าสมัยนี้การชกมวยคาดเชือกมีอันตรายมาก



สมัยกรุงธนบุรี



พ.ศ. 2314 พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่และได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย (นายทองดี ฟันขาว) จึงนำทัพออกตะลุมบอนกับพม่าจนดาบทั้งสองหัก และป้องกันเมืองไว้ได้ พระยาพิชัยเป็นผู้มีฝีมือในเรื่องการชกมวย กระบี่กระบอง และฝีมือในการรบ พระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) จึงได้ให้ไปครองเมืองพิชัย จากการต่อสู้ของพระยาพิชัยจนดาบหัก และสามารถป้องกันเมืองพิชัยไว้ได้ประชาชนจึงเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหัก



ในสมัยกรุงธนบุรีมีการเล่นกีฬามวยไทย กระบี่กระบอง แข่งเรือ ว่าว ตะกร้อ หมากรุก ชักคะเย่อ



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยปัจจุบัน)



พ.ศ. 2325 ในระยะต้น คือ รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยทรงโปรดการกีฬามาก เช่น สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ลูกยาเธอหลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง ส่วนใหญ่ประชาชนก็นิยมเล่นกีฬากัน โดยฝึกกันตามบ้านและสำนักต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งผู้ที่มีฝีมือในทางกีฬาต่าง ๆ ให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬา ให้มียศและตำแหน่งด้วย เช่น หมื่นมวยแม่นหมัด ขุนชงัดชิงชก เป็นผู้ดำเนินการจัดกีฬา กีฬาไทยที่ได้รับการ   ยกย่องส่งเสริม มีดังนี้



1. กีฬาว่าว จัดให้มีการแข่งขันว่าวชิงถ้วยพระราชทาน พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพร่างระเบียบการแข่งขันว่าว และตราเป็นข้อบังคับ เรียกว่า กติกาว่าว สนามหลวง พระองค์ยังดำริที่จะตั้งสมาคมกีฬาสยามขึ้น



2. จัดให้มีการแข่งขันกีฬากระบี่กระบอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกระบี่กระบองที่มีความสามารถ พระองค์ได้ส่งเสริมให้มีการฝึกหัดและจัดแข่งขันกันอย่างกว้างขวาง



3. จัดให้มีการแข่งขันกีฬามวยไทย รัชกาลที่ 5 พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทยจึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยไทยทั้งในชนบทและในกรุง



4. จัดให้มีการแข่งขันกีฬา รัชกาลที่ 5 ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนและครูขึ้น โดยจัดครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีกระทรวงธรรมการเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินงาน



ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มวยไทยก็มีการฝึกฝนกันตามสำนักฝึกต่าง ๆ และมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัยกรุงเทพฯ ก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐ์ และเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการชกในสมัยนี้ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวม ได้เข้ามาแพร่หลายในไทย การชกกันในสมัยหลัง ๆ จึงได้สวมนวมชกกัน แต่การชกก็ยังเหมือนเดิม คือยังใช้การถีบ เตะ ชก ศอก เข่า อยู่เช่นเดิม ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้



 



 



 



 



 



 



การแข่งขันมวยไทยสามารถแบ่งได้ 5 สมัยตามเวทีแข่งขัน ดังนี้



1. สมัยสวนกุหลาบ ในสมัยนี้ประชาชนนิยมการชกมวยและชมการแข่งขันชกมวยกันเป็นจำนวนมาก การชกมวยกันในสมัยนี้ยังนิยมการคาดเชือกอยู่ การชกได้กำหนดจำนวนยกไว้แน่นอนแล้ว และมีกรรมการผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสินส่วนมากนั่งอยู่ข้างเวที และให้อาณัติสัญญาณให้นักมวยหยุดชกด้วยเสียงหรือนกหวีด



2. สมัยท่าช้าง ในสมัยนี้เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากคาดเชือกมาเป็นสวมนวม (พ.ศ. 2462) ได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นระยะเวลาพอสมควร สนามก็เลิกไป กรรมการผู้ชี้ขาดในสมัยนี้นับว่ามีชื่อเสียงก็คือ นายทิม อติเปรมานนท์ และนายนิยม ทองชิตร์



3. สมัยสวนสนุก การจัดการแข่งขันในสมัยนี้ เจ้าของสนามได้จัดการแข่งขัน และได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปี ทำให้นักมวยไทยมีชื่อเสียงหลายคน เช่น นายสมาน ดิลกวิลาส นายสมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นต้น กรรมการที่ชี้ขาดการตัดสินในขณะนั้นและนับว่ามีชื่อเสียงควรกล่าวคือ หลวงพิพัฒน์พลกาย นายสุนทร ทวีสิทธิ์ (ครูกิมเส็ง) และนายนิยม ทองชิตร์



4. สมัยหลักเมืองและสวนเจ้าเชษฐ์ การแข่งขันชกมวยในสมัยนี้นับว่าเข้มแข็งดีมาก เพราะทางราชการทหารได้เข้าจัดการเพื่อเก็บเงินบำรุงราชการทหาร คณะกรรมการและนักมวย ได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี จนเก็บเงินส่งบำรุงราชการทหารได้เป็นจำนวนมากสมตามความประสงค์ของราชการทหาร ตลอดจนทำให้นักมวยที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ผล พระประแดง เพิก สิงห์พัลลภ ถวัลย์ เวงศ์เทเวศร์ ประเสริฐ ส.ส. และทองใบ ยนตรกิจ ได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงได้เลิกการแข่งขัน เมื่อใกล้ ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 กรรมการผู้ชี้ขาดได้ทำการตัดสินอยู่ประจำตลอดนั้น มีอยู่ 3 คนด้วยกันคือ นายสังเวียน หิรัญยเลขา นายเจือ จักษุรักษ์ และนายวงศ์ หิรัญยเลขา



5. สมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินีเป็นประจำทุกวันสลับกันไป และยังมีเวทีชั่วคราว เช่น เวทีกองทัพอากาศ เวทีกองทัพเรือ และตามต่างจังหวัดทุกจังหวัด การแข่งขันมีทั้งมวยไทยและมวยสากล ตลอดจนได้จัดส่งให้นักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน และจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศในปัจจุบัน



มวยไทยเป็นกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดของเรา และเป็นที่นิยมของประชาชนทุกชั้นทุกสมัย ในชั้นต้นการแข่งขันมวยไทยไม่ได้มีกติกาเป็นลายลักษณ์อักษร นายสนามต้องชี้แจงให้นักมวยคู่แข่งขันทราบถึงหลักเกณฑ์ในการแข่งขันนั้น ๆ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อใช้กันมากขึ้นก็กลายเป็นจารีตประเพณี ซึ่งใช้เป็นหลักสำหรับการแข่งขันสืบมา



พ.ศ. 2455 ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ได้ทรงนำวิชามวยฝรั่ง (มวยสากล) มาสอนให้แก่คณะครูที่สามัคยาจารย์สมาคมและได้ทรงร่างกติกามวยฝรั่งขึ้น ในไม่ช้ามวยฝรั่งก็ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรโดยรวดเร็ว



พ.ศ. 2462 กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนกติกามวยฝรั่งซึ่ง ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ได้ทรงร่างขึ้น มีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย และคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470



พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะออกกฎกระทรวง ว่าด้วยเงื่อนไขในการอนุญาตให้เล่นการพนัน ชกมวย มวยปล้ำ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2470 และขอให้กรมพลศึกษาปรับปรุงแก้ไขกติกาเหล่านี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น กรมพลศึกษาเห็นชอบด้วย จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรม       พลศึกษาร่วมกันพิจารณาร่างกติกามวยไทย มวยฝรั่ง และมวยปล้ำขึ้นใหม่จนสำเร็จเมื่อ 10 มีนาคม 2477 และเริ่มใช้กติกาใหม่นี้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2480 เป็นต้นไป และได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2482



พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้วางข้อบังคับคุ้มครองการแข่งขันชกมวยไทย มวยฝรั่ง เพื่อเป็นการแข่งขันชั่วคราว



มวยอาชีพ ทางบริษัทมวยเวทีราชดำเนินได้วางระเบียบ ข้อบังคับ และกติกาแข่งขันขึ้น โดยได้อาศัยระเบียบข้อบังคับและกติกามวยสากล (อาชีพ) ของประเทศฟิลิปปินส์เข้าเทียบเคียงเพื่อให้เข้ากับระเบียบข้อบังคับของสหพันธ์มวยภาคตะวันออก ซึ่งประเทศไทยเราได้เป็นภาคีอยู่ด้วย ทางเวทีราชดำเนินได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับกติกาใหม่นี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2498 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน



ความเป็นมาของมวยไทย



ฝ่ายวิชาการ บริษัท สกายบุ๊กส์ จำกัด (2548: 24-30) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของมวยไทย สรุปพอสังเขปได้ ดังนี้



มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเชิงกีฬาและการต่อสู้จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้มีมาแต่โบราณกาล บรรพบุรุษของชาติไทยได้ฝึกฝนอบรมสั่งสอนกุลบุตรไว้เพื่อป้องกันตัวและชาติ บรรดาชายฉกรรจ์ของไทยได้รับการฝึกฝนวิชามวยไทยแทบทุกคน นักรบผู้กระเดื่องนามทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น เพราะการใช้อาวุธในสมัยโบราณ เช่น กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ ถ้ามีความรู้วิชามวยไทยประกอบด้วยแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เข้าต่อสู้ติดพันประชิดตัว ก็จะได้อาศัยใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วย เช่น เข่า เท้า ศอก เป็นต้น แต่เดิมมาศิลปะมวยไทยที่มีชั้นเชิงสูงมักจะฝึกสอนกันในบรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือเฉพาะพระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายไปถึงสามัญชน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากบรรดาอาจารย์ซึ่งเดิมเป็นขุนพล หรือยอดนักรบมาแล้ว วิทยาการจึงได้แพร่หลายและคงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้



มวยไทยศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัว แตกต่างไปจากมวยสากล คือ นอกจากจะใช้หมัดชกคู่ต่อสู้แล้ว ยังสามารถใช้เท้า เข่า และศอกต่อสู้ได้อีก การใช้หมัดชกในแบบมวยไทย นอกจากจะมีการชกตรง ชกชุด และชกอับเปอร์คัต เหมือนกับแบบมวยสากลแล้ว มวยไทยยังได้มีการชกมวยแบบมุดตัวเหวี่ยงหมัดกลับ ถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้จ้องดูและไม่ก้มศีรษะลง มักจะถูกหมัดเหวี่ยงกลับของคู่ต่อสู้ถึงกับน็อคเอ๊าท์ก็ได้ หมัดเหวี่ยงกลับก็เป็นหมัดหนึ่งคล้ายกับมุดตัวเหวี่ยงหมัดกลับ แต่ใช้ข้อมือหรือหลังมือทุบหรือตีคู่ต่อสู้ นักมวยทั่ว ๆ ไปยังใช้วิธีชกตามแบบเหล่านี้อยู่ และนอกจากนั้นยังใช้อวัยวะอย่างอื่นช่วยได้อีกหลายวิธี เช่น ใช้เท้าเตะต่ำ เตะสูง เตะตรง เตะตัด และถีบ ซึ่งจะใช้ได้ทั้งปลายเท้า ฝ่าเท้า หลังเท้า และส้นเท้า นักมวยไทยมีความชำนาญมากในการใช้เท้า ส่วนใหญ่เป็นการเตะและถีบ ส่วนการใช้เข่า นักมวยไทยก็ใช้ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น กระโดดตีเข่า จับกอดคู่ต่อสู้ตีเข่า นอกจากนั้นยังรู้จักใช้ศอกซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง วิธีตีศอกก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน คือ ศอกตี หมายถึงกดปลายศอกลงโดยตรง ศอกตัด คือเหวี่ยงศอกขนานกับพื้น ศอกงัด คืองัดปลายศอกขึ้น หรือ



ยกปลายศอกขึ้น ศอกพุ่ง คือพุ่งศอกออกไปยังคู่ต่อสู้ ศอกกลับ คือการหมุนตัวกลับพร้อมกับตีศอกตามแบบต่าง ๆ ไปด้วย



การชกมวยไทยในสมัยโบราณเป็นการต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว ต่อสู้กันจริง ๆ และหวาดเสียวตื่นเต้นมากกว่าสมัยนี้ นักมวยสมัยเก่าต้องใช้ด้ายดิบชุบแป้งให้แข็ง เส้นโตขนาดดินสอดำ พันมือตั้งแต่สันมือตลอดถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อนิ้วมือ (สันหมัด) เป็นรูก้นหอยที่เรียกว่า “คาดเชือก” ซึ่งไม่มีการสวมนวมเหมือนอย่างสมัยปัจจุบัน ฉะนั้น การชกแข่งขันในสมัยนั้นเมื่อถูกชกใบหน้า หรือเพียงแต่เฉียดผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งไปเท่านั้น ก็แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้เลือดซึมออกมาทันที ในสมัยก่อนเมื่อครั้งยังไม่มีกติกาข้อห้ามมากนักกับทั้งไม่รัดกุม เหมือนสมัยปัจจุบัน นักมวยทั้งสองฝ่ายจะต้องต่อสู้กันอย่างระมัดระวัง ศีรษะก็ใช้ชนคู่ต่อสู้ได้ เพียงแต่ห้ามกัดกันเท่านั้น ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงกติกาการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน



การแข่งขันมวยไทยในปัจจุบันนี้ นักมวยต้องสวมนวมขนาด 4 ออนซ์ และแต่งกายแบบนักกีฬามวย คือสวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับ ส่วนผู้ใดจะสวมปลอกรัดข้อเท้า และจะมีเครื่องรางของขลังผูกไว้ที่แขนท่อนบนก็ได้ ในการแข่งขันมีผู้ตัดสินชี้ขาดบนเวที 1 คน มีผู้ตัดสินให้คะแนนข้างเวที 2 คน มีผู้จับเวลา 1 คน และมีแพทย์ประจำเวที 1 คน จำนวนยกในการแข่งขันทั้งหมดมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที การแข่งขันแบ่งเป็นรุ่นตามน้ำหนักตัวของนักมวยเหมือนกับหลักเกณฑ์ของมวยสากล ผู้ตัดสินมีอำนาจหน้าที่ตามกติกาการแข่งขัน อวัยวะที่ใช้ในการต่อสู้แข่งขันได้คือ หมัด เท้า เข่า และศอกเข้าชก เตะ ถีบ ทุบ ถอง ตี ฯลฯ ได้ทุกส่วนของร่างกายโดยไม่จำกัดที่ชก



ก่อนการแข่งขันนักมวยทั้งสองจะทำการไหว้ครูและร่ายรำ คือกราบสามครั้งเพื่อระลึกถึงบิดา มารดา ครูอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอคุณพระศรีรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยคุ้มครอง และขอให้ได้ชัยชนะด้วยความปลอดภัยในที่สุด แล้วจึงร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบฉบับของครูที่ได้สอนไว้ให้โดยตลอด นักมวยทุกคนจะสวม “มงคล” ที่ศีรษะ มงคลนี้ทำด้วยด้ายดิบหลายเส้นรวมกันแล้วพันหุ้มด้วยผ้าโตขนาดนิ้วมือ ทำเป็นรูปบ่วงเพื่อสวมศีรษะ การสวมมงคลไว้ก่อนแข่งขันนี้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งครูอาจารย์ได้ทำพิธีปลุกเสกและให้ความเป็นสิริมงคลไว้แก่ตน ฉะนั้นนักมวยจะสวมมงคลไว้ตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครูและร่ายรำ และจะถอดออกจากศีรษะเมื่อจะเริ่มการแข่งขัน ในระหว่างการไหว้ครูและร่ายรำนั้นจะมีดนตรีบรรเลงประกอบตามทำนองของดนตรีไทยเป็นจังหวะช้า ๆ เครื่องดนตรีเหล่านั้นได้แก่ ปี่ชวา กลองแขก 2 และฉิ่ง 1 เมื่อถอดมงคลแล้วกรรมการผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยทั้งสองมาจับมือกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาพร้อมกันนั้นก็จะตักเตือนกติกาสำคัญ ๆ อันเกี่ยวกับการแข่งขันให้นักมวยทั้งสองได้ทราบ ครั้นเมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้ว ดนตรีบรรเลงในทำนองเร่งเร้าให้นักมวยทั้งสองเกิดความรู้สึกฮึกเหิม และมุ่งเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด การร่ายรำและการต่อสู้โดยมีดนตรีประกอบนั้น นอกจากจะถือว่าเป็นศิลปะแล้ว ยังเป็นประเพณีอันดีงามของชาวไทยมาแต่โบราณกาล จนไม่อาจจะทิ้งให้สูญหายไปเสียได้



ในปัจจุบัน การแข่งขันมวยไทยเป็นกีฬาอาชีพโดยสิ้นเชิง เฉพาะในกรุงเทพฯ มีการแข่งขันเป็นประจำเกือบทุกวัน ๆ ละ 2 รอบก็มี สำหรับการควบคุมมวยอาชีพขึ้นอยู่กับกฎ ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ที่มิใช่อาชีพก็มีเพียงการฝึกสอนในสถาบันการพลศึกษาเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อมิให้ศิลปะมวยไทยสูญหายไปและเพื่อรักษาไว้ซึ่งการกีฬาประจำชาติอันเป็นศิลปะในการต่อสู้ ชาวต่างประเทศที่มีโอกาสได้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็มักจะไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะไปชมการแข่งขันมวยไทยจะต้องพยายามเข้าชมการแข่งขันมวยไทย



ปรากฏว่าเป็นที่น่าสนใจของชาวต่างประเทศมาก เพราะมวยไทยมีวิธีชกแปลกที่สุดในโลก และยิ่งกว่านั้นนักมวยไทยยังได้เคยเดินทางไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้ง จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป มีศิลปะการต่อสู้ของชาติต่าง ๆ ได้ขอเข้ามาต่อสู้กับมวยไทย เช่น ยูโด คาราเต้ เทควันโด มวยสากล มวยปล้ำ มวย Kick Boxing, Martrialart ฯลฯ ซึ่งการต่อสู้ แต่ละครั้งมวยไทยจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้ชาวต่างชาติเห็นว่าการต่อสู้แบบมวยไทยเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีพิษสงรอบด้าน จึงพากันสนใจเรียนมวยไทยกันมาก อีกทั้งมีคนไทยที่มีความรู้ด้านมวยไทยเป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นครูสอนมวยไทยมาก่อน หรือบางคนเป็นนักมวยที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมาก่อนไปอาศัยในต่างประเทศ ได้เปิดสอนมวยไทยในประเทศที่ตนเองไปอาศัยอยู่นั้น ซึ่งได้รับการสนใจเป็นอันมาก ปัจจุบันมวยไทยอาชีพได้เผยแพร่จนเป็นที่รู้จักทั่วกัน จนมีการจัดการแข่งขันมวยไทยในต่างประเทศบ่อย ๆ เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นการแข่งขันมวยไทยระหว่างนักมวยไทยกับมวยต่างชาติที่ฝึกและนิยมมวยไทยหรือการแข่งขันระหว่างนักมวยไทยด้วยกันเองในต่างแดน จากความสนใจของชาวต่างชาติที่ฝึกมวยไทยนี้เอง จึงมีนักมวยต่างชาติเข้าใจและมีฝีมือในการต่อสู้แบบมวยไทยเป็นอย่างดียิ่งขึ้น



 1. การตั้งท่าหรือการจดมวย



การตั้งท่าในการต่อสู้เราเรียกว่า การตั้งท่าหรือการจด การยืนตั้งท่าแบบมวยไทยเป็นการยืนปักหลัก เพื่อจะเตรียมการใช้เท้าหน้าถีบหรือเตะ การจดมวยไทยนั้นเท้าหลังวางเกือบขวางกับแนวต้านทานหรือแนวที่คู่ชกจะทุ่มน้ำหนักเข้ามา และเยื้องเป็นมุมกับเท้าหน้า ซึ่งในมวยสากลเท้าหน้ากับเท้าหลังนั้น แนวชี้เกือบจะชี้ตรงไปด้านหน้า 



          1. การวางเท้า เท้าทั้งสองห่างกันพอสมควร คือ ประมาณหนึ่งช่วงไหล่ เท้าที่ไม่ถนัดวางไว้ด้านหน้าหันปลายเท้าชี้ตรงไปข้างหน้า ส่วนเท้าหลังให้วางเฉียงออกมาด้านข้าง เพราะจะต้องใช้เท้าหลังเป็นหลักและรับน้ำหนัก ส้นเท้าทั้งสองเปิดขึ้นเล็กน้อย เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนไหว ในการตั้งท่า   ของท่า สำหรับการใช้อาวุธหนักอาจจะตกอยู่ที่เท้าหน้า เท้าหลังหรือเท้าทั้งสองแล้วแต่โอกาส เช่น  ถ้าใช้เท้าหลังเป็นอาวุธ น้ำหนักตัวจะอยู่เท้าหน้า ถ้าใช้เท้าหน้าเป็นอาวุธน้ำหนักตัวจะอยู่เท้าหลัง



          2. การวางมือ มือที่อยู่ข้างเดียวกันกับเท้าที่ไม่ถนัด คือ ข้างเดียวกันกับเท้าหน้า ให้ยกขึ้นสูงระดับหางคิ้ว และให้ลดหมัดลงมาทางด้านที่หันไปเล็กน้อย หมัดอยู่ห่างจากคิ้วไม่ควรเกินหนึ่งคืบ ส่วนตรงบริเวณข้อศอกที่ห่างจากชายโครงมากเกินไปจะเป็นการเปิดช่องทางให้คู่ต่อสู้โจมตีได้ง่ายควรวางให้พอดี ส่วนไหล่ควรยกขึ้นเล็กน้อย เพื่อเก็บคางไว้ในซอกไหล่เป็นการป้องกันอันตราย การใช้สายตามองให้มองผ่านมือไปให้อยู่ระดับสะดือของคู่ต่อสู้ เพื่อจะได้เห็นส่วนต่าง ๆ ของคู่ต่อสู้ได้ถนัด มือที่อยู่ด้านหลังกำหมัดหันฝ่ามือเข้าหาใบหน้า และอยู่ตรงบริเวณโหนกแก้มห่างจากโหนกแก้มเล็กน้อย ข้อศอกแนบกับชายโครงอย่ากางออก เพราะจะเป็นการเปิดเป้าหมายให้คู่ต่อสู้



          3. ลำตัวเหยียดตรง เข่าทั้งสองไม่งอ ไม่ก้มลำตัว และลำตัวไม่เกร็ง ปล่อยตามสบาย พยายามทำลำตัวให้เป็นเป้าหมายเล็ก หรือแคบตามแนวเดียวกับเท้า โดยการหันไหล่หน้าและไหล่หลังเกือบเป็นแนวเดียวกัน ทำให้คู่ต่อสู้มองเห็นเป้าหมายเล็กลง



2. ลักษณะการเคลื่อนไหว



          ลักษณะการเคลื่อนไหวเท้าของมวยไทย การเคลื่อนไหวของเท้านั้นมีความสำคัญต่อการชกมาก ลักษณะการเคลื่อนไหวของเท้า เช่น การรุก การถอย การเคลื่อนไหวจะรุกหรือจะถอยนั้นให้สังเกตที่เท้า



ของนักมวยว่าจะเคลื่อนที่ได้แค่ไหน จึงจะเหมาะสมกับตัวนักมวย การจะรุกโดยการสืบเท้าสำหรับจะใช้หมัดหรือใช้เท้าแค่ไหนจึงจะเหมาะต่อการใช้อาวุธ ลักษณะการเคลื่อนไหวของมวยไทยมีหลายลักษณะ ดังนี้



          1. การรุกเท้าธรรมดา คือ การใช้เท้าหลังช่วยส่งเท้าหน้า วิธีการคือ การที่ก้าวเท้าหน้าเคลื่อนที่ไปก่อนแล้วก้าวเท้าหลังตามเท้าหน้าไป โดยใช้แรงส่งจากเท้าหลัง ในการก้าวเท้ารุกต้องรักษาระยะการเคลื่อนไหวให้คงที่เช่นเดียวกับการตั้งท่า การรุกไปข้างหน้านี้จะใช้วิธีการสืบเท้า การยกเท้าอาจจะใช้การยกเข่าขึ้นก่อนวางเท้าแล้วจึงลากเท้าตามไป



          2. การถอยเท้าธรรมดา คือ การชักเท้าที่เป็นเท้าหลังถอยไป อาศัยแรงส่งของเท้าหน้า วิธีการ ให้ก้าวเท้าหลังไปก่อนแล้วลากเท้าหน้าถอยตามไป



          3. การรุกเท้าสลับ จากการตั้งท่าเมื่อเท้าซ้ายอยู่ข้างหน้าพร้อมด้วยมือซ้ายอยู่ข้างหน้า   เท้าขวาอยู่ข้างหลัง พร้อมด้วยมือขวาอยู่ข้างหลังเช่นกัน ให้ก้าวเท้าขวาโดยการยกเท้าขึ้นแล้วก้าว  เท้าขวาผ่านเท้าซ้ายไปข้างหน้า สำหรับมือในลักษณะก้าวเท้าขวานั้นพร้อมให้แหวกมือขวาขึ้นไปอยู่ด้านหน้าข้างบน และให้ลดมือซ้ายลงมาระดับโหนกแก้มให้ไปอยู่ในลักษณะการตั้งท่าแบบเท้าขวาอยู่ด้านหน้า ถ้าหากจะรุกแบบเท้าสลับอีกก็ให้ก้าวเท้าซ้ายไปอยู่ลักษณะเดิมพร้อมกับตำแหน่งของมือเช่นเดียวกับการตั้งท่าในท่าเดิม



          4. การถอยเท้าสลับ จากการตั้งท่าเมื่อเท้าซ้ายอยู่ข้างหลัง วิธีการ ให้ดึงเท้าซ้ายมาอยู่เป็นเท้าหลัง และให้เท้าขวาอยู่ด้านหน้า มือม้วนกลับอย่างท่ารุก คือ มือซ้ายม้วนลงล่าง มือขวาแตะจมูก (เช็ดเหงื่อที่จมูก) ขึ้นไปในลักษณะเสยผม



 3. การชกด้วยหมัด



                    1.หมัดตรง คือ การชกหมัดออกไปตรง ๆ จากการตั้งท่า ปล่อยหมัดออกไปโดยการคว่ำหมัดลงให้เป็นแนวขนานกับพื้น อาศัยแรงส่งจากไหล่ สะโพก และเท้า การชกหมัดตรงแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การชกหมัดตรงหน้า และการชกหมัดตรงหลัง การชกหมัดตรงหน้าหรือเรียกกันว่าหมัดนำ คือ การชกออกไปหมัดตรงที่เป็นหมัดหน้า ชกออกไปตรง ๆ ใช้แรงส่งจากไหล่ สะโพกและเท้า ขณะที่หมัดออกไปให้บิดแขนให้หมัดอยู่ในลักษณะคว่ำหมัด แขนตึงและตรง เมื่อหมัดถูกเป้าหมายให้เกร็งหมัด หลังจากชกไปแล้วนำหมัดกลับที่เดิมให้เหมือนกับลักษณะการออกของหมัด คือออกหมัดไปแนวใดให้กลับแนวเดิม อย่าลดหมัดและแขนลง การชกอาจจะยืนอยู่กับที่ ชกไปยังเป้าหมายหรือเคลื่อนที่โดยการสืบเท้าเข้าชก เป้าหมายของการชกส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหน้าของคู่ต่อสู้ หมัดตรงหลัง เป็นหมัดต่อเนื่องจากหมัดหน้าตรง ๆ ไปยังเป้าหมายอาจจะเป็นใบหน้าหรือลำตัว



                    2. การชกหมัดเสย



                    หมัดเสยหรือบางคนก็เรียกว่า หมัดสอยดาว วิธีการชก โดยอาศัยการบิดหมัดให้หงาย เอาทางด้านฝ่ามือเข้าหาตัวเองในลักษณะงอแขน หมัดที่ชกออกไปจะต้องอาศัยแรงส่งจากหัวไหล่ สะโพก และเท้า มีประโยชน์มากเมื่ออยู่ในระยะใกล้ หมัดที่ใช้ชกนั้นได้ทั้งสองหมัด จะเป็นหมัดนำหรือหมัดตามก็ได้ เป้าหมายของการชก คือ บริเวณปลายคาง เราจึงเรียกว่าหมัดสอยดาว ส่วนบริเวณอื่น เช่น บริเวณท้อง



                    3. การชกหมัดตวัด



                    หมัดตวัดหรือหมัดขว้างสั้นนี้จะใช้ได้ดีเมื่อคู่ต่อสู้ปิดป้องกำบังต่าง ๆ เช่น คู่ต่อสู้ยกมือป้องกันใบหน้าตรง ๆ ถ้าชกหมัดตรงก็จะถูกมือและแขนคู่ต่อสู้ที่ยกกันไว้ ดังนั้น ควรใช้หมัดตวัด (หมัดฮุค) เพราะหมัดนี้จะโค้งผ่านเลยแขนคู่ต่อสู้เข้าสู่ใบหน้าหรือปลายคางทางข้างซ้ายหรือข้างขวาได้ หมัดตวัดนี้



บางครั้งอาจจะมีวิธีทางของหมัดไม่ขนานพื้น คืออาจจะเฉียงขึ้น หรือเฉียงลงสู่พื้นบ้างก็ได้ ตามแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์และอาจจะกระทบเป้าหมายโดยคว่ำสันหมัด



                    4. การชกหมัดเหวี่ยง



                    หมัดเหวี่ยง คือ การชกโดยการใช้แรงเหวี่ยงจากไหล่ ลำตัว และเท้า ลักษณะของแขนที่เหวี่ยงขึ้นอยู่กับระยะของคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้อยู่ใกล้ก็ต้องงอแขนให้มาก เมื่อคู่ต่อสู้อยู่ไกลก็งอแขนน้อย การเหวี่ยงในระยะใกล้จะต้องเหวี่ยง โดยการงอเขนและบิดสันหมัดเข้าถูกเป้าหมาย สำหรับการเหวี่ยงระยะไกลออกไปบางครั้งอาจจะเหวี่ยงสันหมัด หรือบางโอกาสจะใช้หลังหมัดก็ได้ การเหวี่ยงหมัดที่ดีควรเหวี่ยงให้ขนานกับพื้น ข้อควรคำนึงในการชกหมัดเหวี่ยง คือต้องใช้แรงส่งจากไหล่ ลำตัว สะโพกและเท้า เป้าหมายในการชก คือ ขากรรไกร กกหู ขมับ และท้ายทอย



                    5. หมัดโขก



                    หมัดโขกเป็นหมัดเหวี่ยงจากข้างบนลงมาข้างล่าง เป้าหมายบริเวณศีรษะ หรือบริเวณใบหน้า ถ้าคู่ต่อสู้แหงนหน้าขึ้น หมัดโขกเป็นหมัดที่รุนแรง นิยมใช้หมัดหลังหมัดตาม เพื่อให้วงการเหวี่ยง หรือรัศมีการเหวี่ยงยาวและกว้างขึ้น



                    หมัดโขก เป็นหมัดที่มีทิศทางจากบนลงล่าง แบ่งเป็นหมัดโขกวงกว้าง หรือโขกยาว และหมัดโขกวงแคบ หรือโขกสั้น ถ้าแบ่งตามทิศทางที่ลงสู่พื้นก็แบ่งเป็นโขกตรงลงสู่พื้น กับโขกเฉียงลงสู่พื้น หมัดนี้เป็นหมัดที่รุนแรงเพราะอาศัยแรงเหวี่ยงของไหล่และแขน บวกกับแรงดึงดูดของโลกผสมกับความแข็งแกร่งของสันหมัด เป้าหมายของหมัดโขก ศีรษะ ท้ายทอย หลัง ใบหน้า หู ขมับ ปลายคาง



                    6. หมัดเหวี่ยงกลับ



          หมัดเหวี่ยงกลับหรือหมัดขว้างกลับ หรือครูมวยบางคนเรียกหมัดตวัดกลับ เป็นหมัดที่เหวี่ยงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้วหยุดแล้วเหวี่ยงกลับทิศทางเดิม อาจจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม เหวี่ยงครั้งแรกอาจจะไม่ถูกเป้าหมาย แต่พอเหวี่ยงกลับอาจจะถูกเป้าหมาย เพราะคู่ต่อสู้คิดว่าตนเองหลบหมัดเหวี่ยงครั้งแรกพ้นไปแล้ว ซึ่งหมัดนี้แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงกับสามารถทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บได้ แต่ก็มีผลทำให้เสียเหลี่ยมและเสียรูปมวยได้



          หมัดเหวี่ยงกลับมีทั้งหมัดเหวี่ยงกลับตัดสวนไปกับพื้นดิน หมัดเหวี่ยงกลับเฉียงลงและหมัดเหวี่ยงกลับเฉียงขึ้น รวมทั้งหมัดเหวี่ยงกลับโขกลง ซึ่งหมัดหมัดเหวี่ยงกลับนั้นอาจจะเหวี่ยงยาวหรือเหวี่ยงสั้นก็ได้

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1. กติกาการแข่งขันมวยไทย (รายละเอียดในภาคผนวก  A )



2. พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 (รายละเอียดในภาคผนวก  B )


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

หลักฐานที่ต้องการกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมินและควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) และความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)



(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)



1. เอกสาร / หลักฐานการผ่านอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นครูผู้สอนกีฬามวยไทย



2. แฟ้มสะสมผลงาน และ / หรือ เอกสารประกอบ



3. เอกสาร / หลักฐานที่เกี่ยวข้อง/ บันทึกการปฏิบัติงาน



(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)



1. ผลการทดสอบความรู้ข้อเขียนและทดสอบภาคปฏิบัติ  ไม่น้อยกว่า 70 %



2. เอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้องการผ่านการฝึกอบรมผู้ฝึกสอนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยจากสถาบันการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานของรัฐให้การรับรอง



(ค) คำแนะนำในการประเมิน



ผู้เข้ารับการประเมินต้องผ่านการประเมินที่ครอบคลุมในทุกสมรรถนะย่อยขอบเขตความรู้และทักษะที่กำหนดในกรณีที่ผู้รับการประเมินผ่านไม่ครบตามเกณฑ์กำหนด ผู้ประเมินต้องแจ้งหน่วยสมรรถนะและสมรรถนะย่อยที่ไม่ผ่านให้ผู้รับการประเมินไปทบทวนสมรรถนะที่ยังไม่ผ่านและสามารถกลับมาทดสอบสมรรถนะใหม่อีกครั้ง  การเข้าสู่คุณวุฒินี้ ผู้ประเมินต้องดำเนินการดังนี้



ส่งแฟ้มผลงาน



สอบข้อเขียน



สอบปฏิบัติ  



สอบสัมภาษณ์  



ผู้เข้าประเมินต้องทดสอบผ่านเกณฑ์ อย่างน้อย  70  % ของการประเมินทั้ง 4 ส่วน  ผู้ประเมินต้องเคยปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนอย่างน้อย 5 ปี ผู้เข้าประเมินทดสอบภาคปฏิบัติการสอนจริง 



 (ง) วิธีการประเมิน



1. ส่งแฟ้มผลงาน



2. สอบข้อเขียน



3. สอบปฏิบัติ  



4. สอบสัมภาษณ์


15. ขอบเขต (Range Statement)

ครูมวยไทยเพื่อสุขภาพ เป็นผู้ปฏิบัติการด้านหลักการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ การสอนประวัติมวยไทยสมัยต่าง ๆ การสอนทักษะมวยไทยพื้นฐาน และการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา การออกกำลังกายที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย การให้ความรู้ในเทคนิควิธีการป้องกัน การรักษาการบาดเจ็บ การบำรุงรักษาอุปกรณ์ ความมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เข้าใจกระบวนการในการนำทักษะมวยไทยไปใช้เป็นสื่อในการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกีฬามวยไทย



(ก)  คำแนะนำ    



           สำหรับผู้ประเมินมาตรฐานวิชาชีพ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการทำหน้าที่การสอนมีประสบการณ์ มาแล้วไม่น้อยกว่า  15  ปี  เคยทำหน้าที่วิทยากรให้การอบรมการสอนระดับสูง



          สำหรับผู้เข้ารับการประเมิน ต้องมีคุณสมบัติตามคุณวุฒิ  ตามคุณสมบัติที่กำหนด และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินอย่างน้อย 70  % 



 (ข) คำอธิบายรายละเอียด



1. การสอน หมายถึง การนำทักษะในการถ่ายทอดหลักการ วิธีการ และกระบวนการในการสอนกีฬามวยไทย และจรรยาบรรณของการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬา



2. การสื่อสาร หมายถึง กระบวนการในการส่งสาร หรือ แลกเปลี่ยนข่าวสาร ความคิด ความรู้สึกระหว่างบุคคล เน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่ง กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน



           3. ครูมวยไทยเพื่อสุขภาพ หมายถึง ผู้ทำหน้าที่หลัก ทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ การสอนพื้นฐานทักษะมวยไทยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และการออกกำลังกายที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยรวมถึงการให้ความรู้ในเทคนิควิธีการนำทักษะมวยไทยในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการป้องกัน และรักษาการบาดเจ็บ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ ความมีน้าใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ในการนำทักษะมวยไทยเป็นสื่อในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกีฬามวยไทย


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

  1. แฟ้มผลงาน

  2. การสอบข้อเขียน

  3. ทดสอบภาคปฏิบัติ

  4. การสัมภาษณ์



ยินดีต้อนรับ