หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ปลูกข้าว

สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ARC-AGE-2-146ZB

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ปลูกข้าว

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2562

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

          สาขาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ อาชีพผู้ปลูกข้าว



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
          หน่วยนี้เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ซึ่งประกอบด้วยการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือต้นกล้า และการปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูกโดยคำนึงถึงความปลอดภัย          ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปลูกข้าว สามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือต้นกล้า โดยเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยการทดสอบการงอก แล้วคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดก่อนการปลูก และเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือเพาะต้นกล้าตามขั้นตอนให้ใช้กับเครื่องปลูก เพื่อจะได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์งอกขึ้นมาที่ความหนาแน่นเหมาะสม สามารถปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูกโดยคำนึงถึงความปลอดภัย โดยปรับตั้งเครื่องปลูกขณะทำงาน และปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูก มีทักษะในการทำงานตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนดได้อย่างปลอดภัย สามารถแก้ไขปัญหาที่พบเป็นประจำภายใต้คำแนะนำ มีความรับผิดชอบต่องานที่รับมอบหมาย และปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีจริยธรรมในการประกอบอาชีพ

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
          ผู้ปฏิบัติงานเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
          รหัสอาชีพ 6111 : ผู้ปฏิบัติงานด้านการปลูกพืชไร่และพืชผัก (ISCO, 2008)

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
          ไม่มี

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
A221 เพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือต้นกล้า 1.1 ทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์ A221.01 100514
A221 เพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือต้นกล้า 1.2 คำนวณหาเปอร์เซ็นต์ความงอก A221.02 100515
A221 เพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือต้นกล้า 1.3 เพาะเมล็ดหรือเพาะกล้าแผ่น(เฉพาะเครื่องดำนา) A221.03 100516
A222 ปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูกโดยคำนึงถึงความปลอดภัย 2.1 ปรับตั้งเครื่องปลูกข้าว ขณะทำงาน A222.01 100517
A222 ปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูกโดยคำนึงถึงความปลอดภัย 2.2 ปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูก A222.02 100518

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

          ไม่มี


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ


  1. การเพาะพันธุ์พืช

  2. การปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและสิ่งแวดล้อม

(ข) ความต้องการด้านความรู้

การคำนวณค่าร้อยละ


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

          หลักฐานที่ต้องการจะกำหนดข้อแนะนำเกี่ยวกับการประเมิน และควรที่จะใช้ประกอบร่วมกันกับเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Performance Criteria) และทักษะและความรู้ที่ต้องการ  (Required Skills and Knowledge)



          (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)



               ผลประเมินจากการสัมภาษณ์เชิงเทคนิค (Technical Interview) หรือการปฏิบัติงานจริง ที่สังเกตความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือหลักฐานที่แสดงประสบการณ์การปฏิบัติงานจากหนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองการฝึกอบรม ที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้



          (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)



               ผลการสอบจากแบบสอบข้อเขียน หรือหลักฐานจากใบรับรองผลการศึกษา ใบคุณวุฒิ ใบประกาศนียบัตร วุฒิบัตร หนังสือรับรองการอบรม ที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือหลักฐานจากการเป็นวิทยากร การจัดทำรายงานผลการทำงาน การจัดทำคู่มือ การเขียนบทความ ที่เชื่อถือได้



          (ค) คำแนะนำในการประเมิน



               เจ้าหน้าที่สอบตรวจประเมินหลักฐาน โดยพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลักฐานด้านปฏิบัติงาน และหลักฐานด้านความรู้



               ใบรับรองผลการศึกษา ใบคุณวุฒิ ใบประกาศนียบัตร และหนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน ใช้เป็นหลักฐานการเข้าสู่คุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนหลักฐานอื่น ๆ ที่ตรงตามสมรรถนะที่สอบจะได้รับคะแนนเพิ่มในสมรรถนะนั้น 30%


15. ขอบเขต (Range Statement)

          (ก) คำแนะนำ



               ไม่มี



          (ข) คำอธิบายรายละเอียด



               1. การเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือต้นกล้า คือการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่เริ่มจากการทดสอบว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีเหมาะสมกับการปลูก โดยการตรวจสอบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นมีจำนวนเมล็ดงอกสูงเพียงไร เหมาะสมที่จะนำมาทำเมล็ดพันธุ์ปลูกหรือไม่ วิธีการตรวจสอบคือ เพาะเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์จำนวนหนึ่งบนภาชนะที่มีกระดาษชุ่มน้ำตลอดเวลา ทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน เมล็ดข้าวจะเริ่มงอก หลังจากเพาะเมล็ดได้ 14 วัน นับจำนวนเมล็ดที่งอก แล้วนำมาคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ความงอก มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีจะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์



                   เมื่อพบว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีเหมาะสมกับการปลูกแล้วจึงเพาะเมล็ด โดยการนำเมล็ดพันธุ์มาทำความสะอาดและคัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง วิธีการคือนำเมล็ดไปแช่ในน้ำเกลือที่มีความถ่วงจำเพาะ 1.08 (เตรียมจากน้ำสะอาด 10 ลิตร ผสมเกลือ 1.7 กิโลกรัม) แล้วคัดเมล็ดลอยทิ้ง ล้างออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นจึงบ่มหรือหุ้มข้าว คือแช่เมล็ดในน้ำ 12- 24 ชั่วโมง นำขึ้นมาไว้ในที่อากาศถ่ายเท ให้ความชื้นจนเมล็ดพองตัว ประมาณ 36-48 ชั่วโมง เมล็ดจะเริ่มปรากฏตุ่มรากสีขาวพร้อมปลูก สามารถใช้กับเครื่องปลูกข้าวนาน้ำตมได้ แต่ถ้าใช้กับเครื่องดำนาต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะให้เป็นกล้าแผ่นที่มีขนาดพอดีกับเครื่อง อายุกล้าประมาณ 20 วัน ความสูง 15-20 เซนติเมตร ส่วนการปลูกข้าวไร่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์แห้งปลูกได้ทันที



               2. การปลูกข้าวด้วยเครื่องปลูกโดยคำนึงถึงความปลอดภัย คือ การปลูกโดยวิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งอาจเป็นการทำนาดำ นาน้ำตม หรือการปลูกข้าวไร่ อาจปลูกด้วยต้นกล้า หรือใช้เมล็ดพันธุ์หว่าน โรย หรือหยอดก็ได้ ทั้งนี้การปลูกด้วยเครื่องจักรจะต้องเลือกเครื่องให้เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ มีการปรับให้เครื่องทำงานตามระยะปลูก อัตราปลูก และความลึกปลูกที่ต้องการ



                   วิธีการปลูกข้าวอาจมีหลายวิธี ซึ่งการปฏิบัติจะแตกต่างกันออกไป แต่วิธีที่เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้มีดังนี้



                    1) การปลูกข้าวนาดำ จะต้องมีการเพาะกล้าก่อนแล้วมาปักดำในแปลงนา ต้นกล้าที่ใช้กับเครื่องดำนาจะมีลักษณะเฉพาะเป็นกล้าแผ่น ซึ่งต่างจากการดำนาด้วยมือและมีอายุน้อยกว่า เครื่องสามารถปรับจำนวนต้นต่อกอ ระยะระหว่างกอ และความลึกปลูกได้ การดำนาจะได้ผลดีถ้าต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ได้อายุปลูก เครื่องจะปลูกเป็นแถวตรง มีระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ  30 เซนติเมตร หากระดับน้ำในแปลงเหมาะสม ต้นกล้าจะตั้ง ไม่ล้มหรือลอย ไม่ต้องปลูกซ่อม



                    2) การปลูกข้าวนาน้ำตมจะปลูกด้วยเมล็ดข้าวงอก เมื่อทำความสะอาดและคัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งแล้ว ต้องมีการแช่และหุ้มข้าวจนเมล็ดข้าวเริ่มมีรากงอกจึงนำมาปลูก อาจใช้วิธีหว่านหรือโรยปลูกเป็นแถว ขึ้นอยู่กับความต้องการและเครื่องมือที่ใช้ ซึ่งสามารถปรับอัตราปลูกได้ และถ้าปลูกเป็นแถวก็อาจปรับระยะระหว่างแถวได้ ขึ้นอยู่กับเครื่องที่ใช้



                    3) การปลูกข้าวในพื้นที่ดินแห้ง ไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก เรียกข้าวที่ปลูกโดยวิธีนี้ว่า ข้าวไร่ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่จะต้องการน้ำน้อยกว่าข้าวนาดำและข้าวนาน้ำตม การปลูกอาจหยอดเป็นหลุมๆ โดยมีระยะระหว่างหลุมและระยะระหว่างแถว หรือโรยเป็นแถว ซึ่งไม่มีระยะระหว่างหลุมก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและเครื่องมือที่ใช้ ปรับอัตราปลูกได้


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
          ไม่มี

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
          ไม่มี

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

          1. ประเมินจากแบบสอบข้อเขียน



          2. ประเมินความสามารถในการทำงานจากการสัมภาษณ์เชิงเทคนิคหรือการปฏิบัติงานจริง



          3. หลักฐานจากใบรับรองผลการศึกษา ใบคุณวุฒิ ใบประกาศนียบัตร วุฒิบัตร และหนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน สามารถใช้เป็นหลักฐานการเข้าสู่คุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนหลักฐานอื่น ๆ ที่ตรงตามสมรรถนะที่สอบ เช่น หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองการฝึกอบรม ที่ออกโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือหลักฐานจากการเป็นวิทยากรบรรยาย การจัดทำรายงานผลการทำงาน การจัดทำคู่มือ การเขียนบทความ ที่เชื่อถือได้ สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน



          4. รายละเอียดเครื่องมือและเกณฑ์การประเมินอยู่ใน คู่มือการประเมินสมรรถนะ



ยินดีต้อนรับ