หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

จัด ตกแต่ง และประดับสวน

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-BVYA-127A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ จัด ตกแต่ง และประดับสวน

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2564

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

อาชีพนักตกแต่งสวนสาธารณะ ระดับ 3

ISCO-08 รหัสอาชีพ 9214 คนงานปลูกพืชสวนและไม้ดอกไม้ประดับ



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
เป็นหน่วยสมรรถนะที่ผู้ปฏิบัติงานมีทักษะในการปฏิบัติงานประจำขึ้นพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ในการจัดตกแต่ง และประดับสวนตามแบบแปลน จัดวางวัสดุ อุปกรณ์ในการจัดตกแต่ง และประดับสวนตามแบบแปลนรวมถึงการใช้เครื่องมือการเกษตรตามหลักความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีกระบวนการคิดและปฏิบัติงานที่หลากหลาย สามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคควบคู่กับการใช้คู่มือ และข้อมูล     ที่เกี่ยวข้องภายใต้การแนะแนวของผู้บังคับบัญชาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
03351 เลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ในการจัดตกแต่งและประดับสวนตามแบบแปลน 1.1 ระบุรายการวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดตกแต่ง และประดับสวนตามแบบแปลน 155724
03351 เลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ในการจัดตกแต่งและประดับสวนตามแบบแปลน 1.2 อธิบายวิธีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการจัดตกแต่ง และประดับสวนตามแบบแปลน 155725
03352 จัดวางวัสดุ อุปกรณ์ในการจัดตกแต่งและประดับสวนตามแบบแปลน 2.1 อธิบายหลักการจัดวางวัสดุ อุปกรณ์ในการจัดสวน 155726
03352 จัดวางวัสดุ อุปกรณ์ในการจัดตกแต่งและประดับสวนตามแบบแปลน 2.2 อธิบายหลักการตกแต่งและประดับสวน 155727

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
N/A

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1. ทักษะการจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการจัดสวน

2. ทักษะการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเครื่องมือการเกษตรในการจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการจัดสวน

 

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1. การจัดกลุ่มหินและการใช้กรวดทรายประดับความสวยงามของสวนส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ก้อนหินและกรวดลักษณะต่างๆประดับสวน เนื่องจากสวนประดับสามารถจัดได้หลายรูปแบบ การจัดกลุ่มหินและกรวดประดับสวนจึงแต่กต่างกันตามสภาพพื้นที่และลักษณะของสวนข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 1

2. การทำทางเท้าภายในสวน การกำหนดแนวทางเดินให้มีลักษณะ คตโค้งเชื่อมโยงกับจุดสำคัญต่างๆ ควรออกแบบจัดทำให้มีความกว้างพอ เลือกใช้วัสดุที่คงทนสวยงามและเหมาะสม เพื่อให้ผู้สัญจรเดินไปมาได้สะดวกปลอดภัย ขั้นตอนในการทำทางเดินเท้าบนสนามข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 2

3. กลุ่มเครื่องมือการเกษตรเครื่องมือและอุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นแรงที่ใช้สำหรับงานดูแลบำรุงรักษางานภูมิทัศน์ (โยธะคง, 2541) หรือใช้การประกอบอาชีพการเกษตร โดยสามารถที่จะใช้ในงานประณีตที่เครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ไม่สามารถใช้ได้ (ใจเที่ยง, 2545) เครื่องมือแบ่งตามลักษณะการใช้งาน ประกอบด้วย เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานทำความสะอาดและงานดิน เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานปุ๋ย เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานการตัดหญ้าสนาม เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานตัดแต่งพืชพรรณเครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและซ่อมบำรุงการทำความสะอาดและเก็บรักษาเครื่องมือการเกษตรเบื้องต้นข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 3

4. เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือ Personal Protective Equipment (PPE)) อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในการสวมใส่ขณะทำงานเพื่อป้องกันอันตราย เพราะสิ่งเหล่านี้  จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ หรือช่วยลดอาการบาดเจ็บจากหนักให้เป็นเบาข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 4

5. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ข้อ (ข)      ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 5

6. พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ประกอบด้วย หมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาตรา 16 และ มาตรา 19 ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 6

 


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

1. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

1. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการจัดสวนจากนายจ้าง หรือ

2. หนังสือรับรองผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการ    จัดสวน หรือ

3. หากไม่มีหลักฐานความรู้ตามข้อ 1 และ 2 ข้างต้น ต้องมีแฟ้มสะสมผลงานที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการจัดสวนและสามารถอ่าน เขียน และสื่อสารด้วยภาษาไทยได้  

(ค) คำแนะนำในการประเมิน

1. ความรู้พื้นฐานและทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการจัดสวน

(ง) วิธีการประเมิน

1. การประเมินความรู้        

2. แฟ้มสะสมผลงาน

 


15. ขอบเขต (Range Statement)

(ก) คำแนะนำ 

1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ข้อ 3 ตามทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 18และพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หมวด 2 มาตรา 16 19 ตามทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ 

2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานจัด ตกแต่ง และประดับสวนในการจัดสวนตามทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ 

(ข) คำอธิบายรายละเอียด

1. การจัดกลุ่มหินและการใช้กรวดทรายประดับ

ความสวยงามของสวนส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ก้อนหินและกรวดลักษณะต่างๆ ประดับสวน เนื่องจากสวนประดับสามารถจัดได้หลายรูปแบบ การจัดกลุ่มหินและกรวดประดับสวนจึงแต่กต่างกันตามสภาพพื้นที่และลักษณะของสวนดังนี้

1.1.บริเวณที่เป็นเนินหรือพื้นที่ทั่วๆไป จัดกลุ่มหินได้ดังนี้

1.1.1 จัดหิน 1 ก้อน ส่วนมากใช้กับหินทรงปฎิมากรรม จะจัดไว้ในตำแหน่งที่โดดเด่นสวยงามที่สุด

1.1.2 จัดหิน 2 ก้อน หินที่นำมาจัดเข้ากลุ่มต้องมีขนาดและรูปทรงแต่กต่างกันโดยจัดให้ก้อนใหญ่อยู่ด้านหลัง ส่วนก้อนที่เล็กกว่าจะจัดให้อยู่เยื้องด้านหน้า 1 ใน 3 ของหินที่อยู่ด้านหลัง

1.1.3 จัดหิน 3 ก้อน หินที่จัดนำมาเข้ากลุ่มต้องมีขนาดและรูปทรงแต่กต่างกัน จัดแล้วให้มองดูเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า

การใช้กรวดประดับสวนทำได้ 3 ลักษณะดังนี้

1. แบบไม่ต้องลาดซีเมนต์ วิธีนี้ทำโดยปรับแต่งพื้นที่ให้แน่นและเรียบแล้วใช้กรวดปูได้เลย

1.1 เมื่อปูกรวดไปนานๆแล้วกรวดจะจมหายไปในดิน

1.2 เมื่อมีวัชพืชหรือหญ้าขึ้นแซมทำให้กำจัดยาก

1.3 เก็บล้างทำความสะอาดกรวดไม่สะดวก

2. แบบซีเมนต์แล้วรอให้ซีเมนต์แห้งแล้วจึงจัดวางกรวด การจัดกรวดแบบนี้        กรวดจะต้องลอยตัวไม่ยึดติดอยู่กับปูน ข้อดีของการจัดกรวดแบบนี้คือ

2.1 ทำได้สะดวกเพราะไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับปูนแห้ง

2.2 ล้างทำความสะอาดกรวดได้ง่ายไม่ยุ่งยาก

2. การทำทางเท้า

การทำทางเท้าภายในสวน ควรกำหนดแนวทางเดินให้มีลักษณะ คตโค้งเชื่อมโยงกับจุดสำคัญต่างๆ ควรออกแบบจัดทำให้มีความกว้างพอ เลือกใช้วัสดุที่คงทนสวยงามและเหมาะสม เพื่อให้ผู้สัญจรเดินไปมาได้สะดวกปลอดภัย มีขั้นตอนในการทำทางเดินเท้าบนสนามดังนี้

2.1. การทำทางเดินแบบยก 

2.1.1 ใช้ปูนขาวหรือสายยางกำหนดแนวเส้นทางที่ทำทางเดินเท้าให้มีลักษณะคดโค้ง

2.1.2 นำแผ่นทางเท้าวางตามแนวที่กำหนดไว้

2.1.3 ใช้ไม้หรือเสียมขีดพื้นตามรูปร่างของแผ่นทางเท้า

2.1.4 ยกแผ่นทางเท้าออกแล้วใช้เสียมขุดดินตามรอยขีดให้ลึกพอที่จะนำแผ่นทางเท้าวางลงไป แล้วเหลือขอบของหินโผล่พ้นดินเล็กน้อย กะว่าเมื่อปูหญ้าแล้วจะเสมอกับสนามหญ้าพอดี

2.1.5 ใช้ทรายปรับพื้นบริเวณที่จะวางแผ่นทางเท้าให้เรียบหรืออาจใช้ซีเมนต์เทรองพื้น ก่อนการวางแผ่นทางเท้าทับลงไป เพื่อให้แผ่นทางเท้ายึดแน่นไม่กระดิก

2.1.6 ใช้ดินปรับแต่งรอบแผ่นทางเท้าให้ดูเรียบร้อย

2.2. การทำทางเดินเท้าแบบต่อเนื่อง

2.2.1 ใช้ปูนขาวหรือสายยางกำหยดแนวเส้นทางเดินเท้าให้มีลักษณะคตโค้งและมีความกว้างโดยประมาณ 0.9 –1.5 เมตร

2.2.2 ขุดเอาดินที่อยู่ในแนวปูนขาวออก กะให้ลึกพอที่จะวางแผ่นทางเท้า            เทคอนกรีตแล้วจะเหลือความสูงโผล่พ้นดินเล็กน้อย เมื่อปูหญ้าแล้วจะเสมอกับขอบหญ้าพอดี

2.2.3 ใช้ไม้อักชนิดบาง ตีเป็นแบบตามขอบทางเดินให้ขอบบนของไม้อัดอยู่สูงกว่าระดับดินเล็กน้อย

2.2.4 เทคอนกรีตตามแนวที่ขุดดินออก ปรับผิวดินให้เรียบเสมอกัน

2.2.5 รีบนำแผ่นทางเท้า (อาจใช้หินธรรมชาติ หินกาบ หินรูปเหลี่ยม กระเบื้อง  ดินเผา) วางกดให้จมลงไปในคอนกรีตให้เหลือผิวทางเดินเสมอกับผิวคอนกรีต ปรับแผ่นทางเท้าให้ได้ระดับ

2.2.6 การทำทางเดินเท้า บางลักษณะอาจใช้กรวดหรือหินเกร็ดแทรกระหว่างแผ่นทางเท้า

2.2.7 ใช้ฟองน้ำจุ่มน้ำเช็ดแผ่นทางเท้าและกรวดให้ดูสะอาดสวยงาม

2.2.8 เมื่อคอนกรีตแห้งแล้วให้ถอดแบบไม้อัดออกแล้วปรับแต่งดินรอบทางเท้าให้เรียบ 

2.3 การจัดวางแผ่นทางเท้า

2.3.1 ทิศทางของแผ่นทางเดินเท้า

ตำแหน่งที่เป็นทางเดินในสวนนั้น ควรอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมการใช้งานจากในบ้านสู่นอกบ้าน หรือนอกบ้านสู่ในบ้าน หรือจะเป็นพื้นที่รอบๆ สำหรับเดินวนทั่วโดยรอบอาคาร จังหวะการก้าวเดินก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกวางแผ่นทางเดินขนาด 50-60 เซนติเมตรสำหรับเดินคนเดียว 80-100 เซนติเมตรในกรณีที่เดิน 2 คน และวางในระยะห่าง 30-50 เซนติเมตร (วัดจากศูนย์กลางแผ่นทางเดิน) ระยะที่ว่านี้เป็นสัดส่วนที่พอดีสำหรับการก้าว หรือควรลองเดินให้พอดีกับจังหวะการก้าวเดิน เพื่อเดินง่าย ก้าวเท้าได้สบาย ให้การเดินในสวนเป็นไปอย่างสุนทรีย์ 

2.3.2 การเลือกแผ่นทางเดิน 

แผ่นทางเดินที่นิยมกันในท้องตลาดนั้นแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน คือแผ่นทางเดินจากธรรมชาติและแผ่นทางเดินซีเมนต์ ดีไซน์หลากหลายให้ความรู้สึกที่แต่กต่างกัน เช่นเดียวกับคุณสมบัติของแต่ละวัสดุที่มีความต่างไม้แพ้กัน

- แผ่นทางเดินจากธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นศิลาแลง หินภูเขาเมืองกาญจน์ หิน

ทราย ไม้หมอน ซึ่งแผ่นทางเดินจากธรรมชาติเหล่านี้มักจะอยู่ในงานดีไซน์สวนแบบทรอปิคัล สวนป่าดิบชื้น ด้วยคุณสมบัติที่สามารถกักเก็บความชื้นได้นาน ทำให้พื้นที่สวนมีความชุ่มชื่นร่มเย็นด้วย แต่ข้อด้อยของแผ่นหินธรรมชาติก็คือรูปทรงและลวดลายที่แต่ละแผ่นจะแต่กต่างกันไป รวมทั้งผิวสัมผัสที่กร่อนจนคมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และอายุการใช้งานของแผ่นหินบางชนิดที่จะสึกกร่อนตามธรรมชาติ

- แผ่นทางเดินสำเร็จรูป ได้แก่ แผ่นทางเดินซีเมนต์ และแผ่นหินสังเคราะห์

ซึ่งวัสดุเหล่านี้ผ่านกระบวนการขึ้นรูปด้วยระบบอุตสาหกรรม สัดส่วนจึงเป็นขนาดมาตรฐานหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 20 x 20 และ 40x40 เซนติเมตรขึ้นไป ขนาดที่พอดีนี้ทำให้สามารถคำนวณจำนวนที่ต้องใช้ได้อย่างแม่นยำ ง่ายต่อการจัดวาง รวมทั้งความคงทนแข็งแรง ปัจจุบันแผ่นทางเดินสำเร็จรูปเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นอย่างมาก ด้วยการผลิตที่รวดเร็วและมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป ทั้งในรูปแบบสวนวินเทจและสวนโมเดิร์น รวมทั้งสามารถสร้างลวดลายต่างๆ ลงบนแผ่นทางเดินได้ด้วย

2.3.3 วัสดุที่ตกแต่งระหว่างแผ่นทางเดิน  

เพื่อความสวยงามของช่องว่างระหว่างแผ่นทางเดินจึงมักจะถูกประดับตกแต่งด้วยวัสดุและพืชพรรณต่างๆ เพิ่มความสวยงามไม่ว่าจะเป็น 1) การโรยหินแกลบซึ่งจะดูแลง่ายให้เท็กซ์เจอร์ดูนุ่มนวล ระบายน้ำขังลงสู่พื้นดินได้อย่างรวดเร็ว 2) การปลูกหญ้าสลับ ทั้งหนวดปลาดุก หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย เฟิร์น กนกนารี มอสส์ ถั่วบราซิล หากอยากเลือกปลูกพืชสลับกับแผ่นทางเดินแล้วไม่ควรลืมว่าพืชชนิดนั้นจะต้องดูแลง่าย ทนต่อการเหยียบย่ำ สามารถทนฝนได้ดีและสามารถระบายน้ำขังลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีหนามแหลมที่จะทำให้เกิดอันตรายระหว่างก้าวเดิน ข้อดีของการเลือกต้นไม้ปลูกสลับก็เห็นจะเป็นเรื่องความสวยงามที่จะช่วยดึงความแข็งกระด้างของแผ่นทางเดินให้พื้นที่ดูนุ่มนวลขึ้น แต่หากเลือกโรยก้อนกรวด หินแกลบเม็ดเล็ก ก็จะดีตรงที่ไม่ต้องดูแลรักษาให้วุ่นวาย

2.3.4 บริเวณรอบข้างทางเดินเท้า

ความโปร่งโล่งยังเป็นเรื่องสำคัญ หากเลือกได้ต้นไม้ที่ปลูกประดับสองข้างทางเดินควรสูงไม่เกินระดับสายตา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย หากเป็นต้นไม้ใหญ่ควรตัดกิ่งให้พ้นระดับศีรษะเพื่อความปลอดภัย และไม่ควรเลือกต้นไม้ที่มีหนาม มียาง หรือมีขน ที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัส สำหรับบางท่านก็ที่ชอบซุ้มไม้เลื้อยอย่างสร้อยอินทนิล พวงคราม พวงชมพู เล็บมือนาง ก็สามารถสร้างทางเดินลอดซุ้มรอบๆ สวนได้ หากแต่ต้องระวังสัตว์เลื้อยคลานอย่างงูเขียวที่จะชอบมาอาศัยเพียงเท่านั้น

2.3.5 ขั้นตอนในการปูแผ่นทางเดิน

สิ่งที่ทางเดินในสวนต้องมีนอกเหนือจากความปลอดภัยและความสวยงาม ก็คือ การระบายน้ำลงดินอย่างรวดเร็ว การปูแผ่นทางเดินในสวนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมราดซีเมนต์เป็นทางยาวเพราะนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดความสวยงามแล้วยังก่อให้เกิดเป็นแอ่งน้ำท่วมขังด้วย สำหรับวิธีปูทางเดินในสวนนั้นมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ 1) ปรับหน้าดินให้เรียบเป็นทางเดินยาวในแบบที่ต้องการ 2) ใช้ทรายรองหน้าดินอีกชั้นเพื่อให้ระบายน้ำลงสู่ดินได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจจะให้เทคนิคอื่นๆ เข้าช่วยอาทิ ปูตาข่ายพลาสติก หรือจะเทซีเมนต์เจาะรูระบายน้ำให้ทั่วก็จะมีความคงทนยิ่งขึ้น 3) วางแผ่นทางเดินตามระยะที่กำหนดไว้จากนั้นก็ตกแต่งรอบๆ ทางเดินตามที่ออกแบบไว้

3. กลุ่มเครื่องมือการเกษตร 

เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นแรงที่ใช้สำหรับงานดูแลบำรุงรักษางานภูมิทัศน์ (โยธะคง, 2541) หรือใช้การประกอบอาชีพการเกษตร โดยสามารถที่จะใช้ในงานประณีตที่เครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ไม่สามารถใช้ได้ (ใจเที่ยง, 2545) เครื่องมือประเภทนี้แบ่งตามลักษณะการใช้งานคือ

3.1 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานทำความสะอาดและงานดิน เป็นเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด การขุดดิน การตักดิน การพรวนดิน การผสมดิน การตีดิน การเกลี่ยดิน การปรับระดับดิน และการเคลื่อนย้ายดิน ประกอบด้วย จอบชนิดต่างๆ ได้แก่จอบขุด จอบถากหรือจอบเอนกประสงค์ จอบคอห่าน และจอบสามง่าม ช้อนปลูก ส้อมพรวน มือเสือ คราดชนิดต่างๆ ได้แก่ คราดใช้กับสนามหญ้า คราดที่ใช้กับงานสวนทั่วไป เสียม พลั่ว เครื่องมือย่อยดินหรือเครื่องพรวนดิน และอีเตอร์

3.2 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานน้ำเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการนำน้ำจากจุดจ่ายน้ำไปให้แก่พืชพรรณ โดยใช้คนควบคุม ยกเว้นระบบติดตั้งโดยสมบูรณ์ทั่วทั้งบริเวณที่ควบคุมเวลาทำงาน ประกอบด้วย บัวรดน้ำ สปริงเกอร์    ชนิดต่างๆ ได้แก่ หัวน้ำหยด หัวพ่นหมอก มินิสปริงเกอร์ สปริงเกอร์ และสปริงเกอร์แบบป๊อปอัพ ถังน้ำ และสายยาง

3.3 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานปุ๋ยเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับงานใส่ปุ๋ยแห้ง และใส่ปูนขาวเป็นหลัก แต่อาจนำไปใช้กับงานหว่านเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็ก และยาปราบศัตรูพืชที่เป็นเม็ด ประกอบด้วย เครื่องใส่ปุ๋ยแบบใช้มือหมุนและใช้ล้อหมุน และเครื่องมือใส่ปุ๋ยแบบหยอด





3.4 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นเครื่องมือที่ออกแบบสำหรับใช้งานกำจัดศัตรูพืช โรค แมลง วัชพืช ทั้งที่เป็นยาน้ำ และยาผง บางครั้งสามารถประยุกต์ใช้กับการใส่ปุ๋ยน้ำทางใบได้ด้วย แต่ต้องระวังเวลาเปลี่ยนกิจกรรมการใช้ต้องล้างเครื่องมือให้สะอาด ประกอบด้วย เครื่องพ่นยาน้ำแบบถังกลมและถังแบน และเครื่องพ่นยาผง 

3.5 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานการตัดหญ้าสนามเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อ ตัดหญ้าในแนวนอน และแนวตั้ง ประกอบด้วย เครื่องตัดหญ้าแบบคนเดินตามและคนนั่งขับ กรรไกรตัดหญ้า มีดดายหญ้า เครื่องตัดขอบด้วยแรงคน และเครื่องเล็มหญ้า

3.6 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับงานตัดแต่งพืชพรรณประกอบด้วย กรรไกรตัดแต่งกิ่งแบบด้ามสั้น ด้ามยาว และแบบกระตุก เลื่อยตัดแต่ง กรรไกรตัดเล็มรั้วต้นไม้ เลื่อยโซ่ มีดชนิดต่างๆ ได้แก่ มีดหวด รวมทั้งมีดที่ใช้ในการตอนกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง

3.7 เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและซ่อมบำรุง เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือให้งานอื่นๆสะดวกในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 

3.7.1 อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ได้แก่ รถเข็นแบบล้อเดี่ยว และแบบสองล้อ ปุ้งกี๋ และบันได้ 

3.7.2 เครื่องมือในการซ่อมแซม ได้แก่

3.7.2.1 เครื่องมือใช้ซ่อมแวมวัสดุ-อุปกรณ์ทั่วไป ได้แก่ เครื่องมอเตอร์ติดหินลับหรือติดแปรงเหล็กลวดหินลับมีด แปรงเหล็กลวด ตะไบประเภทต่างๆ (หางหนู สามเหลี่ยม แบบใบมีดหรือใบแบน) กบมือ กบไฟฟ้า ค้อน สิ่ว ตะปู ประแจ ไขควงชนิดต่างๆ สว่านมือ สว่านไฟฟ้า สี และอะไหล่ต่างๆ

3.7.2.2 เครื่องมือใช้ซ่อมแซมเครื่องยนต์และเครื่องไฟฟ้า ได้แก่ ประแจเลื่อน ประแจปากตาย ไขควง กรวยเติมน้ำมัน กระป๋องหยอดน้ำมัน เครื่องกระบอกอัดจาระบี ผ้าเช็ดทำความสะอาด อะไหล่เครื่องยนต์ ปลั๊ก สวิทซ์ไฟฟ้า สายไฟ และเทปพันสายไฟ 

3.7.2.3 ตู้เก็บเครื่องมือและอุปกรณ์

3.8 การทำความสะอาดและเก็บรักษาเครื่องมือการเกษตรเบื้องต้น (โยธะคง, 2541)

จอบชนิดต่างๆ ได้แก่จอบขุด จอบถากหรือจอบเอนกประสงค์ จอบคอห่าน และจอบสามง่าม ช้อนปลูก ส้อมพรวน มือเสือ คราดชนิดต่างๆ ได้แก่ คราดใช้กับสนามหญ้า คราดที่ใช้กับงานสวนทั่วไป เสียม พลั่ว เครื่องมือย่อยดินหรือเครื่องพรวนดิน อีเตอร์จอบดายหญ้าหรือจอบถากและมีดชนิดต่างๆ ได้แก่ มีดหวด มีดดายหญ้า มีดที่ใช้ในการตอนกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง ทำความสะอาดและเก็บรักษาโดยล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง และทาน้ำมันตรงส่วนที่เป็นโลหะเพื่อป้องกันสนิม

กรรไกรตัดแต่งกิ่ง กรรไกรตัดหญ้า และเลื่อยตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดและเก็บรักษาโดยภายหลังการใช้ควรล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง ทาน้ำมันกันสนิมหรือหยอดน้ำมัน เก็บเข้าที่โดยการแขวน

บัวรดน้ำ ทำความสะอาดและเก็บรักษาโดยภายหลังการใช้แล้วควรล้างทำความสะอาดถัง ตัวถัง และฝักบัวเพื่อป้องกันการอุดตัน คว่ำให้แห้งและเก็บเข้าที่

สปริงเกอร์ชนิดต่างๆ ได้แก่ หัวน้ำหยดหัวพ่นหมอกมินิสปริงเกอร์สปริงเกอร์และสปริงเกอร์แบบป๊อปอัพ ทำความสะอาดและเก็บรักษาโดยภายหลังการใช้งานควรใช้น้ำแรงดันสูงล้างเพื่อป้องกันการ อุดตันจากคราบสกปรกต่างๆ

ถังน้ำ สายยาง และปุ้งกี๋ ทำความสะอาดและเก็บรักษาโดยภายหลังการใช้ควรทำ ความสะอาด ทำให้แห้ง และเก็บคว่ำเข้าที่ โดยสายยางให้ม้วนเก็บเข้าที่ อย่าให้มีส่วนใดหักงอ

4. เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือPersonal Protective Equipment (PPE)) 

หมายถึง อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในการสวมใส่ขณะทำงานเพื่อป้องกันอันตรายเพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ หรือช่วยลดอาการบาดเจ็บจากหนักให้เป็นเบา เช่น ถ้าใช้เครื่องมืออุปกรณ์ความปลอดภัยก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการทำงานมากกว่าเดิมการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีในการป้องกันอันตรายจากการทำงานโดยทั่วไปจะมีการป้องกันและควบคุมที่สภาพและสิ่งแวดล้อมของการทำงานก่อนโดยการแก้ไขปรับปรุงทางวิศวกรรมการกั้นแยกไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นหรือการใช้เซฟการ์ดแบบต่างๆหรือการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเปลี่ยนกรรมวิธีการทำงานส่วนในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็จะนำกลวิธีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายมาใช้ประกอบด้วยเพื่อช่วยป้องกันอวัยวะของร่างกายในส่วนที่ต้องสัมผัสงานมิให้ประสบอันตรายจากภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะทำงาน     คือ หมวกป้องกันศีรษะ กระบังหน้า อุปกรณ์ป้องกันหู แว่นนิรภัย หน้ากากกันฝุ่นละออง ถุงมือนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ชุดป้องกัน และรองเท้านิรภัย (เอเฟท, 2547)

5. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554

ข้อ 3 มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization: ISO) มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards: EN) มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards: AS/NZS) มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI)มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards: JIS) มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health: NIOSH) มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติกรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration: OSHA)และมาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association: NFPA)

6. พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

หมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้าน  ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย

ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มี        

การฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงานการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 19 ในกรณีที่นายจ้างเช่าอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้ในสถานประกอบกิจการ ให้นายจ้างมีอำนาจดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดที่เช่านั้นตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

18.1 การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือก และข้อสอบแบบอัตนัย

18.2 แฟ้มสะสมผลงาน

18.3 การสอบสัมภาษณ์

 



ยินดีต้อนรับ