หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

กำกับดูแลการปฏิบัติงานสาธารณูปโภค

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-ZZZ-3-032ZA

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ กำกับดูแลการปฏิบัติงานสาธารณูปโภค

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

    อาชีพนักจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
    ผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ มีความเข้าใจสามารถอ่านรูปแบบและรายการ มีความรู้ความเข้าใจในลักษณะงานสาธารณูปโภค ประกอบด้วย ระบบน้ำ ระบบระบายน้ำ ระบบไฟ และงานควบคุมไฟฟ้า มีความสามารถในการกำกับดูแลควบคุมการปฏิบัติงานระบบสาธารณูปโภค ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
    6162 นักภูมิสถาปัตย์

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
02251 ตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่จริงประกอบรูปแบบและรายการ 1.1 ระบุลักษณะของพื้นที่ที่พร้อมในการทำงานตามรูปแบบรายการ 02251.01 79653
02251 ตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่จริงประกอบรูปแบบและรายการ 1.2 เลือกวิธีการแก้ปัญหาเมื่อพื้นที่ไม่พร้อม 02251.02 79654
02252 ควบคุมการปฏิบัติงานระบบน้ำและระบบระบายน้ำ 2.1 ระบุรายละเอียดระบบการวางผังเดินท่อ 02252.01 79655
02252 ควบคุมการปฏิบัติงานระบบน้ำและระบบระบายน้ำ 2.2 อธิบายหลักการวางท่อ 02252.02 79656
02252 ควบคุมการปฏิบัติงานระบบน้ำและระบบระบายน้ำ 2.3 ระบุขั้นตอนการปฏิบัติงานและวางระบบน้ำ 02252.03 79657
02252 ควบคุมการปฏิบัติงานระบบน้ำและระบบระบายน้ำ 2.4 อธิบายขั้นตอนการปฏิบัติงานและวางระบบระบายน้ำ 02252.04 79658
02253 ควบคุมการปฏิบัติงานระบบไฟฟ้า 3.1 ระบุลักษณะความถูกต้องครบถ้วนของการปฏิบัติงานระบบไฟฟ้า 02253.01 79659
02253 ควบคุมการปฏิบัติงานระบบไฟฟ้า 3.2 อธิบายลักษณะความถูกต้องครบถ้วนของงานควบคุมไฟฟ้า 02253.02 79660

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

    ไม่ระบุ


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

    สามารถเข้าใจถึงรูปแบบและรายการ, ทำการปฏิบัติการกำกับดูแลงานระบบสาธารณูปโภค, แก้ปัญหาหน้างานได้

(ข) ความต้องการด้านความรู้

    1. ระบบการวางผังเดินท่อ

    2. การจัดแนวท่อและระดับท่อ

    3. การเปิดแนวร่องวางท่อ

    4. การขุดร่องดิน

    5. การระบายน้ำจากร่องดิน

    6. การวางท่อประปาและติดตั้งอุปกรณ์

    7. ระบบการให้น้ำ

    8. ระบบท่อระบายน้ำ

    9. องค์ประกอบของระบบท่อระบาย

    10. ระบบปั๊มน้ำ


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

    (ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

        1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

        2. แบบบันทึกรายการผลจากการสังเกต

    (ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

        1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

        2. เอกสารรับรองผลจากการเรียนหรือผลการอบรม หรือ

        3. ใบบันทึกผลการสอบข้อเขียนหรือแนวคำถามที่ใช้ประเมิน

    (ค) คำแนะนำในการประเมิน

        ผู้ประเมินตรวจประเมินเกี่ยวกับความเข้าใจในรูปแบบและรายการ ทักษะ และความเข้าใจในการปฏิบัติงานจริงและการแก้ปัญหาในการสร้างงานได้ โดยพิจารณาจากหลักฐานการปฏิบัติงาน หลักฐานจากแบบทดสอบข้อเขียน


15. ขอบเขต (Range Statement)

    การจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์ในสมรรถนะนี้ ครอบคลุมกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ด้านระบบสาธารณูปโภค

    (ก) คำแนะนำ 

        1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบและรายการ

        2. เข้ารับการประเมินต้องมีทักษะความสามารถในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานระบบสาธารณูปโภค

        3. เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้และเข้าใจในปัญหาของงานและสามารถแก้ปัญหาได้

    (ข) คำอธิบายรายละเอียด

        ข1 ระบบการวางผังเดินท่อ

        จำนวนโซนที่แบ่งได้จะเป็นแนวทางในการวางผังเดินท่อ โดยปกติท่อประธานจะถูกวางอยู่ระหว่างกลางของทุกโซน แล้วต่อท่อรองประธานออกไปพร้อมกับติดตั้งประตูน้ำคุมโซนไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดปิด ให้น้ำ ท่อประธานควรจะอยู่ในแนวตรงและสั้นที่สุด ส่วนท่อแขนงที่นำน้ำไปสู่พืชนั้นจะต้องถูกวางให้ตามแนวระดับของพื้นที่ ไม่ควรวางไปตามแนวลาดเอียงของพื้นที่ เพราะอาจจะทำให้ความดันของน้ำในท่อมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ต้นพืชได้รับน้ำไม่เท่ากัน 

        สำหรับท่อ ที่ใช้ในการให้น้ำนั้น ปัจจุบันนิยมใช้ท่อ พีวีซี และท่อพีอี ซึ่งแต่ละชนิดต่างก็มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน

        ท่อพีวีซี มีราคาต่ำ หาซื้อง่าย น้ำหนักเบา เชื่อมต่อได้ง่ายโดยใช้กาวและข้อต่อเกลียว โดยสามารถต่อเชื่อมกับท่อชนิดอื่นได้ด้วย นอกจากนี้ยังไม่เป็นสนิม และทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี แต่มีข้อเสียที่แตกหักง่าย ถ้ามีน้ำหนักมากๆ กดทับ ท่อพีวีซี ผลิตขึ้นมายาวท่อละ 4 เมตร และมี 3 ระดับชั้นความดัน (หรือสามารถทนความดันได้) คือ ชั้น 5, 8.5 และ 13.5 เมกาพาสคัล (1 เมกาพาสคัล มีค่าเท่ากับ 10 ม.) มีขนาด 1/2 นิ้ว – 16 นิ้ว (18 – 600 ม.ม.) โดยปกติชนิดสีฟ้าเท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับระบบให้น้ำ เพราะท่อสีอื่นมีความบางกว่า ทำให้ไม่สามารถทนความดันน้ำได้สูง

        ข้อต่อพีวีซี ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของท่อ เพราะท่อที่ผลิตจะมีความยาวที่เหมาะสมแก่การขนส่ง เช่น 4 ม. ดังนั้น เมื่อจะต่อท่อให้เป็นท่อยาวๆ จึงต้องอาศัยข้อต่อมายึดเข้าด้วยกัน ข้อต่อดังกล่าวทีหลายแบบ เช่น สามตา หรือสามทาง สี่ทาง ข้องอ ข้อลด ข้อเพิ่ม ฝาอุดปลายท่อ

        ท่อพีอี เป็นท่อสีดำที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตร โดยมีราคาถูกกว่าท่อ พีวีซี การตัดต่อทำได้ง่าย มีน้ำหนักเบา และสามารถขดเป็นม้วนได้ ทำให้สะดวกในการขนส่ง และเคลื่อนย้าย ตลอดจนการวางท่อ นอกจากนี้ยังผลิตให้มีความยาวถึง 50 หรือ 100 เมตร ทำให้จำนวนข้อต่อที่ใช้ลดลง และการรั่วที่เกิดจากข้อต่อก็จะลดลงตาม ข้อดีของท่อ พีอี คือมีความยืดหยุ่นตัวสูงกว่า สามารถรับน้ำหนักกดทับได้โดยไม่แตกหัก นอกจากนั้นผิวภายในท่อยังเรียบทำให้การเสียพลังงานเนื่องจากความฝืดมีค่าต่ำ ขนาดของท่อพีอีทีตั้งแต่ขนาด 16 ม.ม. ถึง 400 ม.ม. โดยมีชั้นความดัน 5 ชั้น ได้แก่ 2.5, 4, 6.3, 10 และ 16 บาร์

        เนื่องจากมาตรฐานการผลิตท่อพีอีแตกต่างกัน ข้อต่อพีอี จึงมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้ท่อในระบบให้น้ำ จึงต้องพิจารณาเลือกใช้ท่อที่ทีข้อต่อที่สามารถต่อท่อทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันได้ด้วย ความแตกต่างของข้อต่อเพียง 0.5 หรือ 1 ม.ม. สามารถทำให้น้ำรั่วได้ เพราะในท่อมีความดัน ดังนั้นในการเลือกใช้ท่อจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อต่อพิเศษ ซึ่งราคาอาจจะสูง หรือหากจะเปลี่ยนท่อใหม่ก็จะหาข้อต่อ ได้ยาก

        การเลือกใช้ขนาดและชนิดของท่อนั้น บางครั้งก็อาจจะมีการติดตั้งใช้งานท่อทั้งสองชนิดร่วมกัน เช่น ท่อเมนซึ่งเป็นท่อที่มีความดันตลอดเวลาเป็นท่อพีวีซี ท่อแขนงเป็นท่อพีอีซึ่งมีความดันก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำ อย่างไรก็ตามก็ควรคำนึงความสะดวกในการหาซื้อท่อชนิดนั้นๆ และการซ่อมแซมในภายหลัง

        สำหรับการเดินท่อนั้น ก็ควรจะอาศัยหลักการ ดังนี้

            1 . เดินท่อในแนวตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

            2. หลีกเลี่ยงการเดินท่อหัดมุม ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงเสียดทานและสูญเสียความดัน โดยออกแบบให้มีการต่อท่อแขนงหลายๆ ท่อ ออกจากท่อประธาน

            3. การเดินท่อควรหลีกเลี่ยงการเดินท่อผ่านทางเดิน หรือถนน

        นอกจากข้อต่อแล้ว การเดินท่อยังต้องอาศัย อุปกรณ์ควบคุมต้นทาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่างๆ  ที่ต่อจากท่อส่งของเครื่องสูบน้ำ ซึ่งช่วยให้การทำงานของระบบให้น้ำเป็นไปด้วยดี อุปกรณ์เหล่านี้ประกอบด้วย

        วาล์วกันกลับ เป็นวาล์วที่จะปล่อยให้น้ำไหลไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่มีการย้อนหลัง โดยทั่วไปมี 2 แบบคือ แบบสปริงและแบบบานเหวี่ยง ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำในท่อไหลย้อนกลับเมื่อหยุดเครื่องสูบน้ำ

        ประตูน้ำ ใช้เปิดและปิดในขณะเริ่มและหยุดใช้งานเครื่องสูบน้ำ เพื่อลดการเกิดกระแทก  ของน้ำ ซึ่งจะทำความเสียหายแก่ท่อและอุปกรณ์ต่างๆ

        กรอง ทำหน้าที่ดักสิ่งปลอมปนไม่ให้เข้าไปในระบบน้ำ จนเกิดอุดตันที่หัวฉีดฝอยหรือกีดขวางทางเดินของน้ำ

        มาตรวัดน้ำ นอกจากจะใช้ในการบอกปริมาณน้ำที่ให้แต่ละครั้งและยังเป็นตัวบ่งชี้ได้ในกรณีมีท่อรั่วหรือแตกในที่ลับตา

        มาตรวัดแรงดัน ใช้เป็นตัวชี้ว่าแรงดันที่ส่งน้ำออกไปสู่ระบบตรงกับที่คำนวณไว้หรือไม่   กรองอยู่ในสภาพปกติหรือจะต้องทำความสะอาด

        วาล์วไล่ลม เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ระบายอากาศที่อยู่ในท่อก่อนจะเดินเครื่องสูบน้ำให้ออกไปจากท่อเพื่อให้น้ำสามารถเข้ามาแทนที่ได้เต็ม ปราศจากฟองอากาศ ทำให้น้ำไหลสะดวก

        ลิ้นหัวกะโหลก หรือฟุตวาล์ว เป็นวาล์วกันกลับที่ได้รับการออกแบบมาใช้สำหรับทางด้านดูดของเครื่องสูบน้ำ เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับ และทำให้มีน้ำป้อนทางท่อดูดตลอดเวลา โดยจะติดตั้งอยู่กับส่วนตอนปลายของท่อทางด้านดูดที่จุ่มน้ำอยู่ในน้ำ และมีกรองติดอยู่ด้วย เพื่อป้องกันเศษหญ้าหรือวัตถุแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในระบบน้ำ

        ข2 การจัดแนวท่อและระดับท่อ

            ข2.1 จะต้องดำเนินงานสำรวจพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวท่อและระดับของการวางท่อของงานก่อสร้างวางท่อประปา โดยต้องให้สอดคล้องกับความลึกหลังท่อที่ระบุไว้ในแบบก่อสร้าง

            ข2.2 เมื่องานก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ จะต้องระบุตำแหน่งอ้างอิงแนวท่อ และระดับท่อที่ได้ก่อสร้างจริงลงในแบบก่อสร้างจริง

            ข2.3 ต้องวางท่อในแนวที่กำหนดด้วยความลาดที่สม่ำเสมอกัน โดยหลีกเลี่ยงการยกท่อขึ้นหรือกดท่อลงโดยกะทันหัน

        ข3 การเปิดแนวร่องวางท่อ

            ข3.1 การเปิดแนวร่องเมื่อวางท่อ จะต้องมีความลึกและความกว้างตามที่ระบุในแบบ เพื่อให้วางท่อและอุปกรณ์ข้อต่อต่างๆ และต้องพอสำหรับโครงสร้างค้ำยันและเผื่อสำหรับระบบระบายน้ำ เพื่อให้ท้องร่องดินแน่นและแห้งตลอดเวลาทำงาน ถ้าในระหว่างก่อสร้างพบสิ่งปลูกสร้าง หรือสาธารณูปโภคเดิม  กีดขวาง ต้องเสนอแนววางท่อขนาดและความลึก เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ

            ข3.2 การเปิดแนวร่องดินให้พื้นทางเท้า จะต้องย้ายแผ่นที่ปูพื้นทางเท้าออกก่อน หลังจากงานวางท่อเสร็จสิ้น จะต้องรับผิดชอบปูทางเท้าให้แน่นแข็งแรงและทำความสะอาดให้เรียบร้อย

            ข3.3 การเปิดแนวร่องดินที่ต้องผ่านกำแพงหรือคันหิน อาจใช้วิธีขุดช่องลอด ถ้ามีการย้ายกำแพงหรือคันหินจะต้องดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อย

        ข4 การขุดร่องดิน

            ข4.1 ในการขุดร่องดินจะต้องกำหนดตำแหน่งความยาวของร่องขุด และระยะเวลาทำงานในการวางท่อให้ชัดเจน

            ข4.2 จะต้องขุดร่องดินวางท่อให้ลึกไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในแบบ หรือรายการสำหรับการวางท่อและติดตั้งอุปกรณ์ ในกรณีที่ไม่กำหนดความกว้างไว้ ให้มีความกว้างพอที่จะปฏิบัติงานได้โดยสะดวกและปลอดภัย

            ข4.3 หลังจากที่ได้ขุดร่องดินจนได้ความลึกตามที่กำหนดแล้ว หากปรากฏว่าพื้นร่องดินที่ขุดเป็นชั้นของดินอ่อน (Soft Soil) ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ให้ทำสิ่งก่อสร้างรองรับท่อหรือยึดท่อหรือใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสม

        ข5 การระบายน้ำจากร่องดิน

            ข5.1 จะต้องจัดหาเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ในการระบายน้ำ เพื่อสูบน้ำออกจากร่องดินหรือหลุมที่ขุด

            ข5.2 ถ้ามีน้ำขังอยู่ในร่องดิน ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ภายในท่อสกปรกจะต้องสูบน้ำหรือวิดน้ำออกจนแห้ง แล้วจึงต่อท่อหรือติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้

        ข6 การวางท่อประปาและติดตั้งอุปกรณ์

            ข6.1 การวางท่อและติดตั้งอุปกรณ์ท่อต่างๆ จะต้องอยู่ห่างจากโครงสร้างเดิม 

            ข6.2 การยกท่อ การกองท่อ การขนส่งท่อ การขึ้นลงท่อ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ     ผู้ผลิตท่อ

            ข6.3 ต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับขนาดท่อและอุปกรณ์ต่างๆ ในการต่อท่อโดยต้องตรวจท่อและอุปกรณ์ต่างๆ ว่าไม่แตกหรือชำรุดเสียหาย แล้วจึงวางลงในร่องดิน

            ข6.4 ท่อและอุปกรณ์ที่จะวางในร่องดิน ภายในท่อและอุปกรณ์จะต้องสะอาดปราศจากฝุ่นผงเศษขยะใดๆ

            ข6.5 ต้องวางท่อเอกและท่อรอง ชนิดและขนาดต่างๆ พร้อมทั้งอุปกรณ์ เป็นไปตามที่กำหนดตามแบบ

            ข6.6 เมื่อเลิกหรือหยุดงานทุกครั้ง ต้องอุดหรือปิดปลายสุดของท่อหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เศษผงหรือขยะใดๆ เข้าไปในท่อหรืออุปกรณ์

            ข6.7 การตัดและแต่งปลายท่อ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต

            ข6.8 อุปกรณ์และปลายสุดของท่อ และตามจุดต่างๆ ซึ่งอาจถูกน้ำดันจนบิดงอ จะต้องเทคอนกรีตหรือทำแท่นยึดอุปกรณ์ตามแบบซึ่งอาจทำเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพแรงดันน้ำ

            ข6.9 การบรรจบท่อใหม่กับท่อเดิม หรือบรรจบกับท่อต่างชนิดกัน จะต้องระมัดระวังไม่ให้ท่อเดิมเกิดความเสียหาย ท่อที่จะตัดบรรจบจะต้องขุดดินออกและทำความสะอาดท่อ โดยจัดทำแผนดำเนินการให้พร้อมก่อนดำเนินการ

            ข6.10 ในการวางท่อและอุปกรณ์ จะต้องยึดรั้งหรือทำแท่นรับแรงดันท่อเอาไว้ให้แข็งแรงตามตำแหน่งที่ได้แสดงไว้ในแบบ และหรือตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการขยับเขยื้อนจนเกิดการรั่วซึมหรือ หลุดที่ข้อต่อขณะที่จ่ายน้ำในเส้นท่อได้ 

        ข7 ระบบการให้น้ำ

            หลักของการให้น้ำแก่พืชปลูกโดยการกำหนดการให้น้ำเพื่อให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลตอบแทนสูงนั้นจะคำนึงถึงว่า เมื่อไรจึงจะควรให้น้ำแก่พืชและให้เป็นปริมาณเท่าใด ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่กำหนด 3 ประการคือพืชดินและน้ำ ดังนี้คือ

            1) ปริมาณน้ำที่พืชต้องการที่ช่วงเวลาต่างๆ ตลอดอายุพืช

            2) ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินในเขตราก

            3) ปริมาณของน้ำที่จะหามาทำการชลประทานได้

            ปริมาณน้ำที่พืชต้องการที่ช่วงเวลาต่างๆ ตลอดอายุของพืชและความสามารถอุ้มน้ำของดินในเขตราก เป็นข้อมูลสำคัญเบื้องต้นซึ่งจะต้องนำมาใช้หาความถี่ในการให้น้ำและปริมาณน้ำที่จะต้องให้แต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามในบางครั้งไม่สามารถให้น้ำแก่พืชได้เต็มจำนวนตามที่พืชต้องการเสมอไปเนื่องจากว่าน้ำที่มีอยู่นั้นมีจำนวนจำกัด หรือในขณะที่พืชกำลังต้องการน้ำนั้น ยังไม่ถึงกำหนดส่งน้ำจากโครงการชลประทาน ดังนั้นจึงต้องทราบด้วยว่าจะมีน้ำที่สามารถให้แก่พืชได้อย่างแน่นอนเท่าไรและมีกำหนดการส่งน้ำมาอย่างไร เพื่อจะได้จัดเวลาที่ยอมให้พืชขาดน้ำอยู่ในช่วงที่จะกระทบกระเทือนต่อผลผลิตน้อยที่สุด หรือถ้ามีน้ำอย่างเพียงพอแต่ไม่ตรงกับที่พืชต้องการจะได้จัดเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มิได้มีการส่งน้ำด้วย

            พืชที่กำลังเจริญเติบโตย่อมมีการใช้น้ำอยู่ตลอดเวลา อัตราการใช้น้ำจะขึ้นอยู่กับชนิดและอายุของพืช อุณหภูมิ และสภาพของภูมิอากาศอื่นๆ การให้น้ำแก่พืชในแต่ละครั้ง ปริมาณที่ให้ควรเพียงพอกับความต้องการน้ำของพืชไปจนกว่ากำหนดการให้น้ำคราวหน้า พืชเกือบทุกชนิดจะให้ผลผลิตลดลง หรือคุณภาพเลวลง ถ้ามีการขาดน้ำที่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ช่วงเวลาที่เมื่อมีการขาดน้ำ แล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตมากที่สุดเรียกว่าช่วงวิกฤติ (critical period) ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องคอยรักษาดินให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ช่วงเวลาวิกฤติของพืชปลูกบางชนิด

        วิธีการให้น้ำแก่พืชปลูก

            การให้น้ำแก่พืชอาจทำได้หลายวิธีการที่จะเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งจะต้องพิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ คุณสมบัติของดิน ลักษณะของพื้นที่ที่ได้เตรียมไว้ พืชที่จะปลูก วิธีการเพาะปลูก เงินทุน ตลอดจนน้ำต้นทุนที่จะนำมาให้แก่พืช โดยทั่วไปวิธีการให้น้ำ แบ่งออกเป็น 4 แบบใหญ่ๆ ด้วยกันคือ การให้น้ำแบบฉีดฝอย (sprinkler irrigation) การให้น้ำทางผิวดิน (surface irrigation) การให้น้ำทางใต้ผิวดิน (subsurface irrigation) และการให้น้ำแบบหยด (drip irrigation)แต่ในทีนี้ จะขอกล่าวถึงหลักการเฉพาะ การให้น้ำแบบฉีดฝอย และการให้น้ำแบบหยด

            ข7.1 การให้น้ำแบบฉีดฝอย

        การชลประทานแบบนี้จะให้น้ำแก่พืชโดยการฉีดน้ำจากหัวฉีดขึ้นไปในอากาศแล้วให้หยดน้ำตกลงมาเป็นฝอย โดยมีรูปทรงการแผ่กระกระจายของหยดน้ำสม่ำเสมอ และอัตราของน้ำที่ตกลงบนผิวดิน  มีค่าน้อยกว่าอัตราการซึมของน้ำผ่านผิวดิน ระบบชลประทานแบบฉีดฝอยอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

            1) แบบติดตั้งอยู่กับที่ (Permanent system)

            2) แบบเคลื่อนย้ายได้เพียงบางส่วน (Semi portable system)

            3) แบบเคลื่อนย้ายได้ทั้งหมด (portable system)

        ประสิทธิภาพในการให้น้ำของการชลประทานฉีดฝอยอยู่ระหว่าง 75-85 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการให้น้ำแบบฉีดฝอย ดังนี้

            1) เครื่องสูบน้ำ (Pumping unit) ทำหน้าที่สูบน้ำจากแหล่งน้ำและเพิ่มความดันให้กับหัวจ่ายน้ำ

            2) ท่อประธาน (Mainline pipe unit) ทำหน้าที่ส่งน้ำจากเครื่องสูบน้ำไปสู่ท่อแยก

            3) ท่อแยก (lateral pipe unit) ทำหน้าที่ส่งน้ำจากท่อประธานให้กับหัวจ่ายน้ำ

            4) หัวจ่ายน้ำ (sprinkler unit) ทำหน้าที่จ่ายน้ำให้กับพืชปลูก โดยส่วนใหญ่จะจ่ายน้ำโดยการหมุนหัวฉีดเป็นวงกลมในแนวราบ (rotary sprinkler)

        ข้อดีของการให้น้ำแบบฉีดฝอย 

            1) ลดการเสียพื้นที่จากการจัดทำระบบชลประทาน เช่น การขุดคูร่องน้ำลงได้

            2) มีประสิทธิภาพในการให้น้ำสูง

            3) ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรหรืออื่นๆ ร่วมกันได้ เช่น ใช้ในบ้านใช้เลี้ยงสัตว์

            4) การให้น้ำแบบให้น้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น การให้น้ำแก่พืชรากตื้นหรือพืชที่เริ่มงอกจะมีประโยชน์มาก

            5) สามารถพ่วงการให้ปุ๋ยและสารเคมีอื่นๆ ร่วมไปกับระบบการให้น้ำแบบนี้ได้

        ข้อเสียของการให้น้ำแบบฉีดฝอย 

            1) ค่าลงทุนครั้งแรกสูงมาก และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและดำเนินการสูง

            2) การเคลื่อนย้ายทำได้แต่ไม่สะดวก

            3) มีผลทำให้การแพร่กระจายและแข่งขันของวัชพืชเกิดขึ้นได้มาก

            4) การสูญเสียน้ำไปโดยการระเหยจะเกิดขึ้นได้มาก

        ข7.2 การให้น้ำแบบหยด

            เป็นการให้น้ำแก่พืชที่จุดใดจุดหนึ่งหรือหลายๆ จุดบนผิวดินหรือในเขตราก โดยอัตราที่ให้นั้นไม่มากพอที่จะทำให้ดินในเขตรากอิ่มน้ำเป็นบริเวณกว้าง โดยปกติแล้วผิวดินจะเปียกแต่เฉพาะตรงจุดที่ให้น้ำเท่านั้น การชลประทานแบบนี้จะให้ประสิทธิภาพในการให้น้ำสูงมาก เนื่องจากมีการสูญเสียโดยการระเหยน้อย ดังนั้นผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยปริมาตรของน้ำที่ใช้จึงมากกว่าการชลประทานแบบอื่นๆ สามารถที่จะนำไปใช้กับการปลูกพืชแทบทุกชนิด ทั้งไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ และไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนประกอบที่สำคัญของระบบการให้น้ำแบบหยด 

            1) หัวปล่อยน้ำ (Emitter) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณการไหลของน้ำจากท่อแขนงไปสู่พื้นดินจำนวนหัวปล่อยน้ำต่อจำนวนต้นพืชแตกต่างกันตามขนาดและความต้องการน้ำของพืช เช่น ในพืชไร่หรือพืชผักใช้หัวปล่อยน้ำ 1 หัวต่อพืชหลายต้น แต่ถ้าเป็นไม้ผลยืนต้นอาจใช้หัวปล่อยน้ำ 1-8 หัวต่อต้น

            2) ท่อแขนง (Lateral) เป็นท่อแยกมาจากท่อประธานวางขนานไปกับแถวพืช    ถ้าเป็นการปลูกพืชแบบแถวแคบ เช่น พืชไร่หรือพืชผักอาจใช้ท่อแขนง 1 แนวสำหรับพืช 1-12 แถว แต่ถ้าเป็นการปลูกพืชแบบแถวห่าง เช่นไม้ผลยืนต้นจะใช้ท่อแขนง 1 แนวต่อการปลูก 1 แถว

            3) ท่อแยกประธาน (Sub main) อาจจะไม่มีก็ได้ ถ้าหากการวางระบบท่อไม่ซับซ้อน และท่อแขนงแยกออกไปจากท่อประธานโดยตรง

            4) ท่อประธาน (Mainline) เป็นท่อใหญ่ซึ่งนำน้ำจากแหล่งน้ำมาเชื่อมกับท่อแยกประธานหรือท่อแขนง โดยทั่วไปใช้ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว

            5) ถังกรองน้ำ (Filter tank) ทำหน้าที่กรองน้ำให้สะอาดป้องกันปัญหาการอุดต้น   ที่หัวปล่อยน้ำ

            6) แหล่งน้ำและเครื่องสูบน้ำ ปริมาณการใช้น้ำอาจไม่มาก แต่น้ำต้องสะอาด

        ข้อดีของการให้น้ำแบบหยด 

            1) สามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถรักษาระดับความชื้นในดินรอบต้นพืชให้อยู่ในเกณฑ์พอเหมาะตลอดเวลา

            2) ประหยัดแรงงาน ใช้กำลังคนในการจัดการน้อย

            3) สามารถป้องกันและควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ เพราะน้ำหยดเป็นบริเวณเฉพาะทำให้โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดได้น้อย

            4) ป้องกันการสะสมเกลือ ใช้ได้ผลดีมากในบริเวณที่เป็นดินเค็ม เพราะน้ำที่หยดลงไปในดินจะไปทำให้เกลือในบริเวณที่น้ำหยดเจือจางลงไปมาก

            5) เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ย เพราะปุ๋ยที่ให้บริเวณโคนต้น สามารถละลายน้ำให้พืชดูดไปใช้ได้อย่างเต็มที่

        ข้อเสียและปัญหาการให้น้ำแบบหยด

            1) เกิดการอุดตันที่หัวปล่อยได้ง่าย หากการกรองน้ำทำได้ไม่ดีพอ

            2) สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการติดตั้งค่อนข้างสูงในครั้งแรก

            3) จำกัดการเจริญของรากพืชให้อยู่หนาแน่นเฉพาะบริเวณที่เปียกน้ำ

        ข8 ระบบท่อระบายน้ำ

            1) ระบบท่อระบายน้ำ หมายความถึง ระบบท่อและส่วนประกอบอื่นที่ใช้สำหรับรวบรวมน้ำเสีย จากแหล่งกำเนิดน้ำเสียประเภทต่างๆ เช่น อาคารที่พักอาศัย โรงแรม โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เขตพาณิชยกรรม เพื่อนำน้ำเสียเหล่านั้น ไปบำบัดหรือ ระบายทิ้งยังแหล่งรองรับน้ำทิ้งที่ต้องการ โดยส่วนประกอบหลักๆ ของระบบท่อระบายน้ำ ได้แก่

            1.1) ท่อแรงโน้มถ่วง (Gravity Sewer) เป็นท่อรองรับน้ำเสียที่การไหลของน้ำจะเกิดขึ้นตามแรงโน้มถ่วงของโลกเท่านั้น โดยวางท่อ ให้ได้ความลาดเอียงที่เป็นไปตามทิศทางการไหลของน้ำเสียที่ต้องการ ดังนั้นขนาดของท่อชนิดนี้ จะแปรผันตาม ปริมาตรน้ำเสีย ในเส้นท่อและเป็นระบบ การระบายแบบเปิด (Open Drain)

            1.2) ท่อแรงดัน (Pressure Sewer) เป็นท่อที่ส่งน้ำเสียจากที่ต่ำไปยังที่สูงกว่า โดยท่อสามารถรับแรงดัน ของน้ำซึ่งเกิดจาก การสูบน้ำของเครื่องสูบน้ำสวนกับ แรงโน้มถ่วงของโลกได้ดังนั้นท่อแรงดันจึงเป็นระบบการระบายแบบปิด (Close Drain)

            1.3) ท่อดักน้ำเสีย (Interceptor) เป็นท่อที่วางเชื่อมต่อ ณ จุดสุดท้ายของท่อระบายน้ำฝนรวมกับน้ำเสียใน

            1.4) ระบบท่อรวม ทำหน้าที่ใน การดักน้ำเสียไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ธรรมชาติ โดยรวบรวมน้ำเสียเหล่านั้นเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป ซึ่งท่อดักน้ำเสียนี้ มีทั้งที่ใช้เป็นท่อแรงโน้มถ่วงและท่อแรงดัน ซึ่งจะขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศเป็นสำคัญ

        ข9 องค์ประกอบของระบบท่อระบาย

            ระบบระบายน้ำ โดยทั่วไปจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ใช้ระบายน้ำฝนและหรือน้ำเสียจากบ้านเรือน อาคารต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ ก่อนที่จะระบายเข้าระบบรวบรวมน้ำเสียต่อไป ประกอบด้วย ท่อแรง โน้มถ่วงและบ่อตรวจระบาย

            ระบบรวบรวมน้ำเสีย ประกอบด้วย ท่อแรงโน้มถ่วง ท่อแรงดัน ท่อดักน้ำเสีย บ่อตรวจระบาย อาคารดักน้ำเสียพร้อมตะแกรงดักขยะ และสถานีสูบ/ยกน้ำเสียพร้อมตะแกรงดักขยะ

            1) ประเภทของท่อระบายน้ำ (Sewer)

                1.1) ท่อระบายน้ำ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ ระบบท่อแยก (Separate System) และระบบท่อรวม (Combined System) โดยแต่ละระบบมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

                    1.1.1) ระบบท่อแยก เป็นระบบระบายน้ำที่แยกระหว่างท่อระบายน้ำฝน (Storm Sewer) ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำฝนเพียงอย่างเดียวแล้วระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ในบริเวณใกล้เคียงที่สุดโดยตรง และท่อระบายน้ำเสีย (Sanitary Sewer) ซึ่งทำหน้าที่ในการรองรับน้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม เพื่อส่งต่อไปยัง ระบบบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า น้ำฝนและน้ำเสีย จะไม่มีการไหลปะปนกัน โดยระบบท่อแยกนี้มีข้อดีคือ

                    (1) การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียมีขนาดเล็กกว่าระบบท่อรวม เนื่องจากจะมีการรวบรวมเฉพาะน้ำเสียเข้าระบบบำบัดเท่านั้น 

                    (2) ค่าดำเนินการบำรุงรักษาระบบต่ำกว่าระบบท่อรวม เพราะปริมาณน้ำที่ต้องการสูบและปริมาณสารเคมีที่ต้องใช้มีปริมาณน้อยกว่า

                    (3) ไม่ส่งผลต่อสุขอนามัยของประชาชน ในกรณีที่ฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วม เพราะจะไม่มีส่วนของน้ำเสียปนมากับน้ำฝน และ 

                    (4) ลดปัญหาเรื่องกลิ่นและการกัดกร่อนภายในเส้นท่อในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีการออกแบบให้ความเร็วเฉพาะน้ำเสียให้มีค่าที่ทำให้เกิดการล้างท่อด้วยตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการหมักภายในเส้นท่ออันเป็นสาเหตุของปัญหา แต่การใช้ระบบท่อแยกต้องเสียค่าลงทุนสูงและมีการดำเนินการก่อสร้างที่ยุ่งยาก

            1.1.2) ระบบท่อรวม น้ำฝนและน้ำเสียจะไหลรวมมาในท่อเดียวกัน จนกระทั่งถึงระบบบำบัดน้ำเสีย หรืออาคารดักน้ำเสีย ซึ่งจะมีท่อดักน้ำเสีย (Interceptor) เพื่อรวบรวมน้ำเสียไปยังระบบบำบัด น้ำเสีย ส่วนน้ำเสียรวมน้ำฝนที่เกิดการเจือจางและมีปริมาณมากเกินความต้องการจะปล่อยให้ไหลล้นฝายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนน้ำที่ไม่ล้นฝายก็จะเข้าสู่ท่อดักน้ำเสียไหลไปยังระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป ระบบท่อรวมมีข้อดี คือ ค่าลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าระบบท่อแยก แต่มีข้อเสียหลายประการด้วยกัน เช่น ต้องใช้ขนาดท่อใหญ่ขึ้น ระบบบำบัดน้ำเสียมีขนาดใหญ่ขึ้นและใช้ค่าลงทุนสูง เนื่องจากน้ำเสียที่เข้าระบบบำบัดมีปริมาณมาก ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษามาก อาจมีปัญหากลิ่นเหม็นในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากความเร็วน้ำ ในท่อจะต่ำมาก และอาจมีผลต่อสุขอนามัยของประชาชนได้กรณีเกิดปัญหาน้ำท่วม

        ข10 ระบบปั๊มน้ำ

        เครื่องปั๊มน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งผ่านพลังงานจากแหล่งต้นกำเนิดไปยังของเหลว เพื่อทำให้ของเหลวเคลื่อนที่จาก ตำแหน่งหนึ่งไป ยังอีก ตำแหน่งหนึ่งที่อยู่สูงกว่า หรือในระยะทางที่ไกลออกไป โดยจุดเริ่มต้นของเครื่องปั๊มน้ำนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งในช่วงเริ่มแรกมีการใช้พลังงาน ที่ได้จากมนุษย์ สัตว์ ต่อมาจึงได้ใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานจากลม และน้ำเป็นแหล่งต้นกำเนิด ซึ่งในช่วงแรกเพียง เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเท่านั้น

        ในปัจจุบันเครื่องปั๊มน้ำจัดเป็นอุปกรณ์เครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก เป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยจัดส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร คมนาคม อุตสาหกรรม ตลอดจนการบำบัดน้ำเสีย เพื่อรักษา สภาวะแวดล้อม ที่ดีให้กับมนุษย์ ซึ่งวิวัฒนาการของเครื่องปั๊มน้ำในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ใช้พลังงานจาก แหล่งธรรมชาติมาเป็น การใช้พลังงานจากไอน้ำ จากเครื่องยนต์ และที่นิยมกันมากคือ การใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน

        ประเภทของปั๊มน้ำ (Type of Pump)

        ปัจจุบันมีการจัดแบ่งประเภทของปั๊มน้ำหลายรูปแบบ และมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้นจึงมี การจัดหมวดหมู่ออกได้เป็น 2 แบบคือ

            1) แยกตามลักษณะการเพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลว หรือการไหลของของเหลวในปั๊ม ได้แก่

                1.1) ประเภทปั๊มแรงเหวี่ยง หรือปั๊มหอยโข่ง (Centrifugal) เพิ่มพลังงานให้แก่ของเหลวโดยอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลาง ปั๊มแบบนี้บางครั้งเรียกว่าแบบ Rota – dynamic

                1.2) ประเภทโรตารี่ (Rotary) เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการหมุนของฟันเฟืองรอบแกนกลาง

                1.3) ประเภทลูกสูบชัก (Reciprocating) เพิ่มพลังงานโดยอาศัยการอัดโดยตรงในกระบอกสูบ

                1.4) ประเภทพิเศษ (Special) เป็นปั๊มที่มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถจัดอยู่ในทั้งสามประเภทที่กล่าวมา

            2) แยกตามลักษณะการขับดันของเหลวในปั๊ม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

                2.1) ประเภททำงานโดยไม่อาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Dynamic) เป็นปั๊มประเภทอาศัยแรงเหวี่ยงหนีจุดศูนย์กลางและแบบพิเศษ

                2.2) ประเภททำงานโดยอาศัยหลักการแทนที่ของเหลว (Positive Displacement) คือการเคลื่อนที่ โดยอาศัยชิ้นส่วนของ เครื่องสูบ ปั๊มประเภทนี้จะรวมเอาแบบโรตารี่และแบบลูกสูบชักเข้าอยู่ในกลุ่มด้วย

            นอกจากการแบ่งเป็นสองแบบตามที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจแบ่งปั๊มตามวัตถุประสงค์การใช้งานของแต่ละชนิดด้วยเช่น ปั๊มดับเพลิง ปั๊มลม ปั๊มสุญญากาศ หรือ ปั๊มบาดาล 

        ข11 การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำ

            การติดตั้งปั๊มน้ำและถังเก็บน้ำที่ใช้อยู่ตามบ้านและอาคารมีอยู่ 2 แบบ

            1. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่บนดิน

            2. ติดตั้งให้ถังเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน

            ทั้ง 2 แบบควรกระทำดังนี้

            1) ควรตั้งระยะดูดไม่ให้เกิน 9 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ระยะท่อดูดน้ำจากปั๊มน้ำถึง ถังเก็บน้ำที่ อยู่บนพื้นดิน ไม่ควรเกิน 9 เมตร หรือสำหรับถังเก็บน้ำที่อยู่ใต้ดิน ควรให้ปลายท่อดูดน้ำจากก้นถังถึง ระดับกึ่งกลาง ของปั๊มน้ำไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน

            2) ควรติดตั้งปั๊มน้ำใกล้บ่อน้ำ ควรให้ระยะความลึกของท่อน้ำจากกึ่งกลางปั๊มน้ำถึงระดับใต้ผิวน้ำในบ่อไม่เกิน 9 เมตรเช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการซ่อมแซมและการระบายน้ำ

            3) ควรยึดเครื่องกับแท่นหรือพื้นที่แข็งแรง เช่น คอนกรีต หรือทำกรอบไม้เพื่อยึดขาปั๊มเพื่อเข้ากับพื้นให้มั่นคงและได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะมีเสียงดังขณะปั๊มทำงาน

            4) การต่อท่อ การต่อท่อที่ดีจะต้องมีข้อต่อให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสูญเสียอัตราการไหลของน้ำ เนื่องจากความเสียดทาน ภายในท่อ ท่อทางด้านสูบควรมีความลาดเอียงไม่เกิน 2 เซนติเมตรทุกความยาวท่อ 1 เมตร เพื่อให้การสูบน้ำของปั๊มน้ำ มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องระวังอย่าให้เกิดรอยรั่วตามข้อต่อไม่ว่าจะเป็นท่อทางด้านสูบหรือด้านส่ง เพราะจะมีผลต่อ ประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มน้ำ คือถ้าท่อทางด้านสูบก่อนเข้าปั๊มน้ำมีการรั่ว จะทำให้มีอากาศเกิดขึ้นในท่อ และทำให้ ไม่สามารถ สูบน้ำให้ไหลต่อเนื่องและเต็มท่อได้ ส่งผลให้น้ำทางด้านส่งหรือด้านที่ต่อออกจากปั๊มน้ำ ไปถึงก๊อกน้ำ มีอัตราการไหลน้อยกว่าปรกติ และหากยังคงมีอากาศเข้าในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ปั๊มน้ำไหม้ได้ กรณีที่มีการรั่วท่อ ด้านส่งหรือท่อที่ต่อไปก๊อกน้ำ  จะมีผลให้ปั๊มน้ำทำงานบ่อยครั้ง การรั่วเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ ก็มีผลทำให้ ความดันในเส้นท่อลดลง และเมื่อลดลงถึงระดับที่ตั้งไว้ สวิตซ์ความดันจะสั่งงาน ให้ปั๊มน้ำทำงาน 

            ดังนั้นเมื่อต่อท่อของ ระบบเสร็จแล้ว ควรมีการทดสอบการรั่วของท่อ โดยอัดน้ำเข้าในเส้นท่อจากนั้น ปล่อยทิ้งไว้ช่วง ระยะเวลา หนึ่ง หากความดันในปั๊มน้ำไม่มีการลดลงก็แสดงว่าระบบท่อไม่มีการรั่ว

            สำหรับการสูบน้ำจากบ่อ การต่อท่อด้านสูบของปั๊มน้ำที่จะต้องจุ่มปลายท่อลงในบ่อน้ำควรใส่ฟุตวาล์ว (Foot Valve) และตัวกรองน้ำ ไว้ที่ปลายท่อสูบด้วย เพื่อกรองเศษใบไม้ เศษหิน เศษดิน ไม่ให้เข้าไปอุดตันในปั๊มน้ำ และฟุตวาล์ว ยังป้องกันน้ำ ในระบบท่อไหลย้อนกลับไปในบ่อน้ำ ขณะที่ปั๊มหยุดทำงาน และฟุตวาล์วควรสูงจากพื้นก้นบ่อ อย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผงหรือตะกอนถูกสูบขึ้นมา

            5) การติดตั้งถังเก็บน้ำ สำหรับบ้านพักอาศัยทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น ควรติดตั้งถังเก็บน้ำไม่ว่าจะเป็นถังเก็บน้ำ บนดินหรือใต้ดิน ให้ต่อจากมิเตอร์วัดน้ำของการประปา เพื่อสำรองน้ำจาก    ท่อประปาไว้ใน ถังเก็บน้ำ ให้มากพอ แล้วจึงต่อ ท่อน้ำส่งเข้าตัวปั๊มน้ำ เมื่อเราใช้น้ำตามจุดต่างๆ พร้อมกันหลายจุด แรงดันในท่อน้ำจะลดลง ปั๊มน้ำก็จะเริ่มทำงานเกิด แรงดัน ให้น้ำไหลได้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นอาคารสูง   หลาย ๆ ชั้น การติดตั้งจะเหมือนแบบตาม บ้านอาศัย แต่จะเพิ่มถังเก็บน้ำอยู่บน ชั้นสูงสุด ของอาคาร แล้วปั๊มน้ำจากระดับพื้นดินสู่ถังเก็บน้ำชั้นบน เพื่อสำรองไว้ใช้ตามจุดใช้น้ำตามแต่ละชั้นของอาคาร

            การใช้งานปั๊มน้ำ

            6) เมื่อติดตั้งปั๊มน้ำและระบบท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนใช้ปั๊มน้ำควรปฏิบัติดังนี้

                6.1) ปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ ปิดอุปกรณ์ใช้น้ำและปิดก๊อกน้ำให้สนิท

                6.2) ถอดจุกเติมน้ำของตัวปั๊มน้ำ

                6.3) เติมน้ำให้เต็มจนมีน้ำล้น

                6.4) ปิดจุกให้แน่น

                6.5) ต่อระบบไฟฟ้า ให้ปั๊มทำงาน

                เมื่อปั๊มน้ำทำงานแล้ว ให้เปิดวาล์วของท่อด้านส่งน้ำ หรืออุปกรณ์ใช้น้ำทีละน้อย แต่ถ้าปั๊มน้ำทำงานแล้ว มีน้ำออกน้อยหรือ น้ำไม่ไหล อาจเป็นเพราะว่าครั้งแรกเติมน้ำน้อยเกินไป ให้เติมน้ำใหม่อีกครั้ง


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
    ไม่ระบุ

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

    18.1 ประเมินความรู้ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

    18.2 การสอบปฏิบัติ

    18.3 แฟ้มสะสมผลงาน



ยินดีต้อนรับ