หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

วางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-XFCF-091A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ วางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2564

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

อาชีพนักออกแบบพื้นที่สีเขียว ระดับ 3

ISCO-08 รหัสอาชีพ 6113 ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกพืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับและพืชในเรือนเพาะชำ



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
เป็นบุคคลที่มีทักษะระดับฝีมือเฉพาะทางและเทคนิคในการปฏิบัติงาน มีกระบวนการคิดและปฏิบัติที่หลากหลายโดยมีหน้าที่รับข้อมูลความต้องการของลูกค้าสามารถกำหนดรูปแบบภูมิทัศน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่กำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป จัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์และจัดทำวิธีการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานในแต่ละขั้นตอนของงาน รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคควบคู่กับการใช้คู่มือ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายใต้การแนะแนวของผู้บังคับบัญชา

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
02121 รับข้อมูลความต้องการของลูกค้า 1.1 อธิบายประเภทของพื้นที่สีเขียวได้ 155363
02121 รับข้อมูลความต้องการของลูกค้า 1.2 อธิบายขั้นตอนทฤษฎีของการบ่งชี้ความต้องการของลูกค้าได้ 155364
02121 รับข้อมูลความต้องการของลูกค้า 1.3 สรุปความต้องการเพื่อกำหนดรูปแบบได้ 155365
02121 รับข้อมูลความต้องการของลูกค้า 1.4 อธิบายการกำหนดรูปแบบตามความต้องการของลูกค้าได้ 155366
02122 กำหนดรูปแบบภูมิทัศน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ 2.1 อธิบายประเภทของพื้นที่สีเขียวที่จะจัดทำการออกแบบได้ 155367
02122 กำหนดรูปแบบภูมิทัศน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ 2.2 อธิบายเกี่ยวกับข้อมูลพื้นที่ในลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพได้ 155368
02122 กำหนดรูปแบบภูมิทัศน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ 2.3 อธิบายข้อจำกัดและผลกระทบจากพื้นที่ที่ต้องการกำหนดรูปแบบภูมิทัศน์พื้นที่สีเขียว และใกล้เคียงได้ 155369
02123 กำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป 3.1 อธิบายเกี่ยวกับข้อมูลพื้นที่ในลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะดิน หิน และแหล่งน้ำได้ 155370
02123 กำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป 3.2 อธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคปได้ 155371
02123 กำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป 3.3 อธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบที่เป็นฮาร์ดสเคปได้ 155372
02123 กำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป 3.4 กำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคปได้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ได้ 155373
02124 จัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ 4.1 อธิบายเรื่องวงจรการบริหารงานคุณภาพได้ 155374
02124 จัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ 4.2 อธิบายเรื่องการจัดทำวิธีการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานในแต่ละขั้นตอนของงานได้ 155375
02124 จัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ 4.3 อธิบายเรื่องการจัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ได้ 155376
02124 จัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ 4.4 จัดทำรายงานการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ได้ 155377

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
N/A

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1.ความสามารถในการให้คำปรึกษา และคำแนะนำแก่ลูกค้าเพื่อกำหนดรูปแบบตามความต้องการ

2. ความสามารถในกำหนดรูปแบบภูมิทัศน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่    

3. ความสามารถในกำหนดองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป

4. ความสามารถในการแก้ปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์  และเทคโนโลยี

 

(ข) ความต้องการด้านความรู้


1. ความรู้เรื่องพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ. 2518

มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพพื้นที่สีเชียวโดยตรงเพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวตราขึ้นเพื่อให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมและการใช้บังคับกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

มาตรา 26/1 การแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เสนอคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา เมื่อคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในเขตผังเมืองรวมได้รับทราบ และจัดให้มีการปิดประกาศ

แผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวมที่แก้ไขและรายละเอียดของการแก้ไขไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณสถาน ภายในเขตของผังเมืองรวมนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และในประกาศนั้นให้มีคำเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาที่มีการปิดประกาศ

2. ความรู้เรื่องพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2)    พ.ศ. 2558

มาตรา 21 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ      การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 22 ผู้ใดขอแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป และไม่อาจแสดงให้เป็นที่เชื่อได้ว่ามิใช่เป็นการแบ่งแยกที่ดินเพื่อการจัดสรรที่ดิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ขอดำเนินการยื่นคำขอทำการจัดสรรที่ดินและรอการดำเนินการเรื่องการแบ่งแยกที่ดินไว้ก่อน หากผู้ขอไม่เห็นด้วยให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนดสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับอุทธรณ์ ถ้าคณะกรรมการมิได้มีคำวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องการแบ่งแยกที่ดินนั้นต่อไป

เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา 23 ผู้ใดประสงค์จะทำการจัดสรรที่ดินให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงาน ที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ พร้อมหลักฐาน และรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีชื่อผู้ขอใบอนุญาตทำการ จัดสรรที่ดินเป็นผู้มีสิทธิในที่ดิน โดยที่ดินนั้นต้องปลอดจากบุริมสิทธิใด ๆ เว้นแต่บุริมสิทธิใน มูลซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

(2) ในกรณีที่ที่ดินที่ขอทำการจัดสรรที่ดินมีบุริมสิทธิในมูลซื้อขายอสังหา ริมทรัพย์ หรือภาระการจำนอง ให้แสดงบันทึกความยินยอมให้ทำการจัดสรรที่ดินของผู้ทรง บุริมสิทธิหรือผู้รับจำนองและจำนวนเงินที่ผู้ทรงบุริมสิทธิหรือผู้รับจำนองจะได้รับชำระหนี้ จากที่ดินแปลงย่อยแต่ละแปลง และต้องระบุด้วยว่าที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อ บริการสาธารณะไม่ต้องรับภาระหนี้บุริมสิทธิหรือจำนองดังกล่าว

(3) แผนผังแสดงจำนวนที่ดินแปลงย่อยที่จะขอจัดสรรและเนื้อที่โดยประมาณของแต่ละแปลง

(4) โครงการปรับปรุงที่ดินที่ขอจัดสรร การจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการ สาธารณะ รวมทั้งการปรับปรุงอื่นตามควรแก่สภาพของท้องถิ่น โดยแสดงแผนผัง รายละเอียด และ รายการก่อสร้างประมาณการค่าก่อสร้าง และกำหนดเวลาที่จะจัดทำให้แล้วเสร็จ ในกรณีที่ได้มีการ ปรับปรุงที่ดินที่ขอจัดสรรหรือได้จัดทำสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะแล้วเสร็จทั้งหมดหรือ บางส่วนก่อนขอทำการจัดสรรที่ดิน ให้แสดงแผนผังรายละเอียดและรายการก่อสร้างที่ได้จัดทำ แล้วเสร็จนั้นด้วย

(5) แผนงาน โครงการ และระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค

(6) วิธีการจำหน่ายที่ดินจัดสรรและการชำระราคาหรือค่าตอบแทน

(7) ภาระผู้กพันต่าง ๆ ที่บุคคลอื่นมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับที่ดินที่ขอจัดสรรนั้น

(8) แบบสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร

(9) ที่ตั้งสำนักงานของผู้ขอใบอนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน

(10) ชื่อธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด ซึ่งจะเป็นผู้ค้ำประกันการจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะหรือการปรับปรุงที่ดิน และค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ

3. ความรู้เรื่องพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558

มาตรา 39 ทวิ ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ได้ โดยการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่คณะกรรมการควบคุมอาคารกำหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว…………

(9) หนังสือแสดงการให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในกรณีที่เป็นอาคารในโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แล้วแต่กรณี

มาตรา 46 ในกรณีที่อาคารซึ่งก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายโดยได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่ง ให้ดำเนินการแก้ไขตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่ง ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง และถ้าอาคารนั้นอาจเป็นภยันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่ง ให้รื้อถอนอาคารนั้นได้โดยให้นำมาตรา 42 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 77 ท้องที่ใดมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้……………

(3) มีคำสั่ง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินงานเพื่อขจัดหรือระงับเหตุที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ภายในกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง

4. ความรู้เรื่องประเภทของพื้นที่สีเขียวตามคำจำกัดความของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพย์ากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(2548ก)แบ่งประเภทพื้นที่สีเขียวออกเป็น 6 ประเภทได้แก่

4.1 พื้นที่สีเขียวเพื่อนันทนาการและความงามทางภูมิทัศน์ ได้แก่ พื้นที่สีเขียวนันทนาการ พื้นที่สีเขียวภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล

4.2 พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์ ได้แก่พื้นที่สีเขียวเพื่อการผลิต พื้นที่สีเขียวบริเวณสาธารณูปการ พื้นที่สถาบัน และโบราณสถานเป็นต้น

4.3 พื้นที่สีเขียวเพื่อการอนุรักษ์ ได้แก่พื้นที่ชุ่มน้ำและ พื้นที่ป่า

4.4 พื้นที่สีเขียวที่เป็นริ้วยาว ได้แก่ฝั่งแม่น้ำและลำคลอง ริ้วแนวทางเดิน และเขตทางเท้า-ริมเกาะกลางถนนในเมือง เป็นต้น

4.5 พื้นที่สีเขียวอื่นๆ ได้แก่ ที่ดินว่างเปล่า (ไม่มีการพัฒนา) พื้นที่ย่านการค้ารกร้างและพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมรกร้าง เป็นต้น

4.6 พื้นที่สีเขียวพิเศษ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต และแหล่งเรียนรู้พืชพรรณธรรมชาติ         5. ความรู้เรื่องวงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) คือ กิจกรรมพื้นฐานในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงาน (อาชีวะระงับโรค, 2547) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ

5.1 P: Plan การวางแผน หมายถึง ทักษะในการกำหนดเป้าหมาย การวิเคราะห์และสังเคราะห์หาวิธีการและกระบวนการให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ โดยจะต้องมีการกำหนดตัวบ่งชี้กำกับไว้เพื่อจะได้นำไปใช้ในการประเมินผลดำเนินการ

5.2 D: Do การดำเนินงาน หมายถึง ทักษะในการปฏิบัติตามแผน ตามขั้นตอนและเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก จะต้องมีการปรับแผนในระหว่างดำเนินการโดยมีคำอธิบายและเหตุผลประกอบ

 5.3 C: Check การประเมินผล หมายถึง ทักษะในการรวบรวมข้อมูลของผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับประเด็นตัวบ่งชี้ที่สร้างไว้ เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกับเป้าหมายของแผนในขั้นตอน  ที่ 1 ในการประเมินนี้จะต้องพิจารณาในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพของผลงานด้วย

5.4 A: Act การปรับปรุง หมายถึง กิจกรรมที่มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำการตรวจสอบแล้ว การปรับปรุงอาจเป็นการแก้ไขแบบเร่งด่วน เฉพาะหน้า หรือการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิม การปรับปรุงอาจนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานของวิธีการทำงานที่ต่างจากเดิมเมื่อมีการดำเนินงาน

6. ความรู้เรื่องข้อมูลพื้นที่ในลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพ คือ การศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ทั้งส่วนที่เป็นธรณีภาค อุทกภาค บรรยากาศภาค และชีวภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ทางพื้นที่ (spatial Relation) ของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่างๆดังกล่าวข้างต้นดังนั้นภูมิศาสตร์ทางกายภาพจึงเป็นวิชาหลักพื้นฐานที่สามารถวิเคราะห์เหตุผลประกอบกับการสังเกตพิจารณาสิ่งที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้เป็นอย่างดี การศึกษาภูมิศาสตร์กายภาพแผนใหม่ต้องศึกษาอย่างมีเหตุผล โดยอาศัยหลักเกณฑ์ทางภูมิศาสตร์ หรือหลักเกณฑ์สถิติซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จากวิชาในแขนงที่เกี่ยวข้องกัน มาพิจารณาโดยรอบคอบ

ภูมิศาสตร์กายภาพมีขอบข่าย หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศาสตร์ต่างๆดังนี้

6.1 ยีออเดซี (Geodesy) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการหารูปทรงสัณฐานและขนาดของพิภพโดยการคำนวณหรือจากการรังวัดโดยตรง

6.2 ดาราศาสตร์ (Astronomy) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยธรรมชาติอันเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเคลื่อนที่ ตำแหน่งสัมพันธ์ และลักษณะที่ปรากฎของเทห์ ฟากฟ้าต่างๆของโลก

6.3 การเขียนแผนที่ (Cartography) คือ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนที่ ซึ่งมีความหมายคลุม ทั้งวิชาการที่เป็นมูลฐานในการทำแผนที่ และศิลปะในการเขียน แผนที่ชนิดต่างๆ

6.4 อุตุนิยมวิทยาและภูมิอากาศวิทยา (Meteorology and Climatology) คือ ศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของบรรยากาศและองค์ประกอบของภูมิอากาศ และกาลอากาศ

6.5 ปฐพีวิทยา (Pedology) คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดิน 

6.6 ภูมิศาสตร์พืช (Plant Geo Graphy) คือ ภูมิศาสตร์แขนงหนึ่งในสาขาวิชาภูมิศาสตร์การเกษตร เน้นหนักเรื่องพืชพรรณในถิ่นต่างๆ ของโลก โดยพิจารณา สภาพภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหรือ มีผลต่อพืชนั้นๆ

6.7 สมุทรศาสตร์กายภาพ (Physical Oceanography) คือ ศาสตร์ที่ศึกษาทางด้านกายภาพ เกี่ยวข้องกับท้องทะเลและมหาสมุทร

6.8 ธรณีสัณฐานวิทยา (Geomorphology) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยพื้นผิวโลก ซึ่งประมวล เอาทั้งรูปร่างธรรมชาติ กระบวนการกำเนิดและพัฒนาตัว ตลอดจน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 6.9 ธรณีวิทยา (Geology) คือ ศาสตร์ที่ด้วยความรู้เกี่ยวกับโลกทั้งภายในและภายนอก เรียกอย่างสามัญว่า วิทยาศาสตร์โลก (Earth Science)

6.10 อุทกวิทยา (Hydrology) คือ ศาสตร์เกี่ยวกับน้ำที่มีอยู่ในโลก เช่น ศึกษาสาเหตุการเกิดการหมุนเวียน การทรงอยู่ คุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ ตลอดจน คุณลักษณะของน้ำในลำน้ำ ทะเลสาบ และน้ำในดิน รวมทั้งการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การควบคุมและการอนุรักษ์น้ำ 

องค์ประกอบของภูมิศาสตร์กายภาพในการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์กายภาพจะต้องกล่าวถึงหัวข้อต่อไปนี้

ลักษณะภูมิประเทศ (Landforms) ลักษณะภูมิประเทศ หมายถึง ลักษณะของเปลือกโลกที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปแบบต่างๆ เช่นที่ราบ เนินเขา ห้วยหนอง คลองบึง แม่น้ำ ลำธาร ทะเล ทะเลสาบ เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

ลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏเด่นชัด (Major Landforms) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปแบบต่างๆ อย่างเด่นชัด ที่สำคัญ มี 4 ชนิด ได้แก่ ที่ราบ ที่ราบสูง และภูเขา

ลักษณะภูมิประเทศที่ไม่ปรากฏเด่นชัด (Minor Landform) หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญ รองลงมา เช่น แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ อ่าว และเกาะต่างๆ เป็นต้น

7. ความรู้เรื่องซอฟต์สเคป (Softscape) หมายถึง ส่วนประกอบทางธรรมชาติในงานภูมิสถาปัตยกรรมหรือในสวน ได้แก่ ดิน บ่อน้ำ รวมทั้งพืชพรรณประเภทต่างๆ ซึ่งแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะของการออกแบบและการวางตำแหน่งลงในสวน ส่วนซอฟต์สเคป (Softscape) มักมีผิวหน้าเป็นดิน หญ้า หรือพืชคลุมดินซึ่งสามารถใช้ระบายน้ำได้ตามธรรมชาติ อีกทั้งความเขียวของต้นไม้ยังมีส่วนช่วยให้อาคารข้างเคียงและพื้นที่ภายในสวนดูมีชีวิตชีวาน่าเข้าไปใช้งานมากขึ้น และยังช่วยลดความแข็งกระด้างของอาคารและส่วนของฮาร์ดสเคป (Hardscape) (SCG, 2559)

8. ความรู้เรื่องฮาร์ดสเคป (Hardscape) คือ ส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม หรือในสวน เช่น ลานนั่งเล่น ศาลา ทางเดิน ระเบียง ซุ้มประตู เป็นต้น โดยจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น คอนกรีต เหล็ก อิฐ คอนกรีตแสตมป์หรือวัสดุจากธรรมชาติอย่าง หิน และกรวด เป็นต้น ซึ่งแต่กต่างจากส่วนซอฟต์สเคป (Softscape) ที่อยู่คู่กันภายในสวน ซึ่งจะเลือกใช้ส่วนประกอบทางธรรมชาติ เช่น ดิน หรือต้นไม้ มาใช้ในการออกแบบและตกแต่งในการออกแบบฮาร์ดสเคป (Hardscape) ควรคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ที่เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ใช้งานสำหรับทำกิจกรรมต่างๆหรือเป็นทางสัญจรที่เชื่อมต่อระหว่างสวนและอาคารให้มีความต่อเนื่องกัน  รวมทั้งต้องเข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งแสงแดด ทิศทางลม หรืออาคารข้างเคียง  และที่สำคัญจะต้องช่วยส่งเสริมตัวอาคารและส่วนซอฟต์สเคป (Softscape) ข้างเคียง   ให้ดูสวยงามมากขึ้นอีกด้วย (SCG, 2559)

9. ความรู้เรื่องทฤษฎีของการบ่งชี้ความต้องการของลูกค้า ประกอบด้วย

9.1 การคาดการณ์ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น (Speculate about the results) ก่อนที่จะออกไปเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า เราควรคิดและเขียนถึงสิ่งที่คิดว่าลูกค้าจะพูดถึงไว้ก่อน เพื่อจะได้กะเวลาที่จะต้องใช้ในการเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าได้ถูก ซึ่งจะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบความคาดหวังขององค์กร กับสิ่งที่จะถูกกล่าวถึงจริงๆ ได้ ซึ่งมันจะทำให้องค์กรรู้ว่า ยังสามารถยึดมั่นกับความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่

9.2 สร้างแผนในการรวบรวมข้อมูล (Plan how to gather the information) การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดี ควรมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ก่อนการเก็บข้อมูลจึงควรกำหนดโครงสร้างการดำเนินงาน โดยการตัดสินใจว่าข้อมูลประเภทไหนที่จำเป็น และข้อมูลเหล่านั้นจะต้องไปถามใคร จึงจะได้มา การสอบถามแบบ “Face-to-Face Interview” จะช่วยให้เรารับรู้ข้อมูลอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับคำถามมากขึ้น การแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง รวมถึงคำถามต่อเนื่องที่อาจไม่ได้ระบุเอาไว้ในแบบสอบถาม แต่มีประโยชน์กับการพัฒนาสินค้าและบริการ

9.3 เก็บรวบรวมข้อมูล (Gather the information) ก่อนที่เราจะดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ ให้เราทดลองดำเนินการกับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ สัก 2-3 ราย เพื่อให้เราเห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการจริง ซึ่งเราจะได้แก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้กับกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก จะช่วยให้เราเก็บข้อมูลได้ตรงตามระยะเวลาที่เหมาะสม 

9.4 วิเคราะห์ผล (Analyze the results) การวิเคราะห์ผลให้มีประสิทธิภาพนั้น ควรวิเคราะห์อย่างระมัดระวังและมีเป้าหมาย เช่น ผลที่ได้นี้สอดคล้องกับผลที่ได้คาดเดาไว้ในขั้นตอนแรกหรือไม่อะไรคือปัญหาที่ลูกค้าบ่งชี้ออกมามีลูกค้าบ่นหรือร้องเรียนในเรื่องเดียวกันกี่รายมีข้อเสนอแนะให้ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในผลิตภัณฑ์หรือบริการ ฯลฯ

9.5 ตรวจสอบความถูกต้องของข้อสรุปที่ได้ (Check the validity of your conclusions) การตรวจสอบความถูกต้องของข้อสรุปที่ได้นี้ เราสามารถให้ลูกค้าช่วยตรวจสอบความถูกต้องได้โดยเลือกลูกค้ามากลุ่มหนึ่งแล้วนำเสนอผลสรุปนี้ แล้วดูว่าพวกเขาเห็นด้วยกับข้อสรุปหรือไม่ รวมถึงนำเสนอข้อสรุปนี้กับบุคคลอื่นในองค์กรด้วย เพื่อดูผลสะท้อนกลับ (Feedback) จากนั้นจึงปรับผลสรุปตามผลสะท้อนที่ได้ ทั้งจากภายในและภายนอก

9.6 ดำเนินการตามผลที่ชี้บ่ง (Take action as indicated) จากข้อสรุปครั้งสุดท้าย มีอะไรที่จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้ามี จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเท่าไหร่ และจะเริ่มลงมือดำเนินการเลยหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ควรเขียนเป็นแผนงานการแก้ไข แล้วนำเสนอต่อลูกค้า เพื่อบอกถึงสิ่งที่องค์กรกำลังจะทำและจะทำเสร็จเมื่อไหร่ เป็นการสร้างความมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าด้วย

10. มีพื้นฐาน และวิธีการสืบค้น รวบรวมข้อมูลเก่าที่เคยทำมาแล้วในพื้นที่เป้าหมาย และบริเวณใกล้เคียง วางแผนการสำรวจตามข้อมูลที่ได้ศึกษารวบรวม เตรียมเครื่องมือสำรวจภาคสนามให้เหมาะสมแล้วแต่กรณี

11. สามารถนำข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น ได้แก่ สภาพทางธรณี ระบบการระบายน้ำ และสภาพพืชพรรณที่มีอยู่เดิม มาเป็นหลักฐานประกอบการเขียนรายงานการวางแผนออกแบบภูมิทัศน์พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดิน

12. อธิบายด้านการวางแผนออกแบบภูมิทัศน์เพื่อทำให้สามารถทำงานร่วมกับภูมิสถาปนิก และผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพได้

 



14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

แฟ้มสะสมผลงาน 

(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

1. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน โดยมีประสบการณการทำงานในด้านการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี หรือ

2. หนังสือรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

(ค) คำแนะนำในการประเมิน

1. ผู้เข้ารับการประเมินมีความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์

2. ผู้เข้ารับการประเมินรู้วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกระบวนการทำงานเพื่อวางแผนงานการออกแบบภูมิทัศน์

(ง)วิธีการประเมิน

1. การประเมินความรู้

2. แฟ้มสะสมผลงาน

 


15. ขอบเขต (Range Statement)

(ก) คำแนะนำ

1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องสามารถอธิบายพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและออกแบบ 

2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องอธิบายเกี่ยวกับประเภทของพื้นที่สีเขียว 

3. ผู้เข้ารับการประเมินต้องอธิบายเกี่ยวกับวงจรการบริหารงานคุณภาพ 

4. ผู้เข้ารับการประเมินต้องอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีของการบ่งชี้ความต้องการของลูกค้า

5. ผู้เข้ารับการประเมินต้องอธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบที่เป็นซอฟต์สเคป และฮาร์ดสเคป

6. การปฏิบัติงานไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่สภาวิชาชีพควบคุม 

7. ผู้เข้ารับการประเมินไม่สามารถได้รับใบรับรองจากสภาวิชาชีพจากการประเมินนี้

8. การผ่านการประเมินสมรรถนะวิชาชีพนักออกแบบพื้นที่สีเขียว ไม่สามารถนำไปเสนอเพื่อขอการรับรองใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาวิชาชีพได้

(ข) คำอธิบายรายละเอียด

1. พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 (แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558) มาตรา 26/1 พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 หมวด 2 การขออนุญาตจัดสรรที่ดินมาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 23 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ. 2518ซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

2.ประเภทของพื้นที่สีเขียวตามคำจำกัดความของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพย์ากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(2548ก)ซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

3. ความหมายและองค์ประกอบของวงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) ซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

4. คำจำกัดความและองค์ประกอบของทฤษฎีของการบ่งชี้ความต้องการของลูกค้าซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

5. คำจำกัดความและองค์ประกอบของซอฟต์สเคป (Softscape) ซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

6. คำจำกัดความและองค์ประกอบของฮาร์ดสเคป (Hardscape) ซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

7. ความหมายและองค์ประกอบของข้อมูลพื้นที่ในลักษณะทางภูมิศาสตร์ คือ สภาพทางธรณี ได้แก่ โครงสร้างดิน หิน ระบบการระบายน้ำ และสภาพพืชพรรณซึ่งอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในหน่วยสมรรถนะ 0212 ข้อ 13(ข)

8. อธิบายด้านการวางแผนออกแบบภูมิทัศน์เพื่อทำให้สามารถทำงานร่วมกับภูมิสถาปนิก  และผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพได้

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

18.1 การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

18.2 การสอบปฏิบัติ

18.3 การสอบสัมภาษณ์

18.4 แฟ้มสะสมผลงาน

 



ยินดีต้อนรับ