หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-ZZZ-5-006ZA

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว

3. ทบทวนครั้งที่ - / -

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)
อาชีพเจ้าหน้าที่ประสานงานด้านกฎหมายการจัดการพื้นที่สีเขียว ชั้น 5

1 2619 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น

6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
     เป็นบุคคลผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายพื้นที่สีเขียว เรียนรู้ข้อมูลข่าวสารทางกฎหมายพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน สามารถให้ข้อมูลข่าวสารและถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารต่อผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
2619 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฏหมาย ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
ไม่ระบุ

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
ไม่ระบุ

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
01161 เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายพื้นที่สีเขียวให้เป็นปัจจุบัน 1.1 จำแนกขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว 01161.01 79343
01161 เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมายพื้นที่สีเขียวให้เป็นปัจจุบัน 1.2 จำแนกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว เมื่อต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกฎหมายพื้นที่สีเขียวที่เกี่ยวข้อง 01161.02 79344
01162 สื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว 2.1 อธิบายแนวทางการทำแผนถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารกฎหมายพื้นที่สีเขียว 01162.01 79345
01162 สื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว 2.2 ประยุกต์ใช้การสื่อสารในการถ่ายทอดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านกฎหมายพื้นที่สีเขียว 01162.02 79346
01162 สื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว 2.3 ระบุความจำเป็นของการสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านกฎหมายพื้นที่สีเขียว 01162.03 79347

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)

ไม่ระบุ


13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

1. ความสามารถในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย

2. ความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมาย

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1. หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายพื้นที่สีเขียวและขอบเขตงานที่รับผิดชอบ

2. หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านนโยบายกฎหมายพื้นที่สีเขียว


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

1. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)

(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

1. หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน โดยมีประสบการณการทำงานในด้านกฎหมายพื้นที่สีเขียว กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือสาขาที่เกี่ยวข้องมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี หรือ

2. หนังสือรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว กฎหมายสิ่งแวดล้อมหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

(ค) คำแนะนำในการประเมิน

1. ผู้เข้ารับการประเมินมีความรู้และทักษะ และขอบเขตสาระสำคัญของกฎหมายพื้นที่สีเขียว กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ

2. ผู้เข้ารับการประเมินรู้วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

(ง) วิธีการประเมิน

1. การประเมินผลความรู้โดยประเมินจากแบบประเมินความรู้

2. การประเมินจากแฟ้มสะสมผลงาน


15. ขอบเขต (Range Statement)

(ก) คำแนะนำ

การจำแนกหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านนโยบายและประกาศบังคับใช้กฎหมายพื้นที่สีเขียว และหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายพื้นที่สีเขียว

(ข) คำอธิบายรายละเอียด

1. หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายพื้นที่สีเขียวและขอบเขตงานที่รับผิดชอบ

1.1 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานในสังกัด รับผิดชอบ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริการชุมชนและที่พักอาศัย

1.2 สำนักงานสวนสาธารณะสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบ ดูแลรับผิดชอบงานทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร

1.3 สำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รับผิดชอบ มาตรฐานของพื้นที่สีเขียว

1.4 ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ โครงการสวนกลางมหานคร

อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ(สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้) รับผิดชอบ

1) สนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

2) พัฒนาพื้นที่โครงการสวนกลางมหานคร ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นปอดอย่างยั่งยืน

3) จัดการสวนสาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ และการพักผ่อนหย่อนใจ

4) ส่งเสริมให้ราษฎร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่าง ยั่งยืน      

5) ผลิตกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรนำไปปลูกขยายผลในพื้นที่ของราษฎร

1.5 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานในสังกัด รับผิดชอบ กำกับดูแลนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

1.6 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบ กำกับดูแลนโยบายด้านความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิต

1.7 สำนักส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการมีส่วนร่วม รับผิดชอบ ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเพิ่มพื้นที่    สีเขียวทั้งในเขตเมืองและชนบท

1.8 กรมควบคุมมลพิษ

รับผิดชอบ ควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ

2. ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นที่สีเขียว

- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 

- แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560-2564

- รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2559

- รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย พ.ศ.2559

แนวทางการถ่ายทอดแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ 

1. สร้างความเข้าใจกับส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบ รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2. สร้างความร่วมมือกับผู้บริหารของหน่วยงานหลัก

3. สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและภาคเอกชนได้รับทราบถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมตามแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม

4. ประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดหางบประมาณรองรับ และแหล่งเงินอื่น

5. ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้ตัวชี้วัดของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะบูรณาการงานร่วมกันเป็นตัวชี้วัดร่วมระหว่างหน่วยงาน

6. สร้างฐานข้อมูลสำหรับตัวชี้วัดเพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบนำไปดำเนินการ

7. ดำเนินการติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บริหาร รวมถึงเผยแพร่สู่สาธารณะ

8. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อรับนโยบายในการแก้ไขปัญหา รวมถึงแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป 

ความหมายและความสำคัญของการสื่อสาร

    ในปัจจุบันเรามีวิธีการสื่อสารได้หลายทาง เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรสาร วิทยุติดตามตัว การส่งจดหมายทางอินเตอร์เน็ต (E-mail) ทำให้เราสามารถติดต่อกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในรูปแบบต่างๆได้ตลอดเวลา โดยมีจุดประสงค์ที่จะเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง ความรู้สึก ความคิด ความต้องการ รวมไปถึงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลรับรู้ ชีวิตประจำวันของเราจึงต้องเกี่ยวข้องกับการสื่อสารตลอดเวลาซึ่งดูได้จากในปี 2538 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็น ปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย หรือ THAILAND IT YEAR 1995 แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารมีความสำคัญมากเพียงใด คำว่าสารสนเทศ หมายถึง เรื่องราวต่างๆที่ได้จากการนำข้อมูล ประมวลหรือคำนวณทางสถิติ ไม่ใช่ข้อมูลดิบ เมื่อนำมารวมกับคำว่า เทคโนโลยีซึ่งครอบคลุมถึง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้การสื่อสารในปัจจุบันมีได้หลายรูปแบบ และจะเพิ่มมากขึ้นอย่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้

    การสื่อสารมีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อบุคคลและสังคม บุคคลสามารถรับรู้ความ รู้สึกนึกคิดและความต้องการของผู้อื่น ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สังคมทุกระดับจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสื่อสารทั้งสิ้น การสื่อสารก่อให้เกิดสังคมตั้งแต่ระดับกลุ่มคน ครอบครัว ไปจนถึงตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และสังคมโลก หากขาดการสื่อสารมนุษย์จะร่วมกลุ่มกันเป็นสังคมไม่ได้ การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอดและพัฒนาวัฒนธรรมของตนเอง รวมทั้งเรียนรู้และรับรู้วัฒนธรรมของสังคมอื่นเพื่อนำมาปรับปรุงวัฒนธรรมของตน ตลอดจนสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่จบสิ้น ปัจจุบันการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีมีมากมาย เช่น โทรสาร(FAX) อินเตอร์เน็ต (INTERNET) ซึ่งช่วยให้สังคมสื่อสารได้รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น อาจพิจารณาแบ่งเป็นหัวข้อได้ดังนี้

    1. ความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคล – คนจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้จะต้องใช้การพูดจาสร้างมิตรภาพ ทั้งในบ้าน สถานศึกษา ที่ทำงาน และสังคมภายนอกอื่นๆ เช่น ร้านค้า โรงพยาบาล งานเลี้ยง เป็นต้น บางครั้งอาจอยู่ในรูปของสัญลักษณ์ เช่น สัญญาณไฟเขียวไฟแดง การส่งดอกไม้ ก็ได้

    2. ความสำคัญต่อการติดต่อระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม - บุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบความเป็นไปของสังคมสามารถค้นหาได้จากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเตอร์เน็ต สื่อมวลชนจะเป็นผู้กระจายข้อมูลข่าวสารของสังคม ไปสู่ปัจเจกบุคคลที่อยู่ทั่วไปให้ได้รับข้อมูล ข่าวสารเดียวกัน

    3. ความสำคัญต่อการพัฒนาสังคม และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี – สังคมจะพัฒนาก้าวไกลได้อย่างทั่วถึงต้องอาศัยการสื่อสารทั้งระดับบุคคล เช่น พัฒนากร ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จนกระทั่งถึงสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต จากสื่อมวลชนเหล่านี้ทำให้สังคมเจริญก้าวไกล ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม โดยส่วนรวม

    4. ความสำคัญต่อความเป็นมาและเป็นไปของประชาชนในสังคม – การค้นคว้าศึกษาและจดบันทึก ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของสังคมว่าเจริญมาอย่างไร และยังสามารถประมาณการความเป็นไปของสังคมในอนาคตได้ด้วยการใช้การสื่อสารให้การศึกษา ก่อแนวคิด และปลูกฝังคนรุ่นใหม่ของสังคม

นักวิชาการในสาขาต่างๆได้ให้คำนิยามของการสื่อสารไว้มากมายแตกต่างกันออกไป คำนิยามที่เข้าใจง่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ คือ คำนิยามของEVERETT M. ROGERS นักนิเทศศาสตร์ที่มีชื่อเสียงได้กล่าวไว้ว่า

    “การสื่อสาร คือ กระบวนการที่ความคิดหรือข่าวสารถูกส่งจากแหล่งสารไปยังผู้รับสารโดยมีเจตนาที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการของผู้รับสาร” เมื่อผู้ส่งสารส่งสารไปยังผู้รับสารย่อมก่อให้เกิดผลบางประการที่ผู้ส่งสารปรารถนาในตัวผู้รับสาร ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงความรู้ ทัศนคติ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับสารก็ได้ จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ที่สำคัญยิ่งของการสื่อสารก็คือ การก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ส่วนกรมวิชาการได้ให้นิยามของการสื่อสารไว้ว่า “การสื่อสาร คือ การติดต่อกับมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ อันทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายของอีกฝ่ายหนึ่ง และการตอบสนอง” การสื่อสารมีลักษณะเป็นกระบวนการซึ่งหมายความว่ามีลักษณะต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่มีการหยุดนิ่งจะต้องมีบางสิ่งเกิดขึ้นก่อนกระบวนการ และมีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดหลังกระบวนการต่อเนื่องกันไปอยู่เสมอ เป็นการกระทำโต้ตอบกลับไปกลับมาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารตลอดเวลา ผู้ส่งสารกลายเป็นผู้รับสารและผู้รับสารกลายเป็น ผู้ส่งสารในเวลาเดียวกัน

    คำว่าการสื่อสาร (Communication) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Communis ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Commonness มีความหมายว่า ความเหมือนกันหรือความร่วมกัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราทำการสื่อสาร ย่อมหมายความว่าเรากำลังสร้างความร่วมมือหรือเหมือนกับคนอื่น นั่นคือ พยายามที่จะมีส่วนร่วมรู้ข่าวสาร ความคิดเห็น และท่าทีอย่างเดียวกันนั่นเอง โดยพจนานุกรมภาษาอังกฤษได้อธิบายความหมายของคำว่าการ สื่อสาร ไว้ว่า มีลักษณะ 2 ประการ คือ

1. เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำพูด ตัวหนังสือ หรือข่าวสาร

2. เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมติร่วมกัน

   การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้ ข่าวสาร และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อที่จะเข้าใจ จูงใจหรือความสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสาร ดังที่ E.EMERY,P.M. ASULY AND W.K. AGEE ได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เรายังมีความต้องการขั้นพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากความต้องการทางร่างกายในเรื่องอาหาร และที่อยู่อาศัยก็คือ ความต้องการที่จะสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความจำเป็นในด้านการสื่อสารเป็นความจำเป็นพื้นฐานทางอารยธรรมยุคปัจจุบันของมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด”

    การสื่อสารเป็นกระบวนการติดต่อระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น หากเป็นการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เช่น คนพูดคุยกับนกแก้ว นกขุนทอง หรือสุนัขกระดิกหางให้ผู้ที่ให้อาหารมัน สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่จัดว่าเป็นการสื่อสาร

การสื่อสารมีลักษณะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด ไม่มีการหยุดนิ่ง จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นก่อนกระบวนการ และมีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดหลังกระบวนการต่อเนื่องกันไปอยู่เสมอ นั่นคือการสื่อสารเป็นการกระทำโต้ตอบกลับไปกลับมาระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารตลอดเวลา ผู้ส่งสารอาจกลายเป็นผู้รับสาร และผู้รับสารกลายเป็นผู้ส่งสารในเวลาเดียวกันก็ได้ การสื่อสารไม่จำเป็นต้องมีสองหรือหลายคน การคิดอยู่ในใจตัวเองก็นับว่าเป็นการสื่อสารเช่นกัน

วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

1. เพื่อให้ข่าวสารและความรู้ (Inform) เช่นการเรียนการสอน การเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์

2. เพื่อชักจูงใจ (Persuade) เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้รับสารให้คล้อยตามเรื่องที่เราต้องการจะสื่อสาร เช่น การโฆษณาเพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้า

3. เพื่อความบันเทิง (Entertain) เช่น การจัดรายการเพลง หรือเกมต่างๆ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์

    ในการสื่อสารที่ดีควรรวบรวมวัตถุประสงค์เหล่านี้เข้าด้วยกัน เพราะในกิจกรรมการสื่อสารแต่ละอย่างนั้นมักจะมีหลายวัตถุประสงค์แฝงอยู่ เช่น การเรียนการสอนโดยแทรกอารมณ์ขัน เป็นต้น

องค์ประกอบของการสื่อสาร

การสื่อสารเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในสังคม โดยอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 7 ประการ คือ

1. ผู้ส่งสาร (Transmitter,Source,Sender,Originator) หมายถึง แหล่งกำเนิดของสารหรือผู้ที่เลือกสรรข่าวสารที่เกี่ยวกับความคิด หรือเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วส่งต่อไปยังผู้รับสาร อาจเป็นคนเดียว คณะ หรือสถาบันก็ได้

    David K Berlo ได้เสนอแนวความคิดไว้ว่า การสื่อสารจะบรรลุผล ถ้าหากว่าผู้ส่งสารและผู้รับสารมีทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) ทัศนคติ (Attitude) และระดับความรู้ (Level of Knowledge) ในระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันและอยู่ในระบบสังคม (Social System) และวัฒนธรรม(Culture) เดียวกัน

2. สาร (Message) หมายถึง สาระหรือเรื่องราวที่ผู้ส่งสารส่งไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะเป็นความคิดหรือเรื่องราว ทั้งวัจนภาษา และอวัจนภาษา องค์ประกอบของสารมี 3 ประการ คือ สัญลักษณ์ของสาร (Message Code) เนื้อหาของสาร (Message Content) การเลือกหรือจัดลำดับข่าวสาร (Message Treatment)

    คำว่า “สาร” ในความหมายที่ใช้โดยทั่วไปมักหมายถึง เนื้อหาสาระของสารมากกว่า ซี่งก็คือข้อความที่ผู้ส่งสารเลือกใช้เพื่อสื่อความหมายตามที่ต้องการ ทั้งนี้อาจจะรวมถึงข้อเสนอ บทสรุป และความคิดเห็นต่างๆที่ผู้ส่งสารแสดงออกมาในข่าวสารนั้นๆ

3. ผู้รับสารหรือผู้ฟัง (Receiver or Audience ,Destination) หมายถึง ผู้ที่ได้รับข่าวสารจากผู้ส่งสารแล้วถอดรหัสข่าวสารนั้นออกเป็นความหมายซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง และเป้าหมายของการสื่อสาร ผู้รับสารอาจจะเป็นบุคคลคนเดียว กลุ่มคน หรือหลายคนก็ได้ ซึ่งแบ่งผู้รับสารได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้รับสารตามเจตนาของผู้ส่งสาร (Intened Receiver) และผู้รับสารที่มิใช่เป้าหมายในการสื่อสารของผู้ส่งสาร  (Unintened Receiver)

4. สื่อหรือช่องทางการสื่อสาร (Channel, Media) หมายถึง ช่องทางที่สารจากผู้ส่งสารผ่านออกไปยังผู้รับสาร สิ่งใช้สื่อสารเป็นสัญลักษณ์ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

    4.1 ท่าทาง (Gestures) การใช้ท่าทางในการแสดงออกนั้นจะต้องเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับมากที่สุด หรือสามารถทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้

    4.2 ภาษาพูด (Language Spoken) มนุษย์ทุกชนชาติต่างมีภาษาพูดเป็นของตนเองมาแต่โบราณกาล ภาษาพูดมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ ระยะทาง (Space) กับ เวลา (Time)

    4.3 ภาษาเขียน (Language Written) ภาษาเขียนไม่ได้หมายถึงตัวอักษรเท่านั้น แต่รวมไปถึงรูปภาพ สี เส้น ขนาดของตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ต่างๆที่แสดงออกด้วยการเขียน ก็นับว่าเป็นการสื่อสารโดยทางภาษาเขียนทั้งสิ้น

ดังนั้นในการสื่อสารผู้ส่งสารจะต้องเลือกสื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของผู้รับสารและวัตถุประสงค์ในการสื่อสารด้วย

5. เสียงหรือสิ่งรบกวน (Noise) หมายถึง ปัญหาเกี่ยวกับเสียง หรือสิ่งรบกวนใดๆก็ตามที่แทรกเข้ามาในช่องทางสื่อสารซึ่งผู้ส่งสารไม่ปรารถนาให้สอดแทรกเข้ามา ทำให้การสื่อสารดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น ไม่บรรลุเป้าหมาย หรือไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร สิ่งรบกวนเหล่านี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

    5.1 สิ่งรบกวนภายนอก (Physical Noise) ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของผู้รับสาร เช่น เสียงเครื่องจักรทำงาน เสียงเพลงที่ดังเกินไป

    5.2 สิ่งรบกวนภายใน (Phychological Noise) ซึ่งเกิดภายในตัวผู้รับสารเอง เช่น หิวข้าว การเหม่อลอย

6. ปฏิกิริยาตอบกลับ (Feedback) หมายถึง วิธีการที่ผู้รับสารแสดงออกมาให้ผู้ส่งสารได้ทราบผลของการสื่อสารว่าสำเร็จแค่ไหน บรรลุเป้าหมายและสร้างความพอใจให้ผู้รับสารมากน้อยเพียงใด เพื่อผู้ส่งสารจะได้นำมาปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือคงสภาพ วิธีการ เนื้อหาสาระของสารและการเลือกสื่อ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น หรือพิจารณาว่าควรจะสื่อสารต่อไปหรือไม่เพียงใด ปฏิกิริยาตอบกลับนี้อาจจะแสดงออกทางสีหน้า การตั้งคำถาม การพูดโต้ตอบ หรือแสดงความคิดเห็นก็ได้ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

    6.1 ปฏิกิริยาตอบกลับแบบทันทีทันใด (Immediate Feedback) จะเกิดขึ้นในการสื่อสารแบบที่ผู้ส่งสารหรือผู้รับสารสามารถเห็นหน้ากันได้ (Face to Face Communication) หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)

    6.2 ปฏิกิริยาตอบกลับแบบช้าๆ (Delayed Feedback) ซึ่งเป็นลักษณะของการสื่อสารมวลชน ปฏิกิริยาตอบกลับมีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ ปฏิกิริยาตอบกลับเชิงบวก(Positive) และปฏิกิริยาตอบกลับเชิงลบ (Negative) ในการสื่อสารนั้นปฏิกิริยาตอบกลับเชิงบวกมักจะก่อให้เกิดผลดี เพราะทำให้ผู้ส่งสารสามารถประเมินผลความสำเร็จของการสื่อสารได้ ส่วนปฏิกิริยาตอบกลับเชิงลบจะแจ้งให้ทราบว่าการสื่อสารนั้นผิดพลาด ล้มเหลว หรือบกพร่องอย่างไร ฉะนั้นปฏิกิริยาตอบกลับจึงเป็นกลไกควบคุมกระบวนการสื่อสารด้วย แต่บางครั้งที่ผู้รับสารไม่แสดงปฏิกิริยาตอบกลับให้ผู้ส่งสารทราบ เข่น การสื่อสารมวลชน จะทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารได้

7. ประสบการณ์ (Frame of Reference/Field of Experience) หมายถึง ประสบการณ์ของผู้ส่งสารหรือผู้รับสาร รวมทั้งความรู้และความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และทัศนคติ ซึ่งทำให้ความเข้าใจสารของผู้รับสารเหมือนหรือคล้ายคลึงกับผู้ส่งสาร ทำให้ผู้รับสารเข้าใจสารได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร โดยการใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ตีความหมายของสัญลักษณ์ หรือสารที่รับหรือส่งมา Wilbur Schramm กล่าวว่า มนุษย์เราจะรับรู้และเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆได้ไม่หมด เราจะรับสารได้แต่เพียงเฉพาะสิ่งที่เรามีประสบการณ์ร่วมกับผู้ส่งสารเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน ผู้ส่งสารก็มีความสามารถจำกัดที่จะส่งสารได้ภายในขอบเขตของประสบการณ์ของตนเองเท่านั้น ดังนั้นการสื่อสารจะสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งสารและผู้รับสารมีประสบการณ์ร่วมกันหรือไม่นั่นเอง

ประเภทของการสื่อสาร

   การจำแนกประเภทของการสื่อสาร สามารถจำแนกได้หลายลักษณะตามเกณฑ์ และวัตถุประสงค์ที่จะนำมาพิจารณา โดยทั่วไปสามารถจำแนกประเภทของ การสื่อสารตามเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้

    1. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร ซึ่งจำแนกไว้ดังนี้

       1.1 การสื่อสารภายในตัวบุคคล หมายถึง การสื่อสารที่บุคคลเดียวเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร เช่นการคิดอยู่คนเดียว การอ่านหนังสืออยู่คนเดียว การพูดกับตัวเอง

       1.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล หมายถึง การสื่อสารที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป สื่อสารกันโดยเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับสลับกันไป มองเห็นหน้าตากัน และพูดกันได้อย่างทั่วถึง การสื่อสารประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นการสื่อสารในลักษณะกลุ่มย่อย ที่ทุกคนสามารถได้แลกเปลี่ยนสารกันได้โดยตรง เช่น การพูดคุยกัน การสอนหนังสือในกลุ่มย่อย การประชุมกลุ่มย่อย การเขียนจดหมายโต้ตอบกัน เป็นต้น

       1.3 การสื่อสารกลุ่มใหญ่ หมายถึง การสื่อสารระหว่างคนจำนวนมาก ไม่อาจมองเห็นหน้าตาได้อย่างทั่วถึง สมาชิกในกลุ่มไม่สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารกันได้ทุกคน เพราะมีระเบียบวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำนวนสมาชิกก็มากเกินไป เช่น การบรรยายในที่ประชุม การสอนหนังสือในห้องเรียน การกล่าวคำปราศรัย การพูดหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

       1.4 การสื่อสารองค์การ เป็นการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน หรือหน่วยงานกับบุคคล โดยเนื้อหาของสาร และวัตถุประสงค์ในการสื่อสารเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภารกิจ และงานขององค์การ หรือหน่วยงานเท่านั้น เช่น การสื่อสารในบริษัท การสื่อสารในหน่วยราชการ การสื่อสารในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

       1.5 การสื่อสารมวลชน หมายถึงการสื่อสารที่มีไปยังประชาชนจำนวนมากในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งประชาชนจะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยสื่อเป็นสื่อมวลชนซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร

    2. จำแนกตามลักษณะการใช้ภาษา จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

       2.1 การสื่อสารที่ใช้ภาษาถ้อยคำ หรือการสื่อสารเชิงวัจนภาษา เป็นการสื่อสารที่อยู่ในภาษาพูดหรือภาษาเขียน ได้แก่ การสื่อสารที่ใช้ ภาษาพูดและภาษาเขียน เช่น การพูดบรรยาย การอภิปราย การเขียนหนังสือ เป็นต้น

       2.2 การสื่อสารที่ไม่ใช้ภาษาถ้อยคำ หรือการสื่อสารเชิงอวัจนภาษา เป็นการสื่อสารที่ไม่ได้อยู่ในภาษาพูดหรือภาษาเขียน ได้แก่ การสื่อสาร ที่ใช้อากัปกริยาท่าทาง หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น กริยาอาการ สิ่งของ เวลา ร่างกาย สถานที่ น้ำเสียง เป็นต้น

    3. จำแนกโดยถือเกณฑ์เห็นหน้าค่าตากัน คือ ยึดเอาตำแหน่งที่อยู่ของผู้ส่งสาร และผู้รับสารเป็นหลักพิจารณา จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ

       3.1 การสื่อสารแบบเผชิญหน้าหรือการสื่อสารทางตรง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสาร และผู้รับสารอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นกัน โต้ตอบซักถามกันได้ทันทีทันใด และมองเห็นอากัปกริยาซึ่ง กันและกันได้ตลอดเวลาที่ทำการสื่อสาร เช่น การสนทนากัน การเรียนการสอนในห้องเรียน การประชุมสัมมนา เป็นต้น

       3.2 การสื่อสารแบบไม่เห็นหน้าหรือการสื่อสารทางอ้อม เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันทั้งสถานที่และเวลา ไม่สามารถซักถามหรือตอบโต้ได้ในทันทีทันใดและไม่สามารถสังเกตกริยาท่าทางซึ่งกันและกันได้ โดยจะอาศัยสื่อกลางเข้ามาช่วย เช่น โทรเลขหนังสือพิมพ์ จดหมาย เป็นต้น

    4.จำแนกโดยถือเกณฑ์ความสามารถในการโต้ตอบกัน

       4.1 การสื่อสารทางเดียว เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่มีโอกาสได้โต้ตอบกัน อาจะเห็นหน้าหรือไม่เห็นก็ได้ โดยผู้ส่งสารไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้พูด หรือโต้ตอบกัน เช่น ครูกำลังสอนนักเรียน โดยไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็นเลย

       4.2 การสื่อสารสองทาง เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถตอบโต้ได้ขณะทำการสื่อสาร เช่น การคุยตอบโต้กันทางโทรศัพท์ การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม หรือแสดงความคิดเห็น

    5. จำแนกประเภทตามเกณฑ์ความแตกต่างระหว่างผู้รับสารกับผู้ส่งสาร มี 3 ประเภท คือ

       5.1 การสื่อสารระหว่างเชื้อชาติ เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างเชื้อชาติ เป็นคนละภาษา ดังนั้นการสื่อสารประเภทนี้ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องศึกษาภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมของผู้ที่ตน เองสื่อสารด้วย เช่น ชาวไทยสื่อสารกับชาวอังกฤษ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นการสื่อสารอาจจะล้มเหลวได้

       5.2 การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารของคนต่างวัฒนธรรมกัน ซึ่งผู้ส่งสารและผู้รับสารอาจเป็นคนในประเทศเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน เช่น การสื่อสารระหว่างคนไทยภาคกลางกับภาคเหนือ คนไทยพื้นราบกับคนไทยถูเขา เป็นต้น

       5.3 การสื่อสารระหว่างประเทศ เป็นการสื่อสารในระดับชาติ ผู้ส่งสารและผู้รับสารจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของชาติ การสื่อสารประเภทนี้มักเป็นการสื่อสารที่เป็นทางการ

    6. จำแนกโดยถือลักษณะเนื้อหาวิชา จำแนกได้ 8 ประเภท คือ

       6.1 ประเภทข่าวสาร เป็นการสื่อสารที่เน้นเอาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับระบบข่าวสาร นำไปประยุกต์ใช้กับงานด้านการกระจายข่าว การส่งข่าว การนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ ตลอดจนการพัฒนาวิธี วิเคราะห์ระบบข่าวสาร

       6.2 การสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นการสื่อสารที่มุ่งถึงทฤษฎีการสื่อสารใน สถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่การสื่อสารแบบตัวต่อตัว การสื่อสารกลุ่มย่อย ตลอดจนการสื่อสารกลุ่มใหญ่

       6.3 การสื่อสารมวลชน เป็นการสื่อสารที่มุ่งส่งสารไปสู่คนจำนวนมากซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ให้ได้รับสารเดียวกันในเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน

       6.4 การสื่อสารการเมือง เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหาไปในทางการเผยแพร่ข่าวสารการเมือง การประชาสัมพันธ์หาเสียง การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบการเมือง การเลือกตั้งตลอดจนระบอบ การปกครอง

       6.5 การสื่อสารในองค์การ เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหาให้ทราบถึงประสิทธิผลของ การดำเนินงานในองค์การ หรือหน่วยงานทั้งในการบริหารและการจัดการ

       6.6 การสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หมายถึง บุคคลในประเทศเดียวกัน สื่อสารต่างๆวัฒนธรรมกัน หรือการสื่อสารกับบุคคลต่างประเทศ ต่างเชื้อชาติกัน เนื้อหาของสารก็ย่อมเกี่ยวข้องกับทฤษฎี และพฤติกรรมทางวัฒนธรรมด้วย

       6.7 การสื่อสารการสอน เป็นการสื่อสารที่มีเนื้อหามุ่งเน้นถึงหลักวิชาการ การวิจัย การถ่ายทอดความรู้ ซึ่งอาจจะอยู่ในระบบการสอน หรือเทคโนโลยีการสอน เช่น การสอนในห้องเรียน การสอนระบบทางไกล เป็นต้น

       6.8 การสื่อสารสาธารณสุข เป็นการสื่อสารที่มุ่งเน้นเนื้อหาในการพัฒนาสุขภาพ พัฒนาคุณภาพของชีวิตของประชาชน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาระบบการสาธารณสุข การเผยแพร่ โน้มน้าว ใจให้ประชาชนตระหนักในการพัฒนาสุขภาพพลานามัย

แบบประเมินความสอดคลองของกฎหมาย 

แบบประเมินความสอดคล้องของกฎหมายจะใช้เพื่อจะจดประเมินว่ามีอะไรบางที่ยังสอดคล้องหรือไมสอดคล้องกับกฎหมาย และนําสวนที่ไมสอดคล้องกับกฎหมายไปทําเป็นแผนงาน หรือปรับปรุงการทำงานเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ซึ่งอาจมีองค์ประกอบ ดังนี้ 

1. กฎหมายพื้นที่สีเขียวที่ต้องปฏิบัติ หรือ หลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

2. แนวปฏิบัติงานที่ปฏิบัติจริง

3. ความสอดคล้อง หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมาย

4. แนวทางการปรับปรุง หรือข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย

ความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายพื้นที่สีเขียว คือ 

1. ทำให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ป้องกันในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้ 

2. เมื่อมีปัญหาทางด้านกฎหมายเกิดขึ้น ทำให้สามารถหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างถูกวิธีและชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการแก้ปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยปราศจากความรู้ทางด้านกฎหมายเลย

3. เมื่อมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว ก็ส่งผลต่อสภาพสังคมโดยรวมและประเทศชาติที่จะมีความสงบสุข ไม่เกิดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
ไม่ระบุ

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
ไม่ระบุ

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)
- การประเมินความรู้ ด้วยข้อสอบแบบอัตนัย
- แฟ้มสะสมผลงาน
- การสอบสัมภาษณ์


ยินดีต้อนรับ