หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

จัดเตรียมพื้นที่

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-ARZO-123A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ จัดเตรียมพื้นที่

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2564

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

อาชีพนักตกแต่งสวนสาธารณะ ระดับ 1

ISCO-08 รหัสอาชีพ 9214 คนงานปลูกพืชสวนและไม้ดอกไม้ประดับ

 



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
เป็นหน่วยสมรรถนะที่ผู้ปฏิบัติงานมีทักษะในการปฏิบัติงานประจำขึ้นพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับสำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวนสำรวจแนวท่อน้ำ ท่อประปาจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดสวนตามแบบแปลนรวมถึงการใช้เครื่องมือการเกษตรตามหลักความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้บังคับบัญชาเนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานในการปฏิบัติงานได้อย่างจำกัด

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
03311 สำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวน 1.1 อธิบายหลักการสำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวน ในด้านของสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่ ทิศ สิ่งก่อสร้าง พรรณไม้เดิม 155694
03311 สำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวน 1.2 ระบุประโยชน์ของการสำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวนก่อนการจัดสวน 155695
03311 สำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวน 1.3 รายงานผลการสำรวจพื้นที่ในการใช้จัดสวน 155696
03312 สำรวจแนวท่อน้ำท่อประปา 2.1 อธิบายหลักการสำรวจแนวท่อน้ำ ท่อประปา 155697
03312 สำรวจแนวท่อน้ำท่อประปา 2.2 อธิบายหลักการสำรวจแนวท่อประปา 155698
03312 สำรวจแนวท่อน้ำท่อประปา 2.3 รายงานผลการสำรวจแนวท่อน้ำ ท่อประปา 155699
03313 จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดสวนตามแบบแปลน 3.1 ระบุวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดสวนตามแบบแปลน 155700
03313 จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดสวนตามแบบแปลน 3.2 เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใช้ในการจัดสวน 155701

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
N/A

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1. ทักษะจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวน

2. ทักษะการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเครื่องมือการเกษตรในการจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวน

 

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1. สำรวจสถานที่ (site analysis) เป็นการสำรวจหาข้อมูลของสถานที่ให้มากที่สุด นักจัดสวนจะต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศของสถานที่นั้นๆ ประกอบด้วย สภาพภูมิอากาศ บริเวณพื้นที่ ทิศ สิ่งก่อสร้าง และพรรณไม้เดิม ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ข้อ 1    

2. องค์ประกอบในสวนประกอบด้วย รั้ว (fences) รั้วที่สร้างจากสิ่งไม่มีชีวิต รั้วประกอบ รั้วธรรมชาติ แบบและขนาดของรั้ว ประตู (gates) กำแพง (walls) ทางเดินในสวน (garden paths) ลาน     จอดรถ (parking area) ลานพักผ่อน ม้านั่งและเก้าอี้ในสวน บันได้สวน ศาลาที่พักในสวน แสงในสวน น้ำ หินและการจัดหิน การจัดหิน รูปปั้นและวัสดุตกแต่งอื่นๆ ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อ 2

3. เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือ Personal Protective Equipment (PPE)) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 3

4. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 4

5. พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ประกอบด้วย หมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาตรา 16 และ มาตรา 19 ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 5

 


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

1. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

1. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวนจากนายจ้าง หรือ

2. หนังสือรับรองผ่านการฝึกอบรมที่เกี่ยวเนื่องกับจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวน หรือ

3. หากไม่มีหลักฐานความรู้ตามข้อ 1 และ 2 ข้างต้น ต้องมีแฟ้มสะสมผลงานที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวนและสามารถอ่าน เขียน และสื่อสารด้วยภาษาไทยได้

(ค) คำแนะนำในการประเมิน

1. ความรู้พื้นฐานและทักษะที่เกี่ยวข้องกับจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวน

(ง) วิธีการประเมิน

1. การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือก และข้อสอบแบบอัตนัย

2. แฟ้มสะสมผลงาน

3. การสอบสัมภาษณ์

 


15. ขอบเขต (Range Statement)

(ก) คำแนะนำ 

1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554 ข้อ 3 ตามทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ ข้อที่ 18และพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 หมวด 2 มาตรา 16 19 ตามทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้ 

2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดสวนตามทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge) ข้อ (ข) ความต้องการด้านความรู้

(ข) คำอธิบายรายละเอียด

1. สำรวจสถานที่ (siteanalysis) 

เป็นการสำรวจหาข้อมูลของสถานที่ให้มากที่สุด นักจัดสวนจะต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศของสถานที่นั้นๆ ข้อมูลที่ควรทราบ คือ

1.1  สภาพภูมิอากาศ  บริเวณนั้นมีอากาศร้อนหนาว แห้งแล้ง ชื้น มากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้จะทำให้สามารถเลือกใช้พรรณไม้ได้ถูกต้อง นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวส่วนไหนจะได้รับแสงสว่างมากน้อยอย่างไร ฝนตกชุกหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในเรื่องการระบายน้ำจากพื้นที่ ทิศทางลมเป็นอย่างไร ลมพัดแรงจนทำให้พรรณไม้เสียหายหรือไม่

เนื่องจากว่าการก่อสร้างเป็นงานที่ต้องทำกลางแจ้งดังนั้นสภาพดินฟ้าอากาศก็จะ   เป็นปัญหาอุปสรรคและมีผลกระทบโดยตรง สภาพดินฟ้าอากาศแบ่งได้ดังนี้ 

1.1.1 อุณหภูมิและความชื้น จะมีผลกระทบคือ

- อุณหภูมิสูง ความชื้นสูง จะทำให้เหนื่อยง่าย

- แสงแดดจัด คอนกรีตจะแห้งเร็ว

- วัสดุบางอย่างตากแดดแล้ว จะเกิดความเสียหายก่อนนําไปใช้

- สำนักงานชั่วคราวชั่วคราวจำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ

- ต้องสร้างหลังคาชั่วคราวในบริเวณงานกลางแจ้ง เช่นที่ดัดเหล็ก

1.1.2 ลม ลมเป็นสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณาเมื่อมีการสร้างที่พักโรงงาน เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีและมีความมั่นคงแข็งแรง 

1.1.3 ฝนและน้ำ จะมีผลโดยตรงต่อการทำดิน งานใต้ดิน การขนย้ายวัสดุ การทำงานจึงจำเป็นที่ต้องเผื่อเวลาไว้ 

1.2  บริเวณพื้นที่ สภาพดินเป็นอย่างไร เป็นกรด ด่าง ดินเหนียว ดินร่วน หรือดินปนทราย ลักษณะพื้นที่สูงต่ำมากน้อย จะต้องถมดินตรงไหน ขนาดของพื้นที่กว้างยาวเท่าไร อยู่บริเวณไหน  ของบ้าน สภาพแวดล้อมลักษณะของพื้นผิวดิน จะมีอยู่หลายลักษณะตามชนิดของดิน แบ่งได้ดังนี้

1.2.1 ดินเลน เป็นดินที่ไม่เหมาะที่จะก่อสร้าง และยังจะสร้างปัญหาในขณะที่ทำการก่อสร้างอีกมาก จะอยู่บริเวณปากแม่น้ำ

1.2.2 ดินปนทราย เป็นดินที่รับน้ำหนักได้ดีพอสมควรขุดง่ายมักเป็นบริเวณชายทะเล เมื่อฝนหยุดตกพื้นที่จะแห้งทันที

1.2.3 ดินปนกรวด เป็นดินที่อยู่ใกล้ทะเล ใกล้ภูเขาหรือใกล้แม่น้ำที่ไหล เชี่ยว ดินปนกรวดเป็นดินที่รับน้ำหนักได้ดี การขุดทำได้ไม่ยาก น้ำจะไม่ขังในบริเวณก่อสร้าง

1.2.4 ดินทั่วๆ ไป จะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากแม่น้ำ ตามพื้นที่ราบกว้างๆ ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก เป็นดินที่มีอุปสรรคต่อการก่อสร้างน้อย

1.2.5 ดินเหนียว เป็นดินที่อยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ การทำงานในพื้นที่นี้ควรหลีกเลี่ยงในหน้าฝน น้ำจะขังอยู่นาน ไม่สะดวกต่อการทำงาน

1.2.6 หินผุหรือดินลูกรัง มักอยู่ตามไหลเขารวมทั้งที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับน้ำหนักได้ดี แน่น การขุดควรใช้เครื่องจักร เป็นดินที่เหมาะกับงานก่อสร้าง

1.2.7 หินแกร่ง โดยทั่วไปจะมีการก่อสร้างบนหินน้อย โดยมากจะใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง

สภาพแวดล้อมใต้ระดับดิน โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท

1. ประเภทที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น หินแกร่งที่แอบปนอยู่กับดินเหนียวซึ่งจะยุ่งยากในการทำฐานราก หรือดินอ่อนที่แทรกอยู่กับดินเหนียว

2. ประเภทที่เกิดจากการที่มนุษย์สร้างขึ้น มักจะก่อให้เกิดปัญหาที่ จะต้องแก้ไขมาก ซึ่งช่างสำรวจจะต้องจัดนําเสนอข้อมูลให้ผู้ที่รับผิดชอบทราบเพื่อที่จะได้ทำการแก้ไขก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่

ก. ท่อประปา โดยเฉพาะท่อเมน ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของช่างสำรวจโดยตรงในการที่จะทำการสำรวจรายละเอียดต่างๆ ถึงแม้ว่าท่อประปาจะไม่อยู่ในพื้นที่ เช่น อยู่ริมถนน ทางเท่าก็ต้องสำรวจด้วยเพื่อที่จะได้เตรียมการจัดการที่ดี

ข. ท่อน้ำทิ้ง โดยเฉพาะที่เป็นแบบก้างปลาที่สร้างแทนบ่อซึม ซึ่งมักจะวางไว้ให้มีการระบายน้ำได้ดี เป็นที่ว่าง เมื่อพื้นที่นั้นทำการก่อสร้างจำเป็นจะต้องสร้างบ่อซึมแทนท่อที่จะทำการก่อสร้างในพื้นที่นั้น

ค. ท่อระบายน้ำโดยทั่วไปมักจะอยู่ขอบพื้นที่ ริมทางเท้า อาจจะต้องมีการแก้ไขแนว เปลี่ยนทิศทางหรือเปลี่ยนขนาด เพื่อไม่ให้เกิดการแต่กหัก ขณะที่ทำการก่อสร้างและรับปริมาณได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้น

ง. บ่อเกรอะ อาจจะต้องเคลื่อนย้าย สร้างใหม่ หรืออาจจะสร้างร่วมกับบ่อใหม่ก็ได้ ซึ่งก็จะต้องมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า

จ. เสาเข็ม ซึ่งจะอยู่ใต้อาคารหลังเก่าที่รื้อถอนออกไป ช่างสำรวจจำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลตำแหน่งของเสาเก่าก่อนที่จะทำการรื้อถอนไว้ด้วยเพื่อที่จะวางตำแหน่งใหม่ ไม่ให้ซ้อนของเก่า อาจจะต้องทำการถอนเข็มเก่าแล้วนำไปทิ้ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ฉ. สายเคเบิลใต้ดิน เป็นรายละเอียดอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้ ก่อนที่จะลงมือเปิดหน้าดิน ควรจะต้องทำการสำรวจจนแน่ชัด แล้วทำการโยกย้ายให้เรียบร้อยโดยทั่วไปจะอยู่ไม่ลึกมากนัก

ช. สิ่งของวัตถุบางอย่างที่มีผลทางด้านธรรมเนียมประเพณีและ จิตใจ เช่น หลุมฝังศพ กรุพระ เป็นต้น

1.3  ทิศ ทิศเหนืออยู่ทางไหน การรู้ทิศจะช่วยให้ทราบเรื่องแสงสว่างและทิศทางลม ซึ่งส่งผลในการกำหนดพรรณไม้และสิ่งอื่นๆ

1.4  สิ่งก่อสร้าง ลักษณะอาคาร รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในบริเวณนั้นเป็นลักษณะใด เพราะการออกแบบจัดสวนจะต้องให้กลมกลืน และเสริมให้อาคารสถานที่นั้นสวยงามเด่นสง่า รวมทั้งเกิดประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มที่

1.5  พรรณไม้เดิม มีมากน้อยอยู่ในตำแหน่งใด รวมทั้งชนิดของพรรณไม้นั้นๆ

จากความสำคัญของการสำรวจดังกล่าวข้างต้น ในขั้นการก่อสร้าง การสำรวจก็มีความสำคัญเช่นกันโดยมีจุดประสงค์ของการสำรวจเพื่อการก่อสร้างดังนี้คือ

1. โครงสร้างที่ทำการก่อสร้างจะต้องถูกต้องทั้งสามมิติคือ ตำแหน่งพิกัดถูกต้อง (แกนราบ, แกนตั้ง) และระดับความสูง (แกนดิ่ง) ถูกต้อง

2. การสำรวจต้องทำอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เพื่อลดค่าใช้จ่าย จะต้องคำนึงถึง

ก. จุดบังคับทางราบ (Horizontal Control Point) จะตั้งภายในหรือใกล้บริเวณก่อสร้าง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ข. หมุดอ้างอิงหรือหมุดโยงยึด ( Reference Point = R.P. ) หรือหมุดหลักฐานการระดับ (Bench Mark = B.M.) จะต้องมีค่าที่แน่นอนและมีความละเอียดถูกต้องโดยนับจากพื้นหลักฐานการระดับ

ค. วิธีการจะต้องมีความละเอียดถูกต้อง เครื่องมือเหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำ และต้องทำการตรวจสอบทุกวัน การบันทึกข้อมูลจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลการบันทึกด้วยเช่น ระยะฉาก (Offset) , ระยะโยงยึด ( Reference Distance) , หลัก ( Peg หรือ Stake) ที่หาย จะต้องแจ้งให้ช่างผู้ควบคุมงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบ หมุด B.M. จะต้องมีการตรวจสอบอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และให้มีเครื่องหมายมองเห็นได้ชัดเจนเพื่อป้องกันการถูกเครื่องจักรทำลาย

2. การวัดระยะ

การวัดระยะทาง หมายถึง การหาความยาวระหว่างจุดที่ต้องการ โดยใช้เครื่องมือและวิธี ต่างๆ กัน และมีหน่วยความยาวที่เป็นมาตรฐาน สำหรับกำหนดขนาดของระยะ หรือเป็นการหาระยะทาง ระหว่างเส้นดิ่งของจุดทั้งสองที่ความสูงเดียวกัน ระยะที่ใช้วัดในการสำรวจ มีลักษณะที่พึงประสงค์ 2 ประการคือ ต้องเป็นระยะทางในแนวราบ และเป็นระยะในเส้นตรงการวัดระยะเพื่อหาความยาว หรือระยะห่างของจุดต่างๆ จะต้องมีหน่วยของระยะที่เป็นสากลหรือเป็นที่รับรูปและใช้กันทั่วไป คือ  ระบบอังกฤษ กำหนดหน่วยระยะเป็น นิ้ว ฟุต หลา และไม่ล์  ระบบเมตริก มิลลิเมตร เซนติเมตร เมตรและกิโลเมตร ระบบ SI Unit ( The International System of Unit ) มีหน่วยเป็นเมตร (Meter) 

2.1 วิธีการวัดระยะ

การวัดระยะโดยทั่วไป แบ่งได้ตามลักษณะและวิธีที่ใช้ในการวัดระยะ 3 วิธี ดังนี้

2.2.1 การวัดระยะโดยวิธีทางตรง (Direct Measurement) การวัดระยะโดยวิธีทางตรง เป็นวิธีการวัดที่ต้องมีการปฏิบัติเพื่อหาความยาวระหว่างจุดหรือตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ เช่น การใช้โซ่หรือเทป และการนับก้าววัดระยะ

2.2.2 การวัดระยะโดยวิธีทางอ้อม (Indirect Measurement) การวัดระยะโดยวิธีทางอ้อม เป็นวิธีการหาระยะระหว่างจุดที่ต้องการโดยใช้เครื่องมือชนิดต่างๆ และใช้วิธีการคำนวณเข้าช่วยเพื่อคำนวณหาระยะแต่ไม่มีการปฏิบัติเพื่อทำการวัดระยะนั้นๆ โดยตรง การวัดระยะทางอ้อมมีหลายวิธี เช่น การใช้เครื่องมือสับเทนบาร์ (Subtense Bar) การทำสเตเดีย (Stadia) และการวัดระยะบนแผนที่โดยการคำนวณตสมมาตราส่วน

2.2.3 การวัดระยะด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Distance Measurement หรือ EDM.) การวัดระยะด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการวัดระยะเส้นตรงหรือระยะเชิงเส้น (Linear Distance) ทำได้โดยการนําเครื่องมือไปตั้งที่จุดแรก และนําเป้าสะท้อนสัญญาณไปตั้งที่อีกจุดหนึ่ง จากนั้นปล่อยสัญญาณจากเครื่องมือไปยังเป้า สัญญาณจะสะท้อนกลับมาเข้าเครื่องมือเครื่องมือจะจับเวลาที่สัญญาณเดินทางไปและสะท้อนกลับ แล้วคำนวณออกมาเป็นระยะทาง ระยะที่ได้นี้เป็นระยะระหว่างตัวเครื่องกับเป้าสะท้อนสัญญาณ ซึ่งจะเป็นระยะในแนวราบหรือระยะลาดแล้วแต่ความสูงต่างของเครื่องมือ และเป้าสะท้อนสัญญาณ

การนับก้าว (Pacing)

                         การนับก้าวเป็นการวัดระยะโดยการเดินนับจำนวนก้าวของช่วงที่ต้องการวัดระยะ แล้วเอาจำนวนก้าวคูณด้วยความยาวก้าว ก็จะได้ระยะตามต้องการ ดังนั้นก่อนที่จะวัดระยะโดยการนับก้าวนี้จะต้องรู้ความยาวก้าวของผู้วัดก่อน

1. การหาความยาวก้าว การหาความยาวก้าวทำได้ 2 แบบ คือ

1) การฝึกก้าวให้ความยาวก้าวได้มาตรฐานที่ต้องการ เช่น 0.60 เมตร หรือ 1.00 เมตร แล้วแต่รูปร่างของผู้เดินวัดระยะว่ามีรูปร่างสูงต่างเพียงไร การฝากก้าวแบบนี้เป็นเป็นการฝืนธรรมชาติ ผู้เดินนับก้าวจะเหนื่อยเร็ว แต่ระยะที่วัดได้ค่อนข้างดี เพราะการเดินวัดจะต้องใช้ความตั้งใจในการเดินมากกว่าปกติ

2) การหาความยาวปกติ ทำได้โดยการวัดระยะในแนวเส้นตรงบนถนนหรือพื้นที่ราบอื่นๆ สมมติเป็นระยะทาง 100 เมตร แล้วผู้ที่จะหาความยาวก้าว ไปเดินนับจำนวนก้าว โดยเดินในสภาพปกติธรรมดาที่เคยเดิน แล้วนํามาคำนวณหาความยาวก้าว

การวัดระยะด้วยโซ่-เทป

การวัดระยะด้วยโซ่-เทป เป็นวิธีการวัดระยะทางราบที่ใช้กันโดยทั่วไป เพราะสามารถวัดได้ละเอียดถูกต้อง เครื่องมือที่ใช้ในการวัดระยะมีราคาถูกกว่าเครื่องมือชนิดอื่น ระยะที่วัดด้วยโซ่-เทป จะต้องมีลักษณะที่สำคัญๆ 2 ประการคือ ระยะที่วัดจะต้องเป็นระยะในแนวเส้นตรงระหว่างจุดที่ทำการวัด และจะต้องเป็นระยะในแนวราบเท่านั้น หากการวัดระยะครั้งใดไม่ได้ลักษณะนี้ ระยะที่วัดได้จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

วิธีการวัดระยะด้วยโซ่-เทป  มีการปฏิบัติดังนี้

1. การเล็งวัดระยะ ทำได้ 2 วิธี

a. การเล็งด้วยตามเปล่า ทำโดยการใช้หลักเล็งแนวปักไว้ที่มุมหัวและท้ายระยะที่ทำการวัด คนเล็งแนวอยู่จุดเริ่มต้น และยืนอยู่ห่างจากหลักเล็งแนวอย่างน้อย 50 เซนติเมตร

b. การเล็งแนวด้วยกล้อง  โดยอาจเป็นกล้องวัดมุม กล้องระดับหรือกล้องส่อง โดยการวัดจะได้แนวเป็นเส้นตรง

การดูแลรักษาโซ่ – เทปและอุปกรณ์

การปฏิบัติงานสำรวจรังวัด โซ่และเทปเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานเป็นประจำ จึงเกิดการชํารุดได้ง่าย ประกอบกับการวัดระยะ จะต้องมีความละเอียด ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ช่างสำรวจที่ดีจึงถือเป็นหน้าที่ ในการดูแลรักษาเพื่อให้อุปกรณ์นี้มีความพร้อมในการใช้งานและเป็น การยืดอายุให้ทนนานมากยิ่งขึ้น จึงกำหนดข้อปฏิบัติดังนี้

1 ขณะปฏิบัติงานต้องให้โซ่ – เทป เป็นเส้นตรงเสมอ หากโซ่พับอาจหักได้ ส่วนเทปอาจพันกันเป็นปมแน่น การวัดระยะอาจผิดพลาดได้

2 ระวังอย่าใช้โซ่ – เทป ขณะมียานพาหนะผ่านไปมา อาจทำให้แต่กหักหรือฉีกขาดได้ควรรอให้ยานพาหนะผ่านไปก่อน หรือขอให้หยุดการจราจรเป็นการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานด้วย

3 ควรหลีกเลี่ยงการลากโซ่ – เทป ผ่านพื้นแข็ง เช่น ถนนคอนกรีต หรือถนนลูกรัง อาจทำให้ตัวเลขหรือเครื่องหมายต่างๆ ลบเลือนเร็วขึ้น

4 หลังจากการใช้งานก่อนการม้วนเก็บ จะต้องทำความสะอาดทุกครั้ง หลังจากถ้าเป็นโซ่ หรือ เทป สแตนเลสให้รูดด้วยผ้าชุบนํามัน เพื่อป้องกันสนิมและยืดอายุการใช้งาน

5 จะต้องระมัดระวังเทปเอสล่อน หรือเทปผ้าเป็นพิเศษ เนื่องจากชํารุดง่าย เช่น อย่าดึงแรงเกินไป อย่าใหถูกของมีคม ถ้าเทปเปื้อนโคลน หรือสิ่งสกปรก รีบล้างน้ำให้สะอาด ก่อนม้วน เก็บควรทำความสะอาดขณะม้วน ถ้าเทปเปียกหรือชื้นให้ผึ่งให้แห้งก่อนม้วนเก็บ

6 เมื่อวัดระยะเสร็จแต่ละช่วงการวัด อย่าลืมเก็บห่วงคะแนนนับจำนวนและหลักเล็งทุกครั้ง โดยเฉพาะห่วงคะแนนมักหายบ่อยๆ เนื่องจากมีขนาดเล็ก ก่อนเก็บต้องทำความสะอาดทุกครั้ง

7 สถานที่เก็บ ควรแห้งอากาศถ่ายเทได้สะดวกปราศจากละอองฝน เพื่อเป็นการป้องกันการเป็นสนิม

3. องค์ประกอบในสวน

3.1 รั้ว (fences)   

รั้วคือสิ่งที่เป็นตัวแสดงอาณาเขตของบ้านและสวน  สร้างความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้คนหรือสัตว์ต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้รั้วจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกรสนิยมของเจ้าของได้ด้วย รั้วสวน  จะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 

1. รั้วที่ก่อสร้างจากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น รั้วไม้ รั้วลวดหนาม ลวดตาข่าย รั้วอิฐ หิน รั้วเหล็ก รั้วกระเบื้องสำเร็จ และรั้วคอนกรีต 

2. รั้วประกอบ เป็นรั้วที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุต่างๆ  มาประกอบกัน 

3. รั้วธรรมชาติ เป็นรั้วที่มีชีวิตได้จากการปลูกพรรณไม้ต่างๆ แล้วตัดแต่งเป็นรูปตามต้องการ 

2.2 รั้วที่สร้างจากสิ่งไม่มีชีวิต

รั้วไม้ ส่วนใหญ่จะพบเห็นรั้วชนิดนี้ตามบ้านในชนบทมากกว่าบ้านในเมืองหลวง รั้วไม้จะเป็นรั้วที่ก่อสร้างง่าย เล่นลวดลายตกแต่งได้หลายแบบ ให้ความงามตามธรรมชาติ แต่ปัญหาที่พบก็คือ รั้วชนิดนี้อายุการใช้งานจะสั้น ราคาค่อนข้างแพง และไม่สามารถป้องกันผู้บุกรุกได้ นอกจากนี้รั้วไม้อาจ ถูกปลวกเข้าทำลายได้ด้วย 

ไม้ที่ใช้ทำรั้วส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้เนื้ออ่อนที่ใช้ ได้แก่ ไม้ยาง ไม้สน หรืออาจใช้ไม้ไผ่ผู้กมัด สาน หรือขัดแต่ะทำรั้วสวน 

รั้วลวดหนาม, ลวดตาข่าย  ส่วนใหญ่รั้วประเภทนี้จะใช้เป็นตัวบอกอาณาเขตของสวนมากกว่าใช้ทำรั้วบ้าน เป็นรั้วที่ทำได้ง่าย ราคาถูก ข้อเสียก็คือ จะเกิดสนิม ผุกร่อนได้ง่าย นิยมใช้ทำรั้วโรงงาน สถานที่ราชการบางประเภท 

รั้วหิน  เป็นรั้วที่ให้ความแข็งแรงปลอดภัยและเน้นจุดประสงค์เพื่อความงามเป็นหลัก รั้วหินราคาค่าก่อสร้างจะสูง ที่ย่อมเยาที่สุดคือรั้วหินศิลาแลง ที่ตัดเป็นก้อนๆ ไว้แล้ว นำมาก่อกันเข้าเป็นรั้วสวน ส่วนหินแกรนิต ราคาแพง หายาก ค่าขนส่งสูง เนื่องจากหินมีราคาแพงมาก การทำรั้วหินจึงมักใช้แผ่นหินประดับโดยก่ออิฐมอญหรือทำรั้วคอนกรีตแล้วใช้หินกาบ หรือหินสกัดประดับหน้าแทนที่จะใช้หินทั้งหมด   ข้อเสียของรั้วประเภทนี้นอกจากราคาค่อนข้างแพงแล้ว น้ำหนักรั้วจะมากทำให้เปลืองค่าฐานรากเพิ่มขึ้น การก่อสร้างจะต้องประณีตและการใช้รั้วประเภทนี้จะต้องพิจารณาให้กลมกลืนกับอาคารที่อยู่อาศัยด้วย 

รั้วอิฐ  เป็นรั้วที่ใช้กันมากที่สุด อิฐที่ใช้อาจจะเป็นอิฐมอญ อิฐราชบุรี อิฐ บล๊อกก็ได้ อิฐเป็นวัตถุดิบที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรม ราคามาตรฐานนำมาก่อสร้างง่าย โดยเฉพาะอิฐบล๊อกมีให้เลือกมากมายหลายแบบ การใช้งานจึงทำได้สะดวก เจ้าของบ้านสามารถเลือกลายผสมลายได้ตามความพอใจ ข้อเสียของรั้วอิฐแทบจะพูดได้ว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับรั้วชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเลือกลวดลายให้มองดูสวยงามและกลมกลืนเท่านั้น 

รั้วเหล็ก  เป็นรั้วที่แสดงความงามทั้งส่วนตัวรั้วและอาคารที่อยู่หลังแนวรั้ว เพราะรั้วเหล็กมักจะโปร่ง การทำรั้วเหล็กจะต้องคำนึงถึงความสวยงามเป็นหลัก ข้อเสียของรั้วประเภทนี้อยู่ที่การกัดกร่อนของสนิมและบางแบบของรั้วจะทำให้บุคคลภายนอกปีนเข้ามาได้ง่าย 

รั้วกระเบื้องสำเร็จ เป็นรั้วที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะตัวกระเบื้องจะเป็นลอน ๆ เหมือนกระเบื้องหลังคา   แต่จะหนาและใหญ่กว่า   มีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ถึง 3.00 เมตร หน้ากว้าง 0.84 เมตรและ 0.94 เมตร รั้วกระเบื้องสำเร็จนี้จะมีการครอบหัวกระเบื้องเพื่อความสวยงามอีกด้วย การประกอบติดตั้งง่าย แต่ความทนทานจะน้อยกว่ารั้วอิฐหรือรั้วคอนกรีต 

รั้วคอนกรีต  เป็นรั้วที่แข็งแรง ทนทาน มิดชิด ให้ความเป็นสัดส่วน จึงถูกนำมาใช้กับสถานที่สำคัญๆ รั้วประเภทนี้ราคาแพงเกินความจำเป็น การนิยมใช้ค่อนข้างน้อย 

3.3 รั้วประกอบ 

เป็นรั้วที่นำเอาวัสดุต่างๆ มาสร้างประกอบกัน เช่น ใช้อิฐมอญกับเหล็ก อิฐบล็อกกับไม้หรือไม้กับเหล็ก เป็นต้น ทั้งนี้การนำวัสดุต่างๆ มาประกอบกันเข้า จะต้องพิจารณาความเหมาะสมจึงจะได้รั้วที่สวยงาม ซึ่งรั้วประเภทนี้จะนิยมนำมาใช้กันมาก 

3.4 รั้วธรรมชาติ 

เป็นรั้วที่ได้จากการปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ แล้วตัดแต่งให้เป็นแนวรั้ว แสดงบริเวณบ้านในชนบท รั้วประเภทนี้จะมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกั้นขอบเขตแสดงสิทธิในพื้นที่ แต่ไม่ให้ความปลอดภัยแก่เจ้าของ พรรณไม้ที่นำมาปลูกทำรั้ว ได้แก่ กระถิน  แก้ว ข่อย ขาไก่ เข็ม ชาช่อย ไทร ผกากรอง ไผ่ พู่ระหงษ์ เฟื่องฟ้า มะขาม มะขามเทศ สนประดิพัทธ์ แสยก เป็นต้น 

3.5 แบบและขนาดของรั้ว 

รั้วที่ใช้กันอยู่อาจจะทำเป็นแบบรั้วทึบ รั้วกึ่งทึบกึ่งโปร่ง หรือรั้วโปร่ง ซึ่งวัสดุที่ใช้และจุดประสงค์ของรั้วก็จะแต่กต่างกัน รั้วทึบจะให้ความปลอดภัยให้ความเป็นอิสระ ป้องกันเสียง และลมได้ ส่วนรั้วกึ่งทึบกึ่งโปร่งจะเป็นรั้วทึบในส่วนล่างและโปร่งส่วนบน ให้ความปลอดภัยแต่ไม่เป็นอิสระ ลมพัดผ่านได้สะดวก ส่วนรั้วโปร่งจะไม่ให้ความเป็นอิสระ แต่ลมพัดผ่านได้สะดวก รั้วกึ่งทึบกึ่งโปร่งและรั้วโปร่งจะโชว์    สนาม สวน และตัวอาคาร 

ขนาดของรั้ว ส่วนใหญ่จะทำรั้วสูงกว่าระดับสายตา คือประมาณ 2.00 เมตร ถ้าสูงกว่านี้ก็จะใช้ป้องกันขโมยโดยเฉพาะ ซึ่งก็มักจะทำเป็นรั้วทึบ ความยาวของรั้วขึ้นอยู่กับขอบเขตที่ดิน ซึ่งจะแบ่งเป็นช่วงๆ ตัวแบ่งช่วงก็คือเสารั้วนั่นเอง ช่วงแบ่งที่ใช้กันทั่วๆ ไปประมาณ 3.00 เมตร หากช่วงยาวมากรั้วอาจจะพังได้ง่าย หากช่วงสั้นก็จะเปลืองเสา ส่วนรั้วที่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อใช้แบ่งเขต หรือเพื่อให้เกิดความสวยงามโดยไม่ต้องป้องกันอันตราย ก็อาจใช้ความสูงของรั้ว ประมาณ 0.50-0.60 เมตร ทำเป็นรั้วโปร่ง ใช้เหล็กเส้นดัดเป็นรูปต่างๆ หรือใช้ไม้ไผ่ไม้จริงตีเว้นช่องตามลวดลายที่ต้องการ 

การเลือกชนิดของรั้วขึ้นอยู่กับรสนิยม ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและตัวอาคารตลอดจนความเหมาะสมกับความต้องการใช้งานและกำลังเงินที่มีอยู่ 

3.6 ประตู (gates) 

ประตู คือ ส่วนที่ทำหน้าที่กั้นทางเข้าออก เป็นปากทางเข้าสวนหรือบ้าน เป็นจุดหลักเพื่อให้เกิดรั้ว ใช้สำหรับติดชื่อสวนและอื่นๆ การออกแบบประตูสวนจะต้องให้สัมพันธ์กับรั้วทั้งขนาด รูปแบบ และวัสดุที่ใช้ โดยทั่วไปขนาดของรั้วจะกว้างประมาณ 2.50-4.00 เมตร เพื่อสะดวกในการเข้าออกของยานพาหนะ หากต้องการความคล่องตัวก็อาจจะทำประตูเล็กไว้ต่างหากให้คนเข้าออกอีกทางหนึ่ง ประตูที่มีความกว้างมากควรออกแบบให้เป็นบานเปิด 2 บาน ซึ่งอาจจะมีขนาดเท่ากัน หรือไม่เท่ากันก็ได้ เช่น ประตูกว้าง 3 เมตร ก็จะทำเป็นบานเล็กกว้าง 1 เมตรกับอีกบานกว้าง 2 เมตร ในบริเวณที่มีพื้นที่ไม่มากก็อาจจะทำเป็นบานเลื่อนได้ สำหรับวัสดุที่ใช้ทำประตู ได้แก่ ไม้ เหล็ก ลวดตาข่าย อลูมิเนียมผสม หรืออัลลอยสลัก เป็นต้น การทำประตูในลักษณะโปร่งมากเกินไปจะทำให้ล้วงมือเข้าไปเปิดกลอนได้ง่าย ทำให้ต้องใช้กุญแจคล้องอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการไม่สะดวก ประตูสวนที่ใช้กันอยู่มีหลายลักษณะ เช่น 

1. ประตูสวนที่มีหลังคา เป็นประตูด้านหน้าหรือปากทางเข้าออก ในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่มากอาจจะมีป้อมยามเพื่อรักษาความปลอดภัย หรือบริเวณสวนสาธารณะก็จะมีที่จำหน่ายบัตรเข้าชมสวน ประตูลักษณะนี้จะค่อนข้างแข็งแรง วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาจจะเป็นหินกาบ ศิลาแลง หินกลมกรุ หินทราย ไม้ ปีกไม้ หรือไม้ไผ่ ส่วนหลังคาอาจมุงด้วยกระเบื้อง ปีกไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ ตามความต้องการและความเป็นธรรมชาติ 

2. ประตูแบ่งเขตทั่วๆ ไป เป็นประตูบ้านที่ไม่มีหลังคาใช้เป็นทางเข้าออกสวนหรือบ้าน วัสดุที่ใช้อาจเป็นลวดตาข่าย เหล็กดัด หรืออัลลอยสลัก โดยให้สัมพันธ์กับรั้วและอาคารสถานที่ 

3. ประตูด้านใน เป็นประตูเตี้ยๆ กั้นระหว่างสวน จากส่วนหนึ่งไปสู่ส่วนหนึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตบริเวณ ซึ่งทำแบบง่ายๆ ไม่สูงนัก วัสดุที่ใช้ส่วนมากจะใช้ไม้ ไม้ไผ่ หรือเหล็กดัดลวดลายสวยงาม 

เนื่องจากประตูเป็นจุดแรกของการติดต่อสร้างสัมพันธ์กับคนภายนอกกับสังคมเป็นจุดสร้างความสนใจ บ่งบอกฐานะและรสนิยม   ดังนั้นการเลือกใช้ประตูของสวนหรือบ้าน จะต้องพิจารณาให้รอบคอบทั้งความเหมาะสมสวยงามและการใช้ประโยชน์ 

3.7 กำแพง (walls) 

กำแพงที่เป็นองค์ประกอบของสวน อาจจะเป็นรั้วเพื่อแสดงขอบเขตของพื้นที่ ป้องกันลมและเสียงจากภายนอก นอกจากนี้ในพื้นที่ลาดเอียง การสร้างกำแพงจะช่วยป้องกันการพังทลาย  ของดิน ทำให้เกิดระดับในสวน หรือใช้จัดสวนกำแพงในบางบริเวณ สำหรับวัสดุที่ใช้ทำกำแพงอาจใช้อิฐบล็อก หินกาบ หรือหินต่างๆ กำแพงกั้นดินที่ใช้หินกาบต่อเป็นชั้นๆ จะเป็นมุมที่ทำน้ำตกได้สวยงาม  ส่วนกำแพงที่กั้นดินในพื้นที่ลาดเทน้อยๆ อาจใช้แผ่นไม้ ท่อนซุง กั้นดิน แล้วดัดแปลงเป็นแปลงไม้ดอกหรือทำม้านั่งในสวนได้ 

3.8 ทางเดินในสวน (garden paths) 

ทางเดินในสวนจะเป็นทางเดินภายในจากประตูสวน  หรือประตูบ้าน  ถึงตัวอาคารและจากตัวอาคารไปสู่ส่วนต่างๆ ของสวน ทางเดินในสวนมี 2 ลักษณะคือ 

1.  ทางเดินแบบแยก (stepping) 

2.  ทางเดินแบบปูต่อเนื่อง (pave walk) 

ทางเดินแบบแยก เป็นทางเดินเท้าภายในสวน วัสดุที่นำมาใช้วางเป็นทางเดินจะต้องมีลักษณะเรียบ ไม่ทำอันตรายเท้า มองดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะใช้หินที่มีลักษณะแบน ศิลาแลงรูปกลมหรือสี่เหลี่ยม แผ่นซีเมนต์ที่ทำเป็นรูปต่างๆ หรือแว่นไม้กลม การจัดวางทางเดินแบบแยกนี้จะต้องพิจารณาช่วงห่างระหว่างจุดที่วางให้เหมาะสมในการก้าว โดยทั่วไปจะห่างประมาณ 8-12 นิ้ว 

การจัดวางทางเดินแบบแยกทำได้หลายลักษณะ อาจจะวางแถวเดียวหรือ 2 แถว   หรืออาจใช้หินก้อนใหญ่สลับกับหินก้อนเล็ก โดยพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์และมองดูสวยงาม ทั้งนี้ต้องให้ผู้ใช้ก้าวเท้าได้สะดวก และวางให้แน่น ไม่ให้โยกเป็นอันตรายได้ 

ทางเดินแบบปูต่อเนื่อง เป็นทางเดินเท้าระหว่างประตู เข้าสู่ตัวอาคาร มักสร้างขนานกับทางรถยนต์ ซึ่งทางเดินเท้านี้อาจจะทำในลักษณะตรงหรือโค้งก็ได้ ความกว้างของทางเดินแบบปูต่อเนื่องนี้จะกว้างประมาณ 1.20-1.50 เมตร วัสดุที่ใช้ทำทางเดินเท้าอาจใช้อิฐปูเป็นลวดลายต่างๆ ใช้หินกลม หินกาบ ศิลาแลง หรือกระเบื้องปูพื้นที่ทำจากซีเมนต์ เป็นต้น การทำทางเดินอาจเป็นการฝังต่อเนื่องหลวมๆ หรือฝังให้ติดแน่น โดยใช้ซีเมนต์หรือสารเชื่อมให้เกิดความแข็งแรง ซึ่งทางเดินเท้าแบบปูต่อเนื่องจะมีหลายลักษณะสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ 

3.9 ลานจอดรถ (parking area) 

ปัจจุบันยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ นับเป็นปัจจัยที่เข้ามา   มีบทบาทในชีวิตมนุษย์ เพราะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทางสัญจรไปมา ลานจอดรถจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของบ้าน การออกแบบลานจอดรถจะต้องสัมพันธ์กับการออกแบบบ้านและการจัดสวน 

ส่วนประกอบของลานจอดรถ ประกอบด้วย ที่จอดรถ ที่กลับรถ และโรงเก็บรถ ซึ่งปัจจุบันบริเวณบ้านจะมีพื้นที่ไม่มากนัก ที่จอดรถและโรงเก็บรถก็จะอยู่บริเวณหน้าบ้าน โดยกลับรถบนถนนใหญ่ หากมีพื้นที่มากพอควรทำที่กลับรถให้ด้วย โดยเฉพาะถ้าพื้นที่นั้นเป็นสวนสาธารณะ ลานจอดรถจะต้องมีพื้นที่กว้างขวางพอกับผู้มาใช้บริการ ขนาดพื้นที่จอดรถ 1 คัน โดยประมาณ 3.00x5.40 ตารางเมตร วัสดุที่ใช้ทำพื้น ลานจอดรถอาจเป็นคอนกรีต อิฐ หรือกระเบื้องปูพื้นลวดลายต่างๆ ทั้งนี้ต้องพิจารณาความแข็งแรง และจำนวนรถที่ใช้ในบริเวณนั้นๆ ลานจอดรถในบริเวณที่ใช้งานมาก การจอดจะต้องคำนึงถึงความสะดวก   ซึ่งการจอดรถยนต์อาจจอดในลักษณะทำมุมทะแยงกับขอบกั้น หรือขอบกันชน หรือจอดตั้งฉากกับขอบกันชน หรือจอดขนานกับขอบกันชนก็ได้ 

โดยทั่วไปลานจอดรถในบริเวณสวนสาธารณะจะสร้างในบริเวณที่มีไม้ให้ร่มเงา      แต่ทั้งนี้ พรรณไม้ใหญ่เหล่านั้นจะต้องมีลักษณะกิ่งก้านเหนียว ไม่หักง่าย ระบบรากลึก ใบหนา และไม่ทิ้งใบ 

3.10 ลานพักผ่อน 

ลานพักผ่อน จะเป็นพื้นที่หรือระเบียงที่ติดกับตัวอาคารบ้านเรือน  เป็นพื้นที่เปิดไม่มีหลังคา แต่อาจจะสร้างเรือนต้นไม้ หรือตีระแนงเพื่อเป็นร่มเงาให้กับพื้นที่ลานได้ ลานพักผ่อนนี้จะเป็นพื้นที่     ที่ใช้พักผ่อนส่วนตัวหรือใช้รับรองเพื่อนสนิท 

ลานพักผ่อนจะมีหลายลักษณะ อาจจะเป็นพื้นที่เฉลียงไม้ต่อจากห้องนอน (deck) หรือระเบียงที่ว่างนอกบ้าน (patio) รวมไปถึงลานพักผ่อนที่สร้างขึ้นใหม่ในจุดต่างๆ ซึ่งเหมาะสมในการใช้ประโยชน์  ลานพักผ่อนจะเป็นพื้นที่เปิด  พื้นของลานพักอาจจะทำจากไม้ยกพื้นสูงขึ้นมาจากระดับพื้นดิน หรือใช้วัสดุจากอิฐ หิน ปูนซีเมนต์ เป็นพื้นก็ได้ บริเวณลานพักผ่อนมักจะได้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ มีการปลูกไม้พุ่มแทนผนังเพื่อให้บริเวณมีความเป็นสัดส่วน 

บริเวณลานพักผ่อนจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการพักผ่อน เช่น มีโต๊ะ เก้าอี้    ม้านั่ง/นอนเล่น และหากพื้นที่นี้ใช้รับรองเพื่อนฝูงก็จะมีอุปกรณ์ในการสันทนาการ เช่น เตาย่างบาบีคิว หรือสิ่งอื่นๆ วางไว้มุมใดมุมหนึ่งของพื้นที่ 

3.11 ม้านั่งและเก้าอี้ในสวน 

ม้านั่งและเก้าอี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดสวน ในบริเวณพื้นที่ลานพักผ่อนมักจะสร้างม้านั่ง (bench) แบบติดตั้งถาวรไว้ด้วย ซึ่งอาจจะทำเป็นรูปตัวแอล ตัวยู หรือจะทำม้านั่งล้อมรอบต้นไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม วัสดุที่ใช้ทำม้านั่งในสวน อาจจะเป็นไม้จริง ไม้ไผ่ หรือหล่อปูนซิเมนต์ก็ได้ นอกจากม้านั่งในสวนแล้ว มีเก้าอี้มากมายหลายชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ในสวน ซึ่งอาจจะเป็นเก้าอี้แบบลอยตัวที่สามารถเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงที่วางได้ หรือจะเป็นแบบติดตั้งถาวรไว้ที่ใดที่หนึ่ง เก้าอี้ที่นำมาใช้อาจจะทำจากไม้ จากเหล็กหล่อหรือหล่อคอนกรีตเป็นรูปต่างๆ หรือใช้วัสดุอื่นๆ ก็ได้ รูปแบบของเก้าอี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น ใช้นั่งเล่น นอนอ่านหนังสือ ใช้รับประทานอาหาร ฯลฯ  

การทำม้านั่งหรือเก้าอี้ในสวน นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว จะต้องพิจารณารูปแบบ สีสัน รวมทั้งวัสดุที่ใช้ เพื่อให้มองดูกลมกลืนกับสวนนั้น นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรง ทนทาน ความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ เก้าอี้ในสวนบางชนิดจะมีเบาะรองนั่งซึ่งจะต้องเก็บได้เมื่อมีฝนตก การจัดวางม้านั่งและเก้าอี้ในสวน จะต้องพิจารณาตำแหน่งให้เหมาะสม เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการที่จะใช้ประโยชน์ เพื่อการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์ 

3.12 บันได้สวน 

บันได้สวนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสวนเป็นทางเชื่อมระหว่างจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างระดับ หรือจากลานพักสู่บริเวณสวน รูปแบบของบันได้สวน อาจจะทำแบบเป็นระเบียบ หรือไม่เป็นระเบียบก็ได้ วัสดุที่ใช้ทำบันได้อาจจะใช้ไม้จริง ปีกไม้ แว่นไม้กลม อิฐ หิน ทั้งนี้จะต้องพิจารณาให้เดินได้สะดวก ปลอดภัย และมีความกว้างพอสมควร เพื่อให้เดินสวนทางกันได้ 

3.13 ศาลาที่พักในสวน 

สวนบ้านที่มีบริเวณกว้างขวาง หรือสวนสาธารณะ นอกจากจะมีเก้าอี้ ม้านั่ง เพื่อใช้ในการพักผ่อนแล้ว ศาลาที่พัก ก็เป็นองค์ประกอบสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การใช้ประโยชน์จากสวนมีมากขึ้น เพราะจะทำให้สามารถใช้หลบแดด หลบฝน หรือใช้รับรองแขกจัดงานนอกบ้านได้อีกด้วย 

ศาลาที่พักในสวนจะมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นศาลาที่มีหลังคา ไม่มีฝากั้นหรือ  เรือนนั่งเล่นเล็กๆ คล้ายกระท่อม แต่ศาลาที่มีรูปแบบคลาสสิค เป็นที่นิยมในอดีตจะเป็นรูปแบบกาเซโบ (gazebos) ซึ่งยังคงนำมาใช้จนยุคปัจจุบัน กาเซโบเป็นศาลาที่มีลวดลายละเอียดเป็นงานที่พิถีพิถัน เป็นงานสถาปัตยกรรมชั้นหนึ่งที่มีคุณค่า และเป็นที่พักผ่อนที่สวยงามในสวน ทั้งนี้จะต้องเลือกแบบของกาเซโบให้เหมาะกับสวนนั้นๆ ด้วย 

3.14 แสงในสวน 

ในการจัดสวน การให้แสงสว่างในเวลาค่ำคืนจะทำให้บริเวณสวนสวยงามและ       ให้ประโยชน์ในเรื่องความปลอดภัยได้ด้วย บริเวณที่จะให้แสงสว่างคือ ทางเดิน บันได้สวน ลานพัก และบริเวณ  จุดที่ต้องการแสดงให้เห็นจุดเด่น 

แสงที่ใช้ในสวนมี 3 ลักษณะ คือ 

1. แสงที่ให้ความสว่างแก่บริเวณต่างๆ เป็นหลัก ใช้ในส่วนที่ให้ความปลอดภัย เช่น ประตูบ้าน ทางเข้าบ้าน ลานจอดรถ บริเวณสระว่ายน้ำ หรือบริเวณสันทนาการ 

2. แสงที่ให้ความสวยงาม  เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่สวน จะเป็นแสงที่ติดบริเวณ   พุ่มไม้ หรือแสงที่ส่องไปเสริมปฏิมากรรมต่างๆ 

3. แสงที่ให้ทั้งความสว่างและความงาม เป็นแสงที่ใช้บริเวณลานพักผ่อน ทางเดินเท้า ติดตามต้นไม้ใหญ่ให้ส่องลงมาบริเวณลานพักเป็นแสงที่ไม่สว่างจ้าเกินไป ในการติดตั้งไฟฟ้าบริเวณสวนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วย 

3.15 น้ำ 

น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดสวน เพราะน้ำจะช่วยให้สวนมีชีวิตชีวา การใช้น้ำเป็นส่วนประกอบของสวนทำได้หลายรูปแบบ เช่น บ่อน้ำ น้ำพุ น้ำตก สิ่งสำคัญก็คือไม่ว่าจะเป็น    บ่อน้ำ น้ำพุ หรือน้ำตก จะต้องกลมกลืน ไปกับสภาพของสวนนั้นๆ สวนแบบประดิษฐ์รูปทรงของบ่อน้ำ น้ำพุ น้ำตก ก็จะแต่กต่างจากสวนแบบธรรมชาติ ซึ่งจะต้องจัดวางรูปแบบและเลือกวัสดุมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ทั้งนี้รูปแบบของสวนจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบในส่วนที่เป็นน้ำ เพื่อให้เกิดความกลมกลืน รวมถึงความลึกของบ่อน้ำ ก็จะต้องกำหนดให้เหมาะสม หากจะใช้ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ เช่น      ปลาต่างๆ การจัดทำบ่อน้ำ น้ำตก น้ำพุ นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงาม ความกลมกลืนกับสวนแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องพิจารณา คือ การไหลเวียนของน้ำ อุปกรณ์ทางไฟฟ้า เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องกรองน้ำ จะต้องถูกจัดวางให้ถูกต้อง คำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย 

3.16 หินและการจัดหิน 

หินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดสวนแบบธรรมชาติ หินที่นำมาใช้จัดสวนมีหลายชนิด มีรูปร่างลักษณะหลายแบบแต่กต่างกัน ลักษณะพื้นผิวมีตั้งแต่เรียบจนถึงหยาบ สีสันตั้งแต่ขาวจนถึงดำ ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้จะเป็นหินธรรมชาติ เช่น หินทะเล หินตามภูเขาหรือลำธาร แต่ปัจจุบันใช้หินที่ระเบิดจากภูเขา ซึ่งจะเลือกจากรูปลักษณะที่สวยงามแปลกตา 

การจัดหินหรือการเรียงหิน พยายามเลียนแบบตามธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นๆ ด้วย การจัดวางจะต้องตั้งหินให้มั่นคง หันหน้าหินให้ถูกต้อง อาจจะจัดวางเป็นก้อนเดียว หรือเป็นกลุ่มก้อนก็ได้ ทั้งนี้จะต้องดูจากลักษณะของหินที่จะมาจัดรวมกัน โดยทั่วไปหินที่นำมาใช้จะมีลักษณะพื้นฐานอยู่ 5 รูปทรง คือ 

1. หินหลัก (master rocks) เป็นหินที่มีลักษณะสูง ตั้งตรง ให้ความรู้สึกสง่าผ่าเผย  มีอำนาจ 

2. หินทรงสูงคล้ายเสา (pillar rocks) เป็นหินทรงสูงใช้ประกอบในการจัดน้ำตก 

3. หินประกอบที่มีลักษณะแปลกๆ เช่น มีแง่ มีติ่งชะโงกยื่นออกไปข้างหน้า (branch rocks) ใช้เป็นหินประกอบ แต่ถ้ามีลักษณะแปลกมากๆ ก็อาจนำมาทำเป็นหินหลักเพื่อเป็นจุดเด่นของสวน 

4.  หินลักษณะค่อนข้างแบนราบ (semiflat rocks)  ทรงนอน นิยมใช้จัดข้างหน้าหินหลัก หรือนำไปประกอบกับตะเกียงหิน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ก็จะใช้เป็นจุดเด่นของสวนได้ 

5.  หินทรงราบ (flat rocks) ใช้จัดเป็นหินประกอบวางด้านหน้าของหินรูปทรงอื่น ๆ  

การจัดวางหินให้เป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะหินหลักจะต้องรู้เกี่ยวกับทางหิน (direction of rock vigor) ซึ่งหินแต่ละก้อนจะแบ่งส่วนต่างๆ ออกเป็น 4 ส่วน และหินแต่ละก้อนจะมีทางหินของตัวเอง  ดังนั้นการจัดกลุ่มหิน (rock arrangement) จะต้องทำให้การรวมกลุ่มนั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมกลมกลืน โดยการฝังตรึงหินให้แน่นให้ดูเป็นธรรมชาติ 

3.17 การจัดหิน แบ่งออกเป็น

1. การจัดหินก้อนเดียวโดดๆ หินที่ใช้จัดก้อนเดียว ควรเป็นหินหลักหรือหินที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม เมื่อจัดลงไปในพื้นที่จะมองดูคล้ายภูเขา หินที่จัดวางเพียงก้อนเดียวจะต้องเป็นหินขนาดใหญ่ มีความงดงาม มองดูได้หลายทิศทาง ในปัจจุบันนิยมการจัดวางลักษณะนี้มากขึ้น 

2. การจัดหิน 2 ก้อน ใช้หิน 2 ก้อนที่มีลักษณะต่างกันจาก 5 แบบ นำมาจัดให้เป็นกลุ่มเดียวกัน  

3. การจัดหิน 3 ก้อน,  5 ก้อน,  7 ก้อน,  9 ก้อน หรือจัดรวมให้เป็นกลุ่มเดียวกันในพื้นที่กว้างๆ ซึ่งจะจัดกลุ่มหินรวมขนาดใหญ่เป็นลูกโซ่ทำให้มองดูเหมือนเกิดความเคลื่อนไหวของหิน 

3.18 รูปปั้นและวัสดุตกแต่งอื่นๆ 

ในการจัดสวนนอกจากพรรณไม้ น้ำตก น้ำพุ ม้านั่งแล้ว มีวัสดุบางสิ่งบางอย่างที่สามารถนำมาใช้ในการตกแต่งสวนได้ เช่น รูปปั้น รูปแกะสลัก ประติมากรรมสมัยใหม่  ซึ่งวัสดุต่างๆ เหล่านี้จะมีราคาค่อนข้างสูง จำเป็นจะต้องมีงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ รูปปั้นหรือรูปแกะสลักที่นำมาใช้ อาจจะเป็นรูปตุ๊กตาจีนโบราณที่แกะสลักจากหินแกรนิต หรือรูปสัตว์ต่างๆ รูปมนุษย์ หรือเทวรูปจำลองแบบเขมร ข้อสำคัญคือขนาด สัดส่วน รูปทรง สีสัน จะต้องกลมกลืนกันได้กับรูปแบบของสวนและพรรณไม้ต่างๆ ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งจะต้องเหมาะสม ซึ่งบางครั้งวัสดุที่นำมาจัดวาง เมื่อนำมาจัดใหม่ๆ อาจจะดูไม่สวยงามโดดเด่น แต่เมื่อวางไว้นานเข้าถูกแดดถูกน้ำที่ใช้รดต้นไม้บ่ายๆ เกิดตะไคร่และเก่าก็จะมองดูสวยงาม มีความหมายขึ้น 

นอกจากรูปปั้นและรูปแกะสลักที่นำมาตกแต่งสวนแล้ว ยังมีวัสดุอื่นๆ อีก เช่น เกวียนไม้ ไม้แกะสลักรูปสัตว์ต่างๆ โอ่งโบราณรูปแบบต่างๆ อ่างบัว ฯลฯ วัสดุต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาจัดวางตามมุมตามตำแหน่งต่างๆ ที่เหมาะสมก็จะช่วยให้การจัดสวนโดยภาพรวมดูสมบูรณ์ขึ้น การจัดวางวัสดุต่างๆ เหล่านี้จะต้องคำนึงถึงรูปแบบ สัดส่วน ขนาด สีสัน ตลอดจนตำแหน่งที่วาง เพื่อให้มองดูกลมกลืนเป็นธรรมชาติ 

4. เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย (Personal Protective Devices (PPP) หรือPersonal Protective Equipment (PPE)) 

หมายถึง อุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงานในการสวมใส่ขณะทำงานเพื่อป้องกันอันตรายเพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ หรือช่วยลดอาการบาดเจ็บจากหนักให้เป็นเบา เช่น ถ้าใช้เครื่องมืออุปกรณ์ความปลอดภัยก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในการทำงานมากกว่าเดิมการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีในการป้องกันอันตรายจากการทำงานโดยทั่วไปจะมีการป้องกันและควบคุมที่สภาพและสิ่งแวดล้อมของการทำงานก่อนโดยการแก้ไขปรับปรุงทางวิศวกรรมการกั้นแยกไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นหรือการใช้เซฟการ์ดแบบต่างๆหรือการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเปลี่ยนกรรมวิธีการทำงาน   ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็จะนำกลวิธีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายมาใช้ประกอบด้วยเพื่อช่วยป้องกันอวัยวะของร่างกายในส่วนที่ต้องสัมผัสงานมิให้ประสบอันตรายจากภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะทำงาน คือ หมวกป้องกันศีรษะ กระบังหน้า อุปกรณ์ป้องกันหู แว่นนิรภัย หน้ากากกันฝุ่นละออง ถุงมือนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ชุดป้องกัน และรองเท้านิรภัย (เอเฟท, 2547)

5. มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล พ.ศ. 2554

ข้อ 3 มาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization: ISO) มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards: EN) มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards: AS/NZS) มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute : ANSI)มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards: JIS) มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health: NIOSH) มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติกรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration: OSHA)และมาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association: NFPA)

6. พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

หมวด 2 การบริหาร การจัดการ และการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย

ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยให้นายจ้างจัดให้มี        

การฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงานการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา 19 ในกรณีที่นายจ้างเช่าอาคาร สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่นำมาใช้ในสถานประกอบกิจการ ให้นายจ้างมีอำนาจดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์หรือสิ่งอื่นใดที่เช่านั้นตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

18.1 ประเมินความรู้ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

18.2 แฟ้มสะสมผลงาน

18.3 การสอบสัมภาษณ์



ยินดีต้อนรับ