หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ดูแลพรรณไม้

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-GIJO-131A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ดูแลพรรณไม้

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2564

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

อาชีพนักบำรุงรักษาสวนสาธารณะ ระดับ 1 

ISCO-08 รหัสอาชีพ 9214 คนงานปลูกพืชสวนและไม้ดอกไม้ประดับ

 



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
เป็นหน่วยสมรรถนะที่ผู้ปฏิบัติงานมีทักษะในการปฏิบัติงานประจำขึ้นพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการดูแลพรรณไม้ ต้องมีผู้ความรู้ความเข้าใจในการค้ำยันพรรณไม้คลุมดินป้องกันโคนต้น ให้น้ำพรรณไม้ และใส่ปุ๋ยพรรณไม้ โดยมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้บังคับบัญชาเนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานในการปฏิบัติงานได้อย่างจำกัด

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
03431 ค้ำยันพรรณไม้ 1.1 อธิบายวัตถุประสงค์การค้ำยันพรรณไม้ 155765
03431 ค้ำยันพรรณไม้ 1.2 เลือกวิธีการค้ำยันพรรณไม้ตามขนาดพรรณไม้ 155766
03432 ป้องกันโคนต้น 2.1 อธิบายการป้องกันโคนต้น 155767
03432 ป้องกันโคนต้น 2.2 ออกแบบการป้องกันโคนต้น 155768
03432 ป้องกันโคนต้น 2.3 อธิบายวิธีการคลุมดิน 155769
03432 ป้องกันโคนต้น 2.4 เลือกใช้วัสดุคลุมดิน 155770
03433 ให้น้ำพรรณไม้ 3.1 อธิบายหลักการให้น้ำกับประเภทของพรรณไม้แต่ละชนิด 155771
03433 ให้น้ำพรรณไม้ 3.2 เลือกวิธีการให้น้ำแก่พรรณไม้ด้วยวิธีต่างๆ 155772
03434 ใส่ปุ๋ยพรรณไม้ 4.1 อธิบายวิธีการใส่ปุ๋ยพรรณไม้ 155773
03434 ใส่ปุ๋ยพรรณไม้ 4.2 จำแนกชนิดของปุ๋ยพรรณไม้ 155774
03434 ใส่ปุ๋ยพรรณไม้ 4.3 เลือกวิธีการใส่ปุ๋ยกับประเภทของพรรณไม้ 155775

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
N/A

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1. ทักษะการดูแลพรรณไม้

2. ทักษะการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเครื่องมือการเกษตรในการดูแลพรรณไม้

3. ทักษะการจดบันทึกการปฏิบัติงานประจำวันในการดูแลพรรณไม้



  

(ข) ความต้องการด้านความรู้

การค้ำยันพรรณไม้ หมายถึง การค้ำยันหรือการยึดตรึงลำต้นของไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม มีความจำเป็นมากตั้งแต่หลังปลูกจนกระทั่งไม้ยืนต้นโตสมบูรณ์เต็มที่ การค้ำยัน คือ การใช้แท่งไม้หรือวัสดุอื่นๆ ปักลงไปในดินขึ้นมาแนบกายลำต้นเพิ่มบังคับลำต้นให้ตั้งตรง ในปัจจุบันได้มีการออกแบบการค้ำยันแต่กต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงศิลปะและความสวยงาม

การคลุมดิน หมายถึง การใช้วัสดุคลุมลงบนดินในพื้นที่แปลงปลูก โคนต้นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และพันธุ์ไม้อื่นๆ เพื่อการเก็บความชื้น (water retention) ป้องกันอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงภายในดิน และทำให้วัชพืชหยุดชะงักการเจริญเติบโต

การให้น้ำพรรณไม้ หมายถึง การให้น้ำแก่ไม้พุ่มและไม้ยืนต้น โดยมีข้อแต่กต่างกัน ถ้าไม้พุ่มเป็นกลุ่มในแปลงสะดวกต่อการให้น้ำ สามารถให้โดยวิธีปล่อยท่วม (flooding) ถ้าปลูกเป็นต้นเดียวโดดๆ สามารถให้เฉพาะจุด

การใส่ปุ๋ย หมายถึง การใส่ปุ๋ยไม้พุ่มและไม้ยืนต้น ปุ๋ยที่นิยมใช้มี 2 ประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ที่นิยมใช้มีหลายหลักสูตร เช่น 5-10-5,16-16-16 เป็นต้น

เครื่องมือการเกษตร หมายรวมถึง เครื่องมือและอุปกรณ์

เครื่องจักร คือ กลอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ขอบเขตของหน่วยสมรรถนะนี้ หมายถึงเฉพาะเครื่องมือการเกษตร

 


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

1. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) (ถ้ามี)

(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

1. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการดูแลพรรณไม้จากนายจ้าง หรือ

2. หนังสือรับรองผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลพรรณไม้ หรือ

3. หากไม่มีหลักฐานความรู้ตามข้อ 1 และ 2 ข้างต้น ต้องมีแฟ้มสะสมผลงานที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการดูแลสนามหญ้า และสามารถอ่าน เขียน และสื่อสารด้วยภาษาไทยได้

(ค) คำแนะนำในการประเมิน

1. ความรู้พื้นฐานและทักษะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพรรณไม้

(ง) วิธีการประเมิน

1. การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือก 


15. ขอบเขต (Range Statement)

(ก) คำแนะนำ 

1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ข้อ 3 ข้อที่ 6 และพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หมวด 2 มาตรา 16 19  ข้อที่ 7

2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานดูแลพรรณไม้ ข้อที่ 1 2 3 และ 4

(ข) คำอธิบายรายละเอียด

1. การค้ำยันพรรณไม้

1.1 วัตถุประสงค์ของการค้ำยัน มีดังนี้

1.1.1 เพื่อบังคับให้ลำต้นปรงไม่โยกเอนเมื่อประธานแรงลมเพื่อให้รากงอกได้เร็วขึ้นในกรณีของการย้ายต้นไม้ไปปลูกมีที่ปลูกใหม่

1.1.2 ผู้ช่วยเหลือให้ลำต้นอยู่ในตำแหน่งตั้งตรง

1.1.3 เพื่อป้องกันการคลอดลมตะแกรงรมหรือแรงปะทะจากสาเหตุอื่น

1.1.4 การค้ำยันลำต้นเพื่อให้ได้รูปทรงตามพึงประสงค์

1.2 วิธีการค้ำยันลำต้น

1.2.1 การค้ำยันลำต้นที่ปฏิบัติโดยทั่วไปมี 2 วิธีคือ

1.2.1.1 การทำยอดลำต้นโดยใช้หลักเพียงหลักเดียว นิยมใช้กับไม้ยืนต้นที่ใหญ่ปลูกแบบไม่มีดินติดราก (bare root) หรือแบบมีตุ้มดินติดรากและมีวัสดุห่อหุ้ม (ball and bur lapped) ของไม้ยืนต้นที่มีอายุยังน้อย หลักค้ำยันนิยมใช้ไม้ไผ่ผ่าซีก แท่งไม้กลม ไม้ระแนง แท่งเหล็กกลม และนอกจากไม้ยืนต้นแล้ว เพียงประยุกต์ใช้กับไม้พุ่มได้ ถ้าเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุมาก เกิดลำต้นเอน ล้ม อันเนื่องมาจากแรงลม การใช้หลักค้ำยันอ่านออกแบบให้แข็งแรงสวยงาม โดยใช้เหล็ก โดยมีฐานคอนกรีตรองรับ 

1.2.1.2 ใช้หลักยึดค้ำยันมากกว่า 1 หลักการใช้หลักยึดค้ำยัน ลำต้นมากกว่า 1 หลัก อาจเป็น 2, 3, 4 ทำให้การยึดลำต้นมีความแข็งแรงกว่า นิยมใช้กับไม้ยืนต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมากกว่า 2 นิ้วขึ้นไป และเป็นไม้ยืนต้นที่ซึ่งทรงพุ่มแล้วแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม คือแรงลม และรูปทรงของแผ่นดิน (land from) การใช้หลักค้ำยันลำต้นมากกว่า 1 หลัก มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 อย่างคือ เพื่อต้องการให้การยึดค้ำยันมีความแข็งแรง สามารถป้องกันการปะทะของลม      ที่พัดแรงได้ และเพื่อการตกแต่งหลักยึดค้ำยัน ทำให้ไม้ยืนต้นไม้พุ่มมองดูดีขึ้นมั่นคงขึ้น

1.3 ตัวอย่างการออกแบบค้ำยันเพื่อยึดลำต้น

เป็นแนวคิดในการออกแบบและการใช้วัสดุค้ำยัน เพื่อยึดลำต้นของไม้ยืนต้น ไม้พุ่มและไม้ที่มีลักษณะพิเศษ ได้แก่

1.3.1 หลักยึดค้ำยันหลักเดียว ใช้สำหรับไม้ยืนต้นอายุน้อย โดยใช้ สายยาง          ลวดเบอร์ 12 หลักไม้ระแนง 

1.3.2 หลักยึดลำต้น 2 หลัก สำหรับไม้ยืนต้นที่มีดินติดราก โดยใช้สายยาง ลวดเบอร์ 12 แท่งไม้กลม 2 นิ้ว ตุ้มดิน 

1.3.3 ยึดลำต้น 3 จุด นิยมใช้กับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่โดยใช้ลวดยึดถือไม้ก็ได้ แต่จะแสดงวิธีการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ลำต้นตรงโดยใช้ลวดยึด และแต่ละเส้นลวดจะมีห่วงตรึงหรือห่วงเลื่อนปรับความตึง โดยใช้สายยาง ลวดสลิง ห่วงตรึง จุดร้อยลวด คอนกรีตยึดตรึงหรือหัวหมุด

1.3.4 การค้ำยันลำต้น 4 จุด นิยมใช้กับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ และปาล์มลำต้นเดี่ยว ยกตัวอย่างปาล์มลำต้นเดี่ยว อินทผลัมใบเงิน (Silver date palm-Phoenix Silvestre’s) โดยใช้ แผ่นพรมหรือยางกันผิวเปลือกหรือกาบใบไม้ไม่ให้ช้ำหลุดร่อนต้นไม้กลม 3 นิ้วตีกากบาทหลักยึดแท่งไม้กลม 3-4 นิ้ว   ไม้กีบม้า (stake toe) ตะปูตียึด

1.3.5 การค้ำยันลำต้นสำหรับต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น กระบองเพชรที่มี         ลำต้นสูงๆ เช่น Neoboxbaumia euphorbioides โดยใช้ พรมรองเชือก หลักยึด ไม้กีบม้า ตียึดด้วยตะปู

2. การคลุมดิน

2.1 พื้นที่การใช้วัสดุคลุมดินในงานภูมิทัศน์

2.1.1 แปลงปลูกไม้ดอก การใช้วัสดุคลุมดินในแปลงไม้ดอก ควรใช้ให้มีความหนาประมาณ 3 นิ้ว คลุมหลังจากปลูกไม้ดอกลงในแปลงแล้ว จะช่วยสงวนรักษาความชื้นและลดวัชพืชในแปลงปลูกไม้ดอกลง เมื่อเวลาไม้ดอกเจริญเติบโตจะเน่าสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ วัตถุคลุมดินที่แนะนำ คนเป็นพวกเปลือกถั่ว เปลือกไม้

2.1.2 พืชคลุมดิน การใช้วัสดุคลุมโคนในพื้นที่ปลูกพืชคลุมดิน เช่น บริเวณปลูกสนเลื้อย หรือพืชคลุมดินอื่น วัสดุคลุมในพื้นที่ปลูกพืชคลุมดิน ต้องมีคุณสมบัติเบา เช่น พีทมอล์ส ซังข้าวโพด เปลือกถั่วลิสง วัสดุเหล่านี้ช่วยสงวนรักษาความชื้น มีส่วนช่วยทำให้พืชคลุมดินเจริญเติบโตชิดกันเร็วขึ้น

2.1.3 พื้นที่การปลูกไม้พุ่ม ความหนาของวัสดุคลุมที่เหมาะสมประมาณ 3-4 นิ้ว    ถ้าใช้บางเกินไปไม่สามารถป้องกันการงอกของเมล็ดวัชพืช ความชื้นในดินและความสกปรกที่เกิดจากฝนตกได้

2.1.4 ไม้ยืนต้น การใช้วัสดุคลุมโคนต้นไม้ยืนต้น เราปฏิบัติตั้งแต่หลังปลูกต้นไม้ลงในหลุมปลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อปรับปรุงสภาพบริเวณโคนต้นไม้ให้ความรู้สึกสะอาดเป็นระเบียบสงวนรักษาความชื้นบริเวณรอบโคน รักษาอุณหภูมิในดินให้คงที่ ป้องกันวัชพืช แก้ปัญหาเกี่ยวกับการปลูกหญ้า การปลูกพืชคลุมดินบริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นภาระต่อการตัดหญ้า ตัดขริบ 

2.2 วัสดุที่ใช้คลุมดิน

วัสดุที่ใช้คลุมดินแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยอาศัยการสลายตัว ผุพัง (decayed) ดังนี้

2.2.1 อินทรียวัตถุคลุมดิน (organic mulches) ส่วนใหญ่เป็นวัสดุได้มาจากเศษซากหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของซากพืชซากสัตว์ (living materials) อินทรียวัตถุที่นิยมใช้ ได้แก่ เศษไม้สับ (wood clip) ขี้เลื่อย (sawdust) เปลือกไม้ เปลือกถั่วต่างๆ (เปลือกถั่วลิสง เปลือกถั่วเขียว เปลือกถั่วเหลือง)  ต้นข้าวโพดสับ(cornstalk) เศษซังข้าวโพด (chipped corncobs) เศษกะลามะพร้าว (chipped coconut shells) เส้นใยมะพร้าว (coconut fiber) ใบสน (pine needles) ใบไม้ผุ (leaf mold) กากกาแฟ (spent coffee ground) กากน้ำตาล (sugarcanes residue) ฟางข้าว (straw) หญ้าแห้ง (hay) และปุ๋ยคอกที่เน่าเปื่อยดีแล้ว (well rot manure) พีทมอล์ส (peat moss) เป็นต้น

ประโยชน์ของอินทรียวัตถุคลุมดิน คือ ลดการสูญเสียความชื้นของดินสลายตัวและให้ธาตุอาหารพืชแก่ดินอย่างช้าๆ อาจช่วยลดปริมาณธาตุไนโตรเจนในดินลงชั่วคราว ป้องกันการพังทลายของดิน ป้องกันการโยกถอนของลำต้นพืชจากสาเหตุต่างๆ ได้ ป้องกันความสกปรกที่เกิดจากเลนตมต่องาน   ภูมิทัศน์อันเนื่องมาจากฝน ข้อควรระวังในการใช้อินทรียวัตถุคลุมดิน ได้แก่ เวลาแห้งอาจเป็นเชื้อไฟทำให้ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน พีเอช (pH) เปลี่ยนแปลงและทำให้วัชพืชเจริญเติบโตได้ดีหลังอินทรียวัตถุคลุมดินเน่าเปื่อยแล้ว

2.2.2 อนินทรียวัตถุคลุมดิน (inorganic mulches) เป็นวัสดุที่มีลักษณะตรงข้ามกับอินทรียวัตถุคลุมดิน เพราะได้จากสิ่งไม่มีชีวิต (nonliving materials) เช่น เศษอิฐหัก หินย่อย หินกลม กรวดกลม กรวดทราย เปลือกหอย แผ่นพลาสติกสีดำสำหรับคลุมดิน เป็นต้น

ประโยชน์ของอนินทรียวัตถุคลุมดิน คือ ลดการสูญเสียความชื้นของดินไม่ทำให้พีเอช (pH) ของดินเปลี่ยนแปลงไม่เป็นเชื้อไฟเป็นวัสดุคลุมดินถาวรไม่เน่าเปื่อยและสลายตัวทำให้ประหยัดเวลา แรงงาน และทุนทรัพย์ในระยะยาวสามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลง หรือนำไปใช้ประโยชน์ในงานที่เหมาะสมได้ กรณีเลิกใช้งาน เช่น การคลุมดินด้วยหินย่อย หินกลม กรวดกลมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในการจัดภูมิทัศน์ อนินทรียวัตถุคลุมดิน ส่วนใหญ่นิยมใช้คลุมโคนต้นไม้ใหญ่ เป็นการป้องกันโคนต้น และใช้เพื่อตกแต่ง รักษาอุณหภูมิของดิน สงวนรักษาความชื้นภายในดินที่นิยมคือ เศษอิฐหัก หินย่อย หินกลม กรวดกลม กรวด เปลือกหอย สวนแผ่นพลาสติกสีดำไม่นิยมใช้ในงานภูมิทัศน์ แต่นิยมใช้ในการปลูกพืชเพื่อการผลิต 

2.3 การป้องกันโคนต้น

การป้องกันของต้นเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับโคนต้นไม้ยืนต้นและไม้พุ่มสูง โดยทำเป็นกรอบรอบบริเวณโคนต้น โดยใช้วัสดุที่มีความมั่นคงถาวร เช่น ท่อนซุง ไม้หมอนรถไฟ แผ่นไม้ แว่นไม้กลม หลักไม้ หินกลม หินสกัด คอนกรีต ปูแผ่นอิฐ แผ่นเหล็ก พลาสติกกั้นขอบ แผ่นตะแกรงเหล็กครอบรอบโคน เพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าแทรก หญ้าล้ำเข้าบริเวณโคนต้น ลดปัญหาการตัดหญ้า การเกิดวัชพืช ทำให้เกิดช่องอากาศบริเวณรากหลังการจัดสร้างกรอบรอบบริเวณโคนต้นแล้ว ภายในกรอบโคนต้น ควรคลุมโคนด้วยวัสดุคลุมดินจะเป็นวัสดุคลุมดินที่เป็นผลผลิตจากอินทรียวัตถุหรืออนินทรียวัตถุก็ได้ แต่ที่นิยมมากคือ จากอนินทรียวัตถุ

2.4 การออกแบบการป้องกันโคนต้น

เป็นการออกแบบเพื่อการดูแลบำรุงรักษาโคนต้นของไม้ยืนต้น ไม้พุ่มให้สอดคล้องกับงานภูมิทัศน์โดยคำนึงถึงศิลปะ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ และการดูแลบำรุงรักษา 

2.4.1 ใช้แผ่นอิฐก่อกับซีเมนต์เป็นรูปวงกลมรอบๆ โคนแล้วทิ้งหินกลมภายใน แผ่นดินสามารถรองรับน้ำหนักของล้อรถตัดหญ้าได้

2.4.2 ทำเป็นลักษณะบ่อตื้นๆ โดยใช้แท่งไม้หมอนรถไฟเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านในโรยหิน กรวดกลมหรือกรวดเหลี่ยม 

2.4.3 การใช้แผ่นอิฐวางเรียง

2.4.4 ใช้แผ่นซีเมนต์วางแยกรอบเป็นรูปวงกลม

2.4.5 ใช้แผ่นพลาสติกเป็นกรอบรอบแต่ทิ้งหินกลมภายใน

2.4.6 ใช้แผ่นไม้ฝังรอบริมข้างวางแผ่นอิฐหรือหินแบบลูกเต๋า ภายในปลูกพืชคลุมดิน

2.4.7 การป้องกันโคนต้นไม้จากกรณีถมดินสูงขึ้น โดยรอบโคนก่อเป็นผนังกั้นดิน

2.4.8 ใช้หินเกล็ดคลุมส่วนบริเวณโคนไม้พุ่ม

การคลุมดิน หมายถึง การใช้วัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งปกคลุมผิวหน้าดิน วัสดุคลุมดิน อาจจะเป็นพลาสติก ฟางข้าว ต้นถั่ว ต้นธัญพืช แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขี้เลื่อย ตลอดจนใบไม้และหญ้าแห้ง การเลือกใช้วัสดุประเภทใดขึ้นอยู่กับปริมาณ ราคาและประสิทธิภาพของการใช้ว่ามีความเพียงพอ เหมาะสมและตรงต่อวัสดุประสงค์หรือไม่ เพียงใด การคลุมดินอาจจะคลุมก่อนปลูกหรือหลังปลูกก็ได้

ประโยชน์ของการใช้วัสดุคลุมดิน

1. เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน เนื่องจากวัสดุเศษพืชที่ใช้คลุมดินจะเกิดการย่อยสลาย จนเกิดเป็นสารฮิวมัสและปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ดี อินทรียวัตถุจะช่วยรักษาโครงสร้าง ป้องกันการจับตัวเป็นแผ่นแข็งของดินและดินแน่น

2. เพื่อปกคลุมหน้าดิน การคลุมดินจะช่วยลดแรงกระแทกของเม็ดฝนที่จะกระทบดินโดยตรง ซึ่งจะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินที่เกิดจากฝน น้ำที่ไหลบ่าหรือเกิดจากลม

3. เพื่อเป็นการอนุรักษ์น้ำในดิน เพราะการคลุมดินเป็นการลดการระเหยของน้ำโดยตรง ป้องกันมิให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน

4. เพื่อควบคุมอุณหภูมิของดินให้สม่ำเสมอ โดยทำให้อุณหภูมิของดินมีความเหมาะสมต่อการดำเนินกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในดินและไม่เป็นอันตรายต่อระบบรากพืชในดิน

5. เพิ่มผลผลิตของพืช การใช้วัสดุเศษพืชคลุมดิน มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของดิน ทำให้ผลผลิตพืชเพิ่มขึ้น

6. เพื่อควบคุมและลดการเจริญเติบโตของวัชพืช การใช้วัสดุคลุมดินจะช่วยลดการแข่งขันในการแย่งน้ำ ธาตุอาหาร และแสงสว่าง ระหว่างพืชปลูกกับวัชพืช เป็นการประหยัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในดิน

7. ใช้ได้ดีในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการไถพรวนหรือทำขั้นบันได้ได้ เนื่องจากพื้นที่มีความลาดเทไม่สม่ำเสมอ พื้นที่บริเวณแคบหรือชันมาก หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการรบกวนจากการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ไหล่ถนน ฝั่งคลอง ฝั่งคูหรือฝั่งคลองชลประทาน การคลุมดินจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้

3. การให้น้ำพรรณไม้

การรดน้ำ ต้องรดน้ำให้ดินเกิดความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และต้องให้พอแก่ความต้องการของพืช ตามธรรมดาควรจะรดวันละ 1 ครั้ง รดตอนเช้าหรือเย็น วันใดฝนตกไม่ต้องรด ถ้าอากาศ แห้งแล้งจัดจะต้องรดทั้งเช้าและเย็น ในการรดน้ำตอนเย็นควรรดเวลาใกล้คํ่า ไม่ควรรดขณะที่มีแดดจัด ใบจะไหม้ พืชที่ปลูกใหม่ๆ ไม่ควรใช้สายยางฉีดรด ควรใช้บัวรด ถ้าจำเป็นจะต้องใช้สายยางก็ให้ฉีดเป็นฝอยรดน้ำมากไป รากจะเน่า

การให้น้ำพืช

น้ำมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยเฉพาะในกระบวนการสรีวิทยาและกระบวนการทางชีวเคมีของพืช เช่น การสังเคราะห์แสงโดยที่น้ำเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่ง การจัดหาอาหารในพืชได้แก่ การดูดน้ำและธาตุอาหาร การลำเลียงภายในพืช และการคายน้ำของพืช นอกจากนี้น้ำมีบทบาทสำคัญต่อการจัดการผลผลิตให้ได้ในเวลา ปริมาณและคุณภาพตามที่ต้องการ เช่น ในการปลูกพืชนั้นหากมีการจัดการน้ำที่ดีจะสามารถควบคุมหรือชักนำการออกดอกออกผลทั้งในและนอกฤดูกาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง มะนาว ส้ม ทุเรียน น้อยหน่า เป็นต้น

วิธีการให้น้ำพืช วิธีการให้น้ำพืชมีหลายวิธี การที่จะเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งนั้น จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของพืช ลักษณะของพื้นที่ วิธีการเพาะปลูก สภาพภูมิประเทศ ปริมาณ น้ำที่จะนำมาให้แก่พืช วิธีการให้น้ำโดยทั่วๆ ไปที่นิยมปฏิบัติในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 แบบใหญ่ ๆ คือ

1. วิธีการให้น้ำทางผิวดิน เป็นวิธีการให้น้ำแก่พืชโดยให้น้ำขังหรือไหลไปบนผิวดินหรือซึมลงไปในดิน ตรงบริเวณที่น้ำขังหรือไหลผ่านเพื่อเก็บความชื้นไว้ให้แก่พืช การให้น้ำทางผิวดินมีมากมาย หลายรูปแบบตามความเหมาะสม แต่ที่นิยมกันโดยทั่วไป คือการให้น้ำแบบขังเป็นอ่าง ที่มีแปลงให้น้ำและคันดินล้อมรอบเพื่อบังคับน้ำการไหลของน้ำแบบต่าง ๆ เช่น แปลงให้น้ำแบบสี่เหลี่ยมในนาข้าว การให้น้ำแบบท่วมเป็นผืน และการให้น้ำแบบร่องคู วิธีนี้ค่าลงทุนถูกเมื่อเปรียบเทียบกับการให้น้ำแบบอื่น ๆ เนื่องจากการให้น้ำแบบนี้ให้น้ำไหลไปบนผิวดินโดยอาศัยแรงดึงดูดของ โลก ดังนั้นในกรณีที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำจึงไม่ต้องใช้แรงม้าสูง แต่มีข้อเสียคือต้องปรับพื้นที่ให้เรียบ หรือมีความลาดเทสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่เรียบอยู่ก่อน เนื่องจากค่าปรับพื้นที่จะสูงมาก นอกจากนี้อาจเกิดการกัดเซาะ ขึ้นได้ในกรณีที่ความลาดเทของพื้นที่ชันมาก

การให้น้ำทางผิวดิน ในนาข้าว

2. วิธีการให้น้ำทางใต้ดิน เป็นวิธีการให้น้ำแก่พืชโดยการ ยกระดับน้ำใต้ดินให้ถึงเขตรากพืช น้ำจะไหลไปสู่จุดต่าง ๆ ในเขตรากพืชที่ปลูกโดยการดูดซับ วิธีเพิ่มระดับน้ำใต้ดินอาจทำโดยการให้น้ำในคูหรือโดยการให้น้ำไหลเข้าไปในท่อซึ่งฝังไว้ใต้ดิน วิธีนี้จะใช้ค่าลงทุนสูงมาก วิธีการให้น้ำแบบนี้เหมาะกับดินที่มีอัตราการซึมน้ำสูงแต่มีความสามารถเก็บน้ำไว้ได้น้อย

การให้น้ำทางใต้ผิวดิน

3. วิธีการให้น้ำแบบหยด เป็นการส่งน้ำลงสู่พื้นดินบริเวณที่มีรากพืชปลูกอยู่อย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนน้ำที่ออกมาทีละน้อย น้ำที่ให้แก่พืชอาจอยู่ในรูปของเม็ดน้ำเล็ก ๆ ซึ่งฉีดออกจากหัวฉีดขนาดเล็กที่ต้องการแรงดันไม่มากนักหรือเป็นหยด น้ำหรือสายน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลออกจากท่อพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 1-2 มิลลิเมตร การให้น้ำ แบบนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด จัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการให้น้ำสูงมาก เพราะสามารถควบคุมน้ำได้ทุกขั้นตอนและมีการสูญเสียโดยการระเหยน้อย ช่วยลดปัญหาโรคพืช หรือแมลงที่เกี่ยวเนื่องจากการเปียกชื้นของใบ วิธีนี้มีข้อเสียที่สำคัญคือการอุดตันที่หัวจ่าย การอุดตัน ดังกล่าว ถ้ามีระยะเวลายาวนานก่อนการตรวจพบอาจทำให้พืชเสียหายได้ นอกจากนี้ค่าลงทุนครั้งแรกค่อนข้างสูงเพราะมีอุปกรณ์หลายอย่าง

การให้น้ำระบบน้ำหยด

4 . วิธีการให้น้ำแบบฝอยหรือระบบฝนเทียม เป็นการกระทำโดยน้ำที่จะให้พืชจะถูกสูบจากแหล่งน้ำผ่านไปยังพื้นที่เพาะปลูกด้วยแรงดันสูงและให้ น้ำพ่นเป็นฝอยออกทางหัวฉีดหรือตามรูที่เจาะไว้ตามท่อขึ้นไปในอากาศ แล้วปล่อยให้น้ำแพร่กระจาย ลงมาบนพื้นที่เพาะปลูก วิธีการให้น้ำแบบนี้สามารถส่งน้ำที่ต้องการได้อย่างประหยัด รวดเร็วและสม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพสูงแต่ค่าลงทุนครั้งแรกจะสูง

การให้น้ำแบบฝอยหรือระบบฝนเทียม

5 วิธีการให้น้ำแก่พืชแบบประหยัด หรือการให้น้ำแบบน้ำน้อย เป็นการให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ด้วยอัตราการให้น้ำที่ต่ำและไม่ครอบคลุมเต็มพื้นที่เขตรากทั้งหมด โดยอาศัยคุณสมบัตของดินช่วยแพร่กระจายออกไปรอบข้าง เพื่อให้ดินเปียกอยู่ในวงที่จำกัดและเป็นระบบน้ำที่ไม่มีการซ้อนทับ ( Overlap) ของวงเปียก เช่น ระบบการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ ไม่โครสปริงเกอร์ ไม่โครเจ็ท ไม่โครสเปรย์ น้ำหยด

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร. ม.ป.ป.

การกำหนดการให้น้ำแก่พืช ในการให้น้ำพืชเพื่อให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลตอบแทนสูงนั้น มักจะพบกับปัญหาซึ่งเป็นหัวใจหลักของการชลประทานอยู่เสมอคือ

1. เมื่อไรจึงควรให้น้ำแก่พืช

2. ควรจะให้น้ำแก่พืชเป็นปริมาณมากน้อยเท่าใด

อัตราการใช้น้ำของพืชจะขึ้นกับชนิดและอายุของพืช รังสีจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิและสภาพภูมิอากาศอื่นๆ การให้น้ำแก่พืชในแต่ละครั้ง ปริมาณที่ให้ควรจะมากพอกับความต้องการของพืชไปจนกว่าจะถึงกำหนดการให้น้ำครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมีระยะเวลาสองสามวันจนถึงสามสี่สัปดาห์ ความถี่ในการให้น้ำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะว่าพืชบางชนิด เช่น ผักต่าง ๆ ต้องการดินมีความชื้นสูงตลอดเวลา ถ้าดินแห้งผลผลิตจะต่ำหรือคุณภาพเลวลง แต่พืชบางชนิด เช่น ส้มและไม้ผลอื่น ๆ อีกหลายชนิด ต้องการให้มีการขาดน้ำบ้างเล็กน้อยเสียก่อน จึงจะออกดอกออกผล ดังนั้นการกำหนดความถี่ในการให้น้ำ จึงจำเป็นต้องทราบอุปนิสัยของพืชที่ปลูกด้วย การกำหนดเวลาการให้น้ำแก่พืช ทำได้โดยการสังเกตอาการของพืช ซึ่งสามารถใช้ได้กับพืชบางชนิด เช่น ผักที่มีรากเป็นหัวจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาเมื่อเริ่มขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนบ่ายที่มีอากาศร้อนจัด ถั่ว ฝ้าย เมื่อเริ่มการขาดน้ำใบอ่อนจะมีสีเขียวเข้มขึ้นกว่าปกติ สำหรับไม้ผลไม่ควรกำหนดการให้น้ำโดยวิธีนี้เพราะกว่าจะสังเกตพบพืชอาจจะขาดน้ำติดต่อกันหลายวันแล้ว ซึ่งจะทำให้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพลดลง

การให้น้ำแก่ไม้ยืนต้น ให้ได้ 2 วิธีคือ

3.1 การให้น้ำทางราก โดยใช้เครื่องมือให้น้ำทางราก (deep root water) วิธีการเช่นนี้ รากต้นไม้ใหญ่เบื้องล่างจะได้รับน้ำ ขณะเดียวกันสามารถให้ปุ๋ยพร้อมกันได้

3.2 การให้น้ำแบบท่วมโคนต้น (soaker) วิธีนี้ต้องสร้างแอ่งรับน้ำโคนต้น เพื่อให้น้ำซึมลงไปเบื้องล่างได้สะดวก เป็นการประหยัดน้ำ

4. การใส่ปุ๋ย 

พืชที่ขึ้นบนพื้นดินจะได้รับธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่จากดินนอกเสียจากธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ที่พืชได้รับมาจากน้ำและอากาศ ตลอดเวลาพืชจะดูดธาตุอาหารไปจากดินหรือวัสดุปลูก(media) เพื่อนำไปสร้างส่วนต่างๆ ของลำต้นและให้ผลผลิตออกมา ปริมาณธาตุอาหารที่พืชดูดไปใช้จึงมีมากมายมหาศาล ในขณะที่การสร้างเพิ่มเติมหรือการทดแทนตามธรรมชาติเกิดขึ้นไม่มาก และขณะเดียวกันก็มีการชะล้างธาตุอาหารพืชออกไปจากดินได้มาก ทำให้ธาตุอาหารพืชในดินลดน้อยลงไป ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องให้ธาตุอาหารพืชเพิ่มเติมให้กับพืชเพื่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตตามปกติ สารที่ให้ธาตุอาหารที่ใส่ลงไปให้กับพืชเรียกว่าปุ๋ย (fertilizer) ดังนั้นปุ๋ย หมายถึงสารที่ใส่ลงไปในดินหรือวัสดุปลูกพืชอื่นๆ เพื่อต้องการที่จะให้ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแทสเซียม และหรือธาตุอาหารอื่นเพิ่มเติมแก่พืชสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ในระดับปกติ

ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าปุ๋ยไว้ว่า "ปุ๋ยหมายถึงสารอินทรีย์ หรืออนิน ทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นอาหารธาตุแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงการเจริญเติบโตแก่พืช"เกี่ยวกับเรื่องปุ๋ยจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อประโยชน์เพื่อการศึกษาหรือในการใช้เช่น

1) ธาตุอาหารปุ๋ย (fertilizer element) หมายถึง ธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่นธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแทสเซียม (K)

2) วัสดุปุ๋ย (fertilizer material) หมายถึง วัสดุใดๆ ที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชอยู่ตั้งแต่หนึ่งธาตุขึ้นไป และสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ เช่น ยูเรีย เป็นวัสดุปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจน

3) ปุ๋ยผสม (mixed fertilizer) หมายถึง วัสดุใดๆ ที่มีวัสดุปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปผสมกันและมีธาตุอาหารปุ๋ยตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไปเป็นองค์ประกอบหลักของวัสดุนั้น

4) เกรดปุ๋ย (fertilizer grade) หมายถึง การรับประกันปริมาณต่ำสุดของธาตุอาหารปุ๋ยที่มีอยู่ในปุ๋ยชนิดนั้น

โดยจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของไนโตรเจนทั้งหมด (total N) ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (available P2O5) และโปแทสเซียมที่ละลายน้ำ (water soluble K2O)

5) สัดส่วนปุ๋ย (fertilizer ratio) หมายถึง สัดส่วนของ N: P2O5: K2O ที่เป็นเกรดของปุ๋ยแต่ละชนิด เช่น ปุ๋ยเกรด 6-24-6 จะมีสัดส่วนปุ๋ยเป็น 1:4:1 เป็นต้น

6) ปุ๋ยสมบูรณ์และปุ๋ยไม่สมบูรณ์ (complete and incomplete fertilizers) หมายถึง ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารปุ๋ยครบทั้ง 3 ธาตุ และปุ๋ยที่มีธาตุอาหารปุ๋ยไม่ครบทั้ง 3 ธาตุ เช่น อาจมีเพียง 1 หรือ 2 ธาตุ ตามลำดับ

7) ตัวเติมในปุ๋ย (filler) หมายถึง วัสดุหรือสารใดๆ ที่ใช้ผสมลงไปในปุ๋ยผสมเพื่อให้ปุ๋ยผสมมีน้ำหนักครบตามต้องการ สารที่เติมลงไปต้องไม่ทำปฏิกริยากับวัสดุปุ๋ยหรือธาตุอาหารปุ๋ยที่ใช้ เช่น ทรายละเอียด ขี้เลื่อย หรือสารสังเคราะห์อื่นๆ                     ประเภทของปุ๋ย

ปุ๋ยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปสามารถจำแนกออกได้หลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะยืดถืออะไรเป็นหลักในการแยกตัวอย่างการจำแนกประเภทของปุ๋ย เช่น

ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาสภาพของสารประกอบที่ใช้เป็นวัสดุปุ๋ย

แบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1) ปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีวัสดุปุ๋ยเป็นสารอินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น

2) ปุ๋ยอนินทรีย์ (inorganic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีวัสดุปุ๋ยเป็นสารอนินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น

ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาวิธีการได้มาของปุ๋ย   

แบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1) ปุ๋ยธรรมชาติ (natural fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยกระดูกป่น ปุ๋ยหินฟอสเฟต เป็นต้น

2) ปุ๋ยสังเคราะห์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (synthetic fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์หรือผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์      เป็นต้น

ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาธาตุอาหารปุ๋ยเป็นหลัก                         

ตามวิธีนี้สามารถแบ่งปุ๋ยออกได้ 3 ประเภทคือ

1) ปุ๋ยไนโตรเจน (nitrogen fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เลือดแห้ง เป็นต้น

2) ปุ๋ยฟอสฟอรัส (phosphorus fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยหินฟอสเฟต กระดูกป่น เป็นต้น

3) ปุ๋ยโปแทสเซียม (potassium fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารโปแทสเซียมเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยโปแทสเซียมซัลเฟต ปุ๋ยโปแทสเซียมคลอไรด์ เป็นต้น

ประเภทของปุ๋ยโดยถือเอาเกรดปุ๋ยเป็นหลัก                           

ตามวิธีนี้สามารถแบ่งปุ๋ยออกได้ 4 ประเภทคือ

1) ปุ๋ยเกรดต่ำ (low grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหาร แต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์

2) ปุ๋ยเกรดปานกลาง (medium grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์ธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในช่วง 15-25 เปอร์เซ็นต์

3) ปุ๋ยเกรดสูง (high grade fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วอยู่ในช่วง 25-30 เปอร์เซ็นต์

4) ปุ๋ยเข้มข้น (concentrated fertilizer) ได้แก่ปุ๋ยที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นธาตุอาหารแต่ละธาตุหรือรวมกันทั้งหมดแล้วเกิน 30 เปอร์เซ็นต์

หลักในการใช้ปุ๋ยกับพืช                                                         

การใช้ปุ๋ยโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีเพื่อการผลิตพืชจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่พืชจะได้รับและปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม โดยมีหลักในการใส่ปุ๋ยดังต่อไปนี้

1) พิจารณาถึงลักษณะดิน โดยเฉพาะเนื้อดิน โครงสร้างของดิน และความร่วนซุยของดิน เช่น ถ้าเป็นดินทรายควรแบ่งใส่ปุ๋ยทีละน้อย หลายๆ ครั้ง

2) ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินจะต้องอยู่ในบริเวณที่รากพืชดูดไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปจะสังเกตจากบริเวณที่ปลายรากพืชกระจายอยู่หนาแน่น และมีน้ำทำละลายปุ๋ยเพียงพอ

3) กำหนดวิธีการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับลักษณะของการปลูกพืช เช่นพืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวมักใส่ขนานกับแถวของพืช หรือพืชยืนต้นทรงพุ่มต้นใหญ่จะต้องใส่รอบทรงพุ่มต้น

4) ให้ปุ๋ยตรงตามความต้องการของพืชทั้งช่วงเวลาและปริมาณที่พืชต้องการ

5) การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืชหรือเพื่อการปรับปรุงคุณสมบัติต่าง ๆ ของดินก็ตาม ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยสมบูรณ์แล้วเพราะจะได้ฮิวมัสมาก

วิธีการใส่ปุ๋ย                                                                                  

การใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดนั้นจะเกี่ยวข้องอย่างมากกับชนิดพืช การปลูก ลักษณะหรือคุณสมบัติของปุ๋ย ตลอดจนแรงงานและเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

1) การหว่าน (broad cast application) เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยให้กับพืชที่ปลูกไม่เป็นแถวเป็นแนว หรือพืชที่มีระบบรากแพร่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ปลูก เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หญ้าสนาม เป็นต้น การหว่านปุ๋ยควรหว่านให้กระจายไปทั่วอย่างสม่ำเสมอโดยแบ่งการหว่านออก 2 ครั้ง ครั้งแรกตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และครั้งที่ 2 ตามแนวทิศตะวันออก-ตก

2) การโรยเป็นแถวขนานกับแถวของพืช (row or band application) เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยให้พืชที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว โดยการโรยปุ๋ยเป็นแถบในบริเวณที่รากพืชกระจายออกไปอยู่หนาแน่นที่สุด

3) การใส่ปุ๋ยในหลุมที่ขุดเป็นจุด (hole application) เป็นวิธีการใส่ที่ลดการกระจายของปุ๋ยในพื้นที่ดินลง เช่น การใส่ปุ๋ยให้ยางพาราอายุ 3-4 ปีหลังจากปลูก

4) การใส่ปุ๋ยลงไปตามร่องที่ไถ (plow-sow placement) ทำได้โดยการใช้ไถเปิดร่องนำไปก่อนแล้วโรยปุ๋ยตามลงไปในร่อง การใส่ปุ๋ยวิธีนี้จะลดการสูญหายของปุ๋ยจากการทำลายต่างๆ ลงได้มาก

5) การฉีดพ่นปุ๋ยเหลวให้ทางใบ (foliar spray application) โดยการฉีดปุ๋ยเหลวให้กับพืช มักใช้กับพืชที่แสดงอาการขาดธาตุอาหารหรือต้องการเร่งการเจริญเติบโตแก่พืช

6) การโรยปุ๋ยรอบทรงพุ่มต้นตามแนวพุ่มใบ (ring application) วิธีนี้มักใช้กับไม้ผลยืนต้นที่มีทรงพุ่มกว้างโดยจะให้ปุ๋ยตามแนวพุ่มใบซึ่งถือเป็นบริเวณที่มีรากอ่อนอยู่มาก

7) การหยอดปุ๋ยที่ซอกใบรอบโคนต้น เช่น การให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนกับสับปะรดที่ตำแหน่งซอกใบซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะ เนื้อเยื่อผิวใบค่อนข้างบางสามารถดูดซึมปุ๋ยเข้าไปได้ง่าย

โดยทั่วไปการใส่ปุ๋ยจะคำนึงถึงระยะการเจริญเติบโตทาง0ลำต้น (vegetative growth) และระยะการออกดอกผล (reproductive growth) ในการใส่ปุ๋ยให้กับพืชจึงต้องคำนึงระยะการเจริญเติบโตของพืชว่าอยู่ในระยะใด แล้วจึงจะใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับระบบการเจริญเติบโตนั้นๆ โดยมีรายละเอียดของระยะเวลาที่ควรใส่ปุ๋ยดังต่อไปนี้

1) ใส่ก่อนปลูกโดยการใส่ปุ๋ยรองพื้น เช่นการหว่านปุ๋ยให้ทั่วพื้นที่แล้วไถคลุกเคล้ากับดินหรือใส่พร้อมหยอดเมล็ด เช่นการโรยก้นร่อง หากเป็นไม้ยืนต้นเช่นยางพารา ไม้ผลก็คือการใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม

2) ใส่ระยะที่พืชเจริญเติบโตรวดเร็ว เป็นระยะที่เร่งการสร้าง ใบ ต้น กิ่ง แขนง

3) ใส่ก่อนระยะออกดอก เพื่อให้พืชนำธาตุอาหารไปใช้ในการสร้างดอก ผล และเมล็ดได้อย่างสมบูรณ์

4) ใส่เมื่อพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารใดๆ เมื่อปรากฏชัดเจนว่าพืชขาดธาตุอาหารก็รีบใส่ปุ๋ยที่ขาดนั้นลงไป ในดินหรือฉีดพ่นให้ทางใบ

การใส่ปุ๋ยไม้พุ่มและไม้ยืนต้น ปุ๋ยที่นิยมใช้มี 2 ประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ที่นิยมใช้มีหลายหลักสูตร เช่น 5-10-5,16-16-16 เป็นต้น

วิธีการใส่ 

4.1 ไม้พุ่มเตี้ยและไม้พุ่มกลาง ให้ใส่บริเวณโคนต้น ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี วิธีใส่  ให้คลุกเคล้าปุ๋ยลงไปในดิน ข้อควรระวังสำหรับปุ๋ยเคมี คือ หลังใส่แล้วควรรดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งเป็นอันตรายต่อไม้พุ่มได้

4.2 ไม้พุ่มสูง และไม้ยืนต้น การใส่ปุ๋ยต้องคำนึงถึงต้นไม้จะนำปุ๋ยไปใช้ได้สะดวกซึ่งมีวิธีการให้ดังนี้

4.2.1 ใช้เครื่องมือเจาะดิน หรือพลั่วปลายแหลม เจาะหลุมบริเวณทรงพุ่มโดยเจาะหลุมลึก 0.45-0.60 เมตร (1 ½-2 ฟุต) ระหว่างแถว 0.45-0.60 เมตร (1 ½-2 ฟุต) เส้นผ่าศูนย์กลางของปากหลุมแต่ละหลุม กว้าง 3 นิ้ว

4.2.2 ขอบเขตของการเจาะหลุมให้เจาะภายในบริเวณทรงพุ่ม เมื่อเจาะหลุมเสร็จเรียบร้อย จึงใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไปในหลุม แล้วกลบปากหลุมด้วยดินที่เจาะขึ้นมา ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีให้นำปุ๋ยเคมีสมคลุกเคล้ากับดินเดิมที่เจาะขึ้นมา หลังคลุกเคล้าเข้ากันอย่างดีแล้วให้ใส่กลับลงไปในหลุม หลังจากนั้นจึงให้น้ำ 

5. เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือPersonal Protective Equipment (PPE)) 

หมายถึง อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในการสวมใส่ขณะทำงานเพื่อป้องกันอันตรายเพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ หรือช่วยลดอาการบาดเจ็บจากหนักให้เป็นเบา เช่น ถ้าใช้เครื่องมืออุปกรณ์ความปลอดภัยก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการทำงานมากกว่าเดิม การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีในการป้องกันอันตรายจากการทำงาน โดยทั่วไปจะมีการป้องกันและควบคุมที่สภาพและสิ่งแวดล้อมของการทำงานก่อน โดยการแก้ไขปรับปรุงทางวิศวกรรมการกั้นแยกไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นหรือการใช้เซฟการ์ดแบบต่างๆ หรือการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเปลี่ยนกรรมวิธีการทำงานส่วนในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็จะนำกลวิธีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายมาใช้ประกอบด้วยเพื่อช่วยป้องกันอวัยวะของร่างกายในส่วนที่ต้องสัมผัสงานมิให้ประสบอันตรายจากภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะทำงาน คือ หมวกป้องกันศีรษะ กระบังหน้า อุปกรณ์ป้องกันหู แว่นนิรภัย หน้ากากกันฝุ่นละออง ถุงมือนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ชุดป้องกัน และรองเท้านิรภัย (เอเฟท, 2547)

6. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554

ข้อ 3 มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization: ISO) มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards: EN) มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards: AS/NZS) มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI) มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards: JIS) มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health: NIOSH) มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติกรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration: OSHA) และมาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association: NFPA)

7. พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

หมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย

 ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยให้นายจ้างจัดให้มี

การฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงานการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไป   ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 19 ในกรณีที่นายจ้างเช่าอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้ในสถานประกอบกิจการ ให้นายจ้างมีอำนาจดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดที่เช่านั้นตามมาตรฐาน ที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8

 8. กลุ่มเครื่องมือการเกษตร

เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นแรงที่ใช้สำหรับงานดูแลบำรุงรักษางานภูมิทัศน์ (โยธะคง, 2541) หรือใช้การประกอบอาชีพการเกษตร โดยสามารถที่จะใช้ในงานประณีตที่เครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ไม่สามารถใช้ได้(ใจเที่ยง, 2545)เครื่องมือประเภทนี้แบ่งตามลักษณะการใช้งานคือ

8.1 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานทำความสะอาดและงานดิน เป็นเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด การขุดดิน การตักดิน การพรวนดิน การผสมดิน การตีดิน การเกลี่ยดิน การปรับระดับดิน และการเคลื่อนย้ายดิน ประกอบด้วย จอบชนิดต่างๆ ได้แก่จอบขุด จอบถากหรือจอบเอนกประสงค์     จอบคอห่าน และจอบสามง่าม ช้อนปลูก ส้อมพรวน มือเสือ คราดชนิดต่างๆ ได้แก่ คราดใช้กับสนามหญ้า คราดที่ใช้กับงานสวนทั่วไป เสียม พลั่ว เครื่องมือย่อยดินหรือเครื่องพรวนดิน และอีเตอร์

8.2 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานน้ำเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการนำน้ำจากจุดจ่ายน้ำไปให้แก่พืชพรรณ โดยใช้คนควบคุม ยกเว้นระบบติดตั้งโดยสมบูรณ์ทั่วทั้งบริเวณที่ควบคุมเวลาทำงาน ประกอบด้วย บัวรดน้ำ สปริงเกอร์    ชนิดต่างๆ ได้แก่ หัวน้ำหยด หัวพ่นหมอก มินิสปริงเกอร์ สปริงเกอร์ และสปริงเกอร์แบบป๊อปอัพ ถังน้ำ และสายยาง

8.3 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานปุ๋ยเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับงานใส่ปุ๋ยแห้ง และใส่ปูนขาวเป็นหลัก แต่อาจนำไปใช้กับงานหว่านเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็ก และยาปราบศัตรูพืชที่เป็นเม็ด ประกอบด้วย เครื่องใส่ปุ๋ยแบบใช้มือหมุนและใช้ล้อหมุน และเครื่องมือใส่ปุ๋ยแบบหยอด

8.4 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นเครื่องมือที่ออกแบบสำหรับใช้งานกำจัดศัตรูพืช โรค แมลง วัชพืช ทั้งที่เป็นยาน้ำ และยาผง บางครั้งสามารถประยุกต์ใช้กับการใส่ปุ๋ยน้ำทางใบได้ด้วย แต่ต้องระวังเวลาเปลี่ยนกิจกรรมการใช้ต้องล้างเครื่องมือให้สะอาด ประกอบด้วย เครื่องพ่นยาน้ำแบบถังกลมและถังแบน และเครื่องพ่นยาผง 

8.5 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานการตัดหญ้าสนามเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อตัดหญ้าในแนวนอน และแนวตั้ง ประกอบด้วย เครื่องตัดหญ้าแบบคนเดินตามและคนนั่งขับ กรรไกรตัดหญ้า มีดดายหญ้า เครื่องตัดขอบด้วยแรงคน และเครื่องเล็มหญ้า

8.6 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานตัดแต่งพืชพรรณประกอบด้วย กรรไกรตัดแต่งกิ่งแบบด้ามสั้น ด้ามยาว และแบบกระตุก เลื่อยตัดแต่ง กรรไกรตัดเล็มรั้วต้นไม้ เลื่อยโซ่ มีดชนิดต่างๆ ได้แก่ มีดหวด รวมทั้งมีดที่ใช้ในการตอนกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง

8.7 เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและซ่อมบำรุง เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือให้งานอื่นๆสะดวกในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 

8.7.1 อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ได้แก่ รถเข็นแบบล้อเดี่ยว และแบบสองล้อ ปุ้งกี๋ และบันได้ 

8.7.2 เครื่องมือในการซ่อมแซม ได้แก่

8.7.2.1 เครื่องมือใช้ซ่อมแซมวัสดุ-อุปกรณ์ทั่วไป ได้แก่ เครื่องมอเตอร์ติดหินลับหรือติดแปรงเหล็กลวดหินลับมีด แปรงเหล็กลวด ตะไบประเภทต่างๆ (หางหนู สามเหลี่ยม แบบใบมีดหรือใบแบน) กบมือ กบไฟฟ้า ค้อน สิ่ว ตะปู ประแจ ไขควงชนิดต่างๆ สว่านมือ สว่านไฟฟ้า สี และอะไหล่ต่างๆ

8.7.2.2 เครื่องมือใช้ซ่อมแซมเครื่องยนต์และเครื่องไฟฟ้า ได้แก่ ประแจเลื่อน ประแจปากตาย ไขควง กรวยเติมน้ำมัน กระป๋องหยอดน้ำมัน เครื่องกระบอกอัดจาระบี ผ้าเช็ดทำความสะอาด อะไหล่เครื่องยนต์ ปลั๊ก สวิทซ์ไฟฟ้า สายไฟ และเทปพันสายไฟ 

8.7.2.3 ตู้เก็บเครื่องมือและอุปกรณ์

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

18.1 ประเมินความรู้ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

18.4 การสอบสัมภาษณ์

 



ยินดีต้อนรับ