หน่วยสมรรถนะ

หน่วยสมรรถนะ

ตรวจสอบงานโครงสร้าง

สาขาวิชาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว


รายละเอียดหน่วยสมรรถนะ


1. รหัสหน่วยสมรรถนะ ECM-VQIM-102A

2. ชื่อหน่วยสมรรถนะ ตรวจสอบงานโครงสร้าง

3. ทบทวนครั้งที่ 1 / 2564

4. สร้างใหม่ ปรับปรุง

5. สำหรับชื่ออาชีพและรหัสอาชีพ (Occupational Classification)

อาชีพนักจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์

ISCO-08 รหัสอาชีพ 6162 นักภูมิสถาปัตย์



6. คำอธิบายหน่วยสมรรถนะ (Description of Unit of Competency)
ผู้ที่ผ่านหน่วยสมรรถนะนี้ มีความเข้าใจในรูปแบบและรายการ สามารถอ่านรูปแบบและรายการในส่วนของงานโครงสร้าง ตรวจสอบงานโครงสร้างและ ตรวจสอบผลงานของงานส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) ที่ถูกต้องครบถ้วนได้

7. สำหรับระดับคุณวุฒิ
1 2 3 4 5 6 7 8

8. กลุ่มอาชีพ (Sector)
ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจจัดการพื้นที่สีเขียว

9. ชื่ออาชีพและรหัสอาชีพอื่นที่หน่วยสมรรถนะนี้สามารถใช้ได้ (ถ้ามี)
N/A

10. ข้อกำหนดหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Licensing or Regulation Related) (ถ้ามี)
N/A

11. สมรรถนะย่อยและเกณฑ์การปฏิบัติงาน (Elements and Performance Criteria)
หน่วยสมรรถนะย่อย (EOC) เกณฑ์ในการปฏิบัติงาน (Performance Criteria) รหัส PC
(ตามเล่มมาตรฐาน)
รหัส PC
(จากระบบ)
02271 วิเคราะห์เพื่อประเมินผลงานโครงสร้าง 1.1 ระบุลักษณะงานโครงสร้างที่ถูกต้องตามรูปแบบและรายการ 155468
02271 วิเคราะห์เพื่อประเมินผลงานโครงสร้าง 1.2 ประเมินความถูกต้องของผลงานโครงสร้าง 155469
02272 วิเคราะห์เพื่อประเมินส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) 2.1 ระบุงานในส่วนที่เป็น ส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม(Hardscape) ในรูปแบบและรายการได้ 155470
02272 วิเคราะห์เพื่อประเมินส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) 2.2 ประเมินความถูกต้องครบถ้วนของส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) 155471

12. ความรู้และทักษะก่อนหน้าที่จำเป็น (Pre-requisite Skill & Knowledge)
N/A

13. ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required Skills and Knowledge)

(ก) ความต้องการด้านทักษะ

สามารถเข้าใจรูปแบบและรายการ เข้าใจงานโครงสร้างและงานส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) ทำการตรวจสอบผลงานโครงสร้าง และตรวจสอบส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) ให้ตรงตามรูปแบบและรายการได้

(ข) ความต้องการด้านความรู้

1. ความหมายของงานสถาปัตยกรรมภูมิทัศน์ หรือ งานฮาร์ดสเคป(Hardscape)

2. ส่วนประกอบของงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape)อาทิ ทางเดินในสวน ลานจอดรถ ลานพักผ่อน ม้านั่งและเก้าอี้ในสวนบันไดสวนศาลาที่พักในสวน เป็นต้น

 


14. หลักฐานที่ต้องการ (Evidence Guide)

(ก) หลักฐานการปฏิบัติงาน (Performance Evidence)

1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

2. แบบบันทึกรายการผลจากการสังเกต

(ข) หลักฐานความรู้ (Knowledge Evidence)

1. เอกสารรับรองจากสถานประกอบการ หรือ

2. เอกสารรับรองผลจากการเรียนหรือผลการอบรม หรือ

3. ใบบันทึกผลการสอบข้อเขียนหรือแนวคำถามที่ใช้ประเมิน

(ค) คำแนะนำในการประเมิน

ผู้ประเมินตรวจประเมินเกี่ยวกับความเข้าใจในรูปแบบและรายการ ทักษะ และความเข้าใจในการปฏิบัติงานจริงและการแก้ปัญหาในการสร้างงานได้ โดยพิจารณาจากหลักฐานการปฏิบัติงาน หลักฐานจากแบบทดสอบข้อเขียน

 


15. ขอบเขต (Range Statement)

การจัดผังบริเวณและภูมิทัศน์ในสมรรถนะนี้ ครอบคลุมการตรวจสอบผลงานโครงสร้าง และตรวจสอบส่วนประกอบที่เป็นงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape)

(ก) คำแนะนำ 

1. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบและรายการ

2. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีทักษะความสามารถในการตรวจสอบผลงาน

3. ผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้และเข้าใจในปัญหาของงานและสามารถแก้ปัญหาได้

(ข) คำอธิบายรายละเอียด

ข1 ความหมายของงานสถาปัตยกรรมภูมิทัศน์ หรือ งานฮาร์ดสเคป(Hardscape)

งานสถาปัตยกรรมภูมิทัศน์ หรือ งานฮาร์ดสเคป(Hardscape)ของงานปรับปรุงภูมิทัศน์หมายถึง งานที่เกี่ยวข้องกับ โครงสร้างต่างๆ เช่น งานซีเมนต์ เหล็ก อิฐ ทราย หรือ วัสดุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหรือ หมายถึง โครงสร้างต่างๆ ในสวน เช่น ศาลาที่พัก บล็อกปลูกไม้ ผนังตกแต่ง โคมไฟ ลานทางเดิน อิฐมอญตกแต่ง หรือ หินธรรมชาติ

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบงานฮาร์ดสเคปนั้น คือ ประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ สภาพแวดล้อมโดยรวม ความสวยงามหรือความเข้ากันได้ หรือ การเลือกใช้วัสดุต่างๆ ให้เข้ากับพันธุ์ไม้ก็มีความสำคัญเช่น การเลือก หินจิ๊กซอ หินกาบ หินเซาะร่อง หินภูเขา หินแกรนิต หรือ กระเบื้องตกแต่ง

ข2 ส่วนประกอบของงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการจัดสวนที่สำคัญ ส่วนประกอบต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของส่วนประกอบของงานโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม (Hardscape)

ข2.1 ทางเดินในสวน (garden paths) 

ทางเดินในสวนจะเป็นทางเดินภายในจากประตูสวน  หรือประตูบ้าน  ถึงตัวอาคารและจากตัวอาคารไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของสวน ทางเดินในสวนมี 2 ลักษณะคือ 

1.  ทางเดินแบบแยก (stepping) 

2.  ทางเดินแบบปูต่อเนื่อง (pave walk) 

ทางเดินแบบแยก เป็นทางเดินเท้าภายในสวน วัสดุที่นำมาใช้วางเป็นทางเดินจะต้องมีลักษณะเรียบ ไม่ทำอันตรายเท้า มองดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะใช้หินที่มีลักษณะแบน ศิลาแลงรูปกลมหรือสี่เหลี่ยม แผ่นซีเมนต์ที่ทำเป็นรูปต่างๆ หรือแว่นไม้กลม การจัดวางทางเดินแบบแยกนี้จะต้องพิจารณาช่วงห่างระหว่างจุดที่วางให้เหมาะสมในการก้าว โดยทั่วไปจะห่างประมาณ 8-12 นิ้ว 

การจัดวางทางเดินแบบแยกทำได้หลายลักษณะ อาจจะวางแถวเดียวหรือ 2 แถว หรืออาจใช้หินก้อนใหญ่สลับกับหินก้อนเล็ก โดยพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์และมองดูสวยงาม ทั้งนี้ต้องให้ผู้ใช้ก้าวเท้าได้สะดวก และวางให้แน่น ไม่ให้โยกเป็นอันตรายได้ 

ทางเดินแบบปูต่อเนื่อง เป็นทางเดินเท้าระหว่างประตู เข้าสู่ตัวอาคาร มักสร้างขนานกับทางรถยนต์ ซึ่งทางเดินเท้านี้อาจจะทำในลักษณะตรงหรือโค้งก็ได้ ความกว้างของทางเดินแบบ ปูต่อเนื่องนี้จะกว้างประมาณ 1.20-1.50 เมตร วัสดุที่ใช้ทำทางเดินเท้าอาจใช้อิฐปูเป็นลวดลายต่างๆ ใช้หินกลม หินกาบ ศิลาแลง หรือกระเบื้องปูพื้นที่ทำจากซีเมนต์ เป็นต้น การทำทางเดินอาจเป็นการฝังต่อเนื่องหลวมๆ หรือฝังให้ติดแน่น โดยใช้ซีเมนต์หรือสารเชื่อมให้เกิดความแข็งแรง ซึ่งทางเดินเท้าแบบ ปูต่อเนื่องจะมีหลายลักษณะ สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ 

ข2.2 ลานจอดรถ (parking area) 

ปัจจุบันยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ นับเป็นปัจจัยที่เข้ามา  มีบทบาทในชีวิตมนุษย์ เพราะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทางสัญจรไปมา ลานจอดรถจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของบ้าน การออกแบบลานจอดรถจะต้องสัมพันธ์กับการออกแบบบ้านและการจัดสวน 

ส่วนประกอบของลานจอดรถ ประกอบด้วย ที่จอดรถ ที่กลับรถ และโรงเก็บรถ ซึ่งปัจจุบันบริเวณบ้านจะมีพื้นที่ไม่มากนัก ที่จอดรถและโรงเก็บรถก็จะอยู่บริเวณหน้าบ้าน โดยกลับรถบนถนนใหญ่ หากมีพื้นที่มากพอควรทำที่กลับรถให้ด้วย โดยเฉพาะถ้าพื้นที่นั้นเป็นสวนสาธารณะ ลานจอดรถจะต้องมีพื้นที่กว้างขวางพอกับผู้มาใช้บริการ ขนาดพื้นที่จอดรถ 1 คัน โดยประมาณ 3.00x5.40 ตารางเมตร วัสดุที่ใช้ทำพื้น ลานจอดรถอาจเป็นคอนกรีต อิฐ หรือกระเบื้องปูพื้นลวดลายต่างๆ ทั้งนี้ต้องพิจารณาความแข็งแรง และจำนวนรถที่ใช้ในบริเวณนั้น ๆ ลานจอดรถในบริเวณที่ใช้งานมาก การจอดจะต้องคำนึงถึงความสะดวก   ซึ่งการจอดรถยนต์อาจจอดในลักษณะทำมุมทแยงกับขอบกั้น หรือขอบกันชน หรือจอดตั้งฉากกับขอบกันชน หรือจอดขนานกับขอบกันชนก็ได้ 

โดยทั่วไปลานจอดรถในบริเวณสวนสาธารณะจะสร้างในบริเวณที่มีไม้ให้ร่มเงา แต่ทั้งนี้พรรณไม้ใหญ่เหล่านั้นจะต้องมีลักษณะกิ่งก้านเหนียว ไม่หักง่าย ระบบรากลึก ใบหนา  และไม่ทิ้งใบ 

ข2.3 ลานพักผ่อน 

ลานพักผ่อน จะเป็นพื้นที่หรือระเบียงที่ติดกับตัวอาคารบ้านเรือน  เป็นพื้นที่เปิดไม่มีหลังคา แต่อาจจะสร้างเรือนต้นไม้ หรือตีระแนงเพื่อเป็นร่มเงาให้กับพื้นที่ลานได้ ลานพักผ่อนนี้จะเป็นพื้นที่ที่ใช้พักผ่อนส่วนตัว หรือใช้รับรองเพื่อนสนิท 

ลานพักผ่อนจะมีหลายลักษณะ อาจจะเป็นพื้นที่เฉลียงไม้ต่อจากห้องนอน (deck) หรือระเบียงที่ว่างนอกบ้าน (patio) รวมไปถึงลานพักผ่อนที่สร้างขึ้นใหม่ในจุดต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมในการใช้ประโยชน์  ลานพักผ่อนจะเป็นพื้นที่เปิด  พื้นของลานพักอาจจะทำจากไม้ยกพื้นสูงขึ้นมาจากระดับพื้นดิน หรือใช้วัสดุจากอิฐ หิน ปูนซีเมนต์ เป็นพื้นก็ได้ บริเวณลานพักผ่อนมักจะได้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ มีการปลูกไม้พุ่มแทนผนังเพื่อให้บริเวณมีความเป็นสัดส่วน 

บริเวณลานพักผ่อนจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการพักผ่อน เช่น มีโต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง/นอนเล่น และหากพื้นที่นี้ใช้รับรองเพื่อนฝูง ก็จะมีอุปกรณ์ในการสันทนาการ เช่น เตาย่างบาบีคิว หรือสิ่งอื่นๆ วางไว้มุมใดมุมหนึ่งของพื้นที่ 



ข2.4 ม้านั่งและเก้าอี้ในสวน 

ม้านั่งและเก้าอี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดสวน ในบริเวณพื้นที่ลานพักผ่อนมักจะสร้างม้านั่ง (bench) แบบติดตั้งถาวรไว้ด้วย ซึ่งอาจจะทำเป็นรูปตัวแอล ตัวยู หรือจะทำม้านั่งล้อมรอบต้นไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม วัสดุที่ใช้ทำม้านั่งในสวน อาจจะเป็นไม้จริง ไม้ไผ่ หรือหล่อปูนซิเมนต์ก็ได้   นอกจากม้านั่งในสวนแล้ว มีเก้าอี้มากมายหลายชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ในสวน ซึ่งอาจจะเป็นเก้าอี้แบบลอยตัวที่สามารถเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงที่วางได้ หรือจะเป็นแบบติดตั้งถาวรไว้ที่ใดที่หนึ่ง เก้าอี้ที่นำมาใช้อาจจะทำจากไม้ จากเหล็กหล่อหรือหล่อคอนกรีตเป็นรูปต่าง ๆ หรือใช้วัสดุอื่น ๆ ก็ได้ รูปแบบของเก้าอี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น ใช้นั่งเล่น นอนอ่านหนังสือ ใช้รับประทานอาหาร ฯลฯ  

การทำม้านั่งหรือเก้าอี้ในสวน นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว จะต้องพิจารณารูปแบบ สีสัน รวมทั้งวัสดุที่ใช้  เพื่อให้มองดูกลมกลืนกับสวนนั้น   นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรง ทนทาน ความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ เก้าอี้ในสวนบางชนิดจะมีเบาะรองนั่งซึ่งจะต้องเก็บได้เมื่อมีฝนตก การจัดวางม้านั่งและเก้าอี้ในสวน จะต้องพิจารณาตำแหน่งให้เหมาะสม เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการที่จะใช้ประโยชน์ เพื่อการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์ 

ข2.5 บันได้สวน 

บันได้สวนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสวนเป็นทางเชื่อมระหว่างจุดต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างระดับ หรือจากลานพักสู่บริเวณสวน รูปแบบของบันได้สวน อาจจะทำแบบเป็นระเบียบ หรือไม่เป็นระเบียบก็ได้ วัสดุที่ใช้ทำบันได้อาจจะใช้ไม้จริง ปีกไม้ แว่นไม้กลม อิฐ หิน ทั้งนี้จะต้องพิจารณาให้เดินได้สะดวก ปลอดภัย และมีความกว้างพอสมควร เพื่อให้เดินสวนทางกันได้ 

ข2.6 ศาลาที่พักในสวน 

สวนบ้านที่มีบริเวณกว้างขวาง หรือสวนสาธารณะ นอกจากจะมีเก้าอี้ ม้านั่ง เพื่อใช้ในการพักผ่อนแล้ว ศาลาที่พัก ก็เป็นองค์ประกอบสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การใช้ประโยชน์จากสวนมีมากขึ้น เพราะจะทำให้สามารถใช้หลบแดด หลบฝน หรือใช้รับรองแขกจัดงานนอกบ้านได้อีกด้วย 

ศาลาที่พักในสวนจะมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นศาลาที่มีหลังคา ไม่มีฝากั้น หรือเรือนนั่งเล่นเล็กๆ คล้ายกระท่อม แต่ศาลาที่มีรูปแบบคลาสสิคเป็นที่นิยมในอดีตจะเป็นรูปแบบกาเซโบ (gazebos)ซึ่งยังคงนำมาใช้จนยุคปัจจุบัน กาเซโบเป็นศาลาที่มีลวดลายละเอียดเป็นงานที่พิถีพิถัน เป็นงานสถาปัตยกรรมชั้นหนึ่งที่มีคุณค่า และเป็นที่พักผ่อนที่สวยงามในสวน ทั้งนี้จะต้องเลือกแบบของกาเซโบให้เหมาะกับสวน นั้นๆ ด้วย

 


16. หน่วยสมรรถนะร่วม (ถ้ามี)
N/A

17. อุตสาหกรรมร่วม/กลุ่มอาชีพร่วม (ถ้ามี)
N/A

18. รายละเอียดกระบวนการและวิธีการประเมิน (Assessment Description and Procedure)

18.1 ประเมินความรู้ด้วยข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกและข้อสอบแบบอัตนัย

18.2 การสอบปฏิบัติ

18.4 แฟ้มสะสมผลงาน

 



ยินดีต้อนรับ